วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

วิชาวินัยบัญญัติ นักธรรมชั้นโท 2552

 วิชาวินัยบัญญัติ นักธรรมชั้นโท 2552


ปัญหาและเฉลยวิชาวินัยบัญญัติ  นักธรรมชั้นโท

สอบในสนามหลวง

พ.ศ. ๒๕๕๒

๑.     สิกขาบทนอกพระปาติโมกข์ที่เรียกว่าอภิสมาจารแบ่งเป็น ๒ คือเป็นข้อห้าม ๑ เป็นข้ออนุญาต ๑ นั้นคืออย่างไร?  ปรับโทษแก่ผู้ล่วงละเมิดไว้อย่างไร?

ตอบ ที่เป็นข้อห้ามคือ กิริยาบางอย่างหรือบริขารบางประเภทไม่เหมาะแก่สมณสารูป จึงทรงห้ามไม่ให้กระทำหรือใช้บริขารเช่นนั้น เช่น ห้ามไม่ให้ไว้ผมยาว ไม่ให้ไว้หนวดเครายาว ไม่ให้ใช้บาตรไม้ เป็นต้น ที่เป็นข้ออนุญาต คือเป็นการประทานประโยชน์พิเศษแก่พระภิกษุ เช่น ทรงอนุญาตวัสสิกาสาฎกในฤดูฝน เป็นต้น ฯ ปรับโทษโดยตรงมีเพียง ๒ คือ ถุลลัจจัย ๑ ทุกกฏ ๑ แม้ในข้อที่ทรงอนุญาต เมื่อไม่ทำตาม ก็เป็นอาบัติทุกกฏ เพราะไม่เอื้อเฟื้อ ฯ

๒.    มีพระบัญญัติข้อหนึ่งว่า อย่าพึงนุ่งผ้าอย่างคฤหัสถ์ อย่าพึงห่มผ้าอย่างคฤหัสถ์ ในกรณีที่ภิกษุถูกโจรชิงผ้านุ่งห่มไปหมด พึงปฏิบัติอย่างไรจึงจะถูกต้องตามพระวินัย?

ตอบ พึงปิดกายด้วยวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการชั่วคราว โดยที่สุดแม้ใบไม้ก็ใช้ได้ ห้ามมิให้เปลือยกาย ฯ

๓.     ผ้าสำหรับทำจีวรนุ่งห่มนั้นทรงอนุญาตไว้กี่ชนิด อะไรบ้าง?

ตอบ ทรงอนุญาตไว้ ๖ ชนิด คือ

๑) โขมะ                   ผ้าทำด้วยเปลือกไม้

๒) กัปปาสิกะ            ผ้าทำด้วยฝ้าย

๓) โกเสยยะ              ผ้าทำด้วยใยไหม

๔) กัมพละ                ผ้าทำด้วยขนสัตว์ ยกเว้นผมและขนมนุษย์

๕) สาณะ                  ผ้าทำด้วยเปลือกป่าน

๖) ภังคะ                  ผ้าที่ทำด้วยของ ๕ อย่างนั้น อย่างใดอย่างหนึ่งปนกัน ฯ

๔.     การประณาม ในพระวินัยหมายความว่าอย่างไร? มีพระพุทธานุญาตให้อุปัชฌาย์ทำการประณามสัทธิวิหาริกผู้ประพฤติอย่างไร?

ตอบ หมายความว่า การไล่สัทธิวิหาริก หรืออันเตวาสิกผู้ประพฤติมิชอบ ผู้ประพฤติดังนี้

๑) หาความรักใคร่ในอุปัชฌาย์มิได้

๒) หาความเลื่อมใสมิได้

๓) หาความละอายมิได้

๔) หาความเคารพมิได้

๕) หาความหวังดีต่อมิได้ ฯ

๕.     บุพพกรณ์และบุพพกิจ ในการทำอุโบสถต่างกันอย่างไร? ในวัดที่มีภิกษุ ๓ รูป เมื่อถึงวันอุโบสถ จะต้องทำบุพพกรณ์และบุพพกิจหรือไม่ เพราะเหตุไร?

ตอบ บุพพกรณ์ คือ กรณียะอันจะพึงกระทำให้เสร็จก่อนประชุมสงฆ์ ส่วนบุพพกิจ เป็นธุระอันจะพึงทำก่อนแต่สวดปาติโมกข์ ฯ  บุพพกรณ์นั้นเป็นกรณียะ จะต้องทำเพราะต้องไปประชุมกันตามกิจ ส่วนบุพพกิจนั้นไม่ต้องทำเพราะภิกษุ ๓ รูปไม่ต้องสวดปาติโมกข์ ฯ

๖.      ภิกษุจำพรรษาอยู่ด้วยกัน ๕ รูป ๔ รูป ๓ รูป ๒ รูปหรืออยู่รูปเดียว ถึงวันปวารณาพึงปฏิบัติอย่างไร?

ตอบ อยู่ด้วยกัน ๕ รูปพึงทำปวารณาเป็นการสงฆ์

อยู่ด้วยกัน ๔ รูป ๓ รูป ๒ รูป พึงทำปวารณาเป็นการคณะ

อยู่รูปเดียว พึงอธิษฐานเป็นการบุคคล ฯ

๗.    การทำนอกรีตนอกรอยของสมณะที่เรียกว่า อนาจาร ปาปสมาจาร และอเนสนา ได้แก่ความประพฤติเช่นไร รวมเรียกว่าอะไร?

ตอบ อนาจาร ได้แก่ ความประพฤติไม่ดี ไม่งาม และเล่นมีประการต่างๆ

          ปาปสมาจาร ได้แก่ ความประพฤติเลวทราม

          อเนสนา ได้แก่ ความเลี้ยงชีพไม่สมควร

          รวมเรียกว่าอุปปถกิริยา ฯ

๘.     กาลิกคืออะไร? มีอะไรบ้าง? กาลิกระคนกันมีกำหนดอายุไว้อย่างไร? จงยกตัวอย่าง

ตอบ ของที่จะพึงกลืนให้ล่วงลำคอลงไป มีดังนี้ ยาวกาลิก ยามกาลิก สัตตาหกาลิก และยาวชีวิก ฯ

กำหนดอายุตามกาลิกที่มีอายุสั้นที่สุดเป็นเกณฑ์ เช่น เอายาผงที่เป็นยาวชีวิกซึ่งไม่จำกัดอายุคลุกับน้ำผึ้งที่เป็นสัตตาหกาลิกซึ่งมีกำหนดอายุไว้ ๗ วัน ดังนี้ต้องถืออายุ ๗ วันเป็นเกฑ์ ฯ

๙.     การแสดงอาบัติ การอธิษฐาน การทำวิกัป ในทางพระวินัยเรียกว่าอะไร? การทำกิจเหล่านี้จำกัดบุคคลไว้อย่างไร?

ตอบ เรียกว่า วินัยกรรม ฯ

การแสดงอาบัติ จำกัดภิกษุผู้รับ ต้องเป็นภิกษุผู้มีสังวาสเดียวกัน

การอธิษฐาน ให้ทำเอง

การทำวิกัป จำกัดผู้รับ ต้องทำกับสหธรรมิกทั้ง ๕ คือ ภิกษุ ภิกษุณี สามเถร สามเณรี สิกขมานา รูปใดรูปหนึ่ง ฯ

๑๐.ภิกษุผู้ได้ชื่อว่าประดับพระศาสนาให้รุ่งเรืองเพราะประพฤติปฏิบัติ

เช่นไร? จงชี้แจง

ตอบ เพราะมีความประพฤติปฏิบัติสุภาพเรียบร้อย สมบูรณ์ด้วยอภิสมาจาริกวัตร เว้นจากบุคคลและสถานที่ไม่ควรไป

คืออโคจร เป็นผู้ได้ชื่อว่าอาจารโคจรสัมปันโน ผู้ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจรอันเป็นคู่กับคุณบทว่า สีลสัมปันโน ผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น