วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2561

หมวด ๕ ธรรมศึกษา วิชา ธรรม ระดับอุดมศึกษา (ธศ 312) ชั้นตรี

อนันตริยกรรม ๕
๑. มาตุฆาต ฆ่ามารดา.
๒. ปิตุฆาต ฆ่าบิดา.
๓. อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์.
๔. โลหิตุปบาท ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงยังพระโลหิตให้ห้อขึ้นไป.
๕. สังฆเภท ยังสงฆ์ให้แตกจากกัน.
กรรม ๕ อย่างนี้ เป็นบาปอันหนักที่สุด ห้ามสวรรค์ ห้ามนิพพาน ตั้งอยู่ในฐานปาราชิกของผู้ถือพระพุทธศาสนา ห้ามไม่ให้ทำเป็นเด็ดขาด.
องฺ. ปฺจก. ๒๒/๑๖๕.
เวสารัชชกรณธรรม คือ ธรรมทำความกล้าหาญ ๕ อย่าง
๑. สัทธา เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ.
๒. สีล รักษากายวาจาให้เรียบร้อย.
๓. พาหุสัจจะ ความเป็นผู้ศึกษามาก.
๔. วิริยารัมภะ ปรารภความเพียร.
๕. ปัญญา รอบรู้สิ่งที่ควรรู้.
องฺ. ปฺจก. ๒๒/๑๔๔.
ธัมมัสสวนานิสงส์ คือ อานิสงส์แห่งการฟังธรรม ๕ อย่าง
๑. ผู้ฟังธรรมย่อมได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง.
๒. สิ่งใดได้เคยฟังแล้ว แต่ไม่เข้าใจชัด ย่อมเข้าใจสิ่งนั้นชัด.
๓. บรรเทาความสงสัยเสียได้.
๔. ทำความเห็นให้ถูกต้องได้.
๕. จิตของผู้ฟังย่อมผ่องใส.
องฺ. ปฺจก. ๒๒/๒๗๖.
พละ คือธรรมเป็นกำลัง ๕ อย่าง
๑. สัทธา ความเชื่อ.
๒. วิริยะ ความเพียร.
๓. สติ ความระลึกได้.
๔. สมาธิ ความตั้งใจมั่น.
๕. ปัญญา ความรอบรู้.
อินทรีย์ ๕ ก็เรียก เพราะเป็นใหญ่ในกิจของตน.
องฺ. ปฺจก. ๒๒/๑๑.
ขันธ์ ๕
กายกับใจนี้ แบ่งออกเป็น ๕ กอง เรียกว่าขันธ์ ๕
๑. รูป ๒. เวทนา ๓. สัญญา ๔. สังขาร ๕. วิญญาณ.
ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ประชุมกันเป็นกายนี้ เรียกว่ารูป.
ความรู้สึกอารมณ์ว่า เป็นสุข คือ สบายกายสบายใจ หรือเป็นทุกข์ คือไม่สบายกายไม่สบายใจ หรือเฉย ๆ คือไม่ทุกข์ไม่สุข เรียกว่าเวทนา.
ความจำได้หมายรู้ คือ จำรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อารมณ์ที่เกิดกับใจได้ เรียกว่าสัญญา.
เจตสิกธรรม คือ อารมณ์ที่เกิดกับใจ (๑) เป็นส่วนดี เรียกกุศล เป็นส่วนชั่ว เรียกอกุศล เป็นส่วนกลาง ๆ ไม่ดีไม่ชั่ว เรียกอัพยากฤต เรียกว่าสังขาร.
ความรู้อารมณ์ในเวลาเมื่อรูปมากระทบตาเป็นต้น เรียกว่าวิญญาณ.
ขันธ์ ๕ นี้ ย่นเรียกว่า นาม รูป. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รวมเข้าเป็นนาม รูปคงเป็นรูป.
อภิ. วิภงฺค. ๓๕/๑.
๑. ความคิด หรือเรื่องราวที่เรียกว่าธรรมะหรือธรรมารมณ์ เรียกว่า สังขาร.

หมวด ๔ ธรรมศึกษา วิชา ธรรม ระดับอุดมศึกษา (ธศ 312) ชั้นตรี

วุฑฒิ คือธรรมเป็นเครื่องเจริญ ๔ อย่าง
๑. สัปปุริสสังเสวะ คบท่านผู้ประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ ที่เรียกว่าสัตบุรุษ.
๒. สัทธัมมัสสวนะ ฟังคำสั่งสอนของท่านโดยเคารพ.
๓. โยนิโสมนสิการ ตริตรองให้รู้จักสิ่งที่ดีหรือชั่วโดยอุบายที่ชอบ.
๔. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมซึ่งได้ตรองเห็นแล้ว.
องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๓๓๒.
จักร ๔
๑. ปฏิรูปเทสวาสะ อยู่ในประเทศอันสมควร.
๒. สัปปปุริสูปัสสยะ คบสัตบุรุษ.
๓. อัตตสัมมาปณิธิ ตั้งตนไว้ชอบ.
๔. ปุพเพกตปุญญตา ความเป็นผู้ได้ทำความดีไว้ในปางก่อน.
ธรรม ๔ อย่างนี้ ดุจล้อรถนำไปสู่ความเจริญ.
องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๔๐.
อคติ ๔
๑. ลำเอียงเพราะรักใคร่กัน เรียกฉันทาคติ.
๒. ลำเอียงเพราะไม่ชอบกัน เรียกโทสาคติ.
๓. ลำเอียงเพราะเขลา เรียกโมหาคติ.
๔. ลำเอียงเพราะกลัว เรียกภยาคติ.
อคติ ๔ ประการนี้ ไม่ควรประพฤติ.
องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๒๓.
ปธาน คือความเพียร ๔ อย่าง
๑. สังวรปธาน เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในสันดาน.
๒. ปหานปธาน เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว.
๓. ภาวนาปธาน เพียรให้กุศลเกิดขึ้นในสันดาน.
๔. อนุรักขนาปธาน เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อม.
ความเพียร ๔ อย่างนี้ เป็นความเพียรชอบ ควรประกอบให้มีในตน.
องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๒๐.
อธิษฐานธรรม คือธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔ อย่าง
๑. ปัญญา รอบรู้สิ่งที่ควรรู้.
๒. สัจจะ ความจริงใจ คือประพฤติสิ่งใดก็ให้ได้จริง.
๓. จาคะ สละสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความจริงใจ.
๔. อุปสมะ สงบใจจากสิ่งเป็นข้าศึกแก่ความสงบ.
ม. อุป. ๑๔/๔๓๗.
อิทธิบาท คือคุณเครื่องให้สำเร็จความประสงค์ ๔ อย่าง
๑. ฉันทะ พอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น.
๒. วิริยะ เพียรประกอบสิ่งนั้น.
๓. จิตตะ เอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้นไม่วางธุระ.
๔. วิมังสา หมั่นตริตรองพิจารณาเหตุผลในสิ่งนั้น.
คุณ ๔ อย่างนี้ มีบริบูรณ์แล้ว อาจชักนำบุคคลให้ถึงสิ่งที่ต้องประสงค์ซึ่งไม่เหลือวิสัย.
อภิ. วิภงฺค. ๓๕/๒๙๒.
พรหมวิหาร ๔
๑. เมตตา ความรักใคร่ ปรารถนาจะให้เป็นสุข.
๒. กรุณา ความสงสาร คิดจะช่วยให้พ้นทุกข์.
๓. มุทิตา ความพลอยยินดี เมื่อผู้อื่นได้ดี.
๔. อุเบกขา ความวางเฉย ไม่ดีใจไม่เสียใจเมื่อผู้อื่นถึงความวิบัติ.
๔ อย่างนี้ เป็นเครื่องอยู่ของท่านผู้ใหญ่.
อภิ. วิภงฺค. ๓๕/๓๖๙.
อริยสัจ ๔
๑. ทุกข์
๒. สมุทัย คือ เหตุให้ทุกข์เกิด
๓. นิโรธ คือความดับทุกข์
๔. มรรค คือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์.
ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ได้ชื่อว่าทุกข์ เพราะเป็นของทานได้ยาก.
ตัณหาคือความทะยานอยาก ได้ชื่อว่าสมุทัย เพราะเป็นเหตุให้ทุกข์เกิด.
ตัณหานั้น มีประเภทเป็น ๓ คือตัณหาความอยากในอารมณ์ที่น่ารักใคร่ เรียกว่ากามตัณหาอย่าง ๑ ตัณหาความอยากเป็นโน่นเป็นนี่ เรียกว่าภวตัณหาอย่าง ๑ ตัณหาความอยากไม่เป็นโน่นเป็นนี่ เรียกว่าวิภวตัณหาอย่าง ๑.
ความดับตัณหาได้สิ้นเชิง ทุกข์ดับไปหมด ได้ชื่อว่านิโรธ เพราะเป็นความดับทุกข์.
ปัญญาอันชอบว่าสิ่งนี้ทุกข์ สิ่งนี้เหตุให้ทุกข์เกิด สิ่งนี้ความดับทุกข์ สิ่งนี้ทางให้ถึงความดับทุกข์ ได้ชื่อว่ามรรค เพราะเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์.
มรรคนั้นมีองค์ ๘ ประการ คือ ปัญญาอันเห็นชอบ ๑ ดำริชอบ ๑ เจรจาชอบ ๑ ทำการงานชอบ ๑ เลี้ยงชีวิตชอบ ๑ ทำความเพียรชอบ ๑ ตั้งสติชอบ ๑ ตั้งใจชอบ ๑.
อภิ. วิภงฺค. ๓๕/๑๒๗.

หมวด ๓ ธรรมศึกษา วิชา ธรรม ระดับอุดมศึกษา (ธศ 312) ชั้นตรี

รตนะ ๓ อย่าง พระพุทธ ๑ พระธรรม ๑ พระสงฆ์ ๑.
๑. ท่านผู้สอนให้ประชุมชนประพฤติชอบด้วย กาย วาจา ใจ ตามพระธรรมวินัย ที่ท่านเรียกว่าพระพุทธศาสนา ชื่อพระพุทธเจ้า.
๒. พระธรรมวินัยที่เป็นคำสั่งสอนของท่าน ชื่อพระธรรม.
๓. หมู่ชนที่ฟังคำสั่งสอนของท่านแล้ว ปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย ชื่อพระสงฆ์.
ขุ. ขุ. ๒๕/๑.
โอวาทของพระพุทธเจ้า ๓ อย่าง
๑. เว้นจากทุจริต คือประพฤติชั่วด้วย กาย วาจา ใจ.
๒. ประกอบสุจริต คือประพฤติชอบด้วย กาย วาจา ใจ.
๓. ทำใจของตนให้หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองใจ มีโลภ โกรธ หลง เป็นต้น.
ที. มหา. ๑๐/๕๗.
ทุจริต ๓ อย่าง
๑. ประพฤติชั่วด้วยกาย เรียกกายทุจริต.
๒. ประพฤติชั่วด้วยวาจา เรียกวจีทุจริต.
๓. ประพฤติชั่วด้วยใจ เรียกมโนทุจริต.
กายทุจริต ๓ อย่าง
ฆ่าสัตว์ ๑
ลักฉ้อ ๑
ประพฤติผิดในกาม ๑.
วจีทุจริต ๔ อย่าง
พูดเท็จ ๑
พูดส่อเสียด ๑
พูดคำหยาบ ๑
พูดเพ้อเจ้อ ๑.
มโนทุจริต ๓ อย่าง
โลภอยากได้ของเขา ๑
พยาบาทปองร้ายเขา ๑
เห็นผิดจากคลองธรรม ๑.
ทุจริต ๓ อย่างนี้ เป็นกิจไม่ควรทำ ควรจะละเสีย.
องฺ. ทสก. ๒๔/๓๐๓.
สุจริต ๓ อย่าง
๑. ประพฤติชอบด้วยกาย เรียกกายสุจริต.
๒. ประพฤติชอบด้วยวาจา เรียกวจีสุจริต.
๓. ประพฤติชอบด้วยใจ เรียกมโนสุจริต.
กายสุจริต ๓ อย่าง
เว้นจากฆ่าสัตว์ ๑
เว้นจากลักทรัพย์ ๑
เว้นจากประพฤติผิดในกาม ๑.
วจีสุจริต ๔ อย่าง
เว้นจากพูดเท็จ ๑
เว้นจากพูดส่อเสียด ๑
เว้นจากพูดคำหยาบ ๑
เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ ๑.
มโนสุจริต ๓ อย่าง
ไม่โลภอยากได้ของเขา ๑
ไม่พยาบาทปองร้ายเขา ๑
เห็นชอบตามคลองธรรม ๑.
สุจริต ๓ อย่างนี้ เป็นกิจควรทำ ควรประพฤติ.
องฺ. ทสก. ๒๔/๓๐๓.
อกุศลมูล ๓ อย่าง
รากเง่าของอกุศล เรียกอกุศลมูล มี ๓ อย่าง คือ
โลภะ อยากได้ ๑
โทสะ คิดประทุษร้ายเขา ๑
โมหะ หลงไม่รู้จริง ๑.
เมื่ออกุศลมูลเหล่านี้ (๑) ก็ดี (๒) ก็ดี (๓) ก็ดี มีอยู่แล้ว อกุศลอื่นที่ยังไม่เกิด ก็เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วก็เจริญมากขึ้น เหตุนั้นควรละเสีย.
ที. ปาฏิ. ๑๑/๒๙๑. ขุ. อิติ. ๒๕/๒๖๔.
กุศลมูล ๓ อย่าง
รากเง่าของกุศล เรียกกุศลมูล มี ๓ อย่าง คือ
อโลภะ ไม่อยากได้ ๑
อโทสะ ไม่คิดประทุษร้ายเขา ๑
อโมหะ ไม่หลง ๑
ถ้ากุศลมูลเหล่านี้ (๑) ก็ดี (๒) ก็ดี (๓) ก็ดี มีอยู่แล้ว กุศลอื่นที่ยังไม่เกิด ก็เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วก็เจริญมากขึ้น เหตุนั้นควรให้เกิดมีในสันดาน.
ที. ปาฏิ. ๑๑/๒๙๒.
บุญกิริยาวัตถุ ๓ อย่าง
สิ่งเป็นที่ตั้งแห่งการบำเพ็ญบุญ เรียกบุญกิริยาวัตถุ โดยย่อมี ๓ อย่าง
๑. ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน.
๒. สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล.
๓. ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา.
ขุ. อิติ. ๒๕/๒๗๐. องฺ. อฏฺฐก. ๒๓/๑๔๕.