แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ หมวด ๔ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ หมวด ๔ แสดงบทความทั้งหมด

วันเสาร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2560

หมวด ๔

หมวด ๔
กรรมกิเลส คือ กรรมเครื่องเศร้าหมอง ๔ อย่าง
๑.  ปาณาติบาต ทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง
๒.  อทินนาทาน ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยอาการแห่งขโมย
๓.  กาเมสุ มิจฉาจาร ประพฤติผิดในกาม
๔.  มุสาวาท พูดเท็จ
กรรม ๔ อย่างนี้ นักปราชญ์ไม่สรรเสริญเลย
อบายมุข คือ เหตุเครื่องฉิบหาย ๔ อย่าง
๑.   ความเป็นนักเลงหญิง
๒.   ความเป็นนักเลงสุรา
๓.   ความเป็นนักเลงเล่นการพนัน
๔.   ความคบคนชั่วเป็นมิตร
โทษ ๔ ประการนี้ไม่ควรประกอบ
ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน ๔ อย่าง
๑.  อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่นในการประกอบกิจเครื่องเลี้ยงชีวิตก็ดี ในการศึกษาเล่าเรียนก็ดี ในการทำธุระหน้าที่ของตนก็ดี
๒.  อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษา คือรักษาทรัพย์ที่แสวงหามาได้ด้วยความหมั่น ไม่ให้เป็นอันตรายก็ดี รักษาการงานของตัว ไม่ให้เสื่อมเสียไปก็ดี
๓.  กัลยาณมิตตตา ความมีเพื่อนเป็นคนดีไม่คบคนชั่ว
๔.  สมชีวิตา ความเลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หาได้ ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ไม่ให้ฟูมฟายนัก
สัมปรายิกัตถประโยชน์ คือ ประโยชน์ภายหน้า ๔ อย่าง
๑.  สัทธาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศรัทธา คือเชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ เช่นเชื่อว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วเป็นต้น
๒.  สีลสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศีล คือรักษากายวาจาเรียบร้อยดี ไม่มีโทษ
๓.  จาคสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการบริจาคทาน เป็นการเฉลี่ยสุขให้แก่ผู้อื่น
๔.  ปัญญาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยปัญญา รูจัก บาป บุญ คุณ โทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ เป็นต้น
มิตตปฏิรูป คือ คนเทียมมิตร ๔ จำพวก
๑.  คนปอกลอก
๒.  คนดีแต่พูด
๓.  คนหัวประจบ
๔.   คนชักชวนในทางฉิบหาย
คน ๔ จำพวกนี้ ไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตร ไม่ควรคบ
๑.  คนปอกลอก มีลักษณะ ๔
๑. คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว
๒. เสียให้น้อยคิดเอาให้ได้มาก
๓. เมื่อมีภัยแก่ตัว จึงรับเอากิจของเพื่อน
๔. คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ประโยชน์ของตัว
๒.   คนดีแต่พูด มีลักษณะ ๔
๑. เก็บเอาของล่วงแล้วมาปราศรัย
๒. อ้างเอาของที่ยังไม่มีมาปราศรัย
๓. สงเคราะห์ด้วยสิ่งหาประโยชน์มิได้
๔. ออกปากพึ่งมิได้
๓.   คนหัวประจบ มีลักษณะ ๔
๑. จะทำชั่วก็คล้อยตาม
๒. จะทำดีก็คล้อยตาม
๓. ต่อหน้าว่าสรรเสริญ
๔. ลับหลังตั้งนินทา
๔.  คนชักนำในทางฉิบหาย มีลักษณะ ๔
๑. ชักชวนดื่มน้ำเมา
๒. ชักชวนเที่ยวกลางคืน
๓. ชักชวนให้มัวเมาในการเล่น
๔. ชักชวนเล่นการพนัน
มิตรแท้ ๔ จำพวก
๑.  มิตรมีอุปการะ
๒.   มิตรร่วมทุกข์ร่วมสุข
๓.   มิตรแนะนำประโยชน์
๔.   มิตรมีความรักใคร่
มิตร ๔ จำพวกนี้เป็นมิตรแท้ ควรคบ
๑.   มิตรมีอุปการะ มีลักษณะ ๔
๑. ป้องกันเพื่อนผู้ประมาทแล้ว
๒. ป้องกันทรัพย์สมบัติของเพื่อนผู้ประมาทแล้ว
๓. เมื่อมีภัย เป็นที่พึ่งพำนักได้
๔. เมื่อมีธุระ ช่วยออกทรัพย์ให้เกินกว่าที่ออกปาก
๒.    มิตรร่วมทุกข์ร่วมสุข มีลักษณะ ๔
๑. ขยายความลับของตนแก่เพื่อน
๒. ปิดความลับของเพื่อนไม่ให้แพร่งพราย
๓. ไม่ละทิ้งในยามวิบัติ
๔. แม้ชีวิตก็อาจสละแทนได้
๓.    มิตรแนะนำประโยชน์ มีลักษณะ ๔
๑. ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว
๒. แนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี
๓. ให้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
๔. บอกทางสวรรค์ให้
๔.    มิตรมีความรักใคร่ มีลักษณะ ๔
๑. ทุกข์ ๆ ด้วย
๒. สุข ๆ ด้วย
๓. โต้เถียงคนอื่นที่ติเตียนเพื่อน
๔. รับรองคนที่พูดสรรเสริญเพื่อน
สังคหวัตถุ ๔ อย่าง
๑.  ทาน ให้ปันสิ่งของ ๆ ตนแก่ผู้อื่นที่ควรให้ปัน
๒.  ปิยวาจา เจรจาวาจาที่อ่อนหวาน
๓.  อัตถจริยา ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น
๔.  สมานัตตตา ความเป็นคนมีตนเสมอไม่ถือตัว
คุณทั้ง ๔ อย่างนี้ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของผู้อื่นไว้ได้
สุขของคฤหัสถ์ ๔ อย่าง
๑.   สุขเกิดแต่ความมีทรัพย์
๒.   สุขเกิดแต่การจ่ายทรัพย์บริโภค
๓.   สุขเกิดแต่ความไม่ต้องเป็นหนี้
๔.   สุขเกิดแต่ประกอบการงานที่ปราศจากโทษ
ความปรารถนาของบุคคลในโลกที่ได้สมหมายด้วยยาก ๔ อย่าง
๑.   ขอสมบัติจงเกิดแก่เราโดยทางชอบ
๒.   ขอยศจงเกิดแก่เรากับญาติพวกพ้อง
๓.   ขอเราจงรักษาอายุให้ยืนนาน
๔.   เมื่อสิ้นชีวิตแล้ว ขอเราจงไปบังเกิดในสวรรค์
ธรรมเป็นเหตุให้สมหมายมีอยู่ ๔ อย่าง
๑.  สัทธาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศรัทธา
๒.  สีลสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศีล
๓.  จาคสัมปทา ถึงพร้อมด้วยบริจาคทาน
๔.  ปัญญาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยปัญญา
ตระกูลอันมั่นคงจะตั้งอยู่นานไม่ได้เพราะสถาน ๔
๑.   ไม่แสวงหาพัสดุที่หายแล้ว
๒.   ไม่บูรณะพัสดุที่คร่ำคร่า
๓.   ไม่รู้จักประมาณในการบริโภคสมบัติ
๔.   ตั้งสตรีให้บุรุษทุศีลให้เป็นแม่เรือนพ่อเรือน
ผู้หวังจะดำรงตระกูลควรเว้นสถาน ๔ ประการนี้เสีย
ธรรมของฆราวาส ๔
๑.  สัจจะ สัตย์ซื่อแก่กัน
๒.  ทมะ รู้จักข่มจิตของตน
๓.  ขันติ อดทน

๔.  จาคะ สละให้ปันสิ่งของของตนแก่ผู้อื่นที่ควรให้ปัน

หมวด ๔

หมวด ๔
วุฑฒิ คือธรรมเป็นเครื่องเจริญ ๔ อย่าง
๑.  สัปปุริสสังเสวะ คบท่านผู้ประพฤติชอบด้วยกายวาจาใจ ที่เรียกว่าสัตบุรุษ
๒.  สัทธัมมัสสวนะ ฟังคำสอนของท่านโดยเคารพ
๓.  โยนิโสมนสิการ ตริตรองให้รู้จักสิ่งที่ดีหรือชั่วโดยอุบายที่ชอบ
๔.   ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมซึ่งได้ตรองเห็นแล้ว
จักร ๔
๑.  ปฏิรูปเทสวาสะ อยู่ในประเทศอันสมควร
๒.  สัปปุริสูปัสสยะ คบสัตบุรุษ
๓.  อัตตสัมมาปณิธิ ตั้งตนไว้ชอบ
๔.  ปุพเพกตปุญญตา ความเป็นผู้ได้ทำความดีไว้ในปางก่อน
ธรรม ๔ อย่างนี้ ดุจล้อรถนำไปสู่ความเจริญ
อคติ ๔
๑.   ลำเอียงเพราะรักใคร่กัน เรียก ฉันทาคติ
๒.   ลำเอียงเพราะไม่ชอบกัน เรียก โทสาคติ
๓.  ลำเอียงเพราะเขลา เรียก โมหาคติ
๔.  ลำเอียงเพราะกลัว เรียก ภยาคติ
อคติ ๔ ประการนี้ ไม่ควรประพฤติ
อันตรายของภิกษุสามเณรผู้บวชใหม่ ๔ อย่าง
๑.   อดทนต่อคำสอนไม่ได้ คือเบื่อต่อคำสั่งสอนขี้เกียจทำตาม
๒.   เป็นคนเห็นแก่ปากแก่ท้อง ทนความอดอยากไม่ได้
๓.   เพลิดเพลินในกามคุณ ทะยานอยากได้สุขยิ่งๆ ขึ้นไป
๔.  รักผู้หญิง
ภิกษุสามเณรผู้หวังความเจริญแก่ตน ควรระวังอย่าให้อันตราย ๔ อย่างนี้ย่ำยีได้
ปธาน คือความเพียร ๔ อย่าง
๑.  สังวรปธาน เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในสันดาน
๒.  ปหานปธาน เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว
๓.  ภาวนาปธาน เพียรให้กุศลเกิดขึ้นในสันดาน
๔.  อนุรักขนาปธาน เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อม
ความเพียร ๔ อย่างนี้ เป็นความเพียรชอบควรประกอบให้มีในตน
อธิษฐานธรรม คือธรรมที่ความตั้งไว้ในใจ ๔ อย่าง
๑.  ปัญญา รอบรู้สิ่งที่ควรรู้
๒.  สัจจะ ความจริงใจ คือประพฤติสิ่งใดก็ให้ได้จริง
๓.  จาคะ สละสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความจริงใจ
๔.  อุปสมะ สงบใจจากสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความสงบ
อิทธิบาท คือคุณเครื่องให้สำเร็จความประสงค์ ๔ อย่าง
๑.  ฉันทะ พอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น
๒.  วิริยะ เพียรประกอบสิ่งนั้น
๓.  จิตตะ เอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้น ไม่วางธุระ
๔.  วิมังสา หมั่นตริตรองพิจารณาเหตุผลในสิ่งนั้น
คุณ ๔ อย่างนี้ มีบริบูรณ์แล้ว อาจชักนำบุคคลให้ถึงสิ่งที่ต้องประสงค์ซึ่งไม่เหลือวิสัย
ควรทำความไม่ประมาทในที่ ๔ สถาน
๑.  ในการละกายทุจริต ประพฤติกายสุจริต
๒.  ในการละวจีทุจริต ประพฤติวจีสุจริต
๓.  ในการละมโนทุจริต ประพฤติมโนสุจริต
๔.   ในการละความเห็นผิด ทำความเห็นให้ถูก
อีกอย่างหนึ่ง
๑.   ระวังใจไม่ให้กำหนัดในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
๒.   ระวังใจไม่ให้ขัดเคืองในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง
๓.   ระวังใจไม่ให้หลงในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความหลง
๔.   ระวังใจไม่ให้มัวเมาในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา
ปาริสุทธิศึล ๔
๑.  ปาติโมกขสังวร สำรวมในพระปาติโมกข์ เว้นข้อที่พระพุทธเจ้าห้าม ทำข้อที่พระองค์อนุญาต
๒.  อินทรียสังวร สำรวมอินทรีย์ ๖ คือ ตา หู จมูก ปาก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ยินดียินร้ายในเวลาเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ
๓.  อาชีวปาริสุทธิ เลี้ยงชีวิตโดยทางที่ชอบ ไม่หลองลวงเขาเลี้ยงชีวิต
๔.  ปัจจยปัจจเวกขณะ พิจารณาเสียก่อนจึงบริโภคปัจจัย ๔ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัช ไม่บริโภคด้วยตัณหา
อารักขกัมมัฏฐาน
๑.  พุทธานุสติ ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า ที่มีในพระองค์และทรงเกื้อกูลแก้ผู้อื่น
๒.  เมตตา แผ่ไมตรีจิตคิดจะให้สัตว์ทั้งปวงเป็นสุขทั่วหน้า
๓.  อสุภะ พิจารณาร่างกายตนและผู้อื่นให้เห็นเป็นไม่งาม
๔.  มรณัสสติ นึกถึงความตายอันจะมีแก่ตน
กัมมัฏฐาน ๔ อย่างนี้ ควรเจริญเป็นนิตย์
พรหมวิหาร ๔
๑.  เมตตา ความรักใคร่ ปรารถนาจะให้เป็นสุข
๒.  กรุณา ความสงสาร คิดจะช่วยให้พ้นทุกข์
๓.  มุทิตา ความพลอยยินดี เมื่อผู้อื่นได้ดี
๔.  อุเบกขา ความวางเฉย ไม่ดีใจไม่เสียใจ เมื่อผู้อื่นถึงความวิบัติ
พรหมวิหาร ๔ นี้ เป็นเครื่องอยู่ของท่านผู้ใหญ่
สติปัฏฐาน ๔
๑.  กายานุปัสสนา
สติกำหนดพิจารณากายเป็นอารมณ์ว่า กายนี้ก็สักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา เรียก กายานุปัสสนา
๒.  เวทนานุปัสสนา
สติกำหนดพิจารณาเวทนา คือ สุข ทุกข์ และไม่ทุกข์ไม่สุขเป็นอารมณ์ว่า เวทนานี้ก็สักว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา เรียก เวทนานุปัสสนา
๓.  จิตตานุปัสสนา
สติกำหนดพิจารณาใจที่เศร้าหมอง หรือผ่องแผ้วเป็นอารมณ์ว่า ใจนี้สักว่าใจ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา เรียก จิตตานุปัสสนา
๔.  ธัมมานุปัสสนา
สติกำหนดพิจารณาธรรมที่เป็นกุศลหรืออกุศล ที่บังเกิดกับใจเป็นอารมณ์ว่าธรรม ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา เรียก ธัมมานุปัสสนา
ธาตุกัมมัฏฐาน ๔
ธาตุ ๔ คือ
๑ ธาตุดิน เรียก ปฐวีธาตุ
ธาตุอันใดมีลักษณะแข้นแข็ง ธาตุนั้นเป็นปฐวีธาตุ ปฐวีธาตุนั้นที่เป็นภายใน คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า
๒ ธาตุน้ำ เรียก อาโปธาตุ
ธาตุอันมีลักษณะเอิบอาบ ธาตุนั้นเป็นอาโปธาตุ อาโปธาตุนั้น ที่เป็นภายใน คือ ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร
๓ ธาตุไฟ เรียก เตโชธาตุ
ธาตุอันมีลักษณะร้อน ธาตุนั้นเป็นเตโชธาตุ เตโชธาตุนั้น ที่เป็นภายใน คือ ไฟที่ยังกายให้อบอุ่น ไฟที่ยังกายให้ทรุดโทรม ไฟที่ยังกายให้กระวนกระวาย ไฟที่เผาอาหารให้ย่อย
๔ ธาตุลม เรียก วาโยธาตุ
ธาตุอันใดมีลักษณะพัดไปมา ธาตุนั้นเป็นวาโยธาตุ วาโยธาตุนั้น ที่เป็นภายใน คือ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในไส้ ลมพัดไปตามตัว ลมหายใจ
         ความกำหนดพิจารณากายนี้ ให้เห็นว่าเป็นแต่เพียงธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ประชุมกันอยู่ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เรียกว่า ธาตุกัมมัฏฐาน
อริยสัจ ๔
๑.  ทุกข์
๒.  สมุทัย คือเหตุให้ทุกข์เกิด
๓.  นิโรธ คือความดับทุกข์
๔.  มรรค คือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ได้ชื่อว่า ทุกข์ เพราะเป็นของทนได้ยาก
ตันหาคือความทะยานอยาก ได้ชื่อว่า สมุทัย เพราะเป็นเหตุให้ทุกข์เกิด
ตันหานั้น มีประเภทเป็น ๓ คือตัณหาความอยากในอารมณ์ที่น่ารักใคร่ เรียกว่า กามตัณหา อย่าง ๑ ตัณหาความอยากเป็นโน่นเป็นนี่ เรียกว่า ภวตัณหา อย่าง ๑ ตัณหาความอยากไม่เป็นโน่นเป็นนี่ เรียกว่า วิภวตัณหา อย่าง ๑
ความดับตัณหาได้สิ้นเชิง ทุกข์ดับไปหมดได้ชื่อว่า นิโรธ เพราะเป็นความดับทุกข์
ปัญญาอันเห็นชอบว่าสิ่งนี้ทุกข์ สิ่งนี้เหตุให้ทุกข์เกิด สิ่งนี้ทางให้ถึงความดับทุกข์ ได้ชื่อว่า มรรค เพราะเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

มรรคนั้นมีองค์ ๘ ประการ คือ
ปัญญาอันเห็นชอบ ๑ ดำริชอบ ๑ เจรจาชอบ ๑ ทำการงานชอบ ๑ เลี้ยงชีพชอบ ๑ ทำความเพียรชอบ ๑ ตั้งสติชอบ ๑ ตั้งใจชอบ ๑