วันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

วิชาธรรม นักธรรมชั้นเอก 2555

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม  นักธรรมชั้นเอก

สอบในสนามหลวง

วันเสาร์ ที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๕

๑.      พระพุทธดำรัสตอนหนึ่งว่า "สูทั้งหลายจงมาดูโลกนี้อันตระการดุจราชรถ" ดังนี้ โดยมีพระพุทธประสงค์อย่างไร?

ตอบ มีพระพุทธประสงค์เพื่อทรงชักชวนแนะนำให้ดูถึงโทษประโยชน์มิใช่ประโยชน์ของโลก เช่นเดียวกับดูละคร มิให้หลงชมความสวยงามต่างๆ แต่ให้เพ่งดูคติที่ดีและชั่ว มีให้เมามัวไปตามสิ่งนั้น ดังตรัสต่อไปอีกว่า เป็นที่คนเขลาหมกอยู่ แต่ผู้รู้หาข้อติดไม่ ฯ

๒.     ความอยากที่เข้าลักษณะเป็นตัณหา และไม่เป็นตัณหานั้น ได้แก่ความอยากเช่นไร เพราะเหตุไร?

ตอบ ความอยากที่เข้าลักษณะทำให้เกิดในภพอีก ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความยินดี เพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ อย่างนี้จัดเป็นตัณหา เพราะเป็นทุกขสมุทัย เหตุให้ทุกข์เกิด ส่วนความอยากที่มีอยู่โดยปกติธรรมดาของคนทุกคน แม้กระทั่งพระอริยเจ้า เช่นความอยากข้าว อยากน้ำเป็นต้น ไม่จัดว่าเป็นตัณหา เพราะเป็นความอยากที่เป็นไปตามธรรมดาของสังขาร ฯ

๓.     การกำหนดรู้ความเป็นอนัตตาแห่งสังขารด้วยความเป็นสภาพสูญนั้นคือ รู้อย่างไร?

ตอบ รู้จักพิจารณากำหนดเห็นสังขารกระจายเป็นส่วนย่อยๆ จากฆนคือก้อนจนเห็นเป็นความว่าง ถอนฆนสัญญาความสำคัญหมายว่าเป็นก้อน อันได้แก่ ความถือเอาโดยนิมิต  ว่าเรา ว่าเขา ว่าผู้นั้น ว่าผู้นี้ เสียได้ ฯ

๔.     วิราคะในพระบาลีว่า “วิราโค เสฏฺโฐ ธมฺมานํ วิราคะประเสริฐกว่าธรรมทั้งหลาย” และในพระบาลีว่า “วิราคา วิมุจฺจติ เพราะสิ้นกำหนัดย่อมหลุดพ้น” ต่างกันอย่างไร?

ตอบ วิราคะในพระบาลีแรกเป็นไวพจน์คือคำแทนชื่อพระนิพพาน

วิราคะในพระบาลีหลังเป็นชื่อของพระอริยมรรค ฯ

๕.     บาลีแสดงปฏิปทาแห่งสันติว่า “โลกามิสํ ปชเห สนฺติเปกฺโข” แปลว่า ผู้เพ่งความสงบพึงละอามิสในโลกเสีย ดังนี้ คำว่า อามิสในโลกหมายถึงอะไร? ที่เรียกอย่างนั้นเพราะเหตุไร?

ตอบ หมายถึงเบญจพิธกามคุณ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ฯ ที่เรียกอย่างนั้น เพราะเป็นเครื่องล่อใจให้ติดในโลก ดุจเหยื่ออันเบ็ดเกี่ยวอยู่ฉะนั้น ฯ

๖.      กัมมัฏฐานที่พระอุปัชฌาย์สอนแก่ผู้บรรพชาอุปสมบทว่า เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ ตโจ ทนฺตา นขา โลมา เกสา นั้น จัดเข้าในสติปัฏฐานข้อใด? ให้พิจารณาอย่างไร?

ตอบ จัดเข้าในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ฯ

ให้พิจารณาน้อมใจให้เห็นเป็นของน่าเกลียดปฏิกูล ทั้งในกายตน ทั้งในกายผู้อื่น ฯ

๗.     กายคตาสติกัมมัฏฐานกับอสุภกัมมัฏฐาน มีอารมณ์ต่างกันอย่างไร? แก้นิวรณ์ข้อใดได้?

ตอบ    กายคตาสติกัมมัฏฐาน มีอาการ ๓๒ ในร่างกายเป็นอารมณ์

อสุภกัมมัฏฐาน มีซากศพเป็นอารมณ์ ฯ

แก้กามฉันทนิวรณ์ ฯ

๘.     จงแสดงพระพุทธคุณ ๙ โดยอัตตสมบัติและปรหิตปฏิบัติ พอได้ใจความ

ตอบ พระพุทธคุณ คือ อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน สุคโต โลกวิทู เป็นพระพุทธคุณส่วนอัตตสมบัติ

พระพุทธคุณ คือ อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ เป็นพระพุทธคุณส่วนปรหิตปฏิบัติ

พระพุทธคุณ คือ พุทฺโธ ภควา เป็นพระพุทธคุณทั้งอัตตสมบัติและปรหิตปฏิบัติ ฯ

๙.     ปัญญารู้เห็นอย่างไร ชื่อว่าวิปัสสนาปัญญา?

ตอบ ปัญญาอันเห็นตามเป็นจริง คือกำหนดรู้สังขารโดยความเป็นของไม่เที่ยง ๑ โดยความเป็นทุกข์ ๑ โดยความเป็นอนัตตา ๑ ถอนความถือมั่นด้วยอำนาจตัณหา มานะ ทิฏฐิเสียได้ ชื่อว่าวิปัสสนาปัญญา ฯ

๑๐. ในสัญญา ๑๐ ข้อที่ ๕ ว่าปหานสัญญา ความสำคัญหรือความใส่ใจในการละ ขอทราบว่า ทรงสอนให้ละอะไรบ้าง?

ตอบ ทรงสอนให้ละ

๑. กามวิตก

๒. พยาบาทวิตก

๓. วิหิงสาวิตก

๔. ธรรมอันเป็นบาปเป็นอกุศล

ทั้ง ๔ นี้ ที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เกิดขึ้นอีก ฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น