แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ เบญจศีล สิกขาบทที่ ๒ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ เบญจศีล สิกขาบทที่ ๒ แสดงบทความทั้งหมด

วันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2560

เบญจศีล สิกขาบทที่ ๒

อทินนาทานา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการลักทรัพย์
ศีลข้อนี้บัญญัติขึ้น เพื่อป้องกันการทำลายกรรมสิทธิ์ ในทรัพย์สมบัติของกันและกัน โดยหวังจะให้เลี้ยงชีพในทางที่ชอบ เว้นจากการเบียดเบียนกันและกัน การประพฤติผิดเช่นนี้ ได้ชื่อว่าประพฤติผิดธรรม เป็นบาป
ข้อนี้หมายถึง การเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ คือ ถือเอาด้วยอาการเป็นโจร สิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ กำหนดดังนี้
ก. สิ่งของที่มีเจ้าของ ทั้งที่เป็นวิญญาณกทรัพย์ และอวิญญาณกทรัพย์ อันเจ้าของไม่ได้ยกให้เป็นสิทธิ์ขาด
ข. สิ่งของที่ไม่ใช่ของใคร แต่มีผู้รักษาหวงแหน ได้แก่ สิ่งของที่เขาอุทิศบูชาปูชนียวัตถุในศาสนานั้นๆ
ค. สิ่งของที่เป็นของในหมู่อันไม่พึงแบ่งกัน ได้แก่ ของสงฆ์ และของมหาชนในสโมสรสถานนั้นๆ เมื่อเพ่งถึงความประพฤติชอบธรรม ในทรัพย์สมบัติของผู้อื่นเป็นสำคัญ พึงทราบในสิกขาบทนี้ ท่านห้าม ๓ ประการ คือ
๑. โจรกรรม ประพฤติเป็นโจร
๒. ความเลี้ยงชีพอนุโลมโจรกรรม
๓. กิริยาเป็นฉายาโจรกรรม
การกระทำในข้อ ๑ ศีลขาด ในข้อ ๒ และข้อ ๓ พึงตัดสินด้วยเจตนา ถ้ามุ่งทำลายกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ของผู้อื่น ศีลขาด ถ้าไม่เจตนา ศีลด่างพร้อย
โจรกรรม
การถือเอาสิ่งของที่ไม่มีผู้ให้ด้วยการกระทำอย่างโจรทุกอย่าง จัดเป็นโจรกรรม ในทางศีลธรรม ท่านรวมไว้ ๑๔ วิธีด้วยกัน ดังนี้
๑. ลัก ได้แก่ การขโมยทรัพย์ของคนอื่นที่เจ้าของเขาไม่เห็น มีชื่อเรียกต่างกัน ดังนี้
ก. ขโมย ในเวลาเงียบเห็นเขาตากผ้าไว้ ไม่ให้เจ้าของรู้ หยิบเอาของเขาไป
ข. ย่องเบา เวลาสงัดคน แอบเข้าไปในบ้าน หยิบฉวยเอาของต่างๆ ไป
ค. ตัดช่อง งัดหรือเจาะประตูหน้าต่างที่ปิดช่องอยู่ แล้วหยิบเอาของเขาไป
๒. ฉก ได้แก่ การถือเอาของในเวลาเจ้าของเผลอ มีชื่อเรียกต่างกันตามอาการ ดังนี้
ก. วิ่งราว คนถือเอาของมากำลังเผลอ เข้าแย่งแล้ววิ่งหนีไป
ข. ตีชิง ตีเจ้าของทรัพย์ให้เจ็บตัว แล้วถือเอาของไป
๓. กรรโชก แสดงอำนาจ หรือใช้อาวุธให้เขากลัวแล้วให้ของ เรียกว่า ขู่ หรือจี้
๔. ปล้น ได้แก่ รวมพวกกันหลายคน มีศาสตราวุธเก็บเอาของผู้อื่นด้วยอำนาจ
๕. ตู่ คือ อ้างกรรมสิทธิ์ ยืนยันเอาของคนอื่นมาเป็นของตน
๖. ฉ้อ ได้แก่ กิริยาที่ถือเอาทรัพย์ของผู้อื่น เช่น รับของแล้วโกงเสีย อ้างว่าเป็นของของตน
๗. หลอก ได้แก่ กิริยาที่พูดปด เพื่อถือเอาของของผู้อื่น
๘. ลวง ได้แก่ กิริยาที่ถือเอาของผู้อื่น ด้วยแสดงของอย่างใดอย่างหนึ่งให้เข้าใจผิด เช่น ใช้เครื่องชั่งเครื่องตวงโกง
๙. ปลอม ได้แก่ กิริยาที่ทำของปลอมให้คนอื่นเห็นว่าเป็นของแท้ แล้วแลกเปลี่ยนเอาทรัพย์ไป
๑๐. ตระบัด ได้แก่ กิริยาที่ยืมของคนอื่นไปใช้แล้วเอาเสีย เช่น ยืมของแล้วไม่ส่งคืน กู้เงินเขาแล้วเบี้ยวไม่ส่งดอก
๑๑. เบียดบัง ได้แก่ กิริยาที่ถือเอาเศษ เช่น ท่านใช้ให้ไปเก็บเงินค่าเช่าบ้าน เป็นต้น ได้มากแต่ให้ท่านน้อย
๑๒. ลักลอบ ได้แก่ กิริยาที่ลักลอบเอาของที่ต้องห้ามหลบหนีภาษี เช่น สินค้าเถื่อน เป็นต้น
๑๓. สับเปลี่ยน ได้แก่ กิริยาที่ถือเอาสิ่งของของตน ที่เลวเข้าไว้แทน แล้วเอาสิ่งของที่ดีของผู้อื่น
๑๔. ยักยอก ได้แก่ กิริยาที่ยักยอกทรัพย์ของตนที่จะต้องถูกยึดเอาไว้เสียที่อื่น
โจรกรรมมีลักษณะต่างประเภทที่กล่าวมานี้ บุคคลทำเองก็ดี เป็นแต่รวมพวกไปกับเขาก็ดี เหล่านี้ชื่อว่า ประพฤติผิดเป็นโจรกรรมทั้งสิ้น เมื่อกล่าวโดยความเป็นกรรม มีโทษหนักเป็นชั้นกัน โดย วัตถุ เจตนา ประโยค
ก. โดยวัตถุ ถ้าของที่ทำการโจรกรรมมีค่ามาก ทำความฉิบหายให้แก่เจ้าของทรัพย์มาก ก็มีโทษมาก
ข. โดยเจตนา ถ้าถือเอาโดยโลภ มีเจตนากล้า ก็มีโทษมาก
ค. โดยประโยค ถ้าถือเอาโดยการฆ่า หรือทำร้ายเจ้าทรัพย์ หรือประทุษร้ายเคหสถาน และพัสดุของเขา ก็มีโทษมาก
ความเลี้ยงชีพอนุโลมโจรกรรม
ข้อนี้ ได้แก่ การแสวงหาทรัพย์พัสดุในทางไม่บริสุทธิ์ แต่ไม่นับเข้าในอาการเป็นโจร มีประเภท ดังนี้
ก. สมโจร ได้แก่ การกระทำอุดหนุนโจรกรรมโดยนับ เช่น รับซื้อของโจร ข้อนี้เป็นปัจจัยแห่งโจรกรรม
ข. ปอกลอก ได้แก่ การคบคนด้วยอาการไม่ซื่อสัตย์ ด้วยหวังทรัพย์ของเขาฝ่ายเดียว เมื่อเขาสิ้นเนื้อ ประดาตัวก็ทิ้งขว้าง ข้อนี้เป็นปัจจัยให้คนตกยาก
ค. รับสินบน ได้แก่ การถือเอาทรัพย์พัสดุที่เขาให้เพื่อช่วยทำธุระให้เขาในทางที่ผิด เช่น ข้าราชการรับสินบนจากประชาชน ข้อนี้เป็นปัจจัยให้บุคคลประพฤติผิดทางธรรม
กิริยาเป็นฉายาโจรกรรม
ข้อนี้ ได้แก่ การทำพัสดุของผู้อื่นให้สูญเสีย และเป็นสินใช้ตกอยู่แก่ตน มีประเภท ดังนี้
ก. ผลาญ ได้แก่ กิริยาที่ทำความเสียหายแก่ทรัพย์พัสดุของคนอื่น เช่น เผาบ้าน ฟันโค ฟันกระบือ เป็นต้น
ข. หยิบฉวย ได้แก่ การถือเอาทรัพย์พัสดุของผู้อื่นด้วยความมักง่าย ไม่บอกเจ้าของ คิดเอาเองว่า เจ้าของไม่ว่าอะไร
หลักวินิจฉัยอทินนาทาน
๑. ปรปริคคหิตัง ของนั้นมีเจ้าของหวงแหน
๒. ปรปริคคหิตสัญญิตา ตนก็รู้ว่าของนั้นมีเจ้าของหวงแหน
๓. เถยยจิตตัง จิตคิดจะลัก
๔. อุปักกโม พยายามจะลัก
๕. เตน หรณัง นำของนั้นมาด้วยความพยายามนั้น
ศีลข้อนี้จะขาด ต่อเมื่อกระทำครบองค์ทั้ง ๕ ข้างต้นนี้
ศัพท์ที่ควรรู้
สวิญญาณกทรัพย์ ได้แก่ ทรัพย์พัสดุที่มีวิญญาณครอง ได้แก่ สัตว์ต่างๆ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย เป็นต้น
อวิญญาณกทรัพย์ ได้แก่ ทรัพย์พัสดุที่ไม่มีวิญญาณครอง เช่น บ้าน เรือน เงิน ทอง เป็นต้น
สังหาริมทรัพย์ ได้แก่ ทรัพย์พัสดุที่เคลื่อนที่ได้ เช่น สัตว์เลี้ยง เตียง ตั่ง ถ้วย ชาม รถยนต์ เป็นต้น บางอย่างก็มีชีวิต บางอย่างก็ไม่มีชีวิต

อสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ไม่ได้ ได้แก่ ที่ดิน และทรัพย์ซึ่งติดอยู่กับที่ดิน เช่น ตึก บ้าน โรงรถ เป็นต้น