เข้าใจพระพุทธศาสนาภายใน 10 นาที
1. พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร ?
อริยสัจ 4 คือ
ทุกข์ คือความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ
สมุทัย คือเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์
นิโรธ คือความดับทุกข์
มรรค คือข้อปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์
2. พระพุทธเจ้าทรงสอน
เรื่องอะไร ?
ทุกข์กับการดับทุกข์
3. ภาพรวมของพระพุทธศาสนา .... มีดังนี้
3.1 ให้มองโลกตามความ
เป็นจริง (จริงขั้นสมมุติ=สมมุติสัจจ์,
จริงแท้=ปรมัตถสัจจ์) อาทิ
ตัวเรามีอยู่ แต่หาใช่ตัวตน
ที่แท้จริงไม่
3.2 ให้ถือทางสายกลาง
ทางตึง (ทรมานกายให้ลำบาก) ก็ดี, ทางหย่อน (ฟุ้งเฟ้อหลงใหล มัวเมา) ก็ดี, มิใช่แนวทางของพระพุทธศาสนา
แนวทางของพระพุทธศาสนา คือ มรรคมีองค์ 8 ทางสายกลางพอดี ๆ
3.3 ให้พึ่งตนเอง
มิใช่พึ่งเทวดา โชคชะตาราศี หรือ ดวงดาว ฤกษ์ยาม
3.4 ไสยศาสตร์ การบนบานศาลกล่าว อ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การดูฤกษ์ยาม การเจิม ฯลฯ มิใช่พุทธศาสนา
3.5 สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย (อิทัปปัจจยตา) มิใช่เกิดขึ้นเองลอย ๆ หรือพรหมลิขิต การจะดับทุกข์ได้ต้องดับที่เหตุ
3.6 โอวาทที่เป็นหลักเป็นประธาน (โอวาทปาฏิโมกข์) คือ ให้ละชั่ว ทำกุศลให้ถึงพร้อม และทำจิตให้บริสุทธิ์
3.7 สิ่งทั้งหลายอยู่ภายใต้กฎของไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง, ทุกขัง, อนัตตา
แม้พระนิพพาน ก็เป็นอนัตตาเช่นกัน หาใช่อัตตาตัวตนไม่
3.8 ให้เชื่อในหลักธรรม คือ ทำดี-ได้ดี, ทำชั่ว-ได้ชั่ว
ให้ทำตนอยู่เหนือดี เหนือชั่วนั่นแหละ จึงจะพบนิพพาน (คือเหนือกรรม)
3.9 จุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา คือนิพพาน (ได้แก่สภาวะจิตที่สงบเย็น ปราศจากทุกข์)
3.10 สรุปธรรมทั้งปวง รวมลงในเรื่องเดียว คือ “ความไม่ประมาท”
4. การศึกษาธรรมะ 2 สมัย
4.1 สมัยปัจจุบัน คือ รู้จัก กับ รู้จำ .... อาศัยการฟัง อ่านค้นคว้า จึงมีความรู้อยู่ในสมองและในสมุด พูดธรรมะได้คล่องแต่ปฏิบัติไม่ค่อยได้ จึงได้ผลน้อย
4.2 สมัยพุทธกาล คือ รู้แจ้ง ... โดยเมื่อฟังและจำแล้ว ก็จะลงมือปฏิบัติ ทำจริงในขณะนั้นทันที ทำให้เกิดผลเป็นความรู้แจ้งเรื่องชีวิต ดับทุกข์ในขณะนั้นทันที
5. วิธีศึกษาพระพุทธศาสนา
เมื่อแรกพุทธปรินิพานนั้น สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงสั่งให้ถือเอาเป็นศาสดาแทนพระองค์ มีเพียง 2 คือ ธรรมและวินัย
หลังจากนั้นมา 300 ปี จึงเกิดมีพระไตรปิฎกขึ้น (สุตตันตปิฎก วินัยปิฎก และอภิธรรมปิฎก) ..... บัดนี้ล่วงกาลมาถึง 2500 กว่าปี คำสอนเดิม ขั้นปรมัตถ์ค่อย ๆ หายไป หมดไป เกิดมีคำสอนใหม่ ๆ เป็นพุทธศาสนาเนื้องอกจับใส่พระโอษฐ์ ว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นอันมาก
ดังนั้นในการศึกษาพระพุทธศาสนาพึงอาศัยหลักดังนี้
– ด้านปริยัติ (ความรู้เนื้อหา)
ให้อ่าน ฟัง คิด วิจัย ให้เข้าใจคือให้ปฏิบัติได้จริง .... หากสงสัย ให้อาศัยหลักกาลามสูตรเข้าพิจารณาตัดสิน มิใช่เชื่อไปเสียหมด
– ด้านปฏิบัติ
การปฏิบัติทุกอย่างของพระพุทธศาสนาไม่ว่าการทำทาน รักษาศีล ภาวนา พระพุทธองค์ทรงสอนให้ ทำเพื่อ “ละกิเลส” มิใช่เพื่อเอา หวังได้นั่นได้นี่ อันทำให้ยิ่งเพิ่ม โลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งหาใช่พุทธศาสนาไม่
ทุกวันนี้ไหว้เพื่อเอา เพื่อขอ ทำบุญเพื่อเอาสวรรค์ นิพพาน หวังผลทั้งชาตินี้ชาติหน้า ซึ่งจะกลายเป็นพอกกิเลสยาวนาน
– ด้านปฏิเวธ (ผล)
ทำเพื่อละ จะพบนิพพาน (จิตบริสุทธิ์ มีความสะอาด สว่าง สงบ) แต่ถ้าทำเพื่อเอา จะพบกิเลสในตนพอกพูนยิ่งขึ้น ๆ ยาวนาน และยิ่งมีทุกข์มาก .... ดังนั้น จงมุ่งปฏิบัติเพื่อห่างไกลทุกข์โดยส่วนเดียว ให้ได้เห็นผลด้วยตนเอง (สันทิฏฐิโก)
6. จะศึกษาพุทธศาสนาได้
ที่ไหน ?
ให้ศึกษาในร่างกายของเราเองนี้ ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มิใช่จะต้องศึกษากับพระ และในวัดวาอารามเท่านั้น
จึงควรศึกษาตนเอง อย่ามัวแต่ศึกษานอกตัว หรือมัวติดอยู่แค่พิธีกรรม หรือได้แต่ทำตาม ๆ เขาไป จะเสียทีที่ได้มีโอกาสเกิดมาพบพระพุทธศาสนา ได้ลิ้มรสแค่เปลือกกระพี้ มิได้ชิมรสอันเป็นเนื้อใน อันได้แก่ธรรมรสของความเย็นอกเย็นใจ (นิพพาน)
7. เหตุแห่งทุกข์และ
การดับทุกข์
เหตุเกิดจากอุปทาน คือ การเข้าไปยึดถือว่า นี่คือ
ตัวตนของเรา นี่ของๆ เรา
การดับ โดยละอุปทานเสีย
(โดยพยายามปฏิบัติให้ “เห็นอนัตตา”) จะโดยบังคับจิตเป็นสมาธิ (เจโตวิมุตติ) หรือโดยพิจารณาธรรมด้วยปัญญา (ปัญญาวิมุตติ) ก็ได้
8. พุทธพจน์ “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา”
คำว่า “เห็นธรรม” คือ เห็นปฏิจจสมุปบาท คือ วงจรที่ทุกข์เกิด และดับ โดยเริ่มต้นจากอวิชชา จนเกิดทุกข์
9.จุดหมายสูงสุดของ
พระพุทธศาสนา คือ นิพพาน
(สภาวะจิตที่สงบเย็น)
ปราศจากกิเลส เครื่องร้อยรัดทั้งปวง (ชาวบ้านพูดว่า เย็นอก เย็นใจ) หาพบได้ที่ใจตัวเอง
10. สรุป ... ทุกข์เกิดขึ้นที่จิต พึงรักษาจิตให้เป็นประภัสสรไว้เสมอ ระวังการกระทบ (ผัสสะ) ทางตา หู ฯลฯ ให้ดี มีสติรู้ทันว่า…เห็นสักว่าเห็น ได้ยินสักว่าได้ยิน อย่าให้เวทนา ตัณหา เกิดได้ แล้วท่านจะพบความสงบเย็นตลอดเวลา
ความทุกข์เกิดขึ้นที่จิต เพราะเห็นผิดเมื่อผัสสะ ... ความทุกข์จะไม่โผล่ ถ้าไม่โง่เมื่อผัสสะ ... ความทุกข์เกิดไม่ได้ ถ้าเข้าใจเรื่องผัสสะ
..... (จากธรรมสมโภช 80 ปี พุทธทาสภิกขุ) .....