แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ เบญจศีล สิกขาบทที่ ๕ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ เบญจศีล สิกขาบทที่ ๕ แสดงบทความทั้งหมด

วันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2560

เบญจศีล สิกขาบทที่ ๕

สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี
เว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
ศีลข้อนี้บัญญัติขึ้น เพื่อให้คนรู้จักรักษาสติของตนให้บริบูรณ์ เพราะสุราเป็นของที่ทำให้ผู้ดื่มมึนเมา เมื่อมึนเมาแล้วย่อมทำให้เสียสติ เป็นที่ตั้งของความประมาท จะทำอะไรก็ผิดพลาด ทั้งเป็นเหตุทอนคุณความดีที่มีอยู่ให้น้อยลง
เมื่อเสพเข้าไปแล้วทำให้สติเลื่อนลอย ขาดการควบคุมตัวเอง ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ พูดในสิ่งที่ไม่เคยพูด เป็นเหตุให้ล่วงสิกขาบทอีก ๔ ข้อข้างต้นได้ ศีลข้อ ๕ นี้ นับว่ามีความสำคัญที่สุดในเบญจศีล
น้ำเมา มี ๒ ชนิด คือ
๑.   สุรา น้ำเมาที่กลั่นแล้ว ภาษาไทยเรียกว่า เหล้า
๒. เมรัย น้ำเมาที่ไม่ได้กลั่น เป็นของหมักดอง เช่น เหล้าดิบ น้ำตาลเมา กระแช่ ของมึนเมาเสพติดต่างๆ เช่น ฝิ่น กัญชา ก็รวมเข้าในศีลข้อนี้ด้วย
ในปัจจุบันมีสิ่งเสพติดให้โทษร้ายแรงระบาดอยู่ในหมู่ของประชาชน เท่าที่ราชการพบแล้ว คือ
๑. สุรา น้ำเมาที่กลั่นแล้ว
๒. เมรัย น้ำเมาที่ยังไม่ได้กลั่น
๓. ฝิ่น เป็นยางไม้ชนิดหนึ่ง (ต้นฝิ่น)
๔. กัญชา เป็นต้นไม้ชนิดหนึ่ง (ต้นกัญชา)
๕. มอร์ฟีน เป็นผลิตภัณฑ์ทำจากฝิ่น
๖. โคเคน เป็นผลิตภัณฑ์จากมอร์ฟีน
๘. แลคเกอร์ ทินเนอร์ ทำมาจากสารเคมี
สุรา เมรัย เสพทางการดื่ม ฝิ่น กัญชา เป็นต้น เสพโดยวิธีสูบบ้าง ฉีดเข้าไปในร่างกายบ้าง
โทษแห่งการดื่มน้ำเมา
ในพระบาลีท่านแสดงโทษของการดื่มน้ำเมาไว้ ๖ อย่าง คือ
๑. เป็นเหตุให้เสียทรัพย์
๒. เป็นเหตุก่อวิวาท
๓. เป็นเหตุให้เกิดโรค
๔. เป็นเหตุให้เสียชื่อเสียง
๕. เป็นเหตุประพฤติมารยาที่น่าอดสู
๖. ทอนกำลังปัญญา
โทษของการเสพฝิ่น
การเสพฝิ่นนั้นมีโทษมาก เมื่อกล่าวแล้วแบ่งออกเป็น ๔ สถาน คือ
๑. เป็นเหตุให้เสียความสำราญของร่างกาย
๒. เป็นเหตุก่อวิวาท ให้เสียทรัพย์
๓. เป็นเหตุเสียความดี
๔. เป็นเหตุเสียชื่อเสียง
โทษเหล่านี้ ยิ่งหย่อนตามพื้นเพของเสพ
โทษของการเสพกัญชา
กัญชาเป็นสิ่งเสพติดให้โทษเหมือนกัน เพราะฤทธิ์กัญชานั้น ย่อมทำมัตถุลังค์ (มันในสมอง) และเส้นประสาทให้เสียไป ตาลาย เห็นอะไรผิดไปจากความจริง เช่น เห็นเชือกเป็นงู หูเชือน ฟังอะไรเขวไปจากความจริง เช่น ได้ยินเสียงกลองเป็นเสียงปืน หรือ เสียงฟ้าร้อง นึกจะทำอะไรก็ยั้งไม่ได้ ความคิดฟั่นเฟือน มักทำให้หวาดกลัวไปต่าง ๆ เหมือนคนบ้า ไม่ควรเสพ
หลักวินิจฉัยสุราปานะ
สุราปานะ (การดื่มสุรา) มีองค์ ๔ คือ
๑. มทนียัง น้ำเมา
๒. ปาตุกัมมยตาจิตตัง จิตคิดจะดื่มน้ำเมา
๓. ตัชโชวายาโม พยายามดื่มน้ำเมา
๔. ปีตัปปเวสนัง น้ำเมานั้นล่วงลำคอลงไป
ศีลขาด คือ ศีลของผู้ที่สมาทานศีลแล้ว แต่ไม่รักษาศีลนั้นให้ดี ล่วงละเมิดเป็นประจำ ทำให้ขาดต้นขาดปลายหาที่บริสุทธิ์จริงได้ยาก เหมือนผ้าที่ขาดชายรอบทั้งผืน หรือขาดกลางผืนเลย
ศีลทะลุ คือ ศีลของผู้ที่ชอบละเมิดสิกขาบททีเดียว ๒ หรือ ๓ ข้อ เหมือนแม่โคด่าง ที่กะดำกระด่างลายไปทั้งตัว ดำบ้าง ขาวบ้าง
ศีลพร้อย คือ ศีลของผู้ชอบล่วงละเมิดศีลคราวละสิกขาบท หรือล่วงศีลคราวละองค์สององค์ คือ มีศีลบริสุทธิ์บ้างไม่บริสุทธิ์บ้างสลับกันไป
ศีลห้าประการนี้ เป็นวินัยในพระพุทธศาสนา ด้วยประการฉะนี้
ศัพท์ที่ควรรู้
อุโบสถ
คำว่า อุโบสถ แปลว่า ดิถีวิเศษที่เข้าอยู่ ดิถีวิเศษเป็นที่เว้น มี ๓ อย่าง คือ
๑. นิคคัณฐอุโบสถ เป็นอุโบสถของนักบวชนอกพระพุทธศาสนา คือ ตั้งเจตนางดเว้นเป็นบางอย่าง เช่น เว้นการฆ่าสัตว์ในทิศเหนือ แต่ฆ่าสัตว์ทิศอื่น เป็นการรักษาตามใจชอบของตน
๒. โคปาลอุโบสถ เป็นอุโบสถในพระพุทธศาสนา เป็นอุโบสถที่อุบาสก อุบาสิกา สมาทานรักษาไว้ มีอาการเหมือนคนรับจ้างเลี้ยงโค คือ เวลาสมาทานแล้ว กลับไปพูดดิรัจฉานกถาต่างๆ เช่น พูดเรื่องการทำมาหากิน เรื่องทะเลาะกันภายในครอบครัว เป็นต้น
๓. อริยอุโบสถ เป็นอุโบสถในพระพุทธศาสนา เป็นอุโบสถที่เหมาะสม และประเสริฐสำหรับอุบาสก อุบาสิกา เมื่อสมาทานแล้ว ก็ตั้งใจรักษาศีลของตนให้มั่นคง ใจไม่ข้องแวะกับฆราวาสวิสัย

สนทนาแต่ในเรื่องของธรรมวินัย ในเรื่องการบำเพ็ญบุญอย่างเดียว อริยอุโบสถนี้ จึงเป็นอุโบสถที่นับว่าประเสริฐที่สุด