วันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

วิชาธรรม นักธรรมชั้นเอก 2550

 วิชาธรรม นักธรรมชั้นเอก 2550


ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม  นักธรรมชั้นเอก

สอบในสนามหลวง

วันอังคาร ที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๐

๑.     สหคตทุกข์ คือทุกข์เช่นไร ? มียศชื่อว่าเป็นทุกข์นั้น มีอธิบายอย่างไร ?

๑.     คือ ทุกข์ไปด้วยกัน  หรือทุกข์กำกับกัน  ได้แก่ทุกข์มีเนื่องมาจาก   วิบุลผล ฯ

มียศคือได้รับตั้งเป็นใหญ่กว่าคนสามัญเป็นชั้น ๆ  ต้องเป็นอยู่เติบกว่าคนสามัญ  จำต้องมีทรัพย์มากเป็นกำลัง  มักหาได้ไม่พอใช้  ต้องมีภาระมาก  เวลาไม่เป็นของตน  เป็นที่เกาะของผู้อื่นจนนุงนัง  ต้องพลอยสุขทุกข์ด้วยเขา ฯ

๒.     ไวพจน์แห่งวิราคะ  ได้แก่อะไรบ้าง ?

๒.     ได้แก่

มทนิมฺมทโน        แปลว่า  ธรรมยังความเมาให้สร่าง

        ปิปาสวินโย        แปลว่า  ความนำเสียซึ่งความระหาย

        อาลยสมุคฺฆาโต     แปลว่า  ความถอนขึ้นด้วยดีซึ่งอาลัย

        วฏฺฏูปจฺเฉโท       แปลว่า  ความเข้าไปตัดเสียซึ่งวัฏฏะ

ตณฺหกฺขโย            แปลว่า  ความสิ้นแห่งตัณหา

นิโรโธ                  แปลว่า  ความดับ

นิพฺพานํ               แปลว่า  ธรรมชาติหาเครื่องเสียบแทงมิได้ ฯ

  

๓.     วิมุตติ เป็นโลกิยธรรมหรือโลกุตตรธรรม ?   เป็นสาสวะหรืออนาสวะ ?

๓.     ถ้าเพ่งถึงวิมุตติที่สืบเนื่องมาจากนิพพิทาและวิราคะแล้ว ก็เป็นโลกุตตระและอนาสวะอย่างเดียว   ถ้าเพ่งถึงวิมุตติ ๕   วิมุตติเป็นโลกิยะก็มี  เป็นสาสวะก็มี   คือตทังควิมุตติและวิกขัมภนวิมุตติเป็นโลกิยะและเป็นสาสวะ   วิมุตติอีก ๓ ที่เหลือ  เป็นโลกุตตระและเป็นอนาสวะ ฯ

๔.     ในบรรดาสังขตธรรมนั้น  อะไรเป็นยอด ?   เพราะเหตุไร ?

๔.     อัฏฐังคิกมรรคเป็นยอด ฯ

เพราะองค์ ๘ แต่ละองค์ ๆ ของอัฎฐังคิกมรรคก็เป็นธรรมดี ๆ  รวมกันเข้าทั้ง ๘ ย่อมเป็นธรรมดียิ่งนัก  และเป็นทางเดียวนำไปถึงความดับทุกข์หรือถึงความหมดจดแห่งทัสสนะ ฯ

๕.     บาลีแสดงปฏิปทาแห่งสันติว่า  ผู้เพ่งความสงบพึงละอามิสในโลกเสีย

ความสงบ  ได้แก่อะไร ?   อามิส  ได้แก่อะไร ?   เพราะเหตุไรจึงเรียกว่าอามิส ?

๕.     ได้แก่  ความเรียบร้อยทางกายทางวาจาและทางใจ ฯ

ได้แก่  ปัญจพิธกามคุณ  คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ  อันน่าปรารถนาน่าใคร่น่าชอบใจ ฯ

เพราะเป็นเครื่องล่อใจให้ติดในโลก ฯ

๖.     เพราะเหตุไร  พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงชักนำให้บำเพ็ญสมาธิ ?     หัวใจสมถกัมมัฏฐานมีอะไรบ้าง ?

๖.     เพราะใจที่อบรมดีแล้ว  ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อันใหญ่  เป็นกำลังสำคัญในอันจะให้คิดเห็นอรรถธรรมและเหตุผลอันสุขุมลุ่มลึก      พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ในพระบาลีว่า  สมาหิโต  ยถาภูตํ      ปชานาติ   ผู้มีใจตั้งมั่นแล้ว  ย่อมรู้ตามเป็นจริง ฯ

        มี กายคตาสติ  เมตตา  พุทธานุสสติ  กสิณ  จตุธาตุววัตถานะ ฯ

๗.     จงจัด นวหรคุณ  แต่ละอย่างลงในพระปัญญาคุณและพระกรุณาคุณ ?

๗.     บท  อรหํ  สมฺมาสมฺพุทฺโธ  วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน  สุคโต  โลกวิทู 

เป็นพระปัญญาคุณ

        บท อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ   สตฺถา เทวมนุสฺสานํ  เป็นพระกรุณาคุณ

        บท  พุทฺโธ   ภควา  เป็นพระปัญญาคุณและพระกรุณาคุณทั้งสอง

        (สุคโต  ในที่บางแห่ง  จัดเป็นทั้งพระปัญญาคุณทั้งพระกรุณาคุณ) ฯ

๘.     อะไรเป็นลักษณะ  เป็นกิจ  และเป็นผลของวิปัสสนา ?

๘.     สภาพความเป็นเองของสังขาร  คือเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จริงอย่างไร  ความรู้ความเห็นว่าสังขารเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แจ้งชัดจริงอย่างนั้น  เป็นลักษณะของวิปัสสนา

การกำจัดโมหะความมืดเสียให้สิ้นเชิง  ไม่หลงในสังขารว่าเป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวเป็นตน เป็นของงาม  เป็นกิจของวิปัสสนา

ความรู้แจ้งเห็นจริงในสังขารทั้งหลายว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา  อันสืบเนื่องมาจากการกำจัดโมหะความมืดเสียได้สิ้นเชิง  ไม่มีความรู้ผิดความเห็นผิด  เป็นผลของวิปัสสนา ฯ  

๙.     ในอรกสูตร  ทรงแสดงอุปมาชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายไว้อย่างไรบ้าง   จงบอกมา ๓ ข้อ ?   ที่ทรงแสดงไว้เช่นนั้นเพื่ออะไร ?

๙.     ทรงแสดงไว้ดังนี้  คือ  (ให้ตอบเพียง ๓ ข้อ)  ๑. เหมือนหยาดน้ำค้าง  ๒. เหมือนต่อมน้ำ  ๓. เหมือนรอยไม้ขีดลงในน้ำ  ๔. เหมือนลำธารอันไหลมาจากภูเขา  ๕. เหมือนก้อนเขฬะ  ๖. เหมือนชิ้นเนื้อนาบไฟ     ๗. เหมือนโคที่เขาจะฆ่า ฯ

ทรงแสดงไว้เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้เร่งรีบทำความดีให้ทันกับเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ ฯ

๑๐.   ตามมหาสติปัฏฐานสูตร  ผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔  ตลอด ๗ วันถึงตลอด ๗ ปี  พึงหวังผลอะไรได้บ้าง ?

๑๐.   พึงหวังผล ๒ อย่าง  อย่างใดอย่างหนึ่ง  คือ  พระอรหัตผลในปัจจุบันชาตินี้ ๑  หรือเมื่อวิบากขันธ์ที่กิเลสมีตัณหาเป็นต้นเข้ายึดไว้ยังเหลืออยู่  เป็นพระอนาคามี ๑ ฯ

***********

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น