วันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

วิชาธรรม นักธรรมชั้นเอก 2546

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม  นักธรรมชั้นเอก

สอบในสนามหลวง

พ.ศ. ๒๕๔๖

 

๑.

บาลีแสดงปฏิปทาแห่งนิพพิทาว่า  เย  จิตฺตํ  สญฺญ เมสฺสนฺติ  โมกฺขนฺติ  มารพนฺธนา  ผู้ใดสำรวมจิต ผู้นั้นจักพ้นจากบ่วงแห่งมาร


๑.๑

คำว่า  “ บ่วงแห่งมาร ”  ได้แก่อะไร ?


๑.๒

อาการสำรวมจิต คืออย่างไร ?

๑.

๑.๑

ได้แก่วัตถุกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่าใคร่ น่าปรารถนา น่าชอบใจ ฯ


๑.๒

อาการสำรวมจิตมี ๓ ประการ คือ

      ๑) สำรวมอินทรีย์มิให้ความยินดีครอบงำ ในเมื่อเห็นรูป ฟังเสียง ดม

          กลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ อันน่าปรารถนา

      ๒) มนสิการกัมมัฏฐานอันเป็นปฏิปักษ์ต่อกามฉันท์ คือ อสุภและ

          กายคตาสติ หรืออันยังจิตให้สลด คือมรณสติ

      ๓) เจริญวิปัสสนา คือพิจารณาสังขารแยกออกเป็นขันธ์ สันนิษฐาน

          เห็นเป็นสภาพไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ฯ

๒.

๒.๑

นิพัทธทุกข์ หมายถึงทุกข์อย่างไร ?


๒.๒

ในทุกข์ ๑๐ อย่าง ความร้อนใจ หรือความถูกลงอาชญา จัดเป็นทุกข์เช่นไร ?

๒.

๒.๑

หมายถึง ทุกข์เนืองนิตย์ หรือทุกข์เป็นเจ้าเรือน ได้แก่ หนาว ร้อน หิว ระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ฯ


๒.๒

จัดเป็นวิปากทุกข์ ฯ


๓.

๓.๑

ในวิมุตติ ๕ อย่างไหนเป็นโลกิยะ อย่างไหนเป็นโลกุตตระ ?


๓.๒

พระบาลีว่า  “ ปญฺญาย  ปริสุชฺฌติ   บุคคลย่อมหมดจดด้วยปัญญา ”  มีอธิบายอย่างไร ?

๓.

๓.๑

ตทังควิมุตติ  วิกขัมภนวิมุตติ  เป็นโลกิยะ

สมุจเฉทวิมุตติ  ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ  นิสสรณวิมุตติ  เป็นโลกุตตระ ฯ


๓.๒

มีอธิบายว่า บุคคลทำบาปเอง ย่อมเศร้าหมองเอง ไม่ทำบาปเอง ย่อมหมดจดเอง

ความหมดจดและความเศร้าหมองเป็นของเฉพาะตน คนอื่นยังคนอื่นให้หมดจดหาได้ไม่ ฯ

๔.

เนื้อความในภารสูตรว่า  “ ปลงภาระอันหนักเสียแล้ว ไม่ถือเอาภาระอันอื่น ”  ถามว่า


๔.๑

คำว่า  “ ภาระอันหนัก ”  ได้แก่อะไร ?


๔.๒

การถือและการปลงภาระอันหนักนั้น หมายถึงอะไร ?

๔.

๔.๑

ได้แก่ ปัญจขันธ์ ฯ


๔.๒

การถือ หมายถึง การถือด้วยอุปาทาน การปลง หมายถึง การถอนอุปาทาน ฯ

๕.

๕.๑

คติ คือภูมิเป็นที่ไปของสัตว์ผู้ตายแล้ว เป็นอย่างไร ?


๕.๒

มีบาลีแสดงอุทเทสเกี่ยวกับคตินั้น ว่าอย่างไร ?

๕.

๕.๑

เป็น ๒ คือ ทุคติ ภูมิเป็นที่ไปข้างชั่ว ๑ สุคติ ภูมิเป็นที่ไปข้างดี ๑ ฯ


๕.๒

มีบาลีแสดงอุทเทสว่า ดังนี้

      ๑) จิตฺเต สงฺกิลิฏฺเฐ ทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา

          เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว ทุคติเป็นอันต้องหวัง 

      ๒) จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเฐ สุคติ ปาฏิกงฺขา

          เมื่อจิตไม่เศร้าหมองแล้ว สุคติเป็นอันหวังได้ ฯ


๖.

๖.๑

พระบรมศาสดาทรงชักนำบุคคลให้บำเพ็ญสมาธิ เพราะทรงเห็นประโยชน์อย่างไร ?


๖.๒

พระพุทธจรรยาแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในการทรงแสดงธรรมเร้าใจนั้น ด้วยอาการอย่างไรบ้าง ?

๖.

๖.๑

เพราะทรงเห็นว่า จิตใจของบุคคลเมื่อได้อบรมดีแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ใหญ่ ย่อมรู้เห็นตามเป็นจริง ดังพระบาลีว่า สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ ผู้มีจิตเป็นสมาธิแล้ว ย่อมรู้ตามเป็นจริง ฯ


๖.๒

ด้วยอาการ ๔ คือ

      ๑. สนฺทสฺสนา    อธิบายให้เห็นแจ่มแจ้ง ให้เข้าใจชัด

      ๒. สมาทปนา    ชวนให้มีแก่ใจสมาทาน คือทำตาม

      ๓. สมุตฺเตชนา   ชักนำให้เกิดอุตสาหะอาจหาญเพื่อจะทำ

      ๔. สมฺปหํสนา    พยุงให้ร่าเริงในอันทำ ฯ

๗.

๗.๑

บุคคลในโลกนี้ เมื่อจัดตามจริต มีกี่ประเภท ? อะไรบ้าง ?


๗.๒

นิวรณ์ ๕ อย่างไหนสงเคราะห์เข้าในจริตอะไร ?

๗.

๗.๑

มี ๖ ประเภท คือ

      คนราคจริต ๑

      คนโทสจริต ๑

      คนโมหจริต ๑

      คนสัทธาจริต ๑

      คนพุทธิจริต ๑

      คนวิตักกจริต ๑ ฯ




๗.๒

      กามฉันท์         สงเคราะห์เข้าในราคจริต 

      พยาบาท         สงเคราะห์เข้าในโทสจริต

      ถีนมิทธะ         สงเคราะห์เข้าในโมหจริต 

      อุทธัจจกุกกุจจะ สงเคราะห์เข้าในวิตักกจริต 

      วิจิกิจฉา          สงเคราะห์เข้าในโมหจริต ฯ

๘.

๘.๑

ปริยัติธรรม หมายถึงอะไร ?  ที่ได้ชื่ออย่างนั้นเพราะเหตุไร ?


๘.๒

ธรรมทั้งปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ มีคุณโดยย่ออย่างไร ?

๘.

๘.๑

หมายถึง พุทธวจนะทั้งสิ้น ฯ ที่ได้ชื่อว่าปริยัติธรรม   เพราะเป็นธรรมต้อง

เล่าเรียนศึกษาให้รู้รอบคอบด้วยดี ฯ


๘.๒

มีคุณโดยย่ออย่างนี้

      ปริยัติธรรม    มีคุณคือ ให้รู้วิธีบำเพ็ญ ศีล สมาธิ ปัญญา

      ปฏิบัติธรรม    มีคุณคือ ทำกาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์จนบรรลุ

                       มรรค ผล นิพพาน

      ปฏิเวธธรรม    คือ  มรรค ผล นิพพาน     มรรคผลนั้น   มีคุณคือ ละกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน   ส่วนนิพพาน  มีคุณคือ   ดับเพลิงกิเลสและกองทุกข์ได้ทั้งหมด ฯ

๙.

๙.๑

ความกำหนดรู้อย่างไร จัดเป็นลักษณะของวิปัสสนาภาวนา  ?


๙.๒

ผู้เจริญวิปัสสนาภาวนา พึงรู้ฐานะทั้ง ๖ ก่อน ฐานะทั้ง ๖ นั้น คืออะไรบ้าง ?

๙.

๙.๑

ความกำหนดรู้ว่า สังขารทั้งปวงเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา เป็นลักษณะของวิปัสสนาภาวนา ฯ


๙.๒

ฐานะทั้ง ๖ คือ

      อนิจจะ           ของไม่เที่ยง ๑

      อนิจจลักษณะ   เครื่องหมายที่จะกำหนดรู้ว่าไม่เที่ยง ๑

      ทุกขะ            ของที่สัตว์ทนยาก ๑

      ทุกขลักษณะ     เครื่องหมายที่จะให้กำหนดรู้ว่าเป็นทุกข์ ๑

      อนัตตา           สภาวะมิใช่ตัวมิใช่ตน ๑

      อนัตตลักษณะ   เครื่องหมายที่จะให้กำหนดรู้ว่าเป็นอนัตตา ๑ ฯ

๑๐.

๑๐.๑

พระคิริมานนท์หายจากอาพาธหนัก เพราะฟังธรรมอะไร ? ใครเป็นผู้แสดง ?


๑๐.๒

ข้อว่า  “ สพฺพสงฺขาเรสุ อนิจฺจสญฺญา ความจำหมายความไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง ”  มีใจความว่าอย่างไร ?

๑๐.

๑๐.๑

เพราะฟังคิริมานนทสูตร ฯ พระอานนทเถระ เป็นผู้แสดง ฯ


๑๐.๒

มีใจความว่า  ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเบื่อหน่าย ย่อมระอา ย่อมเกลียดชัง แต่สังขารทั้งปวง ฯ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น