หนังสือนักธรรมชั้นตรี,นักธรรมตรีpdf,นักธรรมตรี,สรุปนักธรรมตรี,ข้อสอบนักธรรมตรี,เก็งข้อสอบนักธรรมตรี
- หน้าแรก
- พุทธประวัติ
- ธรรมวิภาค
- เบญจศีล-เบญจธรรม
- แบบกระทู้ธรรมชั้นตรี
- แบบกระทู้ธรรมชั้นโท
- แบบกระทู้ธรรมชั้นเอก
- หมวด พุทธศาสนสุภาษิต
- อนุพุทธประวัติชั้นโท
- ดาวโหลดหนังสือธรรมศึกษาชั้นตรี โท เอก
- Download ข้อสอบนักธรรมและธรรมศึกษา ปี 2559-2563
- ประวัตินักธรรม-ธรรมศึกษา โดยสังเขป
- ขอบข่ายการเรียนการสอนธรรมศึกษา 2561
- ขอบข่ายธรรมศึกษา ระดับอุดมศึกษาและประชาชนทั่วไป
- ข้อสอบนักธรรมตรี-โท-เอก[ย้อนหลัง]
วันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2564
วันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564
วิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี 2543
วิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี 2543
ปัญหาและเฉลยธรรม นักธรรมชั้นตรี
สอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๕๔๓
วันพฤหัสบดี ที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๓
----------------------------------------
๑.
๑.๑
โลกเดือดร้อนวุ่นวายในปัจจุบันนี้ เพราะขาดธรรมอะไร ?
๑.๒
บุคคลมีกาย วาจา ใจ งดงามเพราะปฏิบัติธรรมอะไร ?
๑.
๑.๑
เพราะขาดธรรมคุ้มครองโลก ๒ อย่างคือ
๑) หิริ ความละอายแก่ใจ
๒) โอตตัปปะ ความเกรงกลัว
๑.๒
เพราะปฏิบัติธรรมอันทำให้งาม ๒ อย่างคือ
๑) ขันติ ความอดทน
๒) โสรัจจะ ความเสงี่ยม
๒.
๒.๑
ทุจริต คืออะไร ? มีเท่าไร ? อะไรบ้าง ?
๒.๒
คนที่รับปากรับคำเขาไว้แล้ว แต่ไม่ทำตามนั้นจัดเข้าในทุจริตข้อไหน ?
๒.
๒.๑
ทุจริต คือประพฤติชั่ว ประพฤติเสียหาย มี ๓ คือ
๑) ประพฤติชั่วด้วยกาย เรียก กายทุจริต
๒) ประพฤติชั่วด้วยวาจา เรียก วจีทุจริต
๓) ประพฤติชั่วด้วยใจ เรียก มโนทุจริต
๒.๒
จัดเข้าในวจีทุจริต
๓.
๓.๑
มูลเหตุที่ทำให้บุคคลทำความชั่วเรียกว่าอะไร ? มีอะไรบ้าง ?
๓.๒
สิ่งเป็นที่ตั้งแห่งการบำเพ็ญบุญเรียกว่าอะไร ? โดยย่อมีเท่าไร ? อะไรบ้าง ?
๓.
๓.๑
เรียกว่า อกุศลมูล หมายถึงรากเง่าของอกุศล มี ๓ คือ
๑) โลภะ อยากได้
๒) โทสะ คิดประทุษร้ายเขา
๓) โมหะ หลง ไม่รู้จริง
๓.๒
เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ โดยย่อมี ๓ คือ
๑) ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน
๒) สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล
๓) ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา
๔.
๔.๑
หลักธรรมดุจล้อรถนำไปสู่ความเจริญ มีกี่อย่าง ? อะไรบ้าง ?
๔.๒
อันตรายของภิกษุสามเณรผู้บวชใหม่ ข้อไหนเป็นอันตรายที่สุด ?
เพราะเหตุไร ?
๔.
๔.๑
มี ๔ อย่างคือ
๑) ปฏิรูปเทสวาสะ อยู่ในประเทศอันสมควร
๒) สัปปุริสูปัสสยะ คบสัตบุรุษ
๓) อัตตสัมมาปณิธิ ตั้งตนไว้ชอบ
๔) ปุพเพกตปุญญตา ความเป็นผู้ได้ทำความดีไว้ในปางก่อน
๔.๒
ข้อ ๓ คือ เพลิดเพลินในกามคุณ ทะยานอยากได้สุขยิ่ง ๆ ขึ้นไป เป็นอันตรายที่สุด เพราะอันตรายข้ออื่น ๆ ย่อมรวมลงในกามคุณทั้งสิ้น
๕.
๕.๑
อธิษฐานธรรมคือธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ มีกี่อย่าง ? อะไรบ้าง ?
๕.๒
ผู้ที่ทำงานไม่สำเร็จผลตามที่มุ่งหมายเพราะขาดคุณธรรมอะไรบ้าง ?
๕.
๕.๑
มี ๔ อย่างคือ
๑) ปัญญา รอบรู้สิ่งที่ควรรู้
๒) สัจจะ ความจริงใจ คือประพฤติสิ่งใดก็ให้ได้จริง
๓) จาคะ สละสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความจริงใจ
๔) อุปสมะ สงบใจจากสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความสงบ
๕.๒
เพราะขาดอิทธิบาท คือ คุณเครื่องให้สำเร็จความประสงค์ ๔ อย่างคือ
๑) ฉันทะ พอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น
๒) วิริยะ เพียรประกอบสิ่งนั้น
๓) จิตตะ เอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้นไม่วางธุระ
๔) วิมังสา หมั่นตริตรองพิจารณาเหตุผลในสิ่งนั้น
๖.
๖.๑
อินทรีย์ ๖ กับอารมณ์ ๖ มีความสัมพันธ์กันอย่างไร ?
๖.๒
อะไรเรียกว่า สัมผัส ?
๖.
๖.๑
มีความสัมพันธ์กันอย่างนี้
ตา เป็นใหญ่ในการเห็นอารมณ์ คือรูป
หู เป็นใหญ่ในการฟังอารมณ์ คือเสียง
จมูก เป็นใหญ่ในการสูดดมอารมณ์ คือกลิ่น
ลิ้น เป็นใหญ่ในการลิ้มอารมณ์ คือรส
กาย เป็นใหญ่ในการถูกต้องอารมณ์ คือโผฏฐัพพะ
ใจ เป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์ คือธรรม
๖.๒
การกระทบกันระหว่างอายตนะภายในมี ตา เป็นต้น กับอายตนะ ภายนอก มีรูปเป็นต้น เกิดความรู้ขึ้น เรียกว่า จักขุวิญญาณ เป็นต้น ทั้ง ๓ อย่างนี้ รวมกันในขณะเดียวกัน เรียกว่า สัมผัส
๗.
๗.๑
มละคือมลทิน หมายถึงอะไร ?
๗.๒
มลทินข้อที่ ๑ และข้อที่ ๙ คืออะไร ? แก้ด้วยธรรมอะไร ?
๗.
๗.๑
หมายถึงกิเลสเป็นเครื่องทำจิตให้เศร้าหมอง ไม่ผ่องใส
๗.๒
มลทินข้อที่ ๑ คือ โกรธ แก้ด้วยเจริญเมตตา และมลทินข้อที่ ๙ คือ เห็นผิด แก้ด้วยสัมมาทิฏฐิ
๘.
๘.๑
เหตุให้เกิดประโยชน์ในปัจจุบันเรียกว่าอะไร ? มีกี่อย่าง ? อะไรบ้าง ?
๘.๒
เมื่อปฏิบัติตามเหตุนั้นแล้วจะได้รับผลอะไร ?
๘.
๘.๑
เรียกว่าทิฏฐธัมมิกัตถะ มี ๔ อย่างคือ
๑) อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่น
๒) อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษา
๓) กัลยาณมิตตตา ความมีเพื่อนเป็นคนดี
๔) สมชีวิตา ความเลี้ยงชีวิตตามสมควร
๘.๒
จะได้รับผล คือ ทรัพย์ ยศ ไมตรี เป็นต้นในปัจจุบัน
๙.
๙.๑
ตระกูลอันมั่งคั่งจะตั้งอยู่ได้นานเพราะสถานใดบ้าง ?
๙.๒
ฆราวาสผู้ครองเรือนควรตั้งอยู่ในธรรมข้อใดบ้าง ?
๙.
๙.๑
เพราะสถาน ๔ คือ
๑) แสวงหาพัสดุที่หายแล้ว
๒) บูรณะพัสดุที่คร่ำคร่า
๓) รู้จักประมาณในการบริโภคสมบัติ
๔) ตั้งสตรีหรือบุรุษผู้มีศีลให้เป็นแม่เรือนพ่อเรือน
๙.๒
ควรตั้งอยู่ในฆราวาสธรรม ๔ คือ
๑) สัจจะ สัตย์ซื่อต่อกัน
๒) ทมะ รู้จักข่มจิตของตน
๓) ขันติ อดทน
๔) จาคะ สละให้ปันสิ่งของของตนแก่คนที่ควรให้ปัน
๑๐.
๑๐.๑
จงเขียนศีล ๕ ข้อที่ ๕ พร้อมทั้งคำแปล
๑๐.๒
สมบัติและวิบัติของอุบาสกอุบาสิกามีอะไรบ้าง ?
๑๐.
๑๐.๑
สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี แปลความว่า เว้นจากการดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
๑๐.๒
มี
๑) ประกอบด้วยศรัทธา
๒) มีศีลบริสุทธิ์
๓) ไม่ถือมงคลตื่นข่าว คือเชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล
๔) ไม่แสวงหาเขตบุญนอกพระพุทธศาสนา
๕) บำเพ็ญบุญแต่ในพระพุทธศาสนา
ตรงข้ามกับสมบัติทั้ง ๕ นี้ เป็นวิบัติของอุบาสกอุบาสิกา
วิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี 2544
วิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี 2544
ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี
สอบในสนามหลวง
วันเสาร์ ที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๔
๑.
๑.๑
ธรรมคุ้มครองโลกมีอะไรบ้าง ?
๑.๒
ธรรมข้อนี้จะคุ้มครองโลกได้อย่างไร ?
๑.
๑.๑
มี ๒ อย่างคือ
๑) หิริ ความละอายแก่ใจ
๒) โอตตัปปะ ความเกรงกลัว
๑.๒
ธรรมข้อนี้จะคุ้มครองโลกได้ เนื่องจากปัจจุบันโลกที่เกิดวิกฤตการณ์ในด้านต่าง ๆ ส่วนหนึ่งนั้นเป็นเพราะชาวโลกละทิ้งธรรม คือ หิริ และโอตตัปปะ ไม่ละอายแก่ใจ ไม่เกรงกลัวต่อผลแห่งความชั่ว ขาดเมตตากรุณา เป็นคนเห็นแก่ตัวจัด มีการเบียดเบียน กระทำทุจริต โดยวิธีการต่าง ๆ หากชาวโลกมีธรรมคู่นี้ตั้งมั่นในใจแล้ว ก็จะช่วยคุ้มครองโลกให้พ้นจากภาวะวิกฤตในปัจจุบันได้
๒.
๒.๑
พระรัตนตรัย กับไตรสรณคมน์ เป็นอย่างเดียวกัน หรือต่างกันอย่างไร ?
๒.๒
การเปล่งวาจาถึงรัตนะ ๓ เป็นที่พึ่ง จัดเป็นอย่างไหนใน ๒ อย่างนั้น ?
๒.
๒.๑
ต่างกัน พระรัตนตรัย ได้แก่หมวด ๓ แห่งรัตนะ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ส่วนไตรสรณคมน์ ได้แก่การถึง (เข้าถึง) พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ
๒.๒
จัดเป็นไตรสรณคมน์
๓.
๓.๑
ปธาน ๔ มีอะไรบ้าง ?
๓.๒
คนเสพยาเสพย์ติด เพียรพยายามจะเลิกให้ได้ ชื่อว่าตั้งอยู่ในปธานข้อไหน ?
๓.
๓.๑
มี ๑) สังวรปธาน เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในสันดาน
๒) ปหานปธาน เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว
๓) ภาวนาปธาน เพียรให้กุศลเกิดขึ้นในสันดาน
๔) อนุรักขนาปธาน เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อม
๓.๒
ตั้งอยู่ในปหานปธาน
๔.
๔.๑
อริยสัจ ๔ มีอะไรบ้าง ?
๔.๒
ปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สมหวัง จัดเป็นอริยสัจข้อไหน ?
๔.
๔.๑
มี ๑) ทุกข์
๒) สมุทัย คือ เหตุให้ทุกข์เกิด
๓) นิโรธ คือ ความดับทุกข์
๔) มรรค คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
๔.๒
จัดเป็นทุกข์
๕.
๕.๑
กรรมที่เป็นบาปหนักที่สุด มีชื่อเรียกว่าอะไร ? คืออะไรบ้าง ?
๕.๒
เพราะเหตุไรจึงเป็นกรรมที่เป็นบาปหนักที่สุด ?
๕.
๕.๑
มีชื่อเรียกว่า อนันตริยกรรม คือ
๑) มาตุฆาต ฆ่ามารดา
๒) ปิตุฆาต ฆ่าบิดา
๓) อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์
๔) โลหิตุปบาท ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงยังพระโลหิตให้ห้อขึ้นไป
๕) สังฆเภท ยังสงฆ์ให้แตกจากกัน
๕.๒
เพราะห้ามสวรรค์ ห้ามนิพพาน ตั้งอยู่ในฐานปาราชิกของผู้นับถือ
พระพุทธศาสนา ห้ามไม่ให้ทำเป็นเด็ดขาด
๖.
๖.๑
ทรัพย์ประเภทไหนเรียกว่าอริยทรัพย์ ?
๖.๒
อริยทรัพย์ดีกว่าทรัพย์ภายนอกเพราะเหตุไร ?
๖.
๖.๑
ทรัพย์ คือคุณความดีที่มีในสันดานอย่างประเสริฐ เรียกว่า อริยทรัพย์ มี ศรัทธา ศีล เป็นต้น
๖.๒
ดีกว่า เพราะอริยทรัพย์ เป็นคุณธรรม เครื่องบำรุงจิตใจให้ปลื้มให้อบอุ่น มีแล้วไม่ต้องเป็นทุกข์กังวลในการคุ้มครองป้องกันโจรภัยเป็นต้น ใครแย่งชิงไปไม่ได้ ใช้เท่าใดก็ไม่ต้องกลัวหมดสิ้น ไม่ต้องเสี่ยงภัยในการแสวงหา เป็นต้น ทั้งสามารถติดตามเป็นที่พึ่งในสัมปรายภพได้ด้วย
๗.
๗.๑
โลกธรรมมีกี่อย่าง ? อะไรบ้าง ?
๗.๒
ท่านสอนให้ปฏิบัติต่อโลกธรรมอย่างไร ?
๗.
๗.๑
มี ๘ อย่าง คือ
มีลาภ ๑ ไม่มีลาภ ๑
มียศ ๑ ไม่มียศ ๑
สรรเสริญ ๑ นินทา ๑
สุข ๑ ทุกข์ ๑
๗.๒
สอนอย่างนี้ คือในโลกธรรมทั้ง ๘ อย่างนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น
ควรพิจารณาว่า สิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา มันเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรรู้ตามที่เป็นจริง อย่าให้ครอบงำจิตได้ คืออย่ายินดีในส่วนที่ปรารถนา อย่ายินร้ายในส่วนที่ไม่ปรารถนา
๘.
๘.๑
อบายมุข ๔ มีอะไรบ้าง ?
๘.๒
การเที่ยวกลางคืนมีโทษอย่างไรบ้าง ?
๘.
๘.๑
มี ๑) ความเป็นนักเลงหญิง
๒) ความเป็นนักเลงสุรา
๓) ความเป็นนักเลงเล่นการพนัน
๔) ความคบคนชั่วเป็นมิตร
๘.๒
มีโทษ ๖ อย่างคือ
๑) ชื่อว่าไม่รักษาตัว
๒) ชื่อว่าไม่รักษาลูกเมีย
๓) ชื่อว่าไม่รักษาทรัพย์สมบัติ
๔) เป็นที่ระแวงของคนทั้งหลาย
๕) มักถูกใส่ความ
๖) ได้ความลำบากมาก
๙.
๙.๑
มิตตปฏิรูปได้แก่คนพวกไหนบ้าง ?
๙.๒
พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ปฏิบัติต่อคนพวกนี้อย่างไร ?
๙.
๙.๑
ได้แก่ ๑) คนปอกลอก
๒) คนดีแต่พูด
๓) คนหัวประจบ
๔) คนชักชวนในทางฉิบหาย
๙.๒
ทรงสอนให้หลีกเลี่ยงไม่ควรคบเป็นมิตร เหมือนคนเดินทางหลีกเลี่ยงทางที่มีภัยอันตรายเสีย ฉะนั้น
๑๐.
๑๐.๑
จงเขียนศีล ๕ ข้อที่ ๓ พร้อมทั้งคำแปล
๑๐.๒
อุบาสก อุบาสิกา ควรงดเว้นการค้าขายที่ไม่ชอบธรรมอะไรบ้าง ?
๑๐.
๑๐.๑
กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
๑๐.๒
ควรงดเว้น ๑) ค้าขายเครื่องประหาร
๒) ค้าขายมนุษย์
๓) ค้าขายสัตว์เป็นสำหรับฆ่าเพื่อเป็นอาหาร
๔) ค้าขายน้ำเมา
๕) ค้าขายยาพิษ