วันอาทิตย์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2560

เกณฑ์สอบนักธรรมและธรรมศึกษาสอบได้

นักธรรม ๒๘๐/๔๐๐ (ต้องไม่มีวิชาต่ำกว่า ๒๕ คะแนน)
ธรรมศึกษา ๒๐๐/๔๐๐ (ต้องไม่มีวิชาต่ำกว่า ๒๕ คะแนน)

นักธรรมชั้นเอก


         พ.ศ.๒๔๖๔ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สิ้นพระชนม์ นักธรรมชั้นเอกที่ทรงพระดำริไว้ จึงยังไม่ได้จัดตั้งขึ้นตามพระประสงค์ในยุคของพระองค์ การศึกษานักธรรมจึงจัดได้เพียง ๒ ชั้น คือ นักธรรมชั้นตรี กับนักธรรมชั้นโท

         แต่ในปีที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ สิ้นพระชมม์นั้นเอง สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ สิ้นพระชนม์นั้นเอง สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ผู้ทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายกสืบมา ก็ได้ทรงจัดตั้งนักธรรมชั้นเอกขึ้น ตามพระดำริของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ พระองค์นั้น นักธรรมชั้นเอกภูมิเถระ สำหรับภิกษุผู้ใหญ่พ้นพรรษา ๑๐ แล้ว หลักสูตรนักธรรมชั้นเอก มีดังนี้

         ๑.เรียงความแก้กระทู้ธรรม จะให้หัวข้อธรรม ๓ ข้อ ที่ต่างกัน ต้องแต่งทำนองเทศนา เชื่อมความ ๓ ข้อนั้น ให้สนิท

         ๒.แก้ปัญหาธรรม โดยปรมรรถเทศนา

         ๓.แก้ปัญหาพุทธานุพุทธประวัติ กับข้อธรรมในท้องเรื่องนั้น

         ๔.แก้ปัญหาวินัยบัญญัติมีสังฆกรรมเป็นต้น

         หนังสือสำหรับใช้เป็นหลักสูตรนักธรรมชั้นเอกนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้ทรงพระนิพนธ์เตรียมไว้แล้วเกือบจะครบถ้วน ดังนี้

         - หนังสือพุทธศาสนสุภาษิต และหนังสือธรรมอย่างอื่นมีมงคลวิเสสกถาเป็นต้น เป็นหลักสูตรสำหรับเรียงความแก้กระทู้ธรรม

         - หนังสือธรรมวิจารณ์ พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ เป็นหลักสูตรสำหรับแก้ปัญหาธรรมวิภาค

         - หนังสือพุทธสมัยเล่มที่ ๒ ปริเฉทที่ ๔,๕,๖ ในธรรมสมบัติหมวด ๓ (รวมพระสูตรแปล) เป็นหลักสูตรสำหรับแก้ปัญหาพุทธานุพุทธประวัติ

         เปรียญธรรมชั้นโท จะสอบบาลีประโยค ๗ ต้องสอบได้นักธรรมชั้นเอกก่อน เมื่อสอบบาลีประโยค ๗,๘,๙ ได้แล้วนับเป็นเปรียญธรรมชั้นเอก

นักธรรมชั้นตรี

นักธรรมชั้นตรี

         จากพระดำริที่จะส่งเสริมการศึกษาธรรมวินัยให้แพร่หลายไปสู่ภิกษุสามเณรอย่างทั่งถึงทุกระดับชั้นดังกล่าวแล้ว พ.ศ. ๒๔๕๖ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ จึงทรงปรับปรุงหลักสูตรองค์นักธรรมอีกครั้งหนึ่ง โดยรวมองค์นักธรรมประโยค ๑ และประโยค ๒ เข้าด้วยกันเป็น นักธรรมชั้นตรี และกำหนดหลักสูตรสอบความรู้ภิกษุสามเณรเป็น ๔ อย่างคือ

                   - เรียงความแก้กระทู้ธรรม
                   - ธรรมวิภาค
                   - ตำนาน (พุทธประวัติ)
                   - วินัยบัญญัติ

         สำหรับสามเณร เว้นวินัยบัญญัติไว้ก่อนจนกว่าอุปสมบทแล้วจึงสอบวินัยบัญญัติ และการสอบไม่มีการพักเป็นประโยค ๑ ประโยค ๒ ดังแต่ก่อน สอบพร้อมกันทั้ง ๒ ประโยค ได้ตกพร้อมกันทั้ง ๒ ประโยค (แถลงการณ์คณะสงฆ์เล่ม ๑, หน้า ๕๒๙.)

         และในศกเดียวกันนี้ ทรงจัดหลักสูตรเปรียญบาลี ๓ ประโยคเข้ากับองค์นักธรรมประโยค ๒ เป็นเปรียญธรรมชั้นตรี ทั้งนี้โดยทรงมีพระปรารภว่า การสอบความรู้บาลีเป็นเปรียญ ๓ ประโยค ให้แปลธัมมปทัฏฐกถาเป็นความไทยอย่างเดียวกันทั้ง ๓ ประโยคไม่ค่อยจะได้เปรียญมีความรู้ดี เพราะผู้เข้าสอบโดยมากด้วยกันจะไม่รู้จักสัมพันธ์และไม่แตกฉานในทางไวยากรณ์ เมื่อเป็นเช่นนี้ การเรียนบาลีจึงตกต่ำ (เล่มเดียวกัน, หน้า๕๓๑.)

         จากพระปรารภดังกล่าวแล้ว จึงทรงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตแก้ไขหลักสูตรเปรียญบาลี ๓ ประโยค ให้คงแปลธัมมปทัฏฐกถา เพียงประโยคเดียวอีก ๒ ประโยคนั้น เปลี่ยนเป็นสอบความรู้สัมพันธ์ เพื่อให้ความรู้จักชักศัพท์เชื่อมถึงกัน ประโยค ๑ สอบความรู้บาลีไวยากรณ์ ส่วนวจีวิภาคเพื่อเข้าใจยกศัพท์ ประโยค ๑ วิธีสอบสัมพันธ์ จักวางแบบให้ไว้ ส่วนวิธีการสอบไวยากรณ์เคยกันมาแล้วฯ ทั้ง ๓ นี้ รวมเป็นหลักสูตรบาลี เป็นองค์อันหนึ่งของเปรียญธรรมชั้นตรีฯ (เล่มเดียวกัน, หน้าเดียวกัน) และ

         ภิกษุสามเณรที่จะสอบบาลีเป็นเปรียญ ๓ ประโยค ต้องสอบได้องค์นักธรรมประโยค ๒ สามัญมาก่อนแล้ว เมื่อสอบบาลีได้อีกองค์หนึ่ง จักเป็นเปรียญชั้นตรี ได้แก่ นวกภูมิ หรือเรียกนับประโยคว่า เปรียญธรรม ๓ ประโยค ก็ได้ฯ

         เปรียญธรรมชั้นตรี หรือเปรียญธรรม ๓ ประโยคนี้เรียกย่อว่า ป.ธ. ๓ หลักสูตรนักธรรมชั้นตรีและเปรียญธรรมชั้นตรี ที่ทรงปรับปรุงใหม่นี้ เริ่มสอบตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๗ เป็นต้นมา

         หลักสูตรนักธรรม ที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงจัดขึ้นนั้น ได้รับความนิยมจากภิกษุสามเณรอย่างรวดเร็วและแพร่หลายไปอย่างกว้างขวาง เพียง ๒ ปีแรกที่จัดสอบ ก็มีภิกษุสามเณรสมัครเข้าสอบในสนามหลวงเกือบพันรูป ในปีต่อๆมา จึงโปรดให้มีการจัดสอบขึ้นในสนามมณฑลต่างๆด้วย เพื่อบรรเทาความแออัดในการสอบ ภิกษุสามเณรที่สอบได้ในสนามวัดหรือสนามมณฑลมีความรู้เข้าเกณฑ์ของสนามหลวง สนามหลวงก็รับโอนเป็นนักธรรมของสนามหลวง ต่อมาทรงกำหนดให้มีการสอบสนามวัดก่อนที่จะส่งเข้าสอบสนามหลวงต่อเมื่อสอบผ่านสนามวัดนั้นๆ ได้แล้ว จึงทรงอนุญาติให้ส่งเข้าสอบในสนามหลวง ทั้งนี้เพื่อกันไม่ให้ผู้มีความรู้ไม่ถึงขั้นเข้าสอบในสนามหลวง อันเป็นการเพิ่มภาระให้แก่สนามหลวงโดยไม่จำเป็น

         การสอบองค์นักธรรมและนักธรรมตรีในระยะแรกนั้นสามเณรต้องมีอายุ ๑๙ ปีขึ้นไป จึงอนุญาติให้เข้าสอบได้

         สำหรับการสอบนักธรรมชั้นตรี สอบโดยวิธีเขียน (ขณะนั้นการสอบพระปริยัติธรรม หรือสอบบาลีสนามหลวงยังใช้วิธีแปลปากอยู่) ข้อสอบแต่ละวิชามี ๒๑ ข้อ ถึง พ.ศ. ๒๔๕๗ จึงลดลงมาเป็น ๑๔ ข้อ (ประวัติการศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทย. คณาจารย์มหามกุฏราชวิทยาลัย (เอกสารโรเนียวเย็บเล่ม), หน้า ๑๓๙.) ส่วนกำหนดเวลาสอบในระยะแรกยังไม่มีการกำหนดเวลาเป็นชั่วโมง แต่กำหนดว่า ถ้ายังมีผู้นั่งสอบอยู่ด้วยกัน ๖ รูป ยังไม่หมดเวลา ต่อมาแก้ไขเป็น ถ้ายังมีผู้สอบเหลืออยู่ด้วยกัน ๓ รูป ถือว่ายังไม่หมดเวลา (แต่ไม่พบหลักฐานว่าแก้ไขเมื่อปีใด) (แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๒ พ.ศ. ๒๔๕๗ หน้า ๕๒๘.) ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๗ เป็นต้นมา จึงมีการกำหนดเวลาสอบเป็นชั่วโมง คือ ๓ ชั่วโมงครึ่ง (ประวัติการศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทย. หน้า ๑๓๙.)
ที่มา http://www.gongtham.net/my_data/history_gongtham/index.php