วันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

วิชาวินัย นักธรรมชั้นเอก 2548

ปัญหาและเฉลยวิชาวินัย  นักธรรมชั้นเอก

สอบในสนามหลวง

วันจันทร์ ที่  ๒๑  พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘


   ๑.  ในสังฆกรรมทั้ง ๔ นั้น การสวดอนุสาวนามีอยู่ในกรรมไหนบ้าง ?  ในแต่ละกรรม

        นั้นให้สวดกี่ครั้ง ?

   ๑.  มีอยู่ใน ญัตติทุติยกรรม และ ญัตติจตุตถกรรม ฯ  ในญัตติทุติยกรรมให้สวด

        ๑ ครั้ง  ในญัตติจตุตถกรรมให้สวด ๓ ครั้ง ฯ

   ๒.  สีมาเป็นหลักสำคัญแห่งสังฆกรรมอย่างไร ? พัทธสีมามีกำหนดขนาดพื้นที่ไว้อย่างไร ?

   ๒.  สีมาเป็นเขตประชุมของสงฆ์ผู้ทำกรรม พระศาสดาทรงพระอนุญาตให้สงฆ์

        พร้อมเพรียงกันทำภายในสีมา เพื่อจะรักษาสามัคคีในสงฆ์ ฯ

        อย่างนี้ คือ กำหนดไม่ให้สมมติสีมาเล็กเกินไปจนจุภิกษุ ๒๑ รูป นั่งไม่ได้และ

        ไม่ให้สมมติสีมาใหญ่เกินไปกว่า ๓ โยชน์ ฯ

   ๓.  ภิกษุได้รับอานิสงส์กฐิน เข้าบ้านในเวลาวิกาลโดยไม่บอกลา ต้องอาบัติอะไร

        หรือไม่ ?  เพราะเหตุไร ?

   ๓.  ในกรณีที่รับนิมนต์แล้ว ไปในที่นิมนต์ ภายหลังภัตรเข้าบ้านโดยไม่บอกลา

        ไม่ต้องอาบัติ ซึ่งได้รับยกเว้นด้วยอานิสงส์ที่ว่าเที่ยวไปไม่ต้องบอกลา ตาม

        สิกขาบทที่ ๖ แห่งอเจลกวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์ ฯ  แต่ในกรณีที่ไม่ได้รับนิมนต์

        เข้าบ้านในเวลาวิกาล ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ตามสิกขาบทที่ ๓ แห่งรัตนวรรค

        ในปาจิตติยกัณฑ์ ยกเว้นในกรณีรีบด่วน เช่นภิกษุถูกงูกัดรีบเข้าไปเพื่อหายา

        หรือตามหมอ ฯ

   ๔.  วัตถุสมบัติในการอุปสมบทคืออะไร ?  ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติอะไรบ้าง ?

   ๔.  คือผู้จะเข้ารับการอุปสมบท ฯ  ประกอบด้วยคุณสมบัติ ๕ ประการ  คือ

             ๑. เป็นชาย

             ๒. มีอายุครบ ๒๐ ปี

             ๓. ไม่เป็นมนุษย์วิบัติ  เช่นถูกตอน  หรือเป็นกะเทย

             ๔. ไม่เคยทำอนันตริยกรรม 

             ๕. ไม่เคยต้องปาราชิก  หรือไม่เคยเข้ารีตเดียรถีย์ทั้งที่เป็นภิกษุ ฯ

   ๕.  อภัพพบุคคลที่ถูกห้ามอุปสมบทเพราะกระทำผิดต่อพระศาสนา มีกี่ประเภท ?

        ใครบ้าง ?

   ๕.  มี ๗ ประเภท คือ

             ๑. คนฆ่าพระอรหันต์

             ๒. คนทำร้ายภิกษุณี ได้แก่ผู้ข่มขืนภิกษุณีในอัธยาจาร

             ๓. คนลักเพศ คือคนถือเพศเป็นภิกษุเอง

             ๔. ภิกษุไปเข้ารีตเดียรถีย์

             ๕. ภิกษุต้องปาราชิก

             ๖. ภิกษุทำสังฆเภท

             ๗. คนทำร้ายพระศาสดาจนถึงห้อพระโลหิต ฯ

   ๖.  อธิกรณ์อันสงฆ์วินิจฉัยแล้ว ฝ่ายไม่ชอบใจจักอุทธรณ์ได้หรือไม่ ?  จงตอบให้มีหลัก

   ๖.  อุทธรณ์ได้ก็มี อุทธรณ์ไม่ได้ก็มี โดยอธิบายว่า ตามสิกขาบทที่ ๓ แห่งสัปปาณวรรค

        ปาจิตติยกัณฑ์ โจทก์ก็ดี จำเลยก็ดี สงฆ์ก็ดี รู้อยู่ว่าอธิกรณ์นั้น สงฆ์หมู่นั้น

        วินิจฉัยเป็นธรรมแล้ว ฟื้นขึ้นเพื่อวินิจฉัยใหม่ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ อย่างนี้อุทธรณ์

        ไม่ได้  แต่ถ้าเห็นว่าไม่เป็นธรรม ฟื้นขึ้นไม่เป็นอาบัติ อย่างนี้ อุทธรณ์ได้ ฯ

   ๗.  ปริวาส คืออะไร ?  มานัต คืออะไร ?

   ๗.  ปริวาส คือ การประพฤติวัตรพิเศษอย่างหนึ่งเท่าจำนวนวันที่ปกปิดอาบัติไว้

        ก่อนจะประพฤติมานัตต่อไป ฯ 

        มานัต คือ การประพฤติวัตรพิเศษอย่างหนึ่ง เป็นเวลา ๖ ราตรี เพื่อออก

        จากอาบัติสังฆาทิเสส ฯ

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์

   ๘.  มหาเถรสมาคมมีอำนาจหน้าที่อะไรบ้าง ?

   ๘.  มีอำนาจหน้าที่ดังนี้

              ๑. ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงาม

              ๒. ปกครองและกำหนดการบรรพชาสามเณร

             ๓. ควบคุมและส่งเสริมการศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่

                 การสาธารณูปการ  และการสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์

             ๔. รักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา

             ๕. ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่น ฯ

   ๙.  ตามมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕  กำหนด

        ให้พระภิกษุสละสมณเพศในกรณีใดบ้าง ?

   ๙.  ในกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังต่อไปนี้

             ๑. ต้องคำวินิจฉัยตามมาตรา ๒๕ ให้รับนิคหกรรมไม่ถึงให้สึก แต่ไม่ยอมรับ

                 นิคหกรรมนั้น

             ๒. ประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเป็นอาจิณ

             ๓. ไม่สังกัดอยู่ในวัดใดวัดหนึ่ง

             ๔. ไม่มีวัดเป็นที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ฯ

๑๐.  ที่วัดและที่ธรณีสงฆ์ได้แก่ที่เช่นไร ? นาย ก ได้รับอนุญาตจากเจ้าอาวาสให้เข้าปลูกบ้าน

        อยู่อาศัยในที่เช่นนั้นนานเกินสิบปี ภายหลังจะยึดที่ดินผืนนั้นเป็นสมบัติส่วนตัว จึงยก

        อายุความขึ้นต่อสู้กับวัด  โดยอ้างสิทธิครอบครองได้หรือไม่ ?  เพราะเหตุไร ?

๑๐.  ที่วัด คือที่ที่ตั้งวัดตลอดจนเขตของวัดนั้น ที่ธรณีสงฆ์ คือที่ซึ่งเป็นสมบัติของวัด ฯ

        ไม่ได้  เพราะมาตรา ๓๔ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒)

        พ.ศ. ๒๕๓๕ บัญญัติว่า ห้ามมิให้บุคคลใดยกอายุความขึ้นต่อสู้กับวัดหรือสำนักงาน

        พระพุทธศาสนาแห่งชาติแล้วแต่กรณี ในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นที่วัด ที่ธรณีสงฆ์

        หรือที่ศาสนสมบัติกลาง ฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น