วันพุธที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ธรรมศึกษา เรียนแล้วได้อะไร

ธรรมศึกษา เรียนแล้วได้อะไร
หลวงพ่อครับ ๒๖ พฤศจิกายนนี้ ผมจะสอบธรรมศึกษาชั้นตรีครับ”
“ดีแล้ว เรียนแล้วต้องสอบ จะได้รู้ว่าเรียนเข้าใจแค่ไหน”
“รุ่นพี่บอกว่าไม่ต้องอ่านหนังสือก็สอบได้ครับ”
“จะสอบได้ยังไง?”
“ถามพระอาจารย์ครับ ท่านใจดีออก ผมสอบตก ท่านก็เสียชื่อแย่เลย”
“แล้วไม่คิดว่านั่นเป็นการทุจริตหรือ?”
“ทุจริตแบบรู้กันน่ะหลวงพ่อ ไม่เป็นไรหรอกครับ”
“นี่เห็นเรื่องทุจริตเป็นเรื่องชอบ แบบนี้ก็ไม่ดีนะ รู้ไหมทำไมเขาจึงจัดสอนธรรมศึกษา”
“ไม่รู้ครับ”
“นี่เป็นส่วนพระราชปรารภในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนหนึ่งความว่า “เรื่องการศึกษานี้ ขอให้ทราบ ช่วยคิดให้มากๆ จนถึงรากเหง้าของการศึกษาในเมืองไทย อย่าตัดช่องไปแต่การข้างวัด อีกประการหนึ่ง การสอนศาสนาในโรงเรียน ทั้งในกรุงและหัวเมือง จะต้องให้มีขึ้น ให้มีความวิตกไปว่า เด็กชั้นหลังจะ ห่างเหินศาสนา จนเป็นคนไม่มีธรรมในใจมากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้น จะถือว่าเหมือน อย่างทุกวันนี้ คนที่ไม่รู้อะไรก็มีมาก ต่อไปภายหน้า ถ้าคนที่ได้เล่าเรียนคงจะประพฤติตัวดีกว่าคนที่ไม่ได้เล่าเรียนนั้น หาถูกไม่ คนที่ไม่มีธรรมเป็นเครื่องดำเนินตาม คงจะหันไปหาทางทุจริตโดยมาก ถ้ารู้น้อยก็โกงไม่คล่อง ฤาโกงไม่สนิท ถ้ารู้มากก็โกงมากขึ้นและโกงพิสดารมากขึ้น” เพราะเหตุนี้คณะสงฆ์ไทยจึงพยายามจัดการสอนธรรมศึกษาในโรงเรียนให้มากขึ้น แม้จะไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลมากนัก แต่อาศัยจิตใจที่มุ่งมั่นจะพัฒนาประเทศชาติให้มีความเจริญสมตามพระราชปรารภ ท่านก็ขวนขวายสั่งสอนธรรมศึกษาแก่นักเรียนมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๒ ถึงปัจจุบันนี้ ก็ร่วม ๘๐ ปีแล้ว”

“โอ้โห พระองค์ท่านรู้ล่วงหน้าเลยหรือครับ ว่าจะมีการโกงในปัจจุบัน”

“ก็ขนาดเราเรียนธรรมศึกษา ยังจะทำทุจริต โกงการสอบแล้ว ความไม่เจริญของประเทศชาติในปัจจุบันก็เพราะความขาดธรรมในใจนั่นเอง”
“ก็พระอาจารย์ใจดีนี่ครับ”
“เดี๋ยวหลวงพ่อคงต้องไปกำราบพระอาจารย์เราแล้วล่ะ ช่างไม่มีสมณสัญญาเลย”
“แต่นักเรียนสอบตกมาก พระอาจารย์ก็เสียชื่อเสียงนะครับ”
“เพราะความคิดแบบนี้ การศึกษาของชาติจึงไม่พัฒนาเลย นักเรียนสมัยนี้ส่วนใหญ่จึงขาดความกระตือรืนร้นในการเรียน คิดกันไปว่าเรียนๆเล่นๆเดี๋ยวก็สอบผ่าน ครูต้องช่วยให้ตนเองผ่าน นโยบายการศึกษางี่เง่าแบบนี้ จึงทำให้เราคิดได้แค่นี้”
“หลวงพ่อ.. ไม่แรงไปหน่อยหรือครับ”
“นักเรียนสอบตกเพราะไม่ขยัน ครูผิดหรือนักเรียนผิด?”
“นักเรียนครับ”
“ครูไม่ตั้งใจสอน ไม่ตั้งใจทำหน้าที่ครู นักเรียนสอบตก ครูผิดไหม?”
“ผิดครับ”
“คนที่ไม่รู้จักหน้าที่ตนเอง ไม่รับผิดชอบหน้าที่ตนเอง ก็ผิดแล้ว เพื่อนเราที่เรียนเก่งมีใครอยากเป็นครูบ้างไหม?”
“ไม่มีครับ ส่วนมากอยากเป็นหมอ เป็นวิศวะ กันหมดครับ มีแต่คนเรียนไม่เก่งเท่านั้นล่ะครับ ที่จะไปเป็นครู”
“แล้วที่โกงกินประเทศชาติตอนนี้ เป็นคนเรียนเก่งหรือไม่เก่ง”
“ผมว่าพวกเรียนไม่เก่งครับ”
“จริงๆ คงจะเรียนเก่งก็มี แต่ไม่ได้เรียนธรรมศึกษาจากพระอาจารย์ที่เป็นครูจริงๆมากกว่า จึงได้โกงพิสดารเหมือนที่พระราชปรารภไว้ ประเทศไทยจึงวิบัติเสียหายเช่นทุกวันนี้”
“หลวงพ่อครับ.. แรงไปไหมครับ”
“ไม่หรอก ความจริงก็คือความจริง ไม่พูดแบบนี้ เราจะจำไว้ในจิตใจหรือ”
“ผมน่ะจำได้ครับ ก็ผมฟังหลวงพ่อนี่ครับ คนอื่นเขาไม่ได้ฟังนี่ครับ”
“ก็จำคำหลวงพ่อไปพูดให้คนอื่นเขาฟังซิ”
“ครับ”
“แล้วรู้ไหมว่า การสอบแบบกากบาท ฝนดินสอนี่ ทำให้นักเรียนไม่ได้พัฒนาสมองเลย”
“อ้าว.. แล้วเขาสอบแบบนี้ทำไมล่ะครับ”
“ก็ครูมักง่าย เอาความสะดวกส่วนตัวเป็นหลัก จึงทำให้การศึกษาของประเทศไทยล้าหลังประเทศอื่นๆ มากขึ้น”
“ประเทศเราได้เหรียญทองโอลิมปิควิชาการหลายเหรียญนะหลวงพ่อ”
“กี่คนล่ะ พวกนั้นหัวกะทิที่อบรมเป็นพิเศษหรือเปล่า?”
“จริงครับ”
“อย่าไปเอาส่วนน้อยนิดเช่นนั้น มาบอกว่าส่วนใหญ่ดีเลย มีถึง ๑%หรือเปล่าก็ไม่รู้”
“ไม่ถึงครับ”
“การสอบแบบปรนัย เขาจัดขึ้นมาเพื่อพวกกรรมกรในโรงงาน ที่มีเวลาในการเรียนน้อย การเรียนรู้วิชาต่างๆ ที่จัดให้คนกลุ่มนี้จึงต้องอาศัยความจำเป็นหลัก และหวังผลเร็ว เขาจึงจัดสอบแบบปรนัย กากบาท ในระบบการศึกษาที่มุ่งเน้นคุณภาพ เขาจะเน้นการสอบแบบความเข้าใจหรือแบบอัตนัย ซึ่งตอนนี้ไม่รู้ว่ามหาวิทยาลัยบ้านเราจะมีสักกี่แห่งที่สอบแบบนี้ การสอนให้นักเรียนเข้าใจในหลักสูตร เป็นความพยายามอย่างยิ่งของครู ความใฝ่ใจเรียนรู้ของนักเรียน จนเกิดความเข้าใจตามหลักสูตรก็สำคัญ ผลงานของครูกับนักเรียน ก็คือผลการสอบแบบอัตนัย นักเรียนที่มีความเข้าใจก็จะพัฒนาองค์ความรู้ของตนให้สามารถสร้างความเจริญในกิจการตามหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้นตามลำดับ เราคิดว่าเป็นไงแบบนี้ ?”
“ยากครับ ไม่อ่านหนังสือ ไม่ขยันเรียน หรือทำความเข้าใจ ก็ตกสิครับ”
“รู้ไหม ในการสอบความรู้ครั้งแรกของประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗ รัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระบรมราชโองการกำหนดไว้ว่า “วิชาที่จะไล่ชั้นประโยค ๒ นั้น ๘ อย่าง คือ ลายมือหวัดแลบรรจง อย่าง ๑ เขียนหนังสือ ใช้ตัววางวรรคถูกตามใจความ ไม่ต้องดูแบบ อย่าง ๑ ทานหนังสือที่ผิด คัดจากลายมือหวัด อย่าง ๑ แต่งจดหมาย อย่าง ๑ แต่งแก้กระทู้ความร้อยแก้ว อย่าง ๑ วิชาเลข อย่าง ๑ ทำบัญชี อย่าง ๑ ผู้ใดมีความรู้ไล่สอบได้ตลอดวิชาทั้ง ๘ อย่าง เป็นชั้นประโยค ๒ นี้ ถ้าเป็นไพร่หลวง ฤาไพร่สม กรมใดๆ ก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขาดจากสังกัดเดิม ได้หนังสือพิมพ์คุ้มสักตลอดชีวิต ถ้าเป็นผู้จะรับราชการสนองพระเดชพระคุณ ก็จะทรงพระกรุณาชุบเกล้า ฯ เลี้ยงตามสมควรแก่คุณารูปถ้วนทุกคน ถ้าไม่สมัครจะรับราชการ จะไปทำการที่ใดๆ ก็จะพระราชทานพระบรมราชานุญาต ไม่ขัดขวาง” ทรงให้มีการสอบแต่งแก้กระทู้ความร้อยแก้ว เป็นวิชา ๑ ใน ๘ วิชา คนที่สอบผ่านชั้นนี้ได้ ก็จะได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ตามสมควรแก่ฐานะ เหตุนี้ในการสอบธรรมศึกษา จึงยังคงให้มีวิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรมอยู่ไงล่ะ”
“โอ๊ย.. ยากครับ เรียงความเนี่ยะ เขียนเยอะด้วย”
“ก็ถ้าเราตั้งใจเรียนวิชาธรรมวิภาค พุทธประวัติ เบญจศีลเบญจธรรม การเขียน เรียงความก็ไม่ยากหรอก เพราะมีข้อมูลสำหรับเขียนมากมายเลย”
“โอ้โห เนื้อหาตั้งเยอะครับ”
“เราลองมาดูธรรมวิภาคหมวด ๒ เริ่มแต่สติเลยนะ คนกินเหล้าเมามาก มีสติไหม”
“ไม่มีครับ ทำกิริยาอาการไม่น่าดูด้วย”
“สติคือความระลึกได้ สัมปชัญญะคือความรู้ตัว คนเมาย่อมไม่รู้ตัวว่าทำอะไรไปในขณะเมา เมื่อมีสติย้อนระลึกถึงตอนที่เมา ก็ไม่สามารถจะระลึกได้ ด้วยเหตุที่การไม่มีสติสัมปชัญญะทำให้คนทำการผิดพลาดมากเหมือนคนเมา ท่านจึงยกย่องให้สติสัมปชัญญะเป็นธรรมมีอุปการะมาก บุรพชนไทยสอนลูกหลานว่าต้องเป็นคนมีสติ ก็หมายความว่าต้องเป็นคนมีสติสัมปชัญญะนั่นเอง”
“ผมก็มีสตินะครับ”
“เราจะรู้ว่าตนเองมีสติหรือไม่ ก็ต้องดูความประพฤติของตนเองว่าเป็นคนมีหิริ ความละอายแก่ใจและ โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อบาป หรือไม่ ถ้ามีก็จัดว่าเป็นคนมีสติ เมื่อใครมาด่าว่าเราอย่างรุนแรง เรามีอาการปกติ ไม่โกรธเขา ซึ่งเป็นขันติธรรม คือความอดทน และรักษาตนให้มีความสง่างาม คือโสรัจจะ ได้ไหม ถ้าได้ก็จัดว่าเป็นคนมีสติ เมื่อมาระลึกถึงคุณของบุรพการี และมีใจอยากตอบแทนคุณ ท่านด้วยกตัญญูกตเวที เราก็ย่อมไม่ทำสิ่งที่ไม่ดีด้วยหิริโอตตัปปะ นี่ก็เป็นผลของการมีสติสติสัมปชัญญะ เป็นต้นเหตุแห่งธรรมปฏิบัติ ที่นำให้เกิดผลคือหิริ โอตตัปปะ ขันติ โสรัจจะ กตัญญูกตเวที นี่เป็นธรรมปฏิบัติที่นำให้เกิดปฏิเวธธรรม”
“อ้าว ธรรมหมวด ๒ เป็นธรรมปฏิบัติด้วยหรือครับ?”
“ธรรมวิภาคสอนธรรมปฏิบัติเพื่อความสำเร็จของชีวิต ถ้าเราเรียนจนมีความเข้าในในธรรมตามหลักสูตรธรรมศึกษา เราก็จะสามารถน้อมนำธรรมนั้นมาเป็นธรรมปฏิบัติ นำตนไปสู่ความสำเร็จได้ในที่สุด ตามรอยบาทของสมเด็จพระบรมศาสดา”
“แล้วพุทธประวัติ เรียนทำไมครับ ?”
“เรียนเพื่อเราได้รู้จักพระพุทธเจ้า เรียนเพื่อให้เราได้มีอุทาหรณ์ในการพาตนไปสู่ความสำเร็จของชีวิต เหมือนดังที่พระพุทธเจ้าท่านทรงบำเพ็ญมาตลอดพุทธกาล”
“หลวงพ่อขยายความหน่อยได้ไหมครับ”
“เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะออกบวช ก็เข้าศึกษาวิชาในสำนักของอาฬารดาบส-อุทกดาบส จนจบหลักสูตร ได้รับคำรับรองว่ามีคุณวุฒิเสมอด้วยอาจารย์ทั้งสอง ท่านก็ไม่หยุดนิ่งความรู้เพียงนั้น ท่านก็ขวนขวนขวายเรียนรู้หาทางไปสู่อมตธรรมตามความเชื่อของคนในยุคนั้น ที่นิยมว่าผู้บำเพ็ญทุกรกิริยาย่อมสามารถบรรลุอมตธรรมได้ เมื่อท่านทดลองตามความเชื่อนั่นจนถึงที่สุดแห่งความไม่เป็นแก่นสารของความเชื่อนั้น ท่านก็มาบำเพ็ญทางจิต จนทำให้ท่านตรัสรู้ในวันวิสาขบูชาในปีที่ ๖ หลังจากการออกผนวช”
“หลวงพ่อกำลังบอกผมว่าการเรียนรู้ที่ถูกต้อง ต้องเรียนรู้ให้จริงๆ ใช่ไหมครับ?”
“ใช่.. เหมือนพระพุทธเจ้าที่พระองค์ทรงเรียนรู้จนเข้าใจตรงตามความเป็นจริงของธรรมชาติ แล้วทรงนำความรู้นั้นมาเผยแผ่สั่งสอนพุทธบริษัทสืบมา”
“ทำไมหลวงพ่อพูดสอนง่ายๆ จังครับ”
“เป็นชาวพุทธ ไม่รู้จักประวัติพระพุทธเจ้า ก็อายคนในศาสนาอื่นแล้ว”
“ก็จริงครับ”
“วิชาเบญจศีลเบญจธรรม เป็นวิชาที่สอนให้เราได้รู้จักกฎเบื้องต้นของการอยู่ร่วมกันในสังคม ถ้าชาวพุทธเคารพมั่น ตั้งใจประพฤติตนอยู่ในกรอบเบญจศีลเบญจธรรม สังคมชาวพุทธนั้นก็จะเป็นสังคมที่มีแต่ความสุขที่ทุกคนควรได้รับอย่างเสมอภาค”
“เห็นทุกครั้งในพิธีสงฆ์ ก็ขอศีลกันอยู่เสมอไม่ใช่หรือครับ ?”
“ขอศีล โดยไม่เข้าใจในเรื่องศีล ที่เป็นธรรมปฏิบัติ ก็เหมือนเรียนวิชาก่อสร้าง แต่ไม่ได้ลงมือปฏิบัติ ดังนั้น เมื่อรู้จักเบญจศีลเบญจธรรม ก็ต้องนำไปเป็นธรรมปฏิบัติในการดำเนินชีวิตประจำวัน จึงจะถูกต้องที่สุด”
“ผมไม่เห็นว่าวิชาทั้ง ๓ จะเกี่ยวข้องกันจนนำไปเขียนกระทู้ได้เลยครับ”
“พุทธประวัติสอนให้รู้จักประวัติพระพุทธเจ้า ธรรมวิภาคสอนให้รู้จักธรรมปฏิบัติ เพื่อสุขประโยชน์ขั้นต้น เบญจศีลเบญจธรรมเป็นวินัยในการดำเนินชีวิตของฆราวาส ถ้าทำความเข้าใจในวิชาทั้งสามแล้ว ก็จะเห็นความสัมพันธ์ของวิชาทั้งสามเอง เมื่อจะอธิบายความเห็นพุทธสุภาษิตที่เป็นโจทย์ ก็จะรู้จักการน้อมนำธรรมนำวินัยมาแนะนำแก้ไขปัญหาตามโจทย์ ให้ผู้อ่านได้เกิดความรู้ความเลื่อมใสในธรรม ที่เราเขียนขึ้นมา และน้อมนำธรรมนั้นไปปฏิบัติให้เกิดสุขประโยชน์แก่ชีวิต”
“อ้อ.. มิน่า พระอาจารย์ถึงให้เขียนคำนำว่า บัดนี้ จักได้พรรณนาขยายความแห่งธรรมภาษิตที่ได้ลิขิตไว้ ณ เบื้องต้น เพื่อเป็นแนวทางแห่งธรรมปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนผู้ใฝ่ศึกษาพระธรรมต่อไป”
“สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงนิพนธ์ในคำนำหนังสือเรียงความแก้กระทู้ธรรมว่า “การเรียนธรรม ต้องรู้จักถือเอาความเข้าใจข้อธรรมนั้นๆ จึงจะสำเร็จประโยชน์ เพราะธรรมนั้น สมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดง ด้วยมีพระพุทธประสงค์จะนำผู้ฟังในทางใดทางหนึ่ง แลทรงแสดงโดยสมควรแก่ผู้รับเทศนา เป็นบรรพชิตก็มี เป็นคฤหัสถ์ก็มี เป็นสตรีก็มี เป็นผู้ได้เคยอบรมมา แล้วก็มี ยังก็มี ผู้เรียนจะต้องปฏิบัติให้ถูกพระพุทธประสงค์ แลน้อมให้เหมาะแก่ฐานะของตน จึงจะได้ประโยชน์แห่งการเรียนการปฏิบัติ ฝ่ายผู้จะแสดงธรรมสั่งสอนผู้อื่น ยิ่งต้องการความรู้นี้มากขึ้น ไม่เช่นนั้น ไม่อาจแสดงธรรมให้เหมาะแก่บริษัท เมื่อเป็นเช่นนี้ ไม่อาจปลูกความยินดีในธรรมไว้ในเขา เหตุนั้น การถือเอาความเข้าใจข้อธรรมจึงเป็นสำคัญในการเรียนธรรม พระสาวกผู้ชำนาญในทางนี้ ย่อมเป็นกำลังของสมเด็จพระบรมศาสดาในการแผ่พระพุทธศาสนา พระองค์ทรงสรรเสริญพระกัจจายนะเถระว่าเป็นเอตทัคคะ คือเป็นยอดเยี่ยมแห่งภิกษุผู้รู้จักแจกข้อธรรมอันย่อได้โดยกว้างขวางฯ เมื่อจัดการเรียนธรรม สำหรับภิกษุสามเณร จึงได้จัดความรู้อย่างนี้ไว้ในหลักสูตรอย่างหนึ่ง ให้เรียนโดยวิธีเรียงความแก้กระทู้ ธรรม ที่ตั้งให้ผู้เรียงนำมาอ่านในที่ประชุมกรรมการ ให้กรรมการเลือกให้รางวัลแก่ผู้เรียงดี แลรับใบแก้นั้นไว้ตรวจต่อไป พบข้อบกพร่องในทางธรรมก็ดี ในทางภาษาก็ดี ให้แนะนำให้เข้าใจฯ” ว่าแต่ว่าเข้าใจหรือยังที่หลวงพ่อพูดมานี่”
“นี่คงเป็นเหตุผลของการเรียนธรรมศึกษาที่ถูกต้อง ใช่ไหมครับ?”
“ใช่ การเป็นนักเรียนต้องมีความขยันหมั่นเพียรในการเรียน ตั้งใจเรียน มีธรรมประจำใจ นำพาตนให้เกิดความเข้าใจในหลักสูตรที่ครูสอน จนสามารถทำข้อสอบที่ทดสอบความรู้นั้นได้ นี่จึงสมกับเป็นนักเรียนจริงๆ”
“หลวงพ่อครับ ขอพรหน่อยสิครับ”
“ขอให้ขยันอ่านหนังสือ ทำความเข้าใจในเนื้อหาวิชาแล้วทำข้อสอบธรรมศึกษาด้วยความสบายใจ ไม่ต้องไปหวังสอบผ่านด้วยทุจริตวิธี นี่ล่ะจึงจะสมกับเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า เป็นพสกนิกรผู้ทำหน้าที่ตนได้ดีสมตามพระราชปรารภที่กล่าวมา โชคดีนะ”
“กราบลาหลวงพ่อครับ”
“เจริญพร”
บทความ โดย
พระพจนารถ ปภาโส 
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๓
๙.๓๐ – ๑๓.๔๐ น.


หมายเหตุ : ตีพิมพ์ใน หนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 120 พฤศจิกายน 2553 โดย พระพจนารถ ปภาโส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
ขอบคุณข้อมูล จาก http://www.gongtham.net/web/articles.php?article_id=38

วันจันทร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2560

พุทธศาสนสุภาษิต

พุทธศาสนสุภาษิต
หมวดตน
อตฺตา  หิ  อตฺตโน  นาโถ
ตนแล  เป็นที่พึ่งของตน
ที่มา: คัมภีร์ขุททกนิกาย  ธัมมปทคาถา (ขุ..)
อตฺตา  หเว  ชิตํ  เสยฺโย
ชนะตนนั้นแหละ  เป็นดี
ที่มา: คัมภีร์ขุททกนิกาย  ธัมมปทคาถา (ขุ..)
หมวดประมาท
อปฺปมาโท อมตํ ปทํ
ความไม่ประมาท เป็นทางไม่ตาย
ที่มา: คัมภีร์ขุททกนิกาย ธัมมปทคาถา (ขุ..)
อปฺปมาทํ ปสํสนฺติ
บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมสรรเสริญความไม่ประมาท
ที่มา: คัมภีร์ขุททกนิกาย ธัมมปทคาถา (ขุ..)
 หมวดปัญญา
นตฺถิ ปญฺญา สมา อาภา
แสงสว่าง เสมอด้วยปัญญา ไม่มี
ที่มา: คัมภีร์สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (สํ..)
ปญฺญา โลกสฺมิ ปชฺโชโต
ปัญญา เป็นแสงสว่างในโลก
ที่มา: คัมภีร์สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (สํ..)
 หมวดขันติ
ขนฺติ ปรมํ ตโป ตีติกฺขา
ขันติ คือความอดทน เป็นตบะอย่างยิ่ง
ที่มา: คัมภีร์ขุททนิกาย ธัมมปทคาถา (ขุ..)
ขนฺติ ตโป ตปสฺสิโน
ความอดทน เป็นตบะของผู้บำเพ็ญเพียร
ที่มา: สวดมนต์ฉบับหลวง (..)
 หมวดประมาท
อปฺปมาโท อมตํ ปทํ
ความไม่ประมาท เป็นทางไม่ตาย
ที่มา: คัมภีร์ขุททกนิกาย ธัมมปทคาถา (ขุ..)
อปฺปมาทํ ปสํสนฺติ
บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมสรรเสริญความไม่ประมาท
ที่มา: คัมภีร์ขุททกนิกาย ธัมมปทคาถา (ขุ..)

หมวดทุกข์
ทุกฺโข ปาปสฺส อุจฺจโย
การสั่งสมบาป เป็นทุกข์ (ในโลก)
ที่มา: คัมภีร์ขุททกนิกาย ธัมมปทคาถา (ขุ..)
นตฺถิ ขนฺธสมา ทุกฺขา
ความทุกข์อื่น เสมอด้วยขันธ์() ไม่มี
ที่มา: คัมภีร์ขุททกนิกาย ธัมมปทคาถา (ขุ..)
 หมวดจิต
จิตฺตํ รกฺขถ เมธาวี
ผู้มีปัญญา พึงรักษาจิต
ที่มา: คัมภีร์ขุททกนิกาย ธัมมปทคาถา (ขุ..)
จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ
จิตที่ฝึกดีแล้ว นำสุขมาให้
ที่มา: คัมภีร์ขุททกนิกาย ธัมมปทคาถา (ขุ..)

หมวดธรรม
มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา
ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า
ที่มา: คัมภีร์ขุททกนิกาย ธัมมปทคาถา (ขุ..)
ธมฺโม สุจิณฺโณ สุขมาวหาติ
ธรรมที่ประพฤติดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้

ที่มา: คัมภีร์สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (สํ..)