วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

วิชาพุทธานุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นเอก 2548

ปัญหาและเฉลยวิชาพุทธานุพุทธประวัติ  นักธรรมชั้นเอก

สอบในสนามหลวง

วันอาทิตย์ ที่  ๒๐  พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘



   ๑.  รูปกายอุบัติและธรรมกายอุบัติ แห่งพระมหาบุรุษนั้น มีความหมายว่าอย่างไร ?

   ๑.  รูปกายอุบัติ คือความอุบัติในสมัยลงสู่พระครรภ์และในสมัยประสูติจากพระครรภ์

        ส่วนธรรมกายอุบัติ คือการตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ฯ

   ๒.  ข้ออุปมาว่า  “ไม้แห้งที่วางไว้บนบก ไกลน้ำ สามารถสีให้เกิดไฟได้”  เกิดขึ้น

        แก่ใคร ?  โดยนำไปเปรียบกับอะไร ?

   ๒. แก่พระมหาบุรุษ คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฯ โดยทรงนำไปเปรียบ

        กับสมณพราหมณ์ทั้งหลายว่า สมณพราหมณ์บางพวกมีกายหลีกออกจากกาม

        ใจก็ละความรักใคร่ในกาม สงบดีแล้ว หากพากเพียรพยายามอย่างถูกต้อง

        ย่อมสามารถตรัสรู้ธรรมได้ ฯ

   ๓.  อนุปุพพีกถา คืออะไร ?  ทรงแสดงแก่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยองค์เท่าไร ?  อะไรบ้าง ?

   ๓.  คือถ้อยคำที่กล่าวเรียงเรื่องเป็นลำดับไป ฯ  ด้วยองค์ ๓ ฯ  คือ เป็นมนุษย์ ๑ 

        เป็นคฤหัสถ์ ๑  มีอุปนิสัยแก่กล้าควรบรรลุโลกุตรคุณในที่นั้น ๑ ฯ

   ๔.  สหายของพระยสะ ๔ คน ได้ออกบวชตามพระยสะ เพราะคิดอย่างไร ?

   ๔.  เพราะคิดว่า  ธรรมวินัยที่พระยสะออกบวชนั้นจักไม่เลวทรามแน่แท้  คงเป็น

        ธรรมวินัยอันประเสริฐ คิดดังนี้จึงได้ออกบวช ฯ

   ๕.  พระพุทธดำรัสว่า “เราสรรเสริญความคลุกคลีด้วยประการทั้งปวงหามิได้ แต่เรา

        มิใช่ไม่สรรเสริญความคลุกคลีด้วยประการทั้งปวงเลย” ตรัสแก่ใคร ?  ทรงหมาย

        ความว่าอย่างไร ?

   ๕.  ตรัสแก่พระมหาโมคคัลลานเถระ ฯ  ทรงหมายความว่า พระองค์ไม่ทรงสรรเสริญ

        ความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ แต่ทรงสรรเสริญความคลุกคลีด้วยเสนาสนะอันสงัด ฯ

   ๖.  พระพุทธเจ้าตรัสสอนภิกษุให้ประพฤติตนในการเข้าไปใกล้ตระกูลโดยยก

        พระมหากัสสปะเป็นตัวอย่างไว้อย่างไร ?

   ๖.  ตรัสสอนไว้มาก โดยสรุปทรงสอนว่า ท่านพระมหากัสสปะมีความสำรวมระวัง

        อย่างยิ่ง ทำตนเป็นผู้ใหม่อยู่เสมอ ไม่ลำพอง ไม่ติดข้อง วางเฉยกับอิฏฐารมณ์

        และอนิฏฐารมณ์ที่ประสบได้ทุกอย่าง ฯ

   ๗.  ธรรม ๓๗ ประการมีสติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น มีมรรคมีองค์ ๘ เป็นที่สุด เรียก

        ชื่อว่าธรรมอะไรได้บ้าง ?  เรียกอย่างนั้นเพราะเหตุไร ?

   ๗.  เรียกชื่อว่า อภิญญาเทสิตธรรม เพราะเป็นธรรมที่พระองค์ทรงแสดงด้วย

        พระปัญญาอันยิ่ง และเรียกชื่อว่า โพธิปักขิยธรรม เพราะธรรมเหล่านี้เป็น

        ฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้ ฯ

   ๘.  โมฆราชมาณพคิดจะทูลถามปัญหากะพระพุทธองค์ ๓ ครั้ง   แต่มิได้ทูลถาม

        เพราะเหตุไร ?

   ๘.  ในครั้งที่ ๑ ไม่ได้ทูลถามเพราะเห็นว่าอชิตมาณพเป็นผู้ใหญ่กว่า จึงยอมให้ทูลถาม

        ก่อน ในครั้งที่ ๒ และ ๓  ไม่ได้ทูลถามเพราะพระพุทธองค์ตรัสห้ามไว้ ฯ

   ๙.  ในพุทธประวัติกล่าวถึงบุคคลต่อไปนี้คือ โสตถิยพราหมณ์ หุหุกชาติพราหมณ์

        โทณพราหมณ์ ว่าอย่างไรบ้าง ?

   ๙.  โสตถิยพราหมณ์ เป็นพราหมณ์ที่ถวายหญ้าแด่พระมหาบุรุษในเวลาเย็นแห่งวันตรัสรู้

        หุหุกชาติพราหมณ์ เป็นพราหมณ์ที่เข้าเฝ้าทูลถามปัญหากะพระพุทธองค์ขณะ

        ประทับ ณ ภายใต้ร่มไม้อชปาลนิโครธ

        โทณพราหมณ์ เป็นพราหมณ์ที่ทำหน้าที่แบ่งพระบรมสารีริกธาตุแก่กษัตริย์และ

        พราหมณ์ทั้ง ๘ พระนคร ฯ

๑๐.  พุทธบริษัท ๔ คือ ใครบ้าง ?  ผู้ตั้งอยู่ในเอตทัคคะทางพระธรรมกถึกของแต่

        ละฝ่ายคือใคร ?

๑๐.  คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ฯ

        ฝ่ายภิกษุ คือ พระปุณณมันตานีบุตรเถระ

        ฝ่ายภิกษุณี คือ พระธัมมทินนาเถรี

        ฝ่ายอุบาสก คือ จิตตคฤหบดี

        ฝ่ายอุบาสิกา คือ นางขุชชุตตรา ฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น