ประโยชน์ของการศึกษาธรรม

ประโยชน์ของการศึกษาธรรม

๑. ได้เรียนรู้ภาษาธรรม
ภาษาธรรมหรือภาษาธรรมะนั้น เป็นภาษาที่เข้าใจยากสำหรับบุคคลทั่วไปที่มิได้เคยเรียนภาษาบาลี เช่นคำว่า สติ สัมปชัญญะ กตัญญูกตเวที เป็นต้น เมื่อมีโอกาสได้ศึกษาธรรม ก็ทำให้เข้าใจความหมายของศัพท์ภาษาธรรมดังกล่าว และศัพท์อื่นๆ มากยิ่งขึ้น

๒. ได้เรียนรู้ภาษาไทย
ประชาชนชาวไทยที่ไปตั้งรกรากอยู่ต่างแดนเป็นเวลานานอาจลืมภาษาไทยไปบ้างแล้ว หรือบางคนอาจได้รับการศึกษาเล่าเรียนมีวิทยฐานะไม่สูงนัก หรือบางคนอาจไปเจริญเติมในต่างแดนจึงไม่มีโอกาสเรียนภาษาไทย แต่เมื่อทางวัดได้เปิดสอนพระปริยัติธรรมก็ได้มีโอกาสเรียนทั้งภาษาธรรมและภาษาไทยไปด้วย และได้ฝึกหัดทั้งการพูดและการเขียนภาษาไทยได้ถูกต้องและคล่องแคล่วมากยิ่งขึ้น ซึ่งรวมไปถึงการได้เรียนรู้วัฒนธรรมไทยไปพร้อมๆ กันด้วย

๓. ได้เรียนรู้ภาษาใจ
ภาษาใจหรือจิตใจเป็นเรื่องนามธรรม ผู้ที่ไม่ได้เรียนธรรมย่อมไม่อาจเข้าใจถึงนามธรรมและนามรูปได้ โดยทั่วไปก็มักจะเข้าใจว่า กายกับใจก็คือสิ่งเดียวกัน เมื่อได้เรียนธรรมะแล้วจึงสามารถแยกธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ออกจากกันได้ อาจรู้ได้ว่า กายคือรูปธรรม ส่วนจิตหรือจิตใจคือนามธรรม แต่ทั้งส่วนส่วนนี้จะต้องอาศัยกันและกันหรือทำหน้าที่ร่วมกันอยู่ แต่จิตใจนั่นมักจะมีอิทธิพลเหนือร่างกายเสมอเพราะใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ทุกสิ่งสิ่งอย่างจะดำเนินไปอย่างไรนั้น จะเป็นทางบวกหรือทางลบก็ตาม ก็ล้วนแต่มีใจหรือจิตใจเป็นแกนนำ พระพุทธองค์จึงทรงเน้นย้ำเรื่องการฝึกฝนอบรมจิตใจอยู่เสมอ

๔. ได้รู้ภาษาสัจธรรม
คำว่า “สัจจธรรม” คือความจริงที่มีอยู่ประจำโลก ได้แก่ไตรลักษณ์ หรือสามัญลักษณะ ๓ ประการ ซึ่งซึมซับอยู่ในสรรพสิ่งทั้งสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตก็จะตกอยู่ในอำนาจแห่งสัจธรรม ๓ ประการ คือ
๑.      อนิจจัง คือความไม่เที่ยงแท้แน่นอนเปลี่ยนแปลงแปรผัน
๒.     ทุกขัง คือสภาวะที่เป็นทุกข์หรือการที่สิ่งนั้นๆ ไม่อาจคงอยู่ในสภาพเดิมได้จึงเป็นทุกข์หรือมีความทุกข์หรือมีความทุกข์อยู่ในตัวของมันเอง
๓.     อนัตตา คือสภาวะที่ไม่มีตน หรือสภาวะที่ใครๆ ไม่อาจจะบังคับได้หรือไม่อยู่ในอำนาจของใคร เช่น ไม่อาจบังคับให้ร่างกายไม่ให้เจ็บปวด เหี่ยวย่นหรือคร่ำคร่าชราภาพได้ เป็นต้น ทุกสิ่งทุกอย่างปรากฏขึ้นมาอย่างนั้น แล้วเขาก็เปลี่ยนแปรไปอย่างนั้น และแล้วก็มีดับสลายไปในที่สุด

ทั้งหมดนี้ คือการประมวลประโยชน์จากสิ่งที่ประชาชนเหล่านั้นได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม ทำให้เขาเหล่านั้นรู้จักยับยั้งชั่งใจและปล่อยปละละวางพอสมควร นับเป็นบุญมหาศาลที่ประชาชนเหล่านั้น ได้เกิดมาเป็นคนไทยและมีพระพุทธศาสนาเป็นที่พึ่งทางใจ แม้ผู้ที่หันมาสนใจในพระพุทธศาสนาก็มีความภูมิใจมิใช่น้อยที่ได้เรียนและเข้าใจในสัจธรรมของชีวิต


เครดิตหนังสือ ประวัตินักธรรม สำนักแม่กองธรรมสนามหลวง /พ.ศ.๒๕๕๖ น.๗๖-๗๗

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น