วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

พุทธานุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นเอก 2543

ปัญหาและเฉลยพุทธานุพุทธประวัติ  นักธรรมชั้นเอก

สอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๕๔๓

วันศุกร์ ที่  ๑๗  พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๓

------------------------------

๑.

๑.๑

ลักษณะทั้ง ๒ ที่พระพุทธองค์ทรงเห็นในมัชฌิมยามแห่งราตรีตรัสรู้คือ    อะไรบ้าง ?


๑.๒

พระอุทานที่พระพุทธองค์ทรงเปล่งในปัจฉิมยามมีความว่าอย่างไร ?

๑.

๑.๑

คือ

     ๑) ปัจจัตตลักษณะ ได้แก่การกำหนดโดยความเป็นกอง

     ๒) สามัญลักษณะ ได้แก่การกำหนดโดยความเป็นสภาพเสมอกัน  

         คือ ความเป็นของไม่เที่ยง


๑.๒

มีความว่า เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏชัดแก่พราหมณ์ผู้มีเพียรเพ่งอยู่ พราหมณ์นั้นย่อมกำจัดเสนามาร คือ ชรา พยาธิ มรณะเสียได้ ดุจพระอาทิตย์อุทัยขึ้นกำจัดมืด ทำอากาศให้สว่างฉะนั้น

๒.

๒.๑

ที่สุดโต่งอันบรรพชิตไม่ควรเสพนั้นคืออะไรบ้าง ?


๒.๒

ที่สุดโต่งนั้นมีโทษอย่างไร ?

๒.

๒.๑

คือ

     ๑) กามสุขัลลิกานุโยค

     ๒) อัตตกิลมถานุโยค


๒.๒

มีโทษดังนี้



     กามสุขัลลิกานุโยค คือการประกอบตนให้พัวพันด้วยสุขในกาม เป็นธรรมอันเลว  เป็นเหตุตั้งบ้านเรือน เป็นของคนมีกิเลสหนา ไม่ใช่ของคนอริยะคือ   ผู้บริสุทธิ์ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์



     อัตตกิลมถานุโยค คือการประกอบความเหน็ดเหนื่อยแก่ตนเปล่า ให้เกิดทุกข์แก่ผู้ประกอบ ไม่ทำผู้ประกอบให้เป็นอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์

๓.

๓.๑

พระอัครสาวก ๒ รูปมีชื่อเรียกอะไรบ้าง ?  เหตุไรจึงเรียกอย่างนั้น ?


๓.๒

พระอัสสชิแสดงธรรมแก่อุปติสสปริพาชกมีความว่าอย่างไร ?  และมีผล   อย่างไร?


๓.

๓.๑

มีชื่อเรียก อุปติสสะ หรือสารีบุตร ๑ เรียก โกลิตะ หรือ  โมคคัลลานะ ๑  ที่เรียกว่า อุปติสสะ เพราะเรียกตามโคตร ที่เรียกว่า สารีบุตร เพราะเป็นบุตรของ นางสารีพราหมณี  ส่วนที่เรียกว่า โกลิตะ เพราะเรียกตามโคตร ที่เรียกว่า    โมคคัลลานะ เพราะเป็นบุตรของนางโมคคัลลานีพราหมณี


๓.๒

มีความว่า ธรรมใดเกิดแต่เหตุ พระศาสดาทรงแสดงเหตุของธรรมนั้นและความดับแห่งธรรมนั้น พระศาสดาทรงสอนอย่างนี้ มีผล คือ อุปติสสปริพาชกได้ดวงตาเห็นธรรมว่า สิ่งใด  สิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา

๔.

๔.๑

พระมหากัสสปเถระประพฤติธุดงควัตรเพราะเห็นอำนาจประโยชน์   อย่างไร ?


๔.๒

เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ท่านเป็นกำลังสำคัญแก่พระพุทธศาสนา  อย่างไร ?

๔.

๔.๑

เพราะเห็นอำนาจประโยชน์ ๒ อย่างคือ

     ๑) การอยู่เป็นสุขในบัดนี้ของตน

     ๒) เพื่ออนุเคราะห์ประชุมชนในภายหลัง จะได้เป็นทิฏฐานุคติแห่ง

          คนผู้มาเกิดในภายหลัง เมื่อทราบว่า สาวกของพระพุทธเจ้าได้

               ประพฤติอย่างนี้ เขาจะได้ประพฤติตาม ซึ่งเป็นทางอำนวยสุขแก่

          เขาเอง


๔.๒

ท่านได้เป็นประธานทำสังคายนาเป็นครั้งแรก

๕.

๕.๑

คำว่า “ภทฺเทกรตฺโต”  ผู้มีราตรีเดียวอันเจริญ คือการปฏิบัติอย่างไร ?


๕.๒

พระสาวกรูปใดได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ฉลาดอธิบายความย่อให้พิสดาร ?

๕.

๕.๑

คือการปฏิบัติอย่างนี้ คือ เป็นผู้มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน อยู่ด้วยความไม่ประมาท


๕.๒

พระมหากัจจายนะ

๖.

๖.๑

ปัญหาว่า    “พระขีณาสพตายแล้วเป็นอะไร”   ใครถามใคร  ?                                      มีคำตอบอย่างไร ?


๖.๒

พระศาสดาทรงพยากรณ์ปัญหาจบลงแล้ว มีผลอะไรเกิดแก่มาณพ

๑๖ คน ?


๖.

๖.๑

พระสารีบุตรถามพระยมกะ มีคำตอบว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณที่ไม่เที่ยง ดับไปแล้ว


๖.๒

มีผลคือ มาณพ ๑๕ คน เว้นปิงคิยมาณพ ส่งใจไปตามธรรมเทศนา มีจิตพ้นจากอาสวะไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน ส่วนปิงคิยมาณพเป็นแต่ได้ญาณเห็นในธรรม

๗.

๗.๑

พระปุณณมันตานีบุตรเป็นชาวเมืองไหน ?  ตั้งอยู่ในคุณธรรมอะไรบ้าง ?


๗.๒

ใครถามว่า “ท่านประพฤติพรหมจรรย์เพื่ออะไร” ? ใครตอบ ? ตอบว่า อย่างไร  ?

๗.

๗.๑

เป็นชาวเมืองกบิลพัสดุ์ ตั้งอยู่ในคุณธรรม ๑๐ ประการ คือ มักน้อย สันโดษ ชอบสงัด ไม่ชอบเกี่ยวข้องด้วยหมู่ ปรารภความเพียร บริบูรณ์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ ความรู้เห็นในวิมุตติ


๗.๒

พระสารีบุตรเป็นผู้ถาม พระปุณณมันตานีบุตรเป็นผู้ตอบ และตอบว่า         เราประพฤติพรหมจรรย์  เพื่อความดับไม่มีเชื้อ

๘.

๘.๑

เพราะเห็นอานิสงส์อะไร พระอานนท์จึงทูลขอพรข้อที่ ๘ ?


๘.๒

พระอุบาลีออกบวชพร้อมใครบ้าง ?  ที่ไหน ?  ท่านได้รับเอตทัคคะ

ทางไหน ?

๘.

๘.๑

เพราะเห็นอานิสงส์ว่าหากมีผู้มาถามว่า ธรรมนี้พระพุทธองค์ทรงแสดงในที่ใด ?  ถ้าท่านตอบไม่ได้ เขาจะพูดได้ว่า ท่านตามเสด็จพระศาสดาตลอดกาลนาน  ไม่รู้แม้แต่เรื่องเท่านี้


๘.๒

พระอุบาลีออกบวชพร้อมกับ พระภัททิยะ พระอนุรุทธะ พระอานันทะ พระภัคคุ  พระกิมพิละ พระเทวทัต ที่อนุปิยนิคม ได้รับเอตทัคคะทางเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ทรงวินัย

๙.

  จงอธิบายข้อความต่อไปนี้



๙.๑

ทรงทำอายุสังขาราธิฏฐาน           ๙.๒  ทรงปลงอายุสังขาร

๙.

๙.๑

ทรงทำอายุสังขาราธิฏฐาน หมายถึง ทรงตั้งพระหฤทัยจักอยู่แสดงธรรม     สั่งสอนแก่มหาชน และตั้งพุทธปณิธานใคร่จะดำรงพระชนม์อยู่ จนกว่า   พุทธบริษัทจะตั้งมั่นและได้ประกาศพระศาสนาให้แพร่หลาย ประดิษฐานให้มั่นคงถาวรสำเร็จประโยชน์แก่นิกรทุกหมู่เหล่า




๙.๒

ทรงปลงอายุสังขาร หมายถึง ทรงกำหนดวันปรินิพพานนับแต่วันเพ็ญเดือน ๓ ไปอีก ๓ เดือน คือปลงพระทัยว่าจะบำเพ็ญพุทธกิจต่อไปอีกไม่ได้แล้ว

๑๐.

๑๐.๑

เมื่อรวมเจดีย์ซึ่งแสดงไว้ในบาลี อรรถกถา และฎีกา มีเท่าไร ?           อะไรบ้าง ?


๑๐.๒

อันตรธาน ๕ อย่าง อย่างไหนสำคัญกว่า ?  เพราะเหตุไร

๑๐.

๑๐.๑

มี ๔ คือ ธาตุเจดีย์ ๑ บริโภคเจดีย์ ๑  ธรรมเจดีย์ ๑  อุทเทสิกเจดีย์ ๑


๑๐.๒

ปริยัติอันตรธานสำคัญกว่า เพราะปริยัติเสื่อมลงในกาลใด พระศาสนาย่อมเสื่อมถอยในกาลนั้น เมื่อปริยัติยังดำรงอยู่ตราบใด พระศาสนาก็ยังดำรงอยู่ตราบนั้น เพราะว่าปริยัติเป็นรากแก้วของพระศาสนา ปฏิบัติเป็นแก่น ปฏิเวธ เป็นผล เมื่อรากแก้วขาดแล้ว แก่นและผลก็พลอยหมดไปตามกัน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น