แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ กฎหมายคณะสงฆ์ใหม่ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ กฎหมายคณะสงฆ์ใหม่ แสดงบทความทั้งหมด

วันพุธที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2564

ข้อพิจารณา(ร่าง)กฎหมายคณะสงฆ์ใหม่



 ข้อพิจารณา(ร่าง)กฎหมายคณะสงฆ์ใหม่

...วันนี้นำเสนอประเด็นร้อนละอุทะลุองศา กระแสว่าจะมีการแก้กฎหมายพ.ร.บ คณะสงฆ์ 2505 แบบสุดโต่ง และไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา 

...เริ่มตั้งแต่ การกำหนดว่า จะไม่ให้พระรับเงินหรือปัจจัย ไม่ให้พระมีบัญชีธนาคาร จนถึงกับว่า บวชแล้วห้ามสึก หรือรับมรดก เอาแค่สามประเด็นนี้ก็จะเห็นว่ามีปัญหาเกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนาของไทยอย่างแน่นอน

...เริ่มจากประเด็นแรกคือ ห้ามพระรับเงิน หรือรับแล้วเงินนั้นก็จะต้องตกเป็นของวัด รวมไปถึงเงินทุกประเภท เงินสวด เงินบริจาค หรือทุกประเภทที่เรียกว่าเงิน ห้ามทั้งหมด  เราจึงต้องมาตั้งคำถามว่า " กฎหมายมาตรานี้ เอาเกณฑ์อะไรมาใช้ในการบัญญัติกฎหมาย หากเอาเกณฑ์พระธรรมวินัยมาพิจารณา "การที่พระภิกษุรับเงินทองถือว่าเป็นอาบัตินิสัคคียปาจิตตีย์ ระบุชัดเจน (ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น)" แต่ปัญหามันไม่ได้มีอยู่แค่ประเด็นด้านพระวินัยเพียงอย่างเดียว แต่มันขึ้นอยู่กับความมั่นคงของสถาบันพระพุทธศาสนาด้วย ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าสำคัญเท่าๆ​กับประเด็นแรก ถ้าพระไม่รับเงินแล้วมันจะมีวิธีปฏิบัติอย่างอื่นใดที่จะทำให้พระเณรของเรา สามารถดำรงอยู่ได้ในโลกปัจจุบัน  

...หากญาติโยมไม่ถวายเงินพระอันนี้จะทำให้พระพุทธศาสนารุ่งเรืองขึ้นจริงหรือ?  บรรดาวัดวาอารามต่างๆจะสามารถดำรงความเป็นวัดอยู่ได้อย่างไร? เป็นคำถามที่น่าคิดนะ  เพราะทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ารถ ค่าใช้จ่ายในการศึกษา ซึ่งหากนำมาใช้กับพระ(บางรูป)ที่ท่านมีเหลือเฟือ จะไปไหนมีรถประจำตำแหน่งมีคนถวายค่าน้ำมัน จะไปฉันที่ไหนก็มีคนถวายภัตตาหาร แค่จะเดินก็มีคนปูพรมให้ กฎหมายนี้ก็น่าจะเป็นคุณตรงที่จะทำให้ท่านเหล่านั้นกลับมาเป็นพระธรรมดาเท่าๆ กับพระรูปอื่นๆ 

...แต่ในทางปรัชญาเวลามองเราไม่มองแค่แง่มุมเดียว  จะต้องพิจารณาถึงผลกระทบต่อสถาบันพระพุทธศาสนาซึ่งสำคัญที่สุดด้วย  ถ้าใช้กับพระทั้งประเทศซึ่งพระสงฆ์สามเณรส่วนใหญ่ ท่านก็ไม่ได้มีทรัพย์สมบัติอะไรเราควรจะใช้กับท่านหรือไม่?  มีเงินที่ญาติโยมถวายเป็นปัจจัยสวดศพ สวดบังสกุล หรือใส่ซองทำบุญให้ไม่กี่ร้อยบาท ท่านก็นำมาใช้เป็นค่ารถไปเรียน ค่าหนังสือ ค่าของใช้ฉุกเฉินที่จำเป็น และบางครั้งก็ใช้ดูแลญาติพี่น้องที่ลำบากมาขอท่านบ้าง บางทีทั้งเดือนมีปัจจัยที่โยมถวายให้ไม่ถึงพันบาท กฎหมายนี้ไม่สมเหตุสมผล และไม่เป็นผลดีต่อพระพุทธศาสนาใน เรื่องนี้อาตมาแสดงความคิดเห็นในฐานะพระธรรมดารูปหนึ่ง

...ประเด็นที่สองยิ่งหนักเข้าไปอีก คือ บวชแล้วห้ามสึก  หากกฎหมายนี้บังคับใช้ โครงการบวชเณรภาคฤดูร้อน โครงการบวชอื่นๆ บวชตามประเพณี จะหมดสิ้นไปจากประเทศไทย  การผลิตศาสนทายาทสืบทอดพระพุทธศาสนาจะลดจำนวนลงอย่างมากเป็นประวัติการณ์  ภายใน ๕ ปี จำนวนพระสงฆ์จะลดลงอย่างรวดเร็ว และในที่สุดเมื่อจำนวนพระสงฆ์น้อยลงถึงภาวะวิกฤต วัดจะร้างมากขึ้นในทุกพื้นที่จนไม่มีกำลังเพียงพอที่จะชักนำศรัทธาของประชาชนให้หันมาประพฤติปฏิบัติธรรมเหมือนในอดีต  ลองไปถามดูแถว ๆ มุกดาหาร นครพนมบ้านอาตมา ตอนนี้แต่ละวัดก็เหลือเพียงพระชราภาพเพียงรูป หรือสองรูปรักษาวัดเอาไว้เท่านั้น

...และที่หายนะยิ่งกว่า คือการนำมาใช้กับกฎหมายควบคุมทรัพย์สิน ห้ามรับมรดก ห้ามรับเงิน จะยิ่งตีกรอบเข้มงวดมากยิ่งขึ้นจนพระดำรงอยู่ในปัจจุบันไม่มีความสามารถในการรักษาวัด รักษาศรัทธาเอาไว้ได้  ที่สำคัญรัฐบาลจะทำอย่างไร จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้วัดทุกวัด พระทุกรูป เณรทุกรูปกระนั้นหรืออาตมาคิดว่าไม่มีทางเป็นไปได้  เพราะรัฐบาลเอาแค่ดูแลประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รับมือกับเศรษฐกิจ เท่านั้นก็แย่อยู่แล้ว แล้วจะเอาความสามารถที่ไหนมาดูแลพระเณร เช่น ค่าศึกษาเล่าเรียน ค่ารถ ค่าภัตตาหาร ค่าอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากหน้าที่ที่รัฐจะต้องจัดหามาให้อีก  

...ดังนั้นการที่พระรับเงิน จากการไปสวด มนต์ ไปฉันเพล ตามที่ญาติโยมเขานิมนต์มานั้น จึงเท่ากับการแบ่งเบาภาระที่รัฐบาลจะต้องจ่าย ซึ่งเป็นผลดีกับรัฐบาลเสียอีก ..หรือจะบอกให้เข้าใจว่า "ที่วัดทุกวัดอยู่ได้ตั้งแต่อดีตจนถึงทุกวันนี้ ไม่ใช่เพราะเงินจากรัฐบาลหามาให้นะครับ แต่เป็นเงินที่ญาติโยมนำมาถวายพระนั่นเอง"

...ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าอาตมาเห็นด้วยกับการที่พระมีเงิน จับเงิน ได้รับเงิน ฯลฯ แต่เป็นเพียงการแสดงทรรศนะว่าหากเราจะพิจารณาออกกฎหมายใด ให้ดูให้รอบด้าน การยึดแนวทางเดียวอย่างสุดโต่งโดยไม่มองความจำเป็นเงื่อนไขอื่น ๆ เลย อาจเป็นเรื่องโง่เขลาโดยไม่รู้ตัว จริงอยู่พระไม่ควรจับเงิน ยินดีในเงินทอง ตามพระวินัยและต้องกระทำอย่างเคร่งครัดบิดเบือนมิได้ แต่เป้าประสงค์ตรงนี้เพื่อให้พระที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อบรรลุพระนิพพานได้ถือปฏิบัติเพื่อนำพาตนเองไปสู่การหลุดพ้น  ดังนั้นการนำพระวินัยข้อนี้มาใช้จึงต้องกระทำอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงผู้ปฏิบัติตามเป็นสำคัญว่า  พระ-เณร รูปนั้นบวชเข้ามาเพื่อกิจอันใด เพื่อมรรคผลนิพพาน หรือเพื่อการศึกษาเล่าเรียน ซึ่งอาตมาเห็นว่า มีสองฝ่าย ฝ่ายที่มุ่งพระนิพพานโดยตรง ท่านคงไม่มีปัญหาว่า ทำได้หรือไม่ได้ เพราะทรงห้ามเอาไว้อยู่แล้ว  แต่ถ้าเป็นสามเณร พระภิกษุที่บวชเรียน และพระที่ทำงานในมหาวิทยาลัยทางพระพุทธศาสนา ในโลกยุคใหม่ ท่านเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้มุ่งไปเพื่อพระนิพพาน แต่เพื่อชีวิตที่ดี อาจไม่ได้หมายถึงเงินทอง แต่หมายถึง คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตรงนี้เราจะตอบอย่างไร 

...หากเราบอกว่าไม่ได้ พระเหล่านี้ก็จะหายไปจากองค์กรสงฆ์ แล้วจะเหลือพระที่มุ่งพระนิพพานกี่รูป วัดก็จะร้างกันทั้งประเทศ และศาสนาอื่น ๆ ก็จะเข้ามาแทนที่ในที่สุด แล้วอย่างนี้เรายังจะยืนกระต่ายขาเดียวได้อย่างไร  ( อ. อาทิจฺจพโลภิกฺขุ)

ที่มา https://www.facebook.com/photo/?fbid=1821284901371390&set=a.117991185034112