วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

วินัยบัญญัติ นักธรรมชั้นโท 2543

 วินัยบัญญัติ นักธรรมชั้นโท 2543


ปัญหาและเฉลยวินัยบัญญัติ  นักธรรมชั้นโท

สอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๕๔๓

วันเสาร์ ที่  ๑๘  พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๓

------------------------------

๑.

๑.๑

สิกขาบทนอกพระปาฏิโมกข์เรียกว่าอะไร ?  ทรงบัญญัติไว้เพื่อประโยชน์อะไร ?


๑.๒

กายบริหาร ข้อที่ ๓ และข้อที่ ๗ มีความว่าอย่างไร ?

๑.

๑.๑

เรียกว่า อภิสมาจาร ทรงบัญญัติไว้เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของภิกษุ และเพื่อความงามของพระศาสนา เช่นเดียวกับตระกูลใหญ่ จำต้องมีขนบธรรมเนียมและระเบียบไว้รักษาเกียรติและความเป็นผู้ดีของตระกูล


๑.๒

มีความว่าดังนี้



ข้อที่  ๓  อย่าพึงไว้เล็บยาว การขัดมลทินหรือแคะมูลเล็บเป็นกิจควรทำ



ข้อที่ ๗ อย่าพึงแต่งเครื่องประดับต่างๆ เช่น ตุ้มหู สายสร้อยและแหวน    เป็นต้น

๒.

๒.๑

บาตรที่ทรงอนุญาตมีกี่ชนิด ? อะไรบ้าง ?  บาตรแสตนเลสจัดเข้าในชนิดไหน ?


๒.๒

บาตรที่ทรงห้ามมีกี่ชนิด ?  อะไรบ้าง ?

๒.

๒.๑

มี ๒ ชนิด คือ ๑ บาตรดินเผา ๒ บาตรเหล็ก บาตรแสตนเลสจัดเข้าในบาตรเหล็ก


๒.๒

มี ๑๑ ชนิด คือ ๑ บาตรทอง  ๒ บาตรเงิน  ๓ บาตรแก้วมณี  ๔ บาตรแก้วไพฑูรย์ ๕ บาตรแก้วผลึก  ๖ บาตรแก้วหุง  ๗ บาตรทองแดง  ๘ บาตรทองเหลือง  ๙ บาตรดีบุก  ๑๐ บาตรสังกะสี  ๑๑ บาตรไม้

๓.

๓.๑

นิสัยคืออะไร ? เหตุให้นิสัยระงับมีเท่าไร ?  อะไรบ้าง ?


๓.๒

ภิกษุเช่นไรควรได้นิสัยมุตตกะ ?

๓.

๓.๑

นิสัย คือ กิริยาที่พึ่งพิงของสัทธิวิหาริกและอันเตวาสิก ต่อพระอุปัชฌาย์และพระอาจารย์

เหตุให้นิสัยระงับจากพระอุปัชฌาย์ มี ๕ คือ ๑ หลีกไปเสีย  ๒ สึกเสีย            ๓ ตายเสีย  ๔ ไปเข้ารีตเดียรถีย์  ๕ สั่งบังคับ


ส่วนเหตุให้นิสัยระงับจากพระอาจารย์ เพิ่มอีก ๑ ข้อ คือ อันเตวาสิกรวมเข้ากับพระอุปัชฌาย์ของเธอ


๓.๒

ภิกษุผู้ควรได้นิสัยมุตตกะ คือ

     ๑) เป็นผู้มีศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ สติ

     ๒) เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล อาจาระ ความเห็นชอบ เคยได้ยินได้ฟัง

          มามาก มีปัญญา

     ๓) รู้จักอาบัติ มิใช่อาบัติ อาบัติเบา อาบัติหนัก จำพระปาฏิโมกข์ได้

         แม่นยำ ทั้งมีพรรษาพ้น ๕

๔.

๔.๑

วัตรคืออะไร ?  มีกี่อย่าง ?  อะไรบ้าง ?


๔.๒

วัตถุอนามาสคืออะไร ?  มีอะไรบ้าง ?

๔.

๔.๑

วัตรคือแบบอย่างอันภิกษุควรประพฤติในกาลนั้น ๆ ในที่นั้น ๆ ในกิจนั้น ๆ แก่บุคคลนั้น ๆ มี ๓ อย่าง คือ  ๑ กิจวัตร   ๒ จริยาวัตร   ๓ วิธิวัตร


๔.๒

วัตถุอนามาส คือวัตถุไม่ควรจับต้อง มีดังนี้



     ๑) ผู้หญิง รวมทั้งเครื่องแต่งกาย ทั้งรูปที่ทำมีสัณฐานเช่นนั้น และ

          ดิรัจฉานตัวเมีย

     ๒) ทอง เงิน และรัตนะ

     ๓) ศัสตราวุธ

     ๔) เครื่องดักสัตว์

     ๕) เครื่องประโคมทุกอย่าง

     ๖) ข้าวเปลือก และผลไม้อันเกิดอยู่ในที่

๕.

๕.๑

กิจอันสงฆ์จะพึงทำก่อนสวดปาฏิโมกข์มีกี่อย่าง ?  อะไรบ้าง ?


๕.๒

สงฆ์สวดปาฏิโมกข์อยู่ ภิกษุอื่นมาถึง หรือมาถึงเมื่อสวดจบแล้ว พึงปฏิบัติ

อย่างไร ?

๕.

๕.๑

มี ๙ อย่างคือ ๑ กวาดโรงอุโบสถ   ๒ ตามประทีป   ๓ ปูอาสนะ 

๔ ตั้งน้ำฉันน้ำใช้  ๕ นำปาริสุทธิของภิกษุผู้เจ็บไข้มา   ๖ นำฉันทะ

ของเธอมาด้วย    ๗ บอกฤดู   ๘ นับภิกษุ   ๙ สั่งสอนนางภิกษุณี


๕.๒

พึงปฏิบัติอย่างนี้ คือ ถ้าภิกษุมาใหม่มากกว่าภิกษุที่ประชุมกันอยู่ ต้องสวดตั้งต้นใหม่  ถ้าเท่ากันหรือน้อยกว่า ส่วนที่สวดไปแล้วก็แล้วกันไป ให้ภิกษุที่มาใหม่ฟังส่วนที่ยังเหลืออยู่ต่อไป ถ้ามาเมื่อสวดจบแล้ว แม้มากกว่า ก็ไม่ต้องสวดซ้ำอีก ให้ภิกษุที่มาใหม่บอกปาริสุทธิในสำนักภิกษุ     ผู้สวดผู้ฟังปาฏิโมกข์แล้ว

๖.

๖.๑

ความรู้อะไรบ้างที่จัดเป็นดิรัจฉานวิชา ?


๖.๒

ภิกษุประพฤติเช่นไรเรียกว่าทำศรัทธาไทยให้ตกไป ?

๖.

๖.๑

ความรู้ที่จัดเป็นดิรัจฉานวิชา คือ



     ๑) ความรู้ในทางทำเสน่ห์

     ๒) ความรู้ในทางทำให้ผู้นั้นผู้นี้ถึงความวิบัติ

     ๓) ความรู้ในทางใช้ภูตผีอวดฤทธิ์เดชต่าง ๆ

     ๔) ความรู้ในทางทำนายทายทัก

     ๕) ความรู้อันทำให้หลงงมงาย เช่น หุงปรอท


๖.๒

ภิกษุรับของที่เขาถวาย เพื่อเกื้อกูลแก่พระศาสนาแล้ว ไม่บริโภค แต่ กลับนำไปให้แก่คฤหัสถ์เสีย ทำให้ผู้บริจาคเสื่อมศรัทธา เช่นนี้เรียกว่า ทำศรัทธาไทยให้ตกไป (ยกเว้น อนามัฏฐบิณฑบาต ทรงอนุญาตพิเศษ ให้แก่มารดาบิดาได้)

๗.

๗.๑

อเนสนาได้แก่อะไร ?  มีอะไรบ้าง ?


๗.๒

การทำวิญญัติคือการทำอย่างไร ?  จัดเข้าในอุปปถกิริยาประเภทไหน ?

๗.

๗.๑

อเนสนาได้แก่ กิริยาแสวงหาเลี้ยงชีพในทางไม่สมควร แสดงโดยเค้ามี ๒ อย่างคือ



     ๑) การแสวงหาเป็นโลกวัชชะ มีโทษทางโลก

     ๒) การแสวงหาเป็นปัณณัตติวัชชะ มีโทษทางพระบัญญัติ


๗.๒

การทำวิญญัติ คือ การออกปากขอของต่อบุคคลที่ไม่ควรขอ หรือในเวลาที่ไม่ควรขอ  เช่น ขอต่อคฤหัสถ์ที่ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ปวารณา ขอในยามปกติที่มิได้ทรงอนุญาต เป็นต้น จัดเข้าในอุปปถกิริยาประเภทอเนสนา

๘.

๘.๑

จงให้ความหมายของคำว่า   กาลิก   ยาวกาลิก   ยามกาลิก   สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก


๘.๒

น้ำอ้อยเป็นกาลิกอะไร ?

๘.

๘.๑

กาลิก คือของที่จะพึงกลืนให้ล่วงลำคอลงไป

ยาวกาลิก คือของที่ให้บริโภคได้ชั่วคราว ตั้งแต่เช้าชั่วเที่ยงวัน

ยามกาลิก คือของที่ให้บริโภคได้ชั่วคราว คือ ๑ วัน กับ ๑ คืน

สัตตาหกาลิก คือของที่ให้บริโภคได้ชั่วคราว ๗ วัน

ยาวชีวิก คือของที่ให้บริโภคได้เสมอ ไม่จำกัดกาล


๘.๒

ถ้าเป็นน้ำอ้อยสด จัดเป็นยามกาลิก

ถ้าเป็นน้ำอ้อยเคี่ยวจนแข้นแข็ง จัดเป็นสัตตาหกาลิก

๙.

๙.๑

อุกเขปนียกรรม สงฆ์ควรทำแก่ภิกษุผู้ประพฤติเช่นไร ?


๙.๒

อธิษฐาน (บริขาร) มีกี่อย่าง ?  อะไรบ้าง ?

๙.

๙.๑

ควรทำแก่ภิกษุผู้ต้องอาบัติแล้วไม่ยอมรับว่าเป็นอาบัติ ที่เรียกว่า ไม่เห็นอาบัติ หรือยอมรับว่าเป็นอาบัติแต่ไม่แสดง ที่เรียกว่า ไม่ทำคืนอาบัติ


๙.๒

มี ๒ อย่างคือ



     ๑) อธิษฐานด้วยกาย คือเอามือลูบบริขารที่จะอธิษฐานนั้นเข้า

          ทำความผูกใจตามคำอธิษฐาน

     ๒) อธิษฐานด้วยวาจา คือลั่นคำอธิษฐานนั้น ไม่ถูกของด้วยกายก็ได้

๑๐.

๑๐.๑

สมบัติของภิกษุในทางพระวินัยมีเท่าไร ?  อะไรบ้าง ?


๑๐.๒

ภิกษุประพฤติเช่นไร ได้ชื่อว่า โคจรวิบัติ ?

๑๐.

๑๐.๑

มี ๔ คือ

     ๑) สีลสมบัติ    

     ๒) อาจารสมบัติ    

     ๓) ทิฏฐิสมบัติ    

     ๔) อาชีวสมบัติ


๑๐.๒

ภิกษุไปสู่บุคคลก็ดี สถานที่ก็ดี อันภิกษุไม่ควรไป คือ  หญิงแพศยา ๑     หญิงหม้าย ๑   สาวเทื้อ ๑   ภิกษุณี ๑  บัณเฑาะก์ ๑ ร้านสุรา ๑ ได้ชื่อว่า โคจรวิบัติ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น