ปัญหาและเฉลยวิชาวินัยบัญญัติ นักธรรมชั้นเอก
สอบในสนามหลวง
วันจันทร์ ที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๔
๑.
๑.๑
อปโลกนกรรมมีกี่อย่าง ? อะไรบ้าง ?
๑.๒
สงฆ์ผู้ทำสังฆกรรม มีกำหนดจำนวนไว้อย่างไร ?
๑.
๑.๑
มี ๕ อย่างคือ
๑) นิสสารณา นาสนะสามเณรผู้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้า
๒) โอสารณา รับสามเณรผู้ถูกนาสนะแล้วกลับประพฤติเรียบร้อย ให้เข้าหมู่
๓) ภัณฑูกรรม บอกขออนุญาตปลงผมคนผู้จะบวชอันภิกษุจะทำเอง
๔) พรหมทัณฑ์ ประกาศไม่ว่ากล่าวภิกษุหัวดื้อว่ายาก
๕) กัมมลักขณะ อปโลกน์แจกอาหารในโรงฉันเป็นต้น
๑.๒
มีกำหนดจำนวนไว้ดังนี้
จตุวรรค สงฆ์มีจำนวน ๔ รูป
ปัญจวรรค สงฆ์มีจำนวน ๕ รูป
ทสวรรค สงฆ์มีจำนวน ๑๐ รูป
วีสติวรรค สงฆ์มีจำนวน ๒๐ รูป
๒.
๒.๑
วัตถุที่ใช้เป็นนิมิตกำหนดเขตสีมามีกี่อย่าง ? อะไรบ้าง ?
๒.๒
ปัจจุบันนิยมใช้วัตถุอะไรเป็นนิมิต ? และวัตถุที่จะใช้เป็นนิมิตนั้นได้มีกำหนดไว้อย่างไร ?
๒.
๒.๑
มี ๘ อย่างคือ
๑) ภูเขา
๒) ศิลา
๓) ป่าไม้
๔) ต้นไม้
๕) จอมปลวก
๖) หนทาง
๗) แม่น้ำ
๘) น้ำ
๒.๒
ใช้ศิลาเป็นนิมิต มีกำหนดไว้ดังนี้
๑) เป็นศิลาหินแท้ หินปนแร่ ใช้ได้ทั้งหมด
๒) เป็นศิลามีก้อนโตไม่ถึงตัวช้าง ขนาดเท่าศีรษะโคหรือ
กระบือเขื่อง ๆ
๓) เป็นศิลาแท่งเดียว
๔) อย่างเล็กขนาดเท่าก้อนน้ำอ้อยหนัก ๓๒ ปะละ ราว ๕ ชั่ง
ก็ใช้ได้
๓.
๓.๑
สมานสังวาสสีมา และติจีวราวิปปวาสสีมา ได้แก่สีมาเช่นไร ?
๓.๒
ในการถอน และสมมติ สีมาทั้ง ๒ นี้ มีวิธีปฏิบัติก่อนหลังอย่างไร ?
๓.
๓.๑
สีมาที่ทรงพระอนุญาตให้สงฆ์สมมติเป็นแดนมีสังวาสเสมอกัน ภิกษุ
ผู้อยู่ในเขตนี้มีสิทธิในอันจะเข้าอุโบสถ ปวารณา และสังฆกรรมร่วมกัน
เรียกว่าสมานสังวาสสีมา สมานสังวาสสีมานี้ ทรงพระอนุญาต
ให้สมมติติจีวราวิปปวาส ซ้ำลงได้อีก เว้นบ้าน และอุปจารบ้าน
อันตั้งอยู่ในสีมานั้น เมื่อได้สมมติอย่างนี้แล้ว แม้ภิกษุอยู่ห่างจาก
ไตรจีวรในสีมานั้น ก็ไม่เป็นอันอยู่ปราศ เรียกว่าติจีวราวิปปวาสสีมา
๓.๒
ในการถอน ให้ถอนติจีวราวิปปวาสสีมาก่อน ถอนสมานสังวาสสีมาภายหลังในการสมมติ ให้สมมติสมานสังวาสสีมาก่อน สมมติติจีวราวิปปวาสสีมาภายหลัง
๔.
๔.๑
ภิกษุผู้ควรได้รับสมมติให้เป็นภัตตุทเทสกะ ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติเช่นไร ?
๔.๒
ภัตรที่ควรแจกเฉพาะมีกี่อย่าง ? อะไรบ้าง ?
๔.
๔.๑
ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติดังนี้คือ
๑) เว้นอคติ ๔ คือฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ
๒) รู้จักภัตรที่ควรแจกหรือมิควรแจก
๓) รู้จักลำดับที่พึงแจก
๔.๒
มี ๕ อย่างคือ
๑) อาคันตุกภัตร อาหารที่เขาถวายเฉพาะภิกษุอาคันตุกะ
๒) คมิยภัตร อาหารที่เขาถวายเฉพาะภิกษุผู้จะไปอยู่ที่อื่น
๓) คิลานภัตร อาหารที่เขาถวายเฉพาะภิกษุอาพาธ
๔) คิลานุปัฏฐากภัตร อาหารที่เขาถวายเฉพาะภิกษุผู้พยาบาลไข้
๕) กุฏิภัตร อาหารที่เขาถวายแก่ภิกษุผู้อยู่ในกุฏิที่เขาสร้าง
๕.
๕.๑
อภัพบุคคลในอุปสมบทกรรมได้แก่บุคคลเช่นไร ? โดยวัตถุมีกี่อย่าง ? อะไรบ้าง ?
๕.๒
ปัจฉิมกิจแห่งการอุปสมบทมีอะไรบ้าง ? ตอบเพียง ๒ ข้อ
๕.
๕.๑
ได้แก่บุคคลที่ไม่สมควรแก่การอุปสมบท อุปสมบทไม่ขึ้น ถูกห้ามอุปสมบทตลอดชีวิต โดยวัตถุมี ๓ คือ
๑) พวกที่มีเพศบกพร่อง ไม่รู้ว่าเป็นชายหรือเป็นหญิง
๒) พวกประพฤติผิดพระธรรมวินัย เช่น ฆ่าพระอรหันต์ เป็นต้น
๓) พวกประพฤติผิดต่อกำเนิดของตน คือฆ่ามารดาบิดา
๕.๒
มี ๖ ข้อ (ตอบเพียง ๒ ข้อ) คือ
๑) วัดเงาแดดในทันที
๒) บอกประมาณแห่งฤดู
๓) บอกส่วนแห่งวัน
๔) บอกสังคีติ
๕) บอกนิสสัย ๔
๖) บอกอกรณียกิจ ๔
๖.
๖.๑
วิวาทาธิกรณ์คืออะไร ?
๖.๒
วิวาทาธิกรณ์นั้น ระงับด้วยอธิกรณสมถะกี่อย่าง ? อะไรบ้าง ?
๖.
๖.๑
คืออธิกรณ์ที่เกิดจากการทะเลาะกัน โต้เถียงกัน โดยปรารภพระธรรมวินัย
๖.๒
ด้วยอธิกรณสมถะ ๒ อย่างคือ
๑) สัมมุขาวินัย
๒) เยภุยยสิกา
๗.
๗.๑
วุฏฐานวิธี แปลว่าอะไร ? ประกอบด้วยอะไรบ้าง ?
๗.๒
ในการทำวุฏฐานวิธีแต่ละอย่างนั้น ต้องการสงฆ์จำนวนเท่าไร ?
๗.
๗.๑
แปลว่าระเบียบเป็นเครื่องออกจากอาบัติ ประกอบด้วย ปริวาส มานัต ปฏิกัสสนา และอัพภาน
๗.๒
การให้ปริวาส ให้มานัต และทำปฏิกัสสนาต้องการสงฆ์จตุวรรค
การให้อัพภาน ต้องการสงฆ์วีสติวรรค
พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕, (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕
๘.
๘.๑
ตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ กำหนดองค์ประกอบของมหาเถรสมาคมไว้อย่างไร ?
๘.๒
มหาเถรสมาคมมีอำนาจหน้าที่อย่างไร ? ตอบเพียง ๒ ข้อ
๘.
๘.๑
กำหนดไว้ดังนี้
สมเด็จพระสังฆราช ทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง
สมเด็จพระราชาคณะทุกรูป เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และ
พระราชาคณะซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง มีจำนวน
ไม่เกิน ๑๒ รูป เป็นกรรมการ
๘.๒
มีอำนาจหน้าที่อย่างนี้ (ตอบเพียง ๒ ข้อ)
๑) ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงาม
๒) ปกครองและกำหนดการบรรพชาสามเณร
๓) ควบคุมและส่งเสริมการศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์
การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์
๔) รักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา
๕) ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือ
กฎหมายอื่น
๙.
๙.๑
ตามมาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ให้จัดแบ่งเขตปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาคไว้อย่างไร ?
๙.๒
พระภิกษุจะต้องรับนิคหกรรมเมื่อทำผิดเช่นไร ? และได้รับนิคหกรรม
ให้สึก ต้องสึกภายในเวลาเท่าไร ?
๙.
๙.๑
แบ่งดังนี้คือ ๑) ภาค
๒) จังหวัด
๓) อำเภอ
๔) ตำบล
ส่วนจำนวนและเขตปกครองดังกล่าวให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม
๙.๒
เมื่อกระทำการล่วงละเมิดพระธรรมวินัย และนิคหกรรมที่จะลงโทษ
แก่ภิกษุจะต้องเป็นนิคหกรรมตามพระธรรมวินัย
ต้องสึกภายใน ๒๔ ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ได้ทราบคำวินิจฉัยนั้น
๑๐.
๑๐.๑
พระภิกษุจะไม่สังกัดอยู่ในวัดใดวัดหนึ่งเลยได้หรือไม่ อ้างมาตราประกอบด้วย ?
๑๐.๒
เจ้าพนักงาน ตามความในประมวลกฎหมายอาญา ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ได้แก่ใคร ?
๑๐.
๑๐.๑
ไม่ได้, ตามมาตรา ๒๗ (๓) แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ๒๕๐๕,
(ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕
๑๐.๒
ได้แก่พระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์ และไวยาวัจกร เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา (มาตรา ๔๕)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น