วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

วิชาวินัยบัญญัติ นักธรรมชั้นเอก2557

ปัญหาและเฉลยวิชาวินัยบัญญัติ  นักธรรมชั้นเอก

สอบในสนามหลวง

วันอังคาที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๗


๑.    ภิกษุผู้ปรารถนาความตั้งอยู่ยั่งยืนของพระธรรมวินัย ควรปฏิบัติตนอย่างไร?

เฉลย ควรตั้งอยู่ในสีลสามัญญตา ทิฏฐิสามัญญตา และลัชชีธรรม สำรวมในพระปาติโมกข์ ประกอบด้วยอาจาระและโคจระ เห็นภัยในโทษแม้เพียงเล็กน้อย สำเหนียกศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย ฯ

๒.   อุโบสถกรรม อุปสมบทกรรม อปโลกนกรรม อัพภานกรรม อุกเขปนียกรรม ใช้สงฆ์จำนวนเท่าไรเป็นอย่างน้อยจึงจะถูกต้องตามพระวินัยบัญญัติ?

เฉลย      อุโบสถกรรม ใช้สงฆ์ ๔ รูป

              อุปสมบทกรรม ในปัจจันตชนบท ใช้สงฆ์ ๕ รูป ในมัชฌิมชนบทใช้สงฆ์ ๑๐ รูป

              อปโลกนกรรม ใช้สงฆ์ ๔ รูป

              อัพภานกรรม ใช้สงฆ์ ๒๐ รูป

              อุกเขปนียกรรม ใช้สงฆ์ ๔ รูป ฯ

๓.    จงอธิบายความหมายคำต่อไปนี้

ก. สัตตัพภันตรสีมา            ข. อุทกุกเขปสีมา

เฉลย ก. สัตตัพภันตรสีมา ได้แก่สีมาในป่าหาคนตั้งบ้านเรือนมิได้ กำหนดเขตแห่งสามัคคีในชั่ว ๗ อัพภันดรโดยรอบ นับแต่ที่สุดแนวแห่งสงฆ์ออกไป (๗ อัพภันดร คือ ๔๙ วา)

ข. อุทกุกเขปสีมา ได้แก่สีมามีกำหนดเขตสามัคคีด้วยชั่ววักน้ำสาดแห่งคนมีอายุและกำลังเป็นปานกลาง ฯ

๔.    ผ้าที่ไม่ทรงอนุญาตให้ใช้เป็นผ้ากฐิน ได้แก่ผ้าเช่นไรบ้าง?

เฉลย เช่นนี้ คือ

              ๑. ผ้าที่ไม่ได้เป็นสิทธิ เช่น ผ้าที่ขอยืมเขามา

              ๒. ผ้าที่ได้มาโดยอาการอันมิชอบ คือทำนิมิตได้มา พูดเลียบเคียงได้มาและผ้าเป็นนิสสัคคีย์

              ๓. ผ้าที่ได้มาโดยบริสุทธิ์ แต่เก็บค้างคืนไว้ ฯ

๕.    ภิกษุผู้กรานกฐินแล้ว ย่อมได้อานิสงส์อะไรบ้าง?

เฉลย      ๑. เที่ยวไปไม่ต้องบอกลาตามสิกขาบทที่ ๖ แห่งอเจลวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์

              ๒. เที่ยวจาริกไปไม่ต้องถือเอาไตรจีวรไปครบสำรับ

              ๓. ฉันคณะโภชน์ได้

              ๔. เก็บอติเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา

              ๕. จีวรอันเกิดขึ้นในที่นั้นเป็นของได้แก่พวกเธอ

ทั้งได้โอกาสขยายเขตจีวรกาลให้ยาวออกไปตลอด ๔ เดือนฤดูเหมันต์ด้วย ฯ

๖.    ท่านศึกษาพระวินัยในเรื่องการอุปสมบทดีแล้ว จงให้ความหมายของคำต่อไปนี้

ก. อภัพบุคคล           ข. อุปสัมปทาเปกขะ         ค. กรรมวาจา

ง. อนุสาวนา             จ. อนุศาสน์

เฉลย      ก. อภัพบุคคล คือบุคคลผู้ไม่ควรแก่การให้อุปสมบท ทรงห้ามไว้เป็นเด็ดขาด อุปสมบทไม่ขึ้น

           ข. อุปสัมปทาเปกขะ คือผู้ประสงค์จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุ

              ค. กรรมวาจา คือวาจาที่สวดประกาศในการให้อุปสมบท

              ง. อนุสาวนา คือวาจาที่สวดประกาศความปรึกษาและตกลงสงฆ์

              จ. อนุศาสน์ คือกิจที่พึงทำภายหลังจากอุปสมบทเสร็จแล้ว มีการบอกนิสสัย ๔ บอกอกรณียกิจ ๔ เป็นต้น ฯ

๗.   ภิกษุทะเลาะกันเรื่องสรรพคุณของยา จัดเป็นวิวาทาธิกรณ์ได้หรือไม่? เพราะเหตุไร?

เฉลย ไม่ได้ ฯ เพราะวิวาทาธิกรณ์ มุ่งเฉพาะวิวาทปรารถพระธรรมวินัย ฯ

๘.   อุกเขปนียกรรม และ นิยสกรรม สงฆ์พึงลงแก่ภิกษุเช่นไร?

เฉลย      อุกเขปนียกรรม พึงลงแก่ภิกษุไม่เห็นอาบัติ ผู้ไม่ทำคืนอาบัติ หรือผู้ไม่สละทิฏฐิบาป

              นิยสกรรม พึงลงแก่ภิกษุผู้มีอาบัติมาก หรือคลุกคลีกับคฤหัสถ์ด้วยการคลุกคลีอันไม่ควร ฯ

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์

๙.   กรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง จะพ้นจากตำแหน่งในกรณีใดบ้าง?

เฉลย ๑. ครบวาระ ๒ ปี          ๒. มรณภาพ            ๓. พ้นจากความเป็นพระภิกษุ

       ๔. ลาออก                    ๕. สมเด็จพระสังฆราชมีพระบัญชาให้ออก ฯ

๑๐.        การปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค จัดแบ่งเขตการปกครองไว้อย่างไร? จงอ้างมาตราประกอบ

เฉลย ๑. ภาค    ๒. จังหวัด     ๓. อำเภอ      ๔. ตำบล ฯ

ตามมาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น