วันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

วิชาวินัยบัญญัติ นักธรรมชั้นเอก 2547

ปัญหาและเฉลยวิชาวินัยบัญญัติ  นักธรรมชั้นเอก

สอบในสนามหลวง

พ.ศ. ๒๕๔๗

   ๑.  สังฆกรรมแต่ละประเภท ทรงอนุญาตให้สงฆ์พร้อมเพรียงกันทำในที่เช่นไร ?

   ๑.  อปโลกนกรรม ทรงอนุญาตให้สงฆ์พร้อมเพรียงกันทำในเขตสีมาหรือนอกเขตสีมาก็ได้ ฯ

        ญัตติกรรม ญัตติทุติยกรรม และญัตติจตุตถกรรม ทรงอนุญาตให้สงฆ์พร้อมเพรียง

        กันทำในเขตสีมาเท่านั้น จะเป็นพัทธสีมาหรืออพัทธสีมาก็ได้ ฯ

   ๒.  ภัณฑุกรรม และ อุกเขปนียกรรม คืออะไร ?  จัดเป็นสังฆกรรมประเภทไหน ?

   ๒.  ภัณฑุกรรม คือ กรรมที่ภิกษุแจ้งให้สงฆ์ทราบเพื่อปลงผมคนผู้มาขอบวชซึ่งยังไม่ได้

        ปลงผมมาก่อน และภิกษุจะปลงให้เอง ฯ

        อุกเขปนียกรรม คือ กรรมที่สงฆ์ทำแก่ภิกษุผู้ต้องอาบัติแล้ว ไม่ยอมรับว่าต้องอาบัติ

        เรียกว่าไม่เห็นอาบัติ  หรือไม่ทำคืนอาบัติ  หรือมีทิฏฐิบาปไม่ยอมสละ อันเป็น

        การเสียสีลสามัญญตา และทิฏฐิสามัญญตา ฯ

        ภัณฑุกรรมจัดเป็นอปโลกนกรรม ฯ

        อุกเขปนียกรรม จัดเป็นญัตติจตุตถกรรม ฯ

   ๓.  วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาและสร้างโรงอุโบสถแล้ว ภายหลังรื้อสร้างใหม่

        จะต้องขอพระราชทานวิสุงคามสีมาใหม่หรือไม่ ?  จงชี้แจง

   ๓.  ถ้าสร้างอยู่ในเขตวิสุงคามสีมาเดิมที่ได้รับพระราชทานไว้ ไม่ต้องขอพระราชทานใหม่  

        แต่ถ้าสร้างพ้นเขตวิสุงคามสีมาที่กำหนดเดิมนั้น ต้องขอพระราชทานวิสุงคามสีมาใหม่ ฯ

   ๔.  สงฆ์ผู้ทำกรรมในการให้ผ้ากฐิน มีกำหนดจำนวนอย่างน้อยไว้เท่าไร ?  ที่กำหนดไว้

        อย่างนั้น มีพระพุทธประสงค์อย่างไร ?

   ๔.  มี ๕ รูปเป็นอย่างน้อย ฯ

        มีพระพุทธประสงค์ว่า ภิกษุรูปหนึ่งเป็นบุคคลผู้รับผ้ากฐิน  เหลืออีก ๔ รูปเป็นสงฆ์

        กรานและอนุโมทนา จึงกำหนดอย่างนั้น ฯ

   ๕.  บุรพกิจก่อนแต่อุปสมบท มีอะไรบ้าง ?  กิจทั้งหมดนั้นที่จัดเป็นญัตติกรรม ทำเป็น

        การสงฆ์ คือกิจอะไรบ้าง ?

   ๕.  มีการให้บรรพชา  ขอนิสสัย  ถืออุปัชฌายะ  ขนานชื่อมคธแห่งอุปสัมปทาเปกขะ บอก

        นามอุปัชฌายะ  บอกบาตรจีวร  สั่งอุปสัมปทาเปกขะให้ออกไปยืนข้างนอก  สมมติ

        ภิกษุรูปหนึ่งเป็นผู้ซักซ้อมอุปสัมปทาเปกขะถึงอันตรายิกธรรม เรียกอุปสัมปทาเปกขะ

        เข้าในสงฆ์ ให้ขออุปสมบท สมมติภิกษุรูปหนึ่งสอบถามอุปสัมปทาเปกขะถึง

        อันตรายิกธรรมในสงฆ์ ฯ

        กิจเหล่านี้คือ การสมมติภิกษุรูปหนึ่งเป็นผู้ซักซ้อมอุปสัมปทาเปกขะถึงอันตรายิกธรรม 

        การเรียกอุปสัมปทาเปกขะเข้าในสงฆ์  การสมมติภิกษุรูปหนึ่งสอบถามอุปสัมปทาเปกขะ

        ถึงอันตรายิกธรรมในสงฆ์  จัดเป็นญัตติกรรม ทำเป็นการสงฆ์ ฯ

   ๖.  เมื่อมุ่งถึงพระพุทธบัญญัติ ภิกษุผู้ได้ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความตั้งอยู่ยั่งยืนแห่งพระธรรมวินัย

        ควรปฏิบัติเช่นไร ?

   ๖.  ควรปฏิบัติอย่างนี้ คือ ตั้งอยู่ในลัชชีธรรม  ใคร่ความบริสุทธิ์  อาบัติที่ไม่ควรต้อง

        อย่าต้อง อาบัติที่ต้องแล้ว พึงทำคืนเสีย  เช่นนี้จักเป็นผู้มีศีลเสมอด้วยสพรหมจารี

        ทั้งหลาย   ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความตั้งอยู่ยั่งยืนแห่งพระธรรมวินัย ฯ

   ๗.  การทำนาสนา คือการทำเช่นไร ? บุคคลที่ทรงอนุญาตให้นาสนามีกี่ประเภท ? ใครบ้าง ?

   ๗.  คือการยังบุคคลผู้ไม่ควรถือเพศ ให้ละเพศเสีย ฯ

        บุคคลที่ทรงอนุญาตให้นาสนามี ๓ ประเภท คือ

               ๑. ภิกษุผู้ต้องอันติมวัตถุแล้ว ยังปฏิญญาตนเป็นภิกษุ

               ๒. บุคคลผู้อุปสมบทไม่ขึ้น ได้รับอุปสมบทแต่สงฆ์

               ๓. สามเณรผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๐ ข้อใดข้อหนึ่ง เช่นเป็นผู้มักผลาญชีวิตสัตว์

                   เป็นต้น ฯ

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์

   ๘.  กรรมการมหาเถรสมาคมดำรงอยู่ในตำแหน่งคราวละกี่ปี ?

   ๘.  กรรมการมหาเถรสมาคมที่เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ไม่มีกำหนดเวลา

        กรรมการมหาเถรสมาคมที่สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง ดำรงอยู่ในตำแหน่งคราวละ ๒ ปี ฯ

   ๙.  ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลาง จะสามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้หรือไม่ มีหลัก

        ปฏิบัติอย่างไร ?

   ๙.  สามารถโอนได้ มีหลักปฏิบัติตามความในมาตรา ๓๔ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์

        พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ฯ

๑๐.  ศาสนสมบัติมีกี่ประเภท ?  อะไรบ้าง ?  ใครเป็นผู้มีอำนาจดูแลรักษาและจัดการ

        ศาสนสมบัติ ?

๑๐.  มี ๒ ประเภท (ตามมาตรา ๔๐) คือ

               ๑. ศาสนสมบัติกลาง ได้แก่ ทรัพย์สินของพระศาสนาซึ่งมิใช่ของวัดใดวัดหนึ่ง ฯ

               สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีอำนาจดูแลรักษาและจัดการ ฯ        

               ๒. ศาสนสมบัติของวัด ได้แก่ ทรัพย์สินของวัดใดวัดหนึ่ง ฯ

               เจ้าอาวาสวัดแต่ละวัด มีอำนาจดูแลรักษาและจัดการ ฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น