วันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2560

เบญจศีล สิกขาบทที่ ๑

ปาณาติปาตา เวรมณี เว้นจากการฆ่าสัตว์มีชีวิต
การบัญญัติศีลข้อนี้ มุ่งให้มนุษย์ปลูกเมตตาจิตในสัตว์ทุกจำพวก หรือแม้ในมนุษย์ด้วยกัน เพราะเมตตาจิตนี้เป็นความดี มีทั่วไป ทั้งในมนุษย์และสัตว์เดียรัจฉาน
คำว่าสัตว์ในที่นี้หมายถึง สัตว์ที่มีชีวิตทุกชนิด ทั้งมนุษย์และสัตว์เดียรัจฉาน ที่ว่ามีชีวิตนั้น นับตั้งแต่สัตว์นั้นมีปราณหรือลมหายใจ ตั้งแต่อยู่ในครรภ์หรือในไข่ จนกระทั่งสิ้นลมหายใจ คือ ตาย
สัตว์ทุกชนิดย่อมมีสิทธิ์โดยชอบในการมีชีวิตของตนไปจนตาย ผู้ใดทำให้เขาเสียชีวิตด้วยเจตนา ศีลของผู้นั้นก็ขาด เมื่อเพ่งเจตนาจิตเป็นใหญ่ ในสิกขาบทข้อนี้มีข้อห้าม ๓ อย่าง (เว้นการกระทำ) คือ.
๑. การฆ่า
๒. การทำร้ายร่างกาย
๓. การทรมาน
๑. การฆ่า ได้แก่ การทำให้ตาย โดยต่างแห่งวัตถุ มี ๒ ประเภท คือ
๑) ฆ่ามนุษย์
๒) ฆ่าสัตว์เดียรัจฉาน
วัตถุที่ใช้ฆ่ามี ๒ อย่าง คือ
๑. ศาสตรา วัตถุที่มีคมเป็นเครื่องฟันแทง เช่น หอก ดาบ เป็นต้น
๒. อาวุธ วัตถุไม่มีคม เช่น ไม้พลอง ก้อนดิน
ฆ่ามนุษย์
ฆ่ามนุษย์ มีโทษหนักโดยวัตถุ ฝ่ายพุทธจักรปรับโทษภิกษุผู้กระทำเป็นปาราชิก ฝ่ายอาณาจักรก็ปรับโทษแก่ผู้กระทำอย่างสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต จะเบาลงมาก็โดยเจตนา การฆ่าโดยต่างแห่งเจตนาก็มีอยู่ ๒ ประเภท คือ ฆ่าโดยจงใจ และฆ่าโดยไม่จงใจ
๑. ฆ่าโดยจงใจ คือ สจิตตกะ ได้แก่ คิดไว้ทีแรกว่าจะฆ่าในขณะที่ใจไม่งุ่นง่าน แต่เพราะเหตุ คือ
-   ตกอยู่ในฐานะแห่งความโลภ เช่น โจรปล้นบ้าน แล้วฆ่าเจ้าทรัพย์ตาย
-   ตกอยู่ในฐานะแห่งความพยาบาท เช่น ลอบฆ่าคนที่มีเวรต่อกัน
-   และเพราะสาเหตุอื่นนอกจากนี้ แล้วพยายามใช้เครื่องมือ หรืออุบายอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้เขาตาย
๒. ฆ่าโดยไม่จงใจ คือ อจิตตกะ ได้แก่ ไม่ได้คิดไว้ก่อน แต่เพราะเหตุเหล่านี้ คือ
-   บังเอิญเป็น
-   เพราะบันดาลโทสะ เช่น วิวาทกัน บันดาลโทสะขึ้นแล้วฆ่ากันตาย
-   ประสงค์จะป้องกันตัว เช่น ต่อสู้กันกับผู้ที่มาทำร้ายตัว และฆ่าเขาตาย
-   เพราะไม่แกล้ง เช่น หมายตีพอหลาบจำ แต่ถูกที่สำคัญ ผู้ถูกตีนั้นตาย
การฆ่านั้นสำเร็จด้วยประโยค ๒ อย่าง คือ
๑. ฆ่าเอง เรียกว่า สาหัตถิกประโยค เป็นการลงมือฆ่าเอง
๒. ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า เรียกว่า อาณัตติกประโยค
ศีลข้อนี้ขาดทั้ง ฆ่าเอง และใช้ให้คนอื่นฆ่า
การใช้ให้คนอื่นทำนั้นมีนิยม ๖ ข้อ เป็นเครื่องวินิจฉัยว่า จะล่วงศีลหรือไม่ คำว่า นิยม คือ วัตถุเครื่องกำหนดมี ๖ คือ
๑. นิยมวัตถุ หมายถึง วัตถุที่ถูกฆ่า มีมนุษย์ และสัตว์ เป็นต้น
๒. นิยมกาล คือ กำหนดเวลาใช้ฆ่า เช่น เวลาเช้า สาย บ่าย เย็น เป็นต้น
๓. นิยมโอกาส หมายเอากำหนดสถานที่ เช่น ในป่า ในบ้าน เป็นต้น
๔. นิยมเครื่องประหาร หมายเอาเครื่องประหาร มี ศาสตรา อาวุธ เป็นต้น
๕. นิยมอิริยาบถ หมายเอาอิริยาบถ มีการ ยืน เดิน นั่ง นอน เป็นต้น
๖. นิยมกิริยาวิเศษ หมายถึง วิธีใช้ฆ่า มี ฟัน แทง ยิง เป็นต้น
ในนิยมทั้ง ๖ นี้ เมื่อสั่งให้เขาทำแล้ว ถ้าเขาทำถูกต้องตามนิยมนั้น จึงเชื่อว่า ล่วงศีล แต่ถ้าผู้รับใช้ทำผิดจากนิยมที่เขาสั่งไป ไม่ชื่อว่า ล่วงศีล
เมื่อกล่าวโดยความเป็นกรรม มีโทษหนักเป็นชั้นกัน เป็น ๓ คือ วัตถุ เจตนา ประโยค
๑. โดยวัตถุ หมายถึง สิ่งที่มีตัวตน แยกเป็น ๓ ประเภท คือ
ก. ฆ่ามนุษย์ผู้หาความผิดคิดได้ คือ ผู้ไม่ได้ประทุษร้ายตนเองและผู้อื่น มีโทษมาก เพราะเว้นจากเหตุจำเป็น
ข. ฆ่ามนุษย์ผู้มีอุปการะมาก เช่น บิดา มารดา ครู อาจารย์ มีโทษมาก เพราะตัดประโยชน์สุขของผู้อื่น
ค. ฆ่ามนุษย์ผู้มีคุณความดี มีโทษมาก เพราะไม่เป็นแต่ผลาญชีวิตเปล่า ยังทำลายคุณที่เป็นตัวอย่างให้ผู้อื่นประพฤติตามเสียด้วย
๒. โดยเจตนา หมายถึง ความคิดอ่าน ความตั้งใจ จัดเป็น ๓ คือ
ก. ฆ่าโดยไม่มีสาเหตุ เช่น ผู้นั้นไม่มีโทษผิดถึงตายตามกฎหมายบ้านเมือง หรือไม่ได้จะทำร้ายตน มีโทษมาก
ข. ฆ่าด้วยกำลังกิเลสกล้า เช่น รับจ้างฆ่าเขา มีโทษมาก
ค. ฆ่าด้วยความพยาบาทอันร้ายกาจ ล้างผลาญเขาให้ถึงความพินาศ มีโทษมาก
๓. โดยประโยค หมายถึง อาการสำหรับประกอบ(การกระทำ) ได้แก่ ฆ่าให้ลำบาก เช่น ทุบตีให้บอบช้ำกว่าจะตาย มีโทษมาก เพราะผู้ถูกฆ่า เสวยทุกข์เวทนาแสนสาหัส
การฆ่านั้น มิใช่แต่ห้ามฆ่ามนุษย์อื่นเท่านั้น แม้ฆ่าตัวเองให้ตาย ก็ห้าม เพราะเท่ากับเป็นคนสิ้นคิด การฆ่าตัวเองให้ตายนั้น มีชื่อเรียกว่า อัตวินิบาตกรรม
ฆ่าสัตว์เดียรัจฉาน
การฆ่าสัตว์เดียรัจฉานนั้น มีโทษเบาลงโดยวัตถุจากการฆ่ามนุษย์ ฝ่ายพุทธจักรปรับโทษแก่ภิกษุผู้กระทำเพียงปาจิตตีย์ ฝ่ายอาณาจักรมีจำกัดโทษแต่เฉพาะการฆ่าสัตว์บางเหล่าที่หวงห้าม เมื่อกล่าวโดยความเป็นกรรม การฆ่าสัตว์เดียรัจฉาน มีโทษหนักเป็นชั้นกัน โดยวัตถุ เจตนา ประโยค
๑. โดยวัตถุ จัดเป็น ๕ อย่าง คือ
ก. ฆ่าสัตว์ที่มีเจ้าของหวงแหน
ข. ฆ่าสัตว์ที่มีคุณ คือ อุปการะ
ค. ฆ่าสัตว์ใหญ่อันจะใช้ประโยชน์ได้มาก
ง. ฆ่าสัตว์ของตัวเอง
จ. ฆ่าสัตว์อันหาเจ้าของมิได้
ทั้งหมดนี้มีโทษมาก
๒. โดยเจตนา จัดเป็น ๓ อย่าง คือ
ก. ฆ่าโดยหาสาเหตุมิได้
ข. ฆ่าด้วยกำลังกิเลสกล้า
ค. ฆ่าด้วยความพยาบาท
๓. โดยประโยค ได้แก่ ฆ่าให้ลำบาก หรือ น่าสมเพช เช่น วางยาในหนองน้ำเบื่อให้ปลาเมาตาย มีโทษมาก
ฉายาปาณาติบาต
ผู้รักษาศีลข้อนี้ นอกจากระวังไม่ให้ขาด เพราะการฆ่าสัตว์แล้ว ถ้าเว้นจากการกระทำที่เป็นฉายาของปาณาติบาติได้ด้วยแล้ว ก็จะทำให้ศีลของตนบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น ถ้าเว้นไม่ได้ ศีลของตนก็ด่างพร้อย เหมือนผ้าที่ไม่ขาดแต่สกปรก ฉายาปาณาติบาต คือ การทำร้ายร่างกาย และทรกรรม
การทำร้ายร่างกาย
ข้อนี้หมายเอาเฉพาะทำแก่มนุษย์ แยกเป็น ๓ ประเภท คือ
๑. ทำให้พิการ คือ ทำให้เสียอวัยวะเป็นเครื่องใช้การ เช่น การทำให้เสียนัยน์ตา เสียขา เสียแขน
๒. ทำให้เสียโฉม คือ ทำให้ร่างกายเสียรูป เสียงาม ไม่ถึงพิการ
๓. ทำให้เจ็บลำบาก คือ ไม่ถึงกับเสียโฉม แต่ทำให้เสียความสำราญ
ทรกรรม
ข้อนี้หมายเอาเฉพาะสัตว์เดียรัจฉาน เพราะมนุษย์ไม่เป็นวัตถุอันใครๆ จะพึงทรกรรมได้ทั่วไป ทรกรรมได้แก่ ความประพฤติเหี้ยมโหดแก่สัตว์ ไม่มีความกรุณาปรานีสัตว์ ตามที่จัดไว้เป็นแผนกดังนี้
๑. ใช้การ ได้แก่ การใช้การเกินกำลัง ไม่ปรานีสัตว์ ปล่อยให้อดอยากซูบผอม ไม่ได้หยุดพักผ่อนตามกาล ทำความสำราญของสัตว์ให้เสียไป ขณะใช้ก็เฆี่ยนตี
๒. กักขัง ได้แก่ กังขังในที่คับแคบ จนเปลี่ยนอิริยาบถไม่ได้
๓. นำไป ได้แก่ นำสัตว์ไปโดยวิธีทรมาน เช่น ลากไป หรือผูกมัด เป็ดไก่ สุกร หิ้วหามเอาหัวลง เอาเท้าขึ้น หรือเอาปลาขังข้องให้ทับยัดเยียดกัน ปล่อยให้ดิ้นกระเสือกกระสนจนตาย
๔. เล่นสนุก เช่นเอาประทัดผูกหางสุนัข แล้วเอาไฟจุด หรือเอาไฟจุดบนกระดองเต่า เอาก้อนดินก้อนหินขว้างปานกเล่นเป็นต้น
๕. ผจญสัตว์ เช่น กัดปลา ชนโค (วัว) ชนกระบือ (ควาย) ตีไก่ กัดจิ้งหรีด เป็นต้น
หลักวินิจฉัยปาณาติบาต
ปาณาติบาตมีองค์ ๕ คือ
๑. ปาโณ   สัตว์มีชีวิต
๒. ปาณสัญญิตา ตนรู้ว่าสัตว์มีชีวิต
๓. วธกจิตตัง จิตคิดจะฆ่าให้ตาย
๔. อุปกกโม ทำความพยายามฆ่า
๕. เตน มรณัง สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น
ศีลข้อนี้จะขาด ต่อเมื่อทำครบองค์ทั้ง ๕ ข้อข้างต้นนี้
ศัพท์ที่ควรรู้
๑. โลกวัชชะ คือ ความผิดที่มนุษย์ทำขึ้น เป็นความผิด เป็นความเสียหาย เช่น ฆ่ามนุษย์ การโจรกรรม ทุบตีกัน เป็นต้น บางอย่างเป็นความเสียหายที่ชาวโลกติเตียน ถือว่าไม่เหมาะสมกับความเป็นสมณะ เช่น ดื่มสุรา เป็นต้น จึงเป็นโทษทางโลก

๒. ปัณณัตติวัชชะ คือ ความผิดที่เป็นโทษทางพระบัญญัติ คือ คนสามัญทำเข้าไม่เป็นความผิด ไม่เป็นความเสียหาย ผิดเฉพาะแก่ภิกษุ โดยฐานะละเมิดพระบัญญัติ เช่น ฉันอาหารในเวลาวิกาล ขุดดิน เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น