วันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564

วิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี 2545

 วิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี 2545

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม  นักธรรมชั้นตรี

สอบในสนามหลวง

วันศุกร์ ที่  ๒๒  พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๕

 ๑.    ๑.๑ คนที่ทำอะไรมักพลั้งพลาด เพราะขาดธรรมอะไร  ?

        ๑.๒ ผู้ได้ชื่อว่ากตัญญูกตเวทีบุคคล  เพราะปฏิบัติตนอย่างไร ?

 ๑.    ๑.๑ เพราะขาดสติ ความระลึกได้ก่อนแต่จะทำ และขาดสัมปชัญญะ ความรู้ตัว

             ในขณะทำ ฯ

        ๑.๒ เพราะเป็นผู้รู้อุปการะที่ท่านทำแล้ว และตอบแทน ฯ

 ๒.    ๒.๑ พระรัตนตรัยมีอะไรบ้าง ?

        ๒.๒ รัตนะที่ ๑ หมายถึงใคร ?  จงอธิบาย

 ๒.    ๒.๑ มีพระพุทธ ๑   พระธรรม ๑   พระสงฆ์ ๑ ฯ

        ๒.๒ หมายถึงพระพุทธเจ้า ฯ ได้แก่ท่านผู้สอนให้ประชุมชนประพฤติชอบด้วยกาย

             วาจา ใจ ตามพระธรรมวินัยที่ท่านเรียกว่า พระพุทธศาสนา ฯ

 ๓.    ๓.๑ โอวาทของพระพุทธเจ้า ๓ อย่าง มีอะไรบ้าง ?

        ๓.๒ บุคคลผู้หวังความเจริญ ควรตั้งอยู่ในธรรมอะไร ?   มีอะไรบ้าง ?

 ๓.    ๓.๑ ๑) เว้นจากทุจริต คือ ประพฤติชั่วด้วยกาย วาจา ใจ

             ๒) ประกอบสุจริต คือ ประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ

             ๓) ทำใจของตนให้หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองใจ มีโลภ โกรธ หลง เป็นต้น ฯ

        ๓.๒ ควรตั้งอยู่ในวุฑฒิธรรม ฯ   มี

             ๑) คบสัตบุรุษ

             ๒) ฟังคำสั่งสอนของท่านโดยเคารพ

             ๓) ตริตรองให้รู้จักสิ่งที่ดีหรือชั่วโดยอุบายที่ชอบ

             ๔) ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมซึ่งได้ตรองเห็นแล้ว ฯ

 ๔.    ๔.๑ ผู้ประกอบกิจการงานสำเร็จตามความประสงค์เพราะประพฤติธรรมอะไร ?

             มีอะไรบ้าง ?

        ๔.๒ คำว่าทุกข์ได้แก่อะไร ?   มีสาเหตุมาจากอะไร ?

 ๔.    ๔.๑ เพราะประพฤติอิทธิบาท ๔  มี

                   ๑) ฉันทะ  พอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น

                   ๒) วิริยะ  เพียรประกอบสิ่งนั้น

                   ๓) จิตตะ  เอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้น ไม่วางธุระ

                   ๔) วิมังสา  หมั่นตริตรองพิจารณาเหตุผลในสิ่งนั้น ฯ

        ๔.๒ ได้แก่ความไม่สบายกายไม่สบายใจ ฯ  มีสาเหตุมาจากตัณหา

             ความทะยานอยาก ฯ

 ๕.    ๕.๑ "รู้รักสามัคคี" เกิดขึ้นเพราะปฏิบัติธรรมอะไร ?

        ๕.๒ อปริหานิยธรรม คืออะไร ?   มีกี่ข้อ ? จงแสดงมา ๑ ข้อ

๕.     ๕.๑ สาราณิยธรรม ฯ

        ๕.๒ คือธรรมไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม   มี ๗ ข้อ ฯ  (ตอบข้อใดข้อหนึ่ง) คือ

                   ๑) หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์

                   ๒) เมื่อประชุมก็พร้อมเพรียงกันประชุม เมื่อเลิกประชุมก็พร้อมเพรียง

                       กันเลิกและพร้อมเพรียงกันช่วยทำกิจที่สงฆ์จะต้องทำ

                   ๓) ไม่บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่บัญญัติขึ้น ไม่ถอนสิ่งที่พระองค์ทรง

                       บัญญัติไว้แล้ว สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบทตามที่พระองค์ทรง

                       บัญญัติไว้

                   ๔) ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้ใหญ่ เป็นประธานในสงฆ์ เคารพนับถือภิกษุเหล่านั้น

               เชื่อฟังถ้อยคำของท่าน

                   ๕) ไม่ลุอำนาจแก่ความอยากที่เกิดขึ้น

                   ๖) ยินดีในเสนาสนะป่า

                   ๗) ตั้งใจอยู่ว่า เพื่อนภิกษุสามเณรซึ่งเป็นผู้มีศีล ซึ่งยังไม่มาสู่อาวาส ขอให้มา                     ที่มาแล้ว ขอให้อยู่เป็นสุข ฯ

 ๖.    ๖.๑ มัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้ประมาณ ในสัปปุริสธรรม  มีอธิบายไว้อย่างไร ?

        ๖.๒ คำว่า  เจรจาชอบ  ในมรรคมีองค์ ๘ นั้น คือเจรจาอย่างไร ?

 ๖.    ๖.๑  ความเป็นผู้รู้ประมาณในการแสวงหาเครื่องเลี้ยงชีวิตแต่โดยทางที่ชอบและรู้จัก

             ประมาณในการบริโภคแต่พอควร ฯ

        ๖.๒ คือเว้นจากพูดเท็จ เว้นจากพูดส่อเสียด เว้นจากพูดคำหยาบ และเว้นจากพูด

             เพ้อเจ้อ ฯ

 ๗.    ๗.๑ นาถกรณธรรมคืออะไร ?

        ๗.๒ นาถกรณธรรมข้อว่า กัลยาณมิตตตา หมายความว่าอย่างไร ?

 ๗.    ๗.๑ คือธรรมทำที่พึ่ง ฯ

        ๗.๒ ความเป็นผู้มีเพื่อนดีงาม ไม่คบคนชั่ว ฯ

 ๘.    ๘.๑ มิตรแท้ ๔ จำพวก คือใครบ้าง ?

        ๘.๒ คำต่อไปนี้แปลว่าอย่างไร ?

                   ก) อติถิพลี

                   ข) ปุพพเปตพลี

 ๘.    ๘.๑ คือ

                   ๑) มิตรมีอุปการะ                                                                             ๒)       มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์

                   ๓) มิตรแนะประโยชน์                                          

                   ๔) มิตรมีความรักใคร่ ฯ

        ๘.๒      ก) การต้อนรับแขก

                   ข) การทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย ฯ


 ๙.    ๙.๑ คำว่า อุบาสก  อุบาสิกา  แปลว่าอะไร ?

        ๙.๒ การค้าขายยาเสพติดมียาบ้าเป็นต้นจัดเข้าในมิจฉาวณิชชาข้อไหน ?

 ๙.    ๙.๑ อุบาสก  แปลว่า ชายผู้เข้าถึงพระรัตนตรัย

             อุบาสิกา แปลว่า หญิงผู้เข้าถึงพระรัตนตรัย ฯ

        ๙.๒ การค้าขายน้ำเมา ฯ

๑๐.  ๑๐.๑ การถือมงคลตื่นข่าวคือถืออย่างไร ? พระพุทธศาสนาสอนให้ถืออย่างนั้นหรือ

             อย่างไร ?

      ๑๐.๒ สมณพราหมณ์ เมื่อได้รับการบำรุงแล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรอย่างไรบ้าง ?

๑๐. ๑๐.๑ ถือว่านี้ฤกษ์ดี ยามดี เป็นมงคลดี นี้ฤกษ์ไม่ดี ยามไม่ดี ไม่เป็นสวัสดิมงคล ฯ 

             พระพุทธศาสนาสอนไม่ให้ถือเช่นนั้น สอนให้เชื่อว่า เรามีกรรมเป็นของของตน

             เราทำดีจักได้ดี ทำชั่วจักได้ชั่ว ฯ

      ๑๐.๒ อย่างนี้ คือ

                   ๑) ห้ามไม่ให้กระทำความชั่ว                

                   ๒) ให้ตั้งอยู่ในความดี

                   ๓) อนุเคราะห์ด้วยน้ำใจอันงาม             

                   ๔) ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง

                   ๕) ทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้แจ่ม                

                   ๖) บอกทางสวรรค์ให้ ฯ

วิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี 2546

 วิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี 2546

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม  นักธรรมชั้นตรี

สอบในสนามหลวง

พ.ศ. ๒๕๔๖


๑.

๑.๑

โลกเดือดร้อนวุ่นวาย เพราะขาดธรรมอะไร ?


๑.๒

บุคคลมีกาย วาจา ใจ งดงาม เพราะปฏิบัติธรรมอะไร ?

๑.

๑.๑

เพราะขาดธรรมคุ้มครองโลก ๒ อย่าง คือ

      ๑) หิริ          ความละอายแก่ใจ

      ๒) โอตตัปปะ  ความเกรงกลัว ฯ


๑.๒

เพราะปฏิบัติธรรมอันทำให้งาม ๒ อย่าง คือ

      ๑) ขันติ         ความอดทน

                        ๒) โสรัจจะ            ความเสงี่ยม ฯ

๒.

๒.๑

รัตนะ ๓ มีอะไรบ้าง ?


๒.๒

รัตนะ ๓ นั้น มีคุณอย่างไร ?

๒.

๒.๑

มี พระพุทธ ๑ พระธรรม ๑ พระสงฆ์ ๑ ฯ


๒.๒

มีคุณอย่างนี้ คือ

      ๑) พระพุทธเจ้ารู้ดีรู้ชอบด้วยพระองค์เองก่อนแล้ว สอนผู้อื่นให้รู้ตาม

      ๒) พระธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว

      ๓) พระสงฆ์ปฏิบัติชอบตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว

          สอนผู้อื่นให้กระทำตาม ฯ

๓.

๓.๑

ธรรมเป็นดุจล้อรถนำไปสู่ความเจริญ เรียกว่าอะไร ?


๓.๒

ปุพฺเพกตปุญฺญตา หมายความว่าอย่างไร ?

๓.

๓.๑

เรียกว่า จักรธรรม ฯ


๓.๒

หมายความว่า ความเป็นผู้ได้ทำความดีไว้ในปางก่อน ฯ

๔.

๔.๑

ปธาน ๔ มีอะไรบ้าง ?


๔.๒

เพียรระวังตนให้ห่างไกลจากสิ่งเสพติด จัดเข้าในปธานข้อไหน ?

๔.

๔.๑

มี    ๑) สังวรปธาน         เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในสันดาน

      ๒) ปหานปธาน       เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว

      ๓) ภาวนาปธาน       เพียรให้กุศลเกิดขึ้นในสันดาน

      ๔) อนุรักขนาปธาน   เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อม ฯ


๔.๒

จัดเข้าในสังวรปธาน ฯ

๕.

จงอธิบายความหมายของคำต่อไปนี้ ?


๕.๑

ปัจจยปัจจเวกขณะ


๕.๒

อภิณหปัจจเวกขณะ

๕.

๕.๑

ปัจจยปัจจเวกขณะ คือ พิจารณาเสียก่อนจึงบริโภคปัจจัย ๔ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัช ไม่บริโภคด้วยตัณหา ฯ


๕.๒

อภิณหปัจจเวกขณะ คือ พิจารณาทุก ๆ วันว่า  เรามีความแก่  มีความเจ็บมีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ เจ็บ ตายไปได้  เราต้อง

พลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น เรามีกรรมเป็นของ ๆ ตน เราทำดี จักได้ดี ทำชั่ว จักได้ชั่ว ฯ

๖.

๖.๑

ธาตุกัมมัฏฐาน มีอะไรบ้าง ?


๖.๒

กำหนดพิจารณาอย่างไร เรียกว่า ธาตุกัมมัฏฐาน ?

๖.

๖.๑

มี  ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ฯ


๖.๒

กำหนดพิจารณากายนี้ ให้เห็นว่าเป็นแต่เพียงธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ประชุมกันอยู่ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เรียกว่า ธาตุกัมมัฏฐาน ฯ

๗.

๗.๑

พาหุสัจจะ หมายความว่าอย่างไร ?


๗.๒

พาหุสัจจะ เป็นอริยทรัพย์อย่างหนึ่งนั้น อธิบายอย่างไร ?

๗.

๗.๑

หมายความว่า ความเป็นผู้เคยได้ยินได้ฟังมามาก ฯ


๗.๒

อธิบายว่า พาหุสัจจะ  คือความเป็นผู้เคยได้ยินได้ฟังมามากนั้น  ได้ชื่อว่าอริยทรัพย์ เพราะเป็นเหตุให้ได้อิฏฐผล มีลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และไมตรี เป็นต้น  ทั้งไม่เป็นภาระแก่เจ้าของ  และที่ดีพิเศษกว่าทรัพย์สิน

เงินทองทั่วไป คือ ยิ่งใช้ยิ่งมี ฯ

๘.

๘.๑

สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ ดำริอย่างไร ?


๘.๒

มรรคมีองค์ ๘ ข้อใดบ้างสงเคราะห์เข้าในสีลสิกขา ?

๘.

๘.๑

คือ   ดำริจะออกจากกาม ๑

      ดำริในอันไม่พยาบาท ๑

      ดำริในอันไม่เบียดเบียน ๑ ฯ


๘.๒

วาจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ สงเคราะห์เข้าในสีลสิกขา ฯ

๙.

๙.๑

บุคคลผู้สามารถยึดเหนี่ยวน้ำใจคนอื่นไว้ได้ เพราะตั้งอยู่ในธรรมอะไร ?


๙.๒

ธรรมในข้อ ๙.๑ นั้น มีอะไรบ้าง ?

๙.

๙.๑

ในสังคหวัตถุ ๔ ฯ


๙.๒

มี    ๑) ทาน          ให้ปันสิ่งของของตนแก่ผู้อื่นที่ควรให้ปัน

                         ๒) ปิยวาจา           เจรจาวาจาที่อ่อนหวาน

      ๓) อัตถจริยา     ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น

      ๔) สมานัตตตา      ความเป็นคนมีตนเสมอไม่ถือตัว ฯ

๑๐.

๑๐.๑

อบายมุข คืออะไร ?


๑๐.๒

ดื่มน้ำเมามีโทษอย่างไรบ้าง ?

๑๐.

๑๐.๑

คือ เหตุเครื่องฉิบหาย ฯ


๑๐.๒

มีโทษ ๖ อย่าง คือ

      ๑) เสียทรัพย์

      ๒) ก่อการทะเลาะวิวาท

      ๓) เกิดโรค

      ๔) ถูกติเตียน

      ๕) ไม่รู้จักอาย

      ๖) ทอนกำลังปัญญา  ฯ

วิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี 2547

 วิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี 2547

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม  นักธรรมชั้นตรี

สอบในสนามหลวง

พ.ศ. ๒๕๔๗


   ๑.  ขันติ กับ โสรัจจะ เป็นธรรมทำให้งามได้อย่างไร ?

   ๑.  ขันติ ความอดทน   โสรัจจะ ความเสงี่ยม  ผู้ที่สมบูรณ์ด้วยธรรมทั้ง ๒ นี้ ย่อมมีใจหนักแน่นไม่แสดงความวิการออกมาให้ปรากฏ  แม้จะประสบความดีใจ เสียใจ

        ก็อดกลั้นได้  รักษากาย วาจา ใจให้สุภาพ สงบเสงี่ยมเป็นปกติไว้ได้  จึงทำให้งาม ฯ

   ๒.  บุพพการี ได้แก่บุคคลเช่นไร ?  พระพุทธเจ้าทรงดำรงอยู่ในฐานะบุพพการีของ

        พุทธบริษัทอย่างไร ?

   ๒.  ได้แก่ บุคคลผู้ทำอุปการะก่อน ฯ

        พระพุทธเจ้าทรงกระทำอุปการะแก่พุทธบริษัทก่อน ด้วยการทรงแนะนำสั่งสอนให้รู้ดี               รู้ชอบตามพระองค์ เพื่อให้ได้บรรลุประโยชน์ทั้ง ๓ คือ ประโยชน์ในโลกนี้ ประโยชน์ในโลกหน้า และประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน  จึงชื่อว่าเป็นบุพพการี ฯ

   ๓.  เพราะเหตุไร หลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาจึงสอนเรื่องการทำใจของตนให้หมดจด

        จากเครื่องเศร้าหมอง ?

   ๓.  เพราะใจเป็นธรรมชาติสำคัญ   ถ้าใจเศร้าหมอง  ก็เป็นเหตุให้ทำชั่ว   การทำชั่วมีผล

        เป็นความทุกข์ ถ้าใจผ่องแผ้ว ก็เป็นเหตุให้ทำดี  การทำดีมีผลเป็นความสุข ฯ

   ๔.  บุญกิริยาวัตถุ คืออะไร ?  ในบุญกิริยาวัตถุ ๓ นั้น ข้อไหนกำจัดความโลภ ความโกรธ             และ ความหลง ?

   ๔.  คือ สิ่งเป็นที่ตั้งแห่งการบำเพ็ญบุญ ฯ  ทานมัยกำจัดความโลภ  สีลมัยกำจัดความโกรธ                     ภาวนามัยกำจัดความหลง ฯ

   ๕.  ในพระพุทธศาสนา บุคคลผู้ฆ่ามารดาบิดา ได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำอนันตริยกรรม จะได้

        รับโทษอย่างไร ?

   ๕.  จะได้รับโทษคือ ต้องไปสู่ทุคติ ห้ามสวรรค์ ห้ามนิพพาน ฯ

   ๖.  ธรรมอันกั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี เรียกว่าอะไร ?  ความดีที่ถูกกั้นไว้ไม่ให้บรรลุ หมายถึง                   ความดีอย่างไหน ?

   ๖.  เรียกว่า นิวรณ์ ฯ  หมายถึงความดีทุกๆ อย่าง  แต่เมื่อกล่าวโดยตรง ได้แก่สมาธิ

        คือการทำจิตใจให้สงบ ฯ

   ๗.  สาราณิยธรรม แปลว่าอะไร ?  ธรรมข้อนี้ย่อมอำนวยผลแก่ผู้ปฏิบัติตามอย่างไร ?

   ๗.  ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความให้ระลึกถึง ฯ  ทำผู้ปฏิบัติตามให้เป็นที่รัก เป็นที่เคารพของ

        ผู้อื่น เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กันและกัน เป็นไปเพื่อความไม่วิวาทกันและกัน

        เป็นไปเพื่อความพร้อมเพรียงกัน เป็นไปเพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ฯ

   ๘.  โลกธรรม คืออะไร ?  เมื่อเกิดขึ้นแล้วควรพิจารณาอย่างไร ?

   ๘.  คือ ธรรมที่ครอบงำสัตวโลกอยู่ และสัตวโลกย่อมเป็นไปตามธรรมนั้น ฯ

        ในโลกธรรม ๘ ประการนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ควรพิจารณาว่า สิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรรู้ตามที่

        เป็นจริง อย่าให้มันครอบงำจิตได้ คืออย่ายินดีในส่วนที่ปรารถนา อย่ายินร้ายในส่วน

        ที่ไม่ปรารถนา ฯ

   ๙.  สมบัติ ยศ อายุยืน สวรรค์ ท่านว่าเป็นผลที่ได้สมหมายยาก  บุคคลพึงบำเพ็ญธรรมอะไร จึงจะได้สมหมาย ?

   ๙.  พึงบำเพ็ญธรรมเป็นเหตุให้ได้สมหมาย ๔ อย่าง คือ

               ๑. สัทธาสัมปทา        ถึงพร้อมด้วยศรัทธา

               ๒. สีลสัมปทา           ถึงพร้อมด้วยศีล

               ๓. จาคสัมปทา          ถึงพร้อมด้วยการบริจาคทาน

               ๔. ปัญญาสัมปทา       ถึงพร้อมด้วยปัญญา ฯ

๑๐.  คฤหัสถ์และบรรพชิต มีหน้าที่จะพึงปฏิบัติแก่กันและกันอย่างไรบ้าง ?

๑๐.  คฤหัสถ์ควรบำรุงบรรพชิตด้วยการทำ การพูด การคิดประกอบด้วยเมตตา ด้วย

        ความเป็นผู้ไม่ปิดประตู คือมิได้ห้ามเข้าบ้านเรือน  ด้วยให้อามิสทาน   ส่วนบรรพชิตควรอนุเคราะห์ต่อคฤหัสถ์ด้วยห้ามไม่ให้กระทำความชั่ว ให้ตั้งอยู่ในความดี

        อนุเคราะห์ด้วยน้ำใจอันงาม  ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง  ทำสิ่งที่เคยฟังมาแล้วให้แจ่ม บอกทางสวรรค์ให้ ฯ     \