วันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

วิชาวินัยบัญญัติ นักธรรมชั้นเอก 2545

ปัญหาและเฉลยวิชาวินัยบัญญัติ  นักธรรมชั้นเอก

สอบในสนามหลวง

วันอาทิตย์ ที่  ๒๔  พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๕

 ๑.    ๑.๑ คำว่า ญัตติ  อนุสาวนา  อปโลกนะ อุปสัมปทาเปกขะ ได้แก่อะไร ? จงชี้แจง

        ๑.๒  ภิกษุผู้สามารถสวดกรรมวาจาได้แม่นยำและสละสลวย ต้องพร้อมด้วยคุณสมบัติ

             อย่างไรบ้าง ?

 ๑.    ๑.๑ ญัตติ ได้แก่คำเผดียงสงฆ์

             อนุสาวนา ได้แก่คำประกาศปรึกษาและตกลงของสงฆ์

             อปโลกนะ ได้แก่การบอกกันในที่ประชุมสงฆ์ ไม่ต้องตั้งญัตติ

                          ไม่ต้องสวดอนุสาวนา

             อุปสัมปทาเปกขะ ได้แก่กุลบุตรผู้มุ่งอุปสมบท ฯ

        ๑.๒ อย่างนี้ คือ

                   ๑) รู้จักประเภทของอักขระ 

                   ๒) รู้จักฐานกรณ์ของอักขระ 

                   ๓) ว่าเป็น ฯ

 ๒.    ๒.๑ ภิกษุผู้นับเข้าในจำนวนสงฆ์ผู้ทำกรรมนั้นๆ ต้องเป็นภิกษุเช่นไร ?

        ๒.๒ เวลาทำสังฆกรรม ภิกษุที่อยู่ในสีมาเดียวกัน นับเข้าในจำนวนสงฆ์ผู้ทำกรรม

             ทั้งหมดใช่หรือไม่ ?  จงอธิบาย

 ๒.    ๒.๑ ต้องเป็นภิกษุปกติ ไม่ถูกสงฆ์ยกเสียจากหมู่ด้วยอุกเขปนียกรรม มีสังวาส

             เสมอด้วยสงฆ์ และเป็นสมานสังวาสของกันและกัน ฯ

        ๒.๒ ไม่ใช่ เพราะภิกษุที่เหลือจากจำนวนผู้ไม่มาเข้ากรรม เป็นผู้ควรให้ฉันทะ สงฆ์

             ทำกรรมเพื่อภิกษุใด ภิกษุนั้นก็ไม่นับเข้าในจำนวนสงฆ์ และไม่ใช่ผู้ควรให้ฉันทะ

             แต่เป็นผู้ควรเข้ากรรมนั้น ฯ

 ๓.    ๓.๑ วิสุงคามสีมา พัทธสีมา  ได้แก่สีมาเช่นไร ?

        ๓.๒ กฐิน เป็นสังฆกรรมอะไร ? การรับกฐิน ตลอดจนถึงกราน ต้องทำในสีมา

             อย่างเดียว หรือทำนอกสีมาก็ได้ ?

 ๓.    ๓.๑ วิสุงคามสีมา ได้แก่เขตที่สงฆ์ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตยกให้เป็น

             แผนกหนึ่งจากบ้าน ฯ  

             พัทธสีมา ได้แก่วิสุงคามสีมานั้นเองอันสงฆ์ผูกแล้ว คือสมมติเป็นสมานสังวาส

             สีมาแล้ว ฯ

        ๓.๒ เป็นญัตติทุติยกรรม ฯ การรับกฐิน การอปโลกน์เพื่อให้ผ้ากฐิน และการกรานกฐิน

             ทำในสีมาหรือนอกสีมาก็ได้ การสวดญัตติทุติยกรรมวาจาให้ผ้ากฐิน ต้องทำในสีมา

             อย่างเดียว ฯ

 ๔.    ๔.๑ กฐินจะเดาะหรือไม่เดาะ กำหนดรู้ได้อย่างไร ?

        ๔.๒ ผ้าที่ทรงห้ามใช้เป็นผ้ากฐินได้แก่ผ้าเช่นไรบ้าง ?

 ๔.    ๔.๑  กฐินเดาะ กำหนดรู้ได้ด้วยอาวาสปลิโพธและจีวรปลิโพธขาด หรือสิ้นเขตจีวรกาลที่

             ขยายออกไปอีก ๔ เดือน กฐินไม่เดาะ กำหนดรู้ได้ด้วยอาวาสปลิโพธหรือ จีวร

             ปลิโพธอย่างใดอย่างหนึ่งยังไม่ขาด และยังอยู่ในเขตจีวรกาลที่ขยายออกไปอีก ๔

             เดือน ฯ

        ๔.๒ เช่นนี้ คือ

                   ๑) ผ้าที่ไม่ได้เป็นสิทธิ เช่น ผ้าที่ขอยืมเขามา

                   ๒) ผ้าที่ได้มาโดยอาการอันมิชอบ คือทำนิมิตได้มา

                   ๓) ผ้าที่ได้มาโดยการพูดเลียบเคียง

                   ๔) ผ้าเป็นนิสสัคคีย์

                   ๕) ผ้าที่ได้มาโดยทางบริสุทธิ์ แต่เก็บไว้ค้างคืน ฯ

 ๕.    ๕.๑ ผู้ที่ถูกห้ามอุปสมบท เพราะทำผิดต่อพระศาสนา ได้แก่คนเช่นไร ?

        ๕.๒  ในเวลาสวดกรรมวาจานั้น กำหนดด้วยสงฆ์นิ่งอยู่จนถึงบาลีคำใด อุปสมบทกรรม

             จึงจะนับว่าเป็นการสำเร็จ ?

 ๕.    ๕.๑ ได้แก่

                   ๑) คนฆ่าพระอรหันต์      

                   ๒) คนทำร้ายภิกษุณี     

                   ๓) คนลักเพศ

                   ๔) ภิกษุไปเข้ารีตเดียรถีย์ 

                   ๕) ภิกษุต้องปาราชิกละเพศไปแล้ว

                   ๖) ภิกษุผู้ทำสังฆเภท                                    

                   ๗) คนทำร้ายพระศาสดาจนถึงห้อพระโลหิต ฯ

        ๕.๒ กำหนดด้วยสงฆ์นิ่งอยู่จนถึงคำว่า โส ภาเสยฺย ที่แปลว่า ท่านผู้นั้นพึงพูดท้ายอนุสาวนาที่ ๓ จึงนับว่าเป็นการสำเร็จ ฯ

 ๖.    ๖.๑ อนุวาทาธิกรณ์ที่เกิดขึ้นแล้วไม่รีบระงับ  มีผลเสียอย่างไร ?

        ๖.๒ ภิกษุผู้ต้องอนุวาทาธิกรณ์ พึงปฏิบัติอย่างไร ?

 ๖.    ๖.๑ มีผลเสีย คือทำให้เสียสีลสามัญญตาและเสียสามัคคี เป็นทางแตก เป็นนานา-

             สังวาส จนถึงเป็นนานานิกาย ฯ

        ๖.๒ พึงปฏิบัติอย่างนี้ คือ

                   ๑) เคารพในผู้พิจารณา

                   ๒) ให้การตามความเป็นจริง

                   ๓) พึงเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของสงฆ์

                   ๔) ไม่ขุ่นเคือง ฯ

 ๗.    ๗.๑  ลักษณะปกปิดอาบัตินั้น พระอรรถกถาจารย์ แสดงไว้กี่ประการ ?  อะไรบ้าง ?

        ๗.๒ ภิกษุผู้เป็นโจทก์ จงใจหาความเท็จใส่ภิกษุอื่น และภิกษุผู้เป็นจำเลย จงใจปกปิด

             ความประพฤติเสียของตนด้วยให้การเท็จ  สงฆ์พึงนิคคหะด้วยกรรมอะไร ?

 ๗.    ๗.๑ แสดงไว้ ๑๐ ประการ จัดเป็น ๕ คู่ คือ

                   ๑) เป็นอาบัติ และรู้ว่าเป็นอาบัติ

                   ๒) เป็นปกตัตตะ และรู้ว่าเป็นปกตัตตะ

                   ๓) ไม่มีอันตราย และรู้ว่าไม่มีอันตราย

                   ๔) อาจอยู่ และรู้ว่าอาจอยู่

                   ๕) ใคร่จะปิด และปิดไว้ ฯ

        ๗.๒ สงฆ์พึงทำ ตัชชนียกรรม แก่ภิกษุผู้เป็นโจทก์  และตัสสปาปิยสิกากรรม แก่

             ภิกษุผู้เป็นจำเลย ฯ

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์  พ.ศ.  ๒๕๐๕,  (ฉบับที่  ๒)  พ.ศ.  ๒๕๓๕

 ๘.    ๘.๑ ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ใครเป็นผู้สถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ?

             ตอบโดยอ้างมาตรา

        ๘.๒ คำว่า คณะสงฆ์ และคณะสงฆ์อื่น แห่งมาตรา ๕ ทวิ ในพระราชบัญญัติ

             คณะสงฆ์หมายถึงใคร ?

 ๘.    ๘.๑ มาตรา ๗  พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง ฯ

        ๘.๒ คณะสงฆ์ หมายถึงบรรดาพระภิกษุที่ได้รับบรรพชาอุปสมบทจากพระ

             อุปัชฌาย์ ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือตามกฎหมายที่ใช้บังคับก่อนพระราช-

             บัญญัตินี้ ไม่ว่าจะปฏิบัติศาสนกิจในหรือนอกราชอาณาจักร ฯ

             คณะสงฆ์อื่น  หมายถึงบรรดาบรรพชิตจีนนิกายหรืออนัมนิกาย ฯ

 ๙.    ๙.๑  คณะสงฆ์จะตั้งเป็นอิสระ ไม่อยู่ภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคมได้หรือไม่?

             จงอ้างมาตรา

        ๙.๒ จงให้ความหมายของคำต่อไปนี้

ก)   ที่วัด             

ข) ที่ธรณีสงฆ์      

ค) ที่กัลปนา

 ๙.    ๙.๑  ไม่ได้ ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๒๐ ความว่า คณะสงฆ์ต้องอยู่ภายใต้การปกครอง

             ของมหาเถรสมาคม ฯ

        ๙.๒       ก) ที่วัด         คือที่ซึ่งตั้งวัดตลอดจนเขตของวัดนั้น

                   ข) ที่ธรณีสงฆ์  คือที่ซึ่งเป็นสมบัติของวัด

                   ค) ที่กัลปนา    คือที่ซึ่งมีผู้อุทิศแต่ผลประโยชน์ให้วัดหรือพระศาสนา ฯ

๑๐. ๑๐.๑ ผู้มิได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ หรือถูกถอดถอนจากความเป็นพระอุปัชฌาย์

             กระทำการบรรพชาอุปสมบทแก่บุคคลอื่น ต้องระวางโทษอย่างไร ?

      ๑๐.๒  ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการมหาเถรสมาคมคือใคร?

๑๐. ๑๐.๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ฯ

      ๑๐.๒ คืออธิบดีกรมการศาสนาโดยตำแหน่ง  ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ มาตรา ๑๓ ความว่า ให้อธิบดีกรมการศาสนาเป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง ฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น