วันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564

วิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี 2548

 วิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี 2548

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม  นักธรรมชั้นตรี

สอบในสนามหลวง

วันเสาร์ ที่  ๑๙  พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘


   ๑.  ธรรมมีอุปการะมาก ได้แก่อะไรบ้าง ?  บุคคลผู้ขาดธรรมนี้จะเป็นเช่นไร ?

   ๑.  ได้แก่ สติ ความระลึกได้ และ สัมปชัญญะ ความรู้ตัว ฯ  จะเป็นคนหลงลืม

        จะทำจะพูดหรือจะคิดอะไรมักผิดพลาด ฯ

   ๒.  บุพพการีและกตัญญูกตเวที คือบุคคลเช่นไร ?  จัดเป็นคู่ไว้อย่างไรบ้าง ?

   ๒.  บุพพการี คือบุคคลผู้ทำอุปการะก่อน  กตัญญูกตเวที คือบุคคลผู้รู้อุปการะ

        ที่ท่านทำแล้ว และตอบแทน ฯ  จัดเป็นคู่ไว้ดังนี้  บิดามารดา กับ บุตรธิดา, 

        ครูอาจารย์ กับ ศิษย์,  พระมหากษัตริย์ กับ ประชาราษฎร์,  พระพุทธเจ้า กับ

        พุทธบริษัท,  เป็นต้น ฯ

   ๓.  พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ได้ชื่อว่ารัตนะ เพราะเหตุไร ?

   ๓.  เพราะเป็นของมีคุณค่าและหาได้ยาก เหมือนเพชรนิลจินดามีค่ามาก นำประโยชน์

        และความสุขมาให้แก่ผู้เป็นเจ้าของ ฯ

   ๔.  ธรรม ๔ อย่าง ดุจล้อรถนำไปสู่ความเจริญ ข้อว่า  “คบสัตบุรุษ คือคนดี”  นั้น

        จะนำไปสู่ความเจริญได้อย่างไร ?

   ๔.  เมื่อคบสัตบุรุษแล้วย่อมเป็นเหตุให้คิดดีพูดดีทำดี อันก่อให้เกิดความสุขความเจริญ

        ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น พ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อน ทั้งยังให้ถึงความเจริญ

        อย่างที่สุดคือพระนิพพานได้ ฯ

   ๕.  ปัจจยปัจจเวกขณะ หมายความว่าอย่างไร ?

   ๕.  หมายความว่า พิจารณา (ถึงคุณและโทษของปัจจัย ๔) ก่อน จึงบริโภคปัจจัย ๔

        คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัช ไม่บริโภคด้วยตัณหา ฯ

   ๖.  ขันธ์ ๕ ได้แก่อะไรบ้าง ?  ย่อเป็น ๒ ได้อย่างไร ?

   ๖.  ได้แก่ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และ วิญญาณขันธ์ ฯ 

        รูปขันธ์จัดเป็นรูป   ที่เหลือจัดเป็นนาม ฯ

   ๗.  อปริหานิยธรรม คืออะไร ?  ข้อที่ ๔ ความว่าอย่างไร ?

   ๗.  คือ ธรรมไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม เป็นไปเพื่อความเจริญฝ่ายเดียว ฯ

        ข้อที่ ๔ ความว่า ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้ใหญ่เป็นประธานในสงฆ์ เคารพนับถือภิกษุ

        เหล่านั้น เชื่อฟังถ้อยคำของท่าน ฯ

   ๘.  ในมรรคมีองค์ ๘  คำว่า  “เพียรชอบ”  คือเพียรอย่างไร ?

   ๘.  คือ

             เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในสันดาน

             เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว

             เพียรให้กุศลเกิดขึ้นในสันดาน

             เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อม ฯ

   ๙.  บุคคลจะได้รับประโยชน์ปัจจุบัน จะต้องปฏิบัติตามหลักธรรมอะไร ?

   ๙.  ต้องปฏิบัติตามหลักทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ๔ ประการ คือ

             ๑. อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่น ในการประกอบกิจการงาน

                                    ในการศึกษาเล่าเรียน  ในการทำธุระหน้าที่ของตน

              ๒. อารักขสัมปทา   ถึงพร้อมด้วยการรักษา ทั้งทรัพย์และการงาน ไม่ให้เสื่อมไป

              ๓. กัลยาณมิตตตา ความมีเพื่อนเป็นคนดี ไม่คบคนชั่ว

              ๔. สมชีวิตา         ความเลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หาได้ ฯ

๑๐.  มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาความสุข พระพุทธศาสนาแสดงความสุขของผู้ครองเรือน

        ไว้อย่างไร ?

๑๐.  แสดงไว้ ๔ อย่าง คือ

              ๑. สุขเกิดแต่ความมีทรัพย์

              ๒. สุขเกิดแต่การจ่ายทรัพย์บริโภค

              ๓. สุขเกิดแต่ความไม่ต้องเป็นหนี้

             ๔. สุขเกิดแต่ประกอบการงานที่ปราศจากโทษ ฯ

วิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี 2549

 วิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี 2549

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม  นักธรรมชั้นตรี

สอบในสนามหลวง

วันจันทร์ ที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๙

   ๑.  หิริกับโอตตัปปะ ต่างกันอย่างไร ?

   ๑.  ต่างกันอย่างนี้ หิริ คือ ความละอายใจตนเองที่จะประพฤติชั่ว

        ส่วนโอตตัปปะ คือ ความเกรงกลัวผลของความชั่วที่ตนจะได้รับ ฯ

  ๒.  คำว่า  พระธรรม  ในรัตนะ ๓ คืออะไร ?  มีคุณอย่างไร ?

  ๒.  คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ฯ  

        มีคุณ คือ รักษาผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว ฯ

  ๓.  โอวาทของพระพุทธเจ้ามีกี่อย่าง ?  อะไรบ้าง ?

  ๓.  มี ๓ อย่าง คือ

              ๑.  เว้นจากทุจริต คือ ประพฤติชั่วด้วยกาย วาจา ใจ

              ๒.  ประกอบสุจริต คือ ประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ

              ๓.  กระทำใจของตนให้หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองใจ

                   มีโลภ โกรธ หลงเป็นต้น ฯ

   ๔.  คนเราจะประพฤติดีหรือประพฤติชั่วมีมูลเหตุมาจากอะไร ?

   ๔.  คนประพฤติดีมีมูลเหตุมาจากอโลภะ อโทสะ อโมหะ  

        ส่วนคนประพฤติชั่วมีมูลเหตุมาจากโลภะ โทสะ โมหะ ฯ

   ๕.  ปธานคือความเพียร ๔ มีอะไรบ้าง ?  งดเหล้าเข้าพรรษาอนุโลมเข้า

        ในปธานข้อไหน ?

   ๕.  มี

              ๑.  สังวรปธาน          เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในสันดาน

              ๒.  ปหานปธาน         เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว

              ๓.  ภาวนาปธาน        เพียรให้กุศลเกิดขึ้นในสันดาน

              ๔.  อนุรักขนาปธาน    เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วมิให้เสื่อม ฯ

        อนุโลมเข้าในปหานปธาน ฯ

   ๖.  อุทธัจจกุกกุจจะ คือความฟุ้งซ่านและรำคาญ จัดเข้าในขันธ์ไหน

        ในขันธ์ ๕ ?  เพราะเหตุไร ?

   ๖.  จัดเข้าในสังขารขันธ์ ฯ 

        เพราะความฟุ้งซ่านและรำคาญ เป็นเจตสิกธรรมที่เกิดขึ้นกับใจ ฯ

  ๗.  อริยทรัพย์ คือทรัพย์เช่นไร ?  เมื่อเทียบกับทรัพย์สินมีเงินทอง เป็นต้น

        ดีกว่ากันอย่างไร ?

  ๗.  คือ คุณงามความดีอย่างประเสริฐที่เกิดมีขึ้นในสันดาน มี ศรัทธา ศีล

        เป็นต้น ฯ

        ดีกว่ากัน เพราะเป็นคุณธรรมเครื่องบำรุงจิตให้อบอุ่น ไม่ต้องกังวล

        เดือดร้อน ใครจะแย่งชิงไปไม่ได้ ใช้เท่าใดก็ไม่ต้องกลัวหมดสิ้น

        ทั้งสามารถติดตามไปได้ถึงชาติหน้า  เป็นที่พึ่งในสัมปรายภพได้ด้วย ฯ 

  ๘.  คิหิปฏิบัติ คืออะไร ?  หมวดธรรมต่อไปนี้ คือ

               ๑. อิทธิบาท ๔             

               ๒. สังคหวัตถุ ๔          

               ๓. อธิษฐานธรรม ๔

                ๔. ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ๔   

               ๕. ปาริสุทธิศีล ๔ 

        หมวดไหนมีในคิหิปฏิบัติ ?

  ๘.  คือ หลักปฏิบัติของคฤหัสถ์ ฯ

        ข้อ ๒. และข้อ ๔. มีในคิหิปฏิบัติ ฯ

   ๙.  ผู้อยู่ครองเรือนควรมีธรรมของฆราวาสเป็นหลักปฏิบัติจึงจะอยู่เป็นสุข

        ธรรมของฆราวาสนั้นมีอะไรบ้าง ?

   ๙.  มี

              ๑.  สัจจะ    สัตย์ซื่อต่อกัน

              ๒.  ทมะ     รู้จักข่มจิตของตน

              ๓.  ขันติ     อดทน

              ๔.  จาคะ    สละให้ปันสิ่งของของตนแก่คนที่ควรให้ปัน ฯ

๑๐.  นาย ก เป็นผู้ฉลาดในการเล่นพนันฟุตบอล เขาหวังให้นาย ข ผู้เป็น

        เพื่อน มีเงินทองไว้ก่อร่างสร้างตัว จึงชักชวน นาย ข ให้เล่นด้วย นาย ก

        จัดเข้าในประเภทมิตรแนะประโยชน์ได้หรือไม่ ?  เพราะเหตุไร ?

  

๑๐.  ไม่ได้  ฯ  

        เพราะ นาย ก กำลังชักชวนในทางฉิบหาย ผิดลักษณะมิตรแนะ

        ประโยชน์ ฯ


**********

วิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี 2550

 วิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี 2550

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม  นักธรรมชั้นตรี

สอบในสนามหลวง

วันอาทิตย์ ที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐


๑.     ในทางโลก ดูคนงามกันที่รูปร่างหน้าตา  ในทางพระพุทธศาสนา ดูคนงามกันที่ไหน ?

๑.     ในทางพระพุทธศาสนา ดูคนงามกันที่มีคุณธรรมอันทำให้งาม ๒ ประการ  คือ ขันติ ความอดทน  และโสรัจจะ ความสงบเสงี่ยม ฯ

๒.     มโนสุจริตคืออะไร ?   มีอะไรบ้าง ?

๒.     คือ การประพฤติชอบด้วยใจ ฯ

มี ๑. ไม่โลภอยากได้ของเขา  ๒. ไม่พยาบาทปองร้ายเขา 

   ๓. เห็นชอบตามคลองธรรม ฯ

๓.     อิทธิบาท คือ ธรรมเป็นคุณเครื่องให้สำเร็จความประสงค์ของบุคคล  ส่วนธรรมอันเป็นเครื่องกั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี คืออะไร ? มีอะไรบ้าง ?

๓.     คือ นิวรณ์ ๕ ฯ  มี

        ๑. กามฉันท์                พอใจรักใคร่ในอารมณ์ที่ชอบใจมีรูปเป็นต้น

        ๒. พยาบาท                ปองร้ายผู้อื่น

        ๓. ถีนมิทธะ                ความที่จิตหดหู่และเคลิบเคลิ้ม

        ๔. อุทธัจจกุกกุจจะ       ฟุ้งซ่านและรำคาญ

        ๕. วิจิกิจฉา                 ลังเลไม่ตกลงได้ ฯ

๔.     ภิกษุสามเณรผู้บวชใหม่จะต้องมีอินทรียสังวร คือสำรวมอินทรีย์  

สำรวมอินทรีย์นั้น คืออย่างไร ?

๔.     คือระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ความยินดียินร้ายครอบงำได้ ในเวลาเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ  รู้ธรรมารมณ์ ฯ

๕.     ควรพิจารณาทุก ๆ วันว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ทั้งสิ้น   ข้อความนี้อยู่ในหมวดธรรมอะไร ?  

ท่านให้พิจารณาอย่างนี้เพื่ออะไร ?

๕.     อยู่ในธรรมหมวดอภิณหปัจจเวกขณ์ ๕ ฯ   เพื่อบรรเทาความยึดมั่นถือมั่นว่า สิ่งนั้น คนนั้น เป็นที่รักของเรา  จักไม่ต้องเสียใจในเมื่อต้องพลัดพรากจากสิ่งนั้น คนนั้น จริง ๆ ฯ

๖.     มรรคมีองค์แปดจัดเข้าในสิกขา ๓ ได้หรือไม่ ?   ถ้าได้จงจัดมาดู

๖.     ได้ ฯ  จัดดังนี้

สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะ จัดเข้าในปัญญาสิกขา

สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ จัดเข้าในสีลสิกขา

สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ จัดเข้าในจิตตสิกขา ฯ

๗.    มละ คืออะไร ? เป็นศิษย์ได้ดีแล้วทำมึนตึงกับอาจารย์ จัดเข้าในมละอย่างไหน และควรชำระมละอย่างนั้นด้วยธรรมอะไร ?

๗.     มละคือมลทิน ฯ   จัดเข้าใน มักขะ ลบหลู่คุณท่าน   และควรชำระด้วยกตัญญูกตเวทิตา ความรู้คุณท่านแล้วตอบแทน ฯ

คิหิปฏิบัติ

๘.     เมื่อแสวงหาโภคทรัพย์ได้โดยทางที่ชอบแล้ว  ควรทำอะไรบ้างเพื่อให้เกิดประโยชน์ในโภคทรัพย์ที่ได้มานั้น ?

๘.     ควรทำ

๑.  เลี้ยงตัว มารดา บิดา บุตร ภรรยา บ่าวไพร่ ให้เป็นสุข

๒.  เลี้ยงเพื่อนฝูงให้เป็นสุข

๓.  บำบัดอันตรายที่เกิดแต่เหตุต่าง ๆ

๔.  ทำพลี ๕ อย่าง คือ

             ๔.๑  ญาติพลี สงเคราะห์ญาติ

             ๔.๒  อติถิพลี ต้อนรับแขก

             ๔.๓  ปุพพเปตพลี ทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย

             ๔.๔  ราชพลี ถวายเป็นหลวง มีภาษีอากรเป็นต้น

             ๔.๕  เทวตาพลี ทำบุญอุทิศให้เทวดา

๕.  บริจาคทานในสมณพราหมณ์ผู้ประพฤติชอบ ฯ

๙.     การค้าขายสัตว์เพื่อเอาไปฆ่าเป็นอาหาร เป็นการผิดศีลข้อปาณาติบาตหรือไม่ ?   เพราะเหตุไร ?   อุบาสกควรปฏิบัติอย่างไรในเรื่องนี้ ?

๙.     ไม่ผิด ฯ   เพราะไม่ได้เป็นผู้ฆ่าหรือสั่งให้ฆ่า ฯ

อุบาสกควรเว้นการค้าขายชนิดนี้เสีย ฯ

 ๑๐.   ทิศ ๖ ในคิหิปฏิบัติ มีอะไรบ้าง ?  แต่ละทิศหมายถึงใคร ?

๑๐.   มี ดังนี้

        ๑. ทิศเบื้องหน้า หมายถึงมารดาบิดา

๒. ทิศเบื้องขวา หมายถึงอาจารย์

        ๓. ทิศเบื้องหลัง หมายถึงบุตรภรรยา

๔. ทิศเบื้องซ้าย หมายถึงมิตร

        ๕. ทิศเบื้องต่ำ หมายถึงบ่าว

๖. ทิศเบื้องบน หมายถึงสมณพราหมณ์ ฯ

***********