วันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

วิชาธรรม นักธรรมชั้นโท 2555

 วิชาธรรม นักธรรมชั้นโท 2555

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม  นักธรรมชั้นโท

สอบในสนามหลวง

วันศุกร์ ที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๕

๑.      กัมมัฏฐานที่พระอุปัชฌาย์สอนแก่ผู้ขอบรรพชาอุปสมบทว่า เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ ตโจ ทนฺตา นขา โลมา เกสา นั้นเรียกชื่อว่าอะไร เป็นสมถกัมมัฏฐานหรือวิปัสสนากัมมัฏฐาน?

ตอบ ชื่อว่า ตจปัญจกกรรมฐาน หรือมูลกัมมัฏฐาน ฯ

เป็นได้ทั้งสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน ฯ

๒.     แสวงหาอะไรเป็นการแสวงหาอย่างประเสริฐ แสวงหาอะไรเป็นการแสวงหาไม่ประเสริฐ?

ตอบ ในพระสูตรแสดงว่า แสวงหาสภาพอันมิใช่ของมีชรา พยาธิ มรณะ คือคุณธรรมมีพระนิพพานเป็นอย่างสูง เป็นการแสวงหาอย่างประเสร็ฐ เรียกว่าอริยปริเยสนา ฯ

แสวงหาของมีชรา พยาธิ มรณะ เช่นหาของเล่น เป็นการแสวงหาไม่ประเสริฐ เรียกว่าอนริยปริเยสนา ฯ

๓.     ผู้มีอัตตาธิปเตยยะกับผู้มีธัมมาธิปเตยยะ มีความมุ่งหมายในการทำงานต่างกันอย่างไร?

ตอบ ผู้มีอัตตาธิปเตยยะปรารภภาวะของตนเป็นใหญ่ ทำด้วยมุ่งให้สมภาวะของตน ผู้ทำมุ่งผลอันจะได้แก่ตน หรือมุ่งความสะดวกแห่งตน

ส่วนผู้มีธัมมาธิปเตยยะ ทำด้วยไม่มุ่งหมายอย่างอื่น เป็นแต่เห็นสมควรเห็นว่าถูกก็ทำ หรือทำด้วยอำนาจเมตตากรุณาเป็นอาทิ ฯ

๔.     ญาณ ๓ ที่เป็นไปในทุกขสัจ มีอธิบายอย่างไร?

ตอบ มีอธิบายว่า

๑) ปรีชาหยั่งรู้ว่า นี้ทุกขสัจ จัดเป็นสัจจญาณ

๒) ปรีชาหยั่งรู้ว่า ทุกขสัจเป็นสภาพที่ควรกำหนดรู้ จัดเป็นกิจจญาณ

๓) ปรีชาหยั่งรู้ว่า ทุกขสัจที่ควรกำหนดรู้ ได้กำหนดรู้แล้ว จัดเป็นกตญาณ ฯ

๕.      อปัสเสนธรรม (ธรรมเป็นที่พึงพิง) ข้อที่ ๒ ว่า พิจารณาแล้วอดกลั้นของอย่างหนึ่ง นั้นมีอธิบายอย่างไร?

ตอบ มีอธิบายว่า อดกลั้นอารมณ์อันไม่เป็นที่เจริญใจ ต่างโดยหนาว ร้อน หิว กระหาย ถ้อยคำเสียดแทง และทุกขเวทนาอันแรงกล้า ฯ

๖.      อริยวงศ์คืออะไร มีกี่อย่าง ข้อที่ ๔ ว่าอย่างไร?

ตอบ คือ ปฏิปทาของพระอริยบุคคลผู้เป็นสมณะ มี ๔ อย่าง ฯ

ข้อที่ ๔ ว่า ยินดีในการเจริญกุศลและในการละอกุศล ฯ

๗.     ปัญจขันธ์ได้ชื่อว่าเป็นมาร เพราะเหตุไร?

ตอบ เพราะปัญจขันธ์นั้น บางทีทำความลำบากให้ อันเป็นเหตุเบื่อหน่ายจนถืงฆ่าตัวตายเสียเองก็มี

๘.     สมาธิระดับไหนจึงจัดเป็นจิตตวิสุทธิ ความหมดจดแห่งจิต?

ตอบ สมาธิทั้งที่เป็นอุปจาระทั้งที่เป็นอัปปนา โดยที่สุดขณิกสมาธิ คือสมาธิชั่วขณะพอเป็นรากฐานแห่งวิปัสสนา จัดเป็นจิตตวิสุทธิ ฯ

๙.     สังฆคุณ ๙ มีอะไรบ้าง จะย่นให้เหลือเพียง ๒ ได้อย่างไร?

ตอบ มี

๑) สุปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว

๒) อุชุปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว

๓) ญายปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติเป็นธรรม

๔) สามีจิปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติสมควร

๕) อาหุเนยฺโย เป็นผู้ควรของคำนับ

๖) ปาหุเนยฺโย เป็นผู้ควรของต้อนรับ

๗) ทกฺขิเณยฺโย เป็นผู้ควรของทำบุญ

๘) อญฺชลิกรณีโย เป็นผู้ควรทำอัญชลี (ประณมมือไหว้)

๙) อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ฯ

ข้อ ๑ ถึงข้อ ๔ เป็นอัตตหิตคุณ คือคุณเกื้อกูลแก่ตนเอง

ข้อ ๕ ถึงข้อ ๙ เป็นปรหิตคุณ คือคุณเกื้อกูลแก่ผู้อื่น ฯ

๑๐. กรรมที่บุคคลทำไว้ ทำหน้าที่อย่างไรบ้าง?

ตอบ ทำหน้าที่ คือ

๑) แต่ง (วิบาก) ให้เกิด เรียกว่า ชนกกรรม

๒) สนับสนุน (วิบากของกรรมอื่น) เรียกว่า อุปัตถัมภกกรรม

๓) บีบคั้น (วิบากของกรรมอื่น) เรียกว่า อุปปีฬกกรรม

๔) ตัดรอน (วิบากของกรรมอื่น) เรียกว่า อุปฆาตกกรรม ฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น