วันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

วิชาวินัยบัญญัติ นักธรรมชั้นเอก 2546

ปัญหาและเฉลยวิชาวินัยบัญญัติ  นักธรรมชั้นเอก

สอบในสนามหลวง

พ.ศ. ๒๕๔๖

๑.

๑.๑

สังฆกรรมมีกี่อย่าง ?  อะไรบ้าง ?


๑.๒

ในสีมาเดียวกัน  ภิกษุจะประชุมกันทำสังฆกรรมวันหนึ่ง ๒ ครั้งไม่ได้ ข้อนี้มีความจริงเป็นอย่างไร ?  จงอธิบาย

๑.

๑.๑

มี  ๔  อย่าง  คือ

    ๑) อปโลกนกรรม

    ๒) ญัตติกรรม 

    ๓) ญัตติทุติยกรรม  

    ๔) ญัตติจตุตถกรรม ฯ


๑.๒

มีความจริงเป็นอย่างนี้ คือ สังฆกรรมบางอย่าง  เช่น  อุโบสถ  ปวารณา  ภิกษุอยู่ในสีมาเดียวกัน  จะต้องพร้อมเพรียงกันทำ  จะแยกกันทำ ๒ พวก ๒ ครั้งไม่ได้ แต่สังฆกรรมบางอย่าง  เช่น  อุปสมบทกรรม อัพภานกรรม  จะทำวันเดียวหลายครั้งก็ได้ ฯ

๒.

๒.๑

สีมามีกี่ประเภท ?  อะไรบ้าง ?


๒.๒

แดนที่มีสังวาสเสมอกันเรียกว่าอะไร ?  มีประโยชน์อย่างไร ?

๒.

๒.๑

มี  ๒  ประเภท  คือ

      ๑) พัทธสีมา  

      ๒) อพัทธสีมา ฯ


๒.๒

เรียกว่า  สมานสังวาสสีมา ฯ




มีประโยชน์อย่างนี้  คือ  ภิกษุผู้อยู่ในเขตนี้  มีสิทธิในอันจะเข้าอุโบสถ  ปวารณา  และสังฆกรรมร่วมกัน  เป็นแดนที่กำหนดความพร้อมเพรียง  ภิกษุผู้อยู่ในสีมานี้ทั้งหมดเข้าประชุมกันเป็นสงฆ์ หรือนำฉันทะของภิกษุ

ผู้ไม่มาเข้าประชุม เรียกว่าสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกัน ฯ

๓.

๓.๑

การทักนิมิตในทิศทั้ง ๘ นั้น  ทักทิศละหนถูกต้องหรือไม่ ? เพราะเหตุไร ?


๓.๒

จงเขียนคำทักนิมิตในทิศตะวันออกเฉียงเหนือ  มาดู ?

๓.

๓.๑

ไม่ถูกต้อง ฯ  ที่ถูกต้องนั้นเมื่อเริ่มต้นทักนิมิตในทิศบูรพาแล้ว  ทักมา

โดยลำดับจนถึงนิมิตสุด  ต้องวนไปทักนิมิตในทิศบูรพาซ้ำอีก ฯ


๓.๒

คำทักนิมิตในทิศตะวันออกเฉียงเหนือว่าดังนี้  “ อุตฺตราย  อนุทิสาย  กึ  นิมิตฺตํ ”  ฯ

๔.

๔.๑

คำว่า  “ กฐิน ”  เป็นชื่อของอะไร ?  มีชื่อเรียกอย่างนั้นเพราะเหตุไร ?


๔.๒

การกรานกฐินนั้น  มีวิธีปฏิบัติอย่างไร ?

๔.

๔.๑

เป็นชื่อของสังฆกรรมอย่างหนึ่ง ฯ  เพราะมีชื่อออกจากไม้สะดึงที่ลาดหรือกางออก เพื่อขึงจีวรเย็บ ฯ


๔.๒

มีวิธีปฏิบัติอย่างนี้ คือ เมื่อมีผ้าเกิดขึ้นแก่สงฆ์ในกาลเช่นนั้นพอจะทำเป็นไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่งได้ สงฆ์พร้อมใจกันยกให้แก่ภิกษุรูปหนึ่ง เพื่อประโยชน์นี้  ภิกษุผู้ได้รับผ้านั้นเอาไปทำจีวรให้เสร็จในวันนั้น  แล้วมาบอกภิกษุผู้ยกผ้านั้นให้เพื่ออนุโมทนา  ภิกษุเหล่านั้นอนุโมทนา ฯ

๕.

๕.๑

ศัพท์ว่า  “ บรรพชา ”  มีอธิบายว่าอย่างไร ?


๕.๒

นอกจากคนมีอายุไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ และอภัพพบุคคลแล้ว ยังมีบุคคลจำพวกไหนอีกบ้างที่ห้ามไม่ให้อุปสมบท ?

๕.

๕.๑

มีอธิบายว่า  ศัพท์นี้  หมายเอาการบวชทั่วไป  รวมทั้งอุปสมบทด้วยก็มี  หมายเอาเฉพาะการบวชเป็นบุรพประโยคแห่งอุปสมบทก็มี หมายถึง

การบวชลำพังเป็นสามเณรก็มี ฯ


๕.๒

มีบุคคลที่ถูกห้ามไม่ให้อุปสมบทอีก  ๓  จำพวก คือ

      ๑) คนไม่มีอุปัชฌาย์  หรือมีคนอื่นนอกจากภิกษุเป็นอุปัชฌาย์  หรือ

          ถือสงฆ์ ถือคณะเป็นอุปัชฌาย์

      ๒) คนไม่มีบาตร  ไม่มีจีวร  หรือไม่มีทั้งบาตรทั้งจีวร

      ๓) คนยืมบาตร  ยืมจีวรเขามาหรือยืมทั้งบาตรทั้งจีวรเขามา ฯ

๖.

๖.๑

ไตรจีวร กำหนดให้เรียกผ้านุ่งว่า  อันตรวาสก  เรียกผ้าห่มว่า อุตตราสงค์ เรียกผ้าทาบว่า สังฆาฏิ  ในเวลาไหนบ้าง ?


๖.๒

ผ้า  ๓  ผืนนั้น  กำหนดให้เรียกว่า  จีวร  ในเวลาไหนบ้าง ?

๖.

๖.๑

ในเวลาดังต่อไปนี้ คือ ในเวลาบอกบาตรจีวรแก่อุปสัมปทาเปกขะ ในเวลาอธิษฐานเป็นผ้าครอง ในเวลาปัจจุทธรณ์  และในเวลากรานกฐิน ฯ


๖.๒

ในเวลาผ้า  ๓  ผืนนั้น  เป็นนิสสัคคีย์เพราะอยู่ปราศ  คำเสียสละเรียกว่าจีวรทุกผืน  และในเวลาผ้าเหล่านั้นเป็นอติเรกจีวร  คำวิกัป  คำถอนวิกัป  รวมเรียกว่าจีวรทั้งสิ้น ฯ

๗.

๗.๑

สัมมุขาวินัยสำหรับระงับวิวาทาธิกรณ์นั้น มีวิธีอย่างไร ?


๗.๒

อธิกรณ์ที่ภิกษุจะพึงยกขึ้นว่านั้น ต้องเป็นเรื่องที่มีมูล ก็เรื่องที่มูลนั้นมีลักษณะเช่นไร ?

๗.

๗.๑

มีวิธีอย่างนี้ คือ

      ๑) ด้วยการตกลงกันเอง

      ๒) ด้วยการตั้งผู้วินิจฉัย

      ๓) ด้วยอำนาจแห่งสงฆ์


๗.๒

มีลักษณะ  ๓  ประการ  คือ

      ๑) เรื่องที่ได้เห็นเอง

      ๒) เรื่องที่ได้ยินเอง  หรือมีผู้บอกและเชื่อว่าเป็นจริง

      ๓) เรื่องที่เว้นจาก  ๒  สถานนั้น  แต่รังเกียจโดยอาการ ฯ

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์  พ.ศ.  ๒๕๐๕,  (ฉบับที่  ๒)  พ.ศ.  ๒๕๓๕

๘.

๘.๑

องค์กรการปกครองคณะสงฆ์สูงสุด  คืออะไร ?


๘.๒

ตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์   กำหนดองค์ประกอบขององค์กรนั้นไว้อย่างไร ?

๘.

๘.๑

คือ  มหาเถรสมาคม ฯ


๘.๒

กำหนดไว้ดังนี้

                   สมเด็จพระสังฆราช  ทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง

      สมเด็จพระราชาคณะทุกรูป เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และ

พระราชาคณะซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง มีจำนวนไม่เกิน ๑๒ รูปเป็นกรรมการ ฯ

๙.

๙.๑

ภิกษุรูปหนึ่งต้องคำพิพากษาคดีถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย  ภิกษุนั้นจะต้องปฏิบัติอย่างไร ?  ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์มาตราไหน ?


๙.๒

ถ้าภิกษุนั้นฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาจะถูกลงโทษอย่างไร ?

๙.

๙.๑

ภิกษุนั้นต้องสึกภายในสามวัน  นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด ฯ  ตามมาตรา  ๒๘ 

แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ฯ


๙.๒

ถ้าฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ตามมาตรา ๔๓  แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ฯ

๑๐.

๑๐.๑

ที่วัด  ที่ธรณีสงฆ์  และที่ศาสนสมบัติกลาง  ได้แก่สถานที่เช่นไร ?


๑๐.๒

เจ้าพนักงาน  ตามความในประมวลกฎหมายอาญา  ในพระราชบัญญัติ

คณะสงฆ์ได้แก่ใคร ?

๑๐.

๑๐.๑

ที่วัด                    ได้แก่ที่ซึ่งตั้งวัดตลอดจนเขตของวัดนั้น

ที่ธรณีสงฆ์             ได้แก่ที่ซึ่งเป็นสมบัติของวัด

ที่ศาสนสมบัติกลาง    ได้แก่ที่ซึ่งเป็นทรัพย์สินของพระศาสนาซึ่งมิใช่

                             ของวัดใดวัดหนึ่ง ฯ


๑๐.๒

ได้แก่พระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์และไวยาวัจกร  ฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น