วันเสาร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

วิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท 2548

 วิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท 2548


ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ  นักธรรมชั้นโท

สอบในสนามหลวง

วันอาทิตย์ ที่  ๒๐  พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘


   ๑.  ประวัติอนุพุทธบุคคลมีความสำคัญต่อผู้ศึกษาอย่างไร ?

   ๑.  ทำให้ผู้ศึกษาได้รับความรู้ในจริยาวัตรและคุณความดีที่ท่านได้บำเพ็ญมา ตลอด

        จนถึงผลงานในการช่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนาอันทำให้เจริญสืบมาถึงทุกวันนี้

        นำให้เกิดความเลื่อมใสและความนับถือ เป็นทิฏฐานุคติอันดี สามารถน้อมนำมา

        ปฏิบัติตามได้ ฯ

   ๒.  คำที่มีอยู่ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรต่อไปนี้ ได้แก่อะไร ?

             ก. ส่วนสุด ๒ อย่าง

             ข. มัชฌิมาปฏิปทา

   ๒.        ก. ส่วนสุด ๒ อย่าง คือ

                   ๑. กามสุขัลลิกานุโยค ความหมกมุ่นอยู่ในกาม

                   ๒. อัตตกิลมถานุโยค ความทำตนให้ลำบาก

             ข. มัชฌิมาปฏิปทา ได้แก่ข้อปฏิบัติสายกลาง  คือ มรรคมีองค์ ๘ ฯ

   ๓.  ความเป็นผู้สำรวมกิริยาอาการให้เรียบร้อยดีงามสมความเป็นสมณะ เป็นการ

        เผยแผ่พระพุทธศาสนาได้ทางหนึ่ง ในข้อนี้มีปฏิปทาของพระสาวกองค์ใดเป็น

        ตัวอย่าง ?  จงเล่าประวัติโดยสังเขปมาประกอบ

   ๓.  พระอรหันตสาวกทุกรูปล้วนเป็นผู้สำรวมกิริยาอาการเรียบร้อยดีงามทั้งสิ้น แต่ที่

        ได้รับยกย่องเป็นพิเศษคือพระอัสสชิเถระ ท่านมีกิริยาอาการที่น่าเลื่อมใส เป็นเหตุ

        ให้อุปติสสะปริพาชกเห็นแล้วเกิดศรัทธา เข้าไปหา ขอฟังธรรมจนได้บรรลุ

        โสดาปัตติผล ภายหลังยังชักชวนสหายของตนเข้ามาบวชในพระธรรมวินัย ได้เป็น

        กำลังสำคัญช่วยพระศาสดาเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองกว้างขวาง

        และมั่นคงอย่างรวดเร็ว ฯ

   ๔.  พระสาวกผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มีบริวารมาก คือใคร ?  เพราะท่านมีคุณธรรม               อะไร ?

   ๔.  คือ พระอุรุเวลกัสสปะ ฯ เพราะท่านรู้จักสงเคราะห์บริวารด้วยอามิสบ้าง ด้วยธรรม

        บ้าง จึงเป็นที่รักใคร่นับถือ สามารถยึดเหนี่ยวน้ำใจบริวารไว้ได้ ฯ

   ๕.  ธรรมเสนาบดี และ นวกัมมาธิฏฐายี เป็นนามของพระสาวกองค์ใด ? เพราะเหตุไร

        จึงมีนามเช่นนั้น ?

   ๕.  ธรรมเสนาบดี เป็นนามของพระสารีบุตรเถระ เพราะท่านเป็นกำลังสำคัญยิ่งในการ

        ประกาศพระพุทธศาสนา ฯ  นวกัมมาธิฏฐายี เป็นนามของพระโมคคัลลานเถระ

        เพราะท่านเป็นผู้สามารถกำกับดูแลการก่อสร้าง ฯ

   ๖.  พระศาสดาทรงประทานพระโอวาทเป็นการให้อุปสมบทแก่พระมหากัสสปะไว้

        กี่ข้อ ?  อะไรบ้าง ?

   ๖.  ๓ ข้อ คือ

              ๑. เราจักเข้าไปตั้งความละอายและความยำเกรงอย่างแรงกล้าไว้ในภิกษุ

                 ทั้งที่เป็นเถระ ปานกลาง และผู้ใหม่

              ๒. เราจักเงี่ยหูลงฟังธรรม อันประกอบด้วยกุศล และพิจารณาเนื้อความ

                 แห่งธรรมนั้น

              ๓. เราจักไม่ละสติที่ไปในกาย ฯ

   ๗.  พระมหากัจจายนะ นิพพานก่อนหรือหลังพระพุทธเจ้า ? มีอะไรเป็นข้ออ้าง ?

   ๗.  พระมหากัจจายนะ นิพพานหลังพระพุทธเจ้า มีมธุรสูตรเป็นข้ออ้าง โดยมีใจความ

        ตอนหนึ่งในพระสูตรนั้นว่า พระเจ้ามธุรราชตรัสถามว่า เดี๋ยวนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า

        นั้นเสด็จอยู่ ณ ที่ไหน พระมหากัจจายนะทูลว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้ว ฯ

ศาสนพิธี

   ๘.  วันธรรมสวนะ คือวันอะไร ?  ทรงอนุญาตให้มีในวันใดบ้าง ?

   ๘.  คือ วันกำหนดประชุมฟังธรรม หรือที่เรียกว่า “วันพระ” ฯ  ในวัน ๘ ค่ำ และ

        วัน ๑๔ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำของปักษ์ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม ฯ

   ๙.  ผ้าป่าคือผ้าอะไร ?  คำพิจารณาผ้าป่าว่าอย่างไร ?

   ๙.  คือ ผ้าบังสุกุลจีวร ได้แก่ผ้าเปื้อนฝุ่นที่ไม่มีเจ้าของหวงแหน ทิ้งอยู่ตามป่าดงบ้าง

        ตามป่าช้าบ้าง ตามถนนหนทางและห้อยอยู่ตามกิ่งไม้บ้าง ที่สุดจนกระทั่งที่เขา

        อุทิศไว้แทบเท้า รวมเรียกว่า “ผ้าป่า” ฯ 

        คำพิจารณาผ้าป่าว่า  อิมํ  ปํสุกูลจีวรํ  อสฺสามิกํ  มยฺหํ  ปาปุณาติ   หรือว่า  

        อิมํ  วตฺถํ  อสฺสามิกํ  ปํสุกูลจีวรํ  มยฺหํ  ปาปุณาติ ฯ

๑๐.  จงให้ความหมายของคำต่อไปนี้ ?

              ก. ปาฏิปุคคลิกทาน

              ข. เภสัชทาน

              ค. สลากภัตต์

              ง. ผ้าวัสสิกสาฎก

              จ. ผ้าอัจเจกจีวร


๑๐.        ก. คือทานที่ถวายเจาะจงเฉพาะรูปนั้นรูปนี้

              ข. คือการถวายเภสัช ๕ ได้แก่ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย

              ค. คือภัตตาหารที่ทายกทายิกาถวายตามสลาก

              ง. คือผ้าที่อธิษฐานสำหรับใช้นุ่งในเวลาอาบน้ำฝน หรืออาบน้ำทั่วไป

              จ. คือผ้าจำนำพรรษาที่ทายกรีบด่วนถวายก่อนกำหนดกาล ฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น