วันเสาร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นโท 2548

 ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นโท 2548


ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม  นักธรรมชั้นโท

สอบในสนามหลวง

วันเสาร์ ที่  ๑๙  พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘


   ๑.  ตจปัญจกกัมมัฏฐานได้แก่อะไรบ้าง ?  จัดเป็นสมถะหรือวิปัสสนา ?  จงอธิบาย

   ๑.  ได้แก่ เกสา โลมา นขา ทันตา และตโจ ฯ  เป็นได้ทั้งสมถะและวิปัสสนา  ถ้าเพ่ง

        กำหนดยังจิตให้สงบด้วยภาวนา เป็นสมถะ ถ้าเพ่งพิจารณาถึงความแปรปรวน

        เปลี่ยนแปลงไป หรือให้เห็นว่าเป็นทุกข์ คือทนอยู่ได้ยากและทนอยู่ไม่ได้ ต้อง

        เสื่อมสลายไปในที่สุด หรือให้เห็นว่าเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่ใช่ตัวตน

        พิจารณาเช่นนี้เป็นวิปัสสนา ฯ

   ๒.  มหาภูตรูป คือ อะไร ?  มีความเกี่ยวเนื่องกับอุปาทายรูปอย่างไร ?

   ๒.  คือ รูปที่เป็นใหญ่เป็นประธาน อันประกอบด้วย ธาตุ ๔ ได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ลม ฯ  

        เป็นที่ตั้งอาศัยแห่งรูปย่อยซึ่งเรียกว่าอุปาทายรูป  เมื่อรูปใหญ่แตกทำลายไป

        อุปาทายรูปที่อิงอาศัยมหาภูตรูปนั้นก็แตกทำลายไปด้วย ฯ

   ๓. พระพุทธเจ้าทรงประพฤติประโยชน์โดยฐานเป็นพระพุทธเจ้าที่เรียกว่าพุทธัตถจริยา

        คือทรงประพฤติอย่างไร ?

   ๓.  ทรงทำหน้าที่ของพระพุทธเจ้า คือ ได้ทรงแสดงธรรมประกาศพระศาสนาให้

        บริษัททั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตรู้ทั่วถึงธรรมตามภูมิชั้น และทรงบัญญัติสิกขาบท

        อันเป็นอาทิพรหมจรรย์และอภิสมาจาร ฯ

    ๔.  ทิฏฐุปาทาน และสีลัพพตุปาทาน คืออะไร ?

   ๔.  ทิฏฐุปาทาน คือถือมั่นความเห็นผิดด้วยอำนาจหัวดื้อ  จนเป็นเหตุเถียงกัน

        ทะเลาะกัน  สีลัพพตุปาทาน คือ ถือมั่นธรรมเนียมที่เคยประพฤติมาจนชิน

        ด้วยอำนาจความเชื่อว่าขลัง จนเป็นเหตุหัวดื้องมงาย ฯ

   ๕.  มัจจุมารได้แก่อะไร ?  ได้ชื่อว่าเป็นมารเพราะเหตุไร ?

   ๕.  ได้แก่ความตาย ฯ  ชื่อว่าเป็นมาร เพราะเมื่อความตายเกิดขึ้น บุคคลย่อมหมด

        โอกาสที่จะทำประโยชน์ใดๆ อีกต่อไป ฯ

   ๖.  พระพุทธคุณบทว่า  “อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ  เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกได้

        ไม่มีใครยิ่งกว่า”  คำว่า  “บุรุษที่ควรฝึกได้”  นั้น หมายถึงบุคคลเช่นไร ?

   ๖.  หมายถึงบุคคลผู้มีอุปนิสัยที่อาจฝึกให้ดีได้และตั้งใจจะเข้าใจพระธรรมเทศนา

        แม้ฟังด้วยตั้งใจจะจับข้อบกพร่องขึ้นยกโทษเช่นเดียรถีย์ก็ตาม ฯ

   ๗.  กิเลสที่ได้ชื่อว่าอนุสัยและได้ชื่อว่าสังโยชน์มีอธิบายอย่างไร ?

   ๗.  กิเลสที่ได้ชื่อว่าอนุสัย เพราะเป็นกิเลสอย่างละเอียด นอนเนื่องอยู่ในสันดาน

        ของสัตว์ มักไม่ปรากฏ ต่อเมื่อมีอารมณ์มายั่วจึงปรากฏขึ้น ฯ 

        กิเลสที่ได้ชื่อว่า สังโยชน์ เพราะเป็นกิเลสที่ผูกใจสัตว์ไว้กับภพไม่ให้หลุดพ้นไปได้ ฯ

   ๘.  ในวิมุตติ ๕ วิมุตติอย่างไหนเป็นโลกิยะ อย่างไหนเป็นโลกุตระ ?

   ๘.  ตทังควิมุตติ และวิกขัมภนวิมุตติ จัดเป็นโลกิยวิมุตติ  ส่วน สมุจเฉทวิมุตติ

        ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ และนิสสรณวิมุตติ จัดเป็นโลกุตรวิมุตติ ฯ

   ๙.  พุทธภาษิตว่า ผู้ทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี ผู้ทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว แต่

        ปรากฏว่าผู้ทำกรรมชั่วยังได้รับสุขก็มี ผู้ทำกรรมดียังได้รับทุกข์ก็มี ที่เป็นเช่นนี้

        เพราะเหตุใด ?

   ๙.  เพราะกรรมบางอย่างให้ผลในภพนี้ บางอย่างให้ผลในภพหน้า หรือในภพต่อ ๆ ไป

        ผู้ทำกรรมชั่วได้รับสุข เพราะกรรมชั่วยังไม่ได้ช่องให้ผลในขณะนั้น กรรมดีที่เขา

        ทำไว้ในอดีตกำลังให้ผลอยู่ แต่กรรมชั่วนั้นยังไม่สูญหายไป ยังติดตามให้ผลอยู่

        เสมอ เป็นแต่ยังไม่ได้ช่องเท่านั้น ส่วนผู้ทำกรรมดี ที่ไม่ได้รับสุขในขณะนั้น

        เพราะกรรมชั่วที่เขาได้ทำไว้ในอดีตกำลังให้ผลอยู่ จึงต้องรับทุกข์ลำบากอยู่

        ในขณะนั้น แต่กรรมดีที่ทำไว้นั้นยังไม่สูญหายไป ยังติดตามเขาไปเหมือนเงา

        ตามตัว ฉะนั้น  เมื่อได้ช่องก็ย่อมให้ผลทันที ฯ

๑๐.  คำว่า  “วัตร”  ในธุดงควัตร หมายถึงอะไร ?  ผู้ถือธุดงค์ข้อเตจีวริกังคะอย่าง

        เคร่ง มีวิธีปฏิบัติอย่างไร ?

๑๐.  หมายถึงข้อปฏิบัติพิเศษอย่างหนึ่ง ตามแต่ใครจะสมัครถือ บัญญัติขึ้น

        ด้วยหมายจะให้เป็นอุบายขัดเกลากิเลส และเป็นไปเพื่อความมักน้อยสันโดษ ฯ 

        มีวิธีปฏิบัติอย่างนี้ ใช้เฉพาะไตรจีวรของตนเท่านั้น แม้จะซักหรือจะย้อมอันตรวาสก

        ย่อมใช้อุตตราสงค์นุ่ง และใช้สังฆาฏิห่ม ฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น