วันพุธที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2564

วิชาพุทธประวัติ นักธรรมชั้นตรี 2547

 ปัญหาและเฉลยวิชาพุทธประวัติ  นักธรรมชั้นตรี

สอบในสนามหลวง

พ.ศ. ๒๕๔๗


   ๑.  พระพุทธเจ้าสืบเชื้อสายมาจากชนชาติใด ?  ชนชาตินั้นมาตั้งถิ่นฐานในชมพูทวีปได้

        อย่างไร ?

   ๑.  สืบเชื้อสายมาจากชนชาติอริยกะ ชาวอริยกะนั้นเป็นผู้เจริญด้วยความรู้และขนบ

        ธรรมเนียม มีฤทธิ์มีอำนาจมากกว่าพวกมิลักขะเจ้าของถิ่นเดิม เมื่อข้ามภูเขาหิมาลัยมา

        ก็รุกไล่พวกมิลักขะ เจ้าของถิ่นเดิมให้ถอยเลื่อนลงมาทางใต้ แล้วเข้าตั้งถิ่นฐาน

        ในชมพูทวีปแทน ฯ

   ๒.  พระนามและนามดังต่อไปนี้ เกี่ยวข้องกับเจ้าชายสิทธัตถะอย่างไร ?

               ก. พระเจ้าสุทโธทนะ

               ข. พระนางเจ้าสิริมหามายา

               ค. พระนันทะ

               ง. วิศวามิตร

               จ. นายฉันนะ

   ๒.          ก. พระเจ้าสุทโธทนะ เป็นพระราชบิดา

               ข. พระนางเจ้าสิริมหามายา เป็นพระราชมารดา

               ค. พระนันทะ เป็นพระกนิษฐภาดาต่างพระมารดา

               ง. วิศวามิตร เป็นครูผู้สอนศิลปวิทยาเมื่อยังทรงพระเยาว์

               จ. นายฉันนะ เป็นผู้ตามเสด็จในคราวออกผนวช ฯ

   ๓.  การที่พระราชบิดาและพระญาติวงศ์ คิดผูกพันเจ้าชายสิทธัตถะไว้ให้เพลิดเพลินอยู่

        ในกามสุขเพราะเหตุไร ?  และด้วยวิธีใด ?

   ๓.  เพราะพระราชบิดาและพระญาติวงศ์ได้ทรงฟังคำทำนายของอสิตดาบสว่า พระราชกุมาร

        นี้จักมีคติเป็นสอง คือ ถ้าอยู่ครองราชสมบัติจักได้เป็นจักรพรรดิราช  หรือถ้าออก

        บรรพชาจักได้เป็นศาสดาเอกในโลก  จึงปรารถนาให้อยู่ครองราชสมบัติมากกว่าที่จะ

        ยอมให้เสด็จออกบรรพชา ฯ

        ด้วยการตรัสให้ขุดสระโบกขรณีในพระราชนิเวศน์ ๓ สระ เพื่อให้เป็นที่เล่นสำราญ

        พระราชหฤทัย ให้จัดเครื่องทรง คือจันทน์สำหรับทา ผ้าโพกพระเศียร ฉลองพระองค์

        ผ้าทรงสะพัก พระภูษา ล้วนเป็นของประณีต  ให้สร้างปราสาท ๓ หลังสำหรับเป็นที่

        ประทับทั้ง ๓ ฤดู  ตรัสขอพระนางยโสธรามาอภิเษกเป็นพระชายา ฯ

   ๔.  หลังจากตรัสรู้แล้ว ในระหว่างทางที่เสด็จไปป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พระพุทธองค์ทรง

        สนทนากับใคร ?  และผู้นั้นได้บรรลุธรรมชั้นไหน ?

   ๔.  ทรงพบอุปกาชีวก ฯ  อุปกาชีวกไม่ได้บรรลุธรรมชั้นไหนเลย ฯ

   ๕.  ในพิธีศิวาราตรี ถือว่าการอาบน้ำชำระร่างกายในแม่น้ำเป็นการลอยบาป  ส่วนในทาง

        พระพุทธศาสนาพระพุทธเจ้าทรงแสดงวิธีลอยบาปไว้อย่างไร ?

   ๕.  ทรงแสดงไว้ว่า การยังบาปให้สงบระงับจากสันดาน ละกิเลสที่ทำให้เป็นผู้ดุร้าย

        เย่อหยิ่งและกิเลสที่ย้อมจิตให้ติดแน่นในกามารมณ์ เป็นการลอยบาป ฯ

   ๖.  การปลงอายุสังขารของพระพุทธองค์ ถือโดยใจความว่าอย่างไร ? และทรงปลงอายุ

        สังขารเมื่อใด ?

   ๖.  ถือโดยใจความว่า พระองค์ทรงปลงพระทัยว่าจะทรงบำเพ็ญพุทธกิจต่อไปอีกไม่ได้

        แล้ว เพราะปรารภถึงสังขารของพระองค์ว่า ทรงพระชราแก่เฒ่าเป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาล

        ผ่านวัยเสียแล้ว ที่ทรงเปรียบว่ากายของพระองค์เป็นประหนึ่งเกวียนชำรุดที่ซ่อมแซม

        ด้วยไม้ไผ่ มิใช่สัมภาระเกวียนฉะนั้น ฯ

        เมื่อวันเพ็ญ เดือน ๓  ก่อนวันปรินิพพาน ๓ เดือน ฯ

   ๗.  พระพุทธศาสนาสืบเนื่องมาถึงปัจจุบันนี้ได้อย่างไร ?

   ๗.  ได้ด้วยการที่บริษัททั้ง ๔ ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย และด้วยวิธีที่พระสงฆ์สาวกผู้ใหญ่

        มีพระมหากัสสปะเป็นต้น เป็นประธานจัดทำสังคายนาพระธรรมวินัย วางแบบแผน

        ที่ถูกต้องลงไว้ในพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก เพื่อให้บริษัท ๔ ได้เล่าเรียนปฏิบัติตาม

        เมื่อมีสิ่งไรไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา พระอริยสงฆ์ในยุคนั้นๆ ได้ช่วยกัน

        ทำสังคายนาเป็นครั้งที่ ๒ และครั้งที่ ๓ เป็นลำดับมา เพื่อชำระสัทธรรมปฏิรูปนั้นเสีย

        จนได้จารึกไว้ในพระคัมภีร์ให้แพร่หลาย รวมทั้งจัดการส่งพระสงฆ์ไปประกาศพระ

        พุทธศาสนาในดินแดนต่างๆ  ให้ชุมชนในดินแดนนั้นๆ เลื่อมใสปฏิบัติตาม จึงทำให้

        พระพุทธศาสนาสืบเนื่องมาจนปัจจุบันนี้ ฯ

ศาสนพิธี

   ๘.  ในพิธีทำบุญต่างๆ  มีผู้เกี่ยวข้องในการปฏิบัติกี่ฝ่าย ?  คือใครบ้าง ?

   ๘.  มีผู้เกี่ยวข้องในการปฏิบัติ ๒ ฝ่าย  คือ

               ๑. ฝ่ายเจ้าภาพ         คือทายกทายิกา  ผู้ประกอบการทำบุญ

               ๒. ฝ่ายปฏิคาหก       คือผู้รับทานและประกอบพิธีกรรมตามประสงค์

                                          ของเจ้าภาพ ซึ่งเป็นบรรพชิต เรียกอีกอย่างว่า 

                                          ฝ่ายพระสงฆ์ ฯ

   ๙.  เพื่อปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักศาสนพิธี  เจ้าภาพพึงกรวดน้ำและประนมมือรับพร

        ตอนไหน ?

   ๙.  เมื่อพระสงฆ์เริ่มอนุโมทนาด้วยบทว่า ยถา วาริวหา ฯเปฯ  เจ้าภาพพึงกรวดน้ำ ไม่ใช้

        นิ้วมือรอง เวลารินไม่ให้น้ำขาดสาย  พอว่าบท สพฺพีติโย ฯเปฯ  รินน้ำให้หมดแล้ว

        ประนมมือรับพรต่อไปจนจบ ฯ


๑๐.  การเผดียงสงฆ์ และ การอาราธนา หมายถึงอะไร ?

๑๐.  การเผดียงสงฆ์ หมายถึง การแจ้งความประสงค์ให้สงฆ์ทราบ

        การอาราธนา หมายถึง การนิมนต์พระสงฆ์ในพิธีให้ศีล สวดพระปริตร หรือ

        แสดงธรรม ฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น