วันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

วิชาธรรม นักธรรมชั้นเอก 2549

 วิชาธรรม นักธรรมชั้นเอก 2549


ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม  นักธรรมชั้นเอก

สอบในสนามหลวง

วันศุกร์ ที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๙

   ๑.  อุทเทสแห่งนิพพิทา ดังต่อไปนี้ มีความหมายว่าอย่างไร ?

               ก. คนเขลา       

               ข. ผู้รู้     

               ค. หมกอยู่        

               ง. หาข้องอยู่ไม่

               จ. โลกนี้

   ๑.          ก. คนผู้ไร้วิจารณญาณ

               ข. ผู้รู้โลกตามความเป็นจริง

               ค. เพลิดเพลินหลงติดอยู่ในสิ่งอันมีโทษ

               ง. ไม่พัวพันในสิ่งล่อใจ

               จ. โดยตรง ได้แก่แผ่นดินเป็นที่อยู่อาศัย โดยอ้อม ได้แก่หมู่สัตว์

                   ผู้อาศัย ฯ

  ๒.  อุทเทสว่า  “เย  จิตฺตํ  สญฺเมสฺสนฺติ   โมกฺขนฺติ  มารพนฺธนา”  นั้น 

       การสำรวมจิตทำอย่างไร ?

  ๒.  การสำรวมจิตมี ๓ วิธี คือ

               ๑.   สำรวมอินทรีย์มิให้ความยินดีครอบงำ ในเมื่อเห็นรูป ฟังเสียง

                     ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ อันน่าปรารถนา

                ๒.  มนสิการกัมมัฏฐานอันเป็นปฏิปักษ์ต่อกามฉันท์ คือ อสุภะ

                     กายคตาสติ และมรณสติ

                ๓.  เจริญวิปัสสนา พิจารณาสังขารให้เห็นเป็น อนิจจัง ทุกขัง

                     อนัตตา ฯ

  ๓.  สังขารในไตรลักษณ์กับในขันธ์ ๕  ต่างกันอย่างไร ?

  ๓.  สังขารในไตรลักษณ์ หมายเอารูปธรรมและนามธรรมทั้งหมดที่ปัจจัย

        ปรุงแต่งขึ้น ส่วนสังขารในขันธ์ ๕ หมายเอาเจตสิกธรรมที่ปรุงแต่งจิต

        ให้มีอาการต่างๆ เว้นเวทนาและสัญญา ฯ

   ๔.  ปกิณกทุกข์ คืออะไร ?  จะบรรเทาได้ด้วยวิธีอย่างไร ?

   ๔.  คือ ทุกข์จร เช่น ความเศร้าโศกเสียใจ ความร่ำไรบ่นเพ้อรำพัน ความ

        ไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ความประสบสิ่งที่

        ไม่พึง      ปรารถนา     ความพลัดพรากจากของรัก ความผิดหวังเป็นต้น ฯ

        จะบรรเทาได้ด้วยการมีสติ ใช้ปัญญาพิจารณา รู้จักปลงรู้จักปล่อยวาง

        ไม่ยึดมั่นถือมั่น ฯ

   ๕.  อาหารปริเยฏฐิทุกข์ คืออะไร ?  จะบรรเทาได้ด้วยวิธีอย่างไร ?

   ๕. คือ ทุกข์ในการหาเลี้ยงชีพ เช่น ต้องแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน เมื่อผลประโยชน์

        ขัดกัน ก็ทะเลาะกัน และเมื่อยิ่งแสวงหามากก็เป็นเหตุให้เกิดทุกข์มาก ฯ

        จะบรรเทาได้ด้วยการขยันประหยัดอดทนและ อดออม เป็นอยู่ด้วยปัจจัย

        เครื่องเลี้ยงชีพเท่าที่จำเป็น ตัดสิ่งฟุ้งเฟ้อที่ไม่จำเป็นออกไป ยินดีเท่าที่ตน

        มีอยู่โดยยึดทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักในการดำรงชีวิต ฯ

   ๖.  พระบาลีว่า “ภิกษุ  เธอจงวิดเรือนี้  เรือที่เธอวิดแล้ว  จักพลันถึง”

        จงให้ความหมายคำต่อไปนี้  ให้ถูกต้องตามพระบาลีนั้น ?

               ก. เรือนี้               

               ข. จงวิด (วิดอะไร)             

               ค. เรือที่วิดแล้ว

               ง.  จักพลันถึง (ถึงอะไร)          

               จ. เรือจักไม่จมใน........

๖.            ก. อัตภาพร่างกาย

               ข. วิดน้ำ คือมิจฉาวิตก

               ค. อัตภาพที่บรรเทากิเลสให้เบาบางลง   

               ง.  ถึงท่า คือพระนิพพาน  

               จ. ในสังสารวัฏ ฯ

  ๗.  คนสัทธาจริตและคนวิตกจริต มีลักษณะอย่างไร ?  ควรเจริญกัมมัฏฐาน

        อะไร ?

  ๗.  คนสัทธาจริต มีลักษณะเชื่อง่ายขาดเหตุผล คนวิตกจริต มีลักษณะ

        คิดมาก ฟุ้งซ่าน ฯ

        คนสัทธาจริตควรเจริญอนุสสติ ๖ ข้างต้น คนวิตกจริตควรเจริญอานาปานสติ ฯ

  ๘. กายคตาสติกัมมัฏฐานกับอสุภกัมมัฏฐาน ต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไร ?

        จงอธิบาย

  ๘.  ต่างกันที่อารมณ์ คือ กายคตาสติ พิจารณาอาการภายในของตนเป็น

        อารมณ์อสุภ พิจารณาซากศพเป็นอารมณ์ ฯ

        เหมือนกันตรงที่พิจารณาให้เห็นเป็นปฏิกูล ไม่งามเหมือนกันและเป็น

        ปฏิปักษ์ต่อกามฉันทะ อีกทั้งเป็นเครื่องกำจัดวิปลาส ข้อที่เห็นว่า

        สวยงามในสิ่งที่ไม่สวยงามได้เหมือนกัน ฯ

  ๙.  จงแสดงวิธีเจริญมุทิตา พร้อมทั้งอานิสงส์แห่งการเจริญ พอเป็นตัวอย่าง ?

 ๙.  วิธีเจริญมุทิตานั้นดังนี้ เมื่อได้เห็นหรือได้ยินมนุษย์หรือสัตว์ เป็นอยู่

        สุขสบาย เจริญรุ่งเรืองด้วยสุขสมบัติ พึงทำจิตใจให้ชื่นชมยินดี แล้ว

        แผ่มุทิตาจิตไปว่า สัตว์ผู้นี้หนอบริบูรณ์ยิ่งนัก มีสุขสมบัติมาก จงเจริญ

        ยั่งยืนด้วยสุขสมบัติยิ่งๆ เถิด เมื่อเจริญอยู่เนืองๆ ย่อมได้รับอานิสงส์

        คือ จะละความริษยาในสมบัติของผู้อื่นได้ ฯ

๑๐.  การทำวัตรสวดมนต์ เป็นกิจวัตรของพระภิกษุสามเณรและเป็นภาวนากุศล

        จงแสดงวิธีเจริญสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน ในบททำวัตรเช้า

        มาดูพอเป็นตัวอย่าง ?

๑๐.  การสวดนมัสการพระรัตนตรัยก็ดี สวดสรรเสริญคุณพระรัตนตรัยก็ดี

        เป็นการน้อมจิตระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ชื่อว่า

        เจริญพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ จัดเป็นสมถกัมมัฏฐาน ฯ

        สวดสังเวคปริกิตตนปาฐะว่า ชาติปิ ทุกฺขา ชราปิ ทุกฺขา มรณมฺปิ

        ทุกฺขํ... รูปํ อนิจฺจํ เวทนา อนิจฺจา... รูปํ อนตฺตา เวทนา อนตฺตา...

        เป็นอาทิ ตั้งสติมีความเพียร ใช้ปัญญาพิจารณาเบญจขันธ์ ยกขึ้นสู่

        สามัญลักษณะ จัดเป็นวิปัสสนากัมมัฏฐาน ฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น