แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ หลักเกณฑ์ในการแต่งกระทู้ธรรม แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ หลักเกณฑ์ในการแต่งกระทู้ธรรม แสดงบทความทั้งหมด

วันจันทร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2560

หลักเกณฑ์ในการแต่งกระทู้ธรรม

หลักเกณฑ์ในการแต่งกระทู้ธรรม
            มีหลักสำคัญในการเขียนเรียงความแก้กระทู้ธรรม อยู่ ๓ ประการด้วยกัน คือ
            ๑. ตีความหมาย
            ๒. ขยายความให้ชัดเจน
            ๓. ตั้งเกณฑ์อธิบาย
            ตีความหมาย ได้แก่การให้คำจำกัดความของธรรมนั้น ว่ามีความหมายอย่างไรเช่นพุทธภาษิตที่ว่า “กลฺ- ยาณการี  กลฺยาณํ  ปาปการี  จ  ปาปกํ”  ผู้ทำกรรมดี ย่อมได้ผลดี ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้ผลชั่วดังนี้ ก็ให้คำจำกัดความคำว่า “กรรมดี คืออะไร” “กรรมชั่วคืออะไร” ในที่นี้กรรมดีหมายเอากุศลกรรมบถ  กรรมชั่วหมายถึง อกุศลกรรมบถ ฯลฯ
            ขยายความให้ชัดเจน ได้แก่การขยายเนื้อความของคำซึ่งได้ให้ความหมายไว้แล้ว คือกุศลกรรมบถ และ อกุศลกรรมบถ ว่ามีอย่างเท่าไร (อย่างละ ๑๐ ประการ) เป็นต้น
            ตั้งเกณฑ์อธิบาย  ได้แก่การวางโครงร่างที่จะอธิบายเนื้อความของเนื้อหาว่ามีอะไรบ้าง มีผลดีผลเสียอย่างไร มีข้อเปรียบเทียบหรือมีตัวอย่างมาประกอบให้เห็นเด่นชัดได้หรือไม่ และควรจะนับถึงผลกรรมนั้น ๆ อย่างไร จึงจะทำให้ผู้อ่านผู้ฟังคล้อยตาม โดยเรียงเป็นลำดับขั้นตอนก่อนหลัง ไม่สับสนวกไปวนมา
หลักเกณฑ์สำคัญในการอธิบาย ๓ ประการ คือ
            ๑. คำนำ
            ๒. เนื้อเรื่อง
            ๓. คำลงท้าย (สรุป)
            คำนำ   เป็นการอารัมภบทพจนคาถาที่เป็นบทตั้ง (กระทู้ หรือที่เรียกว่า อุเทศ) เพื่อเป็นบทนำในการเรียงความ (คำนำของการเรียงความแก้กระทู้ธรรม  ควรเขียนประมาณ 2-3 บรรทัด)
            เนื้อเรื่อง  เป็นการขยายเนื้อความของกระทู้ที่ตั้งไว้  เรียกว่าแก้  หรือเรียกว่า นิเทศ การนิเทศ หรือขยายความเนื้อเรื่องนั้นจะต้องให้รสชาติเนื้อหาสาระแก่ผู้ อ่าน ให้ผู้อ่านเข้าใจในสิ่งที่เราจะอธิบาย ไม่ทำให้ผู้อ่านสับสนไขว้เขว (ควรเขียนอธิบายให้ได้ประมาณ 10 - 15 บรรทัด) แล้วจึงนำเอาภาษิตมาเชื่อม หรืออ้างภาษิตมาเพื่อสนับสนุน เรียกว่า กระทู้รับ  โดยนักธรรมศึกษาชั้นตรี   มีข้อกำหนดให้นำ ภาษิตมาเสื่อมรับได้อย่างน้อย ๑ ภาษิต  ภาษิตที่นำมาอ้างสนับสนุนห้ามไม่ให้ซ้ำกัน แต่จะซ้ำที่มาได้  แล้วอธิบายภาษิตที่ยกมาสนับสนุนให้เนื้อความกลมกลืนกัน (เขียนอธิบายประมาณ 5 - 7 บรรทัด  กำลังพอดี)
            คำลงท้าย หรือ บทสรุป หรือ เรียกว่าปฏินิเทศ หมายถึงการรวบรวมใจความที่สำคัญของเนื้อหาที่ได้อธิบายมาแล้ว   สรุปลงอย่างย่อ ๆ ให้ได้ใจความ ให้ผู้อ่านเกิดความซาบซึ้งและรู้สึกว่าเรียงความที่อ่านมีคุณค่าน่าเชื่อถือ น่าปฏิบัติตาม เกิดศรัทธาในความคิดของผู้เขียน (สรุปความ ควรเขียนประมาณ 5 -7 บรรทัด)