ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี
สอบในสนามหลวง
วันศุกร์ ที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๗
๑. ธรรมที่ได้ชื่อว่ามีอุปการะมาก คือธรรมอะไร? เพราะเหตุไรจึงจัดว่ามีอุปการะมาก?
เฉลย คือสติ ความระลึกได้ และสัมปชัญญะ ความรู้ตัว ฯ เพราะเป็นคุณธรรมอุดหนุนให้สำเร็จประโยชน์เกื้อกูลในกิจทั้งปวง ฯ
๒. รัตนะ ๓ อย่าง คืออะไรบ้าง? รัตนะที่ ๒ มีคุณอย่างไร?
เฉลย คือพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ฯ ย่อมรักษาผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว ฯ
๓. คุณธรรมเครื่องให้สำเร็จความประสงค์ คืออะไร? มีอะไรบ้าง?
เฉลย คืออิทธิบาท ๔ ฯ มี
๑. ฉันทะ พอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น
๒. วิริยะ เพียรประกอบสิ่งนั้น
๓. จิตตะ เอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้นไม่วางธุระ
๔. วิมังสา หมั่นตริตรองพิจารณาเหตุผลในสิ่งนั้น ฯ
๔. เมื่อเพื่อนร่วมงานได้เลื่อนตำแหน่ง ไม่คิดริษยา พลอยยินดีกับเขาด้วย ชื่อว่าปฏิบัติตามพรหมวิหารธรรมข้อใด?
เฉลย มุทิตา ฯ
๕. เหตุให้เกิดทุกข์ในอริยสัจ ๔ คืออะไร?
เฉลย คือตัณหา ความทะยานอยาก ฯ
๖. การจะเป็นนักเทศก์ที่ดีจะต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง? จงตอบมาสัก ๓ ข้อ
เฉลย ๑. แสดงธรรมโดยลำดับ ไม่ตัดลัดให้ขาดความ
๒. อ้างเหตุผลแนะนำให้ผู้ฟังเข้าใจ
๓. ตั้งจิตเมตตาปรารถนาให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง
๔. ไม่แสดงธรรมเพราะเห็นแก่ลาภ
๕. ไม่แสดงธรรมกระทบตนและผู้อื่น คือไม่ยกตนเสียดสีผู้อื่น ฯ
(เลือกตอบเพียง ๓ ข้อ)
๗. จงให้ความหมายของคำต่อไปนี้
๑. ธัมมัญญุตา ๒. มัตตัญญุตา ๓. กาลัญญุตา
เฉลย ๑. ธัมมัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเหตุ เช่นรู้จักว่า สิ่งนี้เป็นเหตุแห่งสุข สิ่งนี้เป็นเหตุแห่งทุกข์
๒. มัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้ประมาณ ในการแสวงหาเครื่องเลี้ยงชีวิตแต่โดยทางที่ชอบ และรู้ประมาณในการบริโภคแต่พอสมควร
๓. กาลัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักกาลเวลาอันสมควรในอันประกอบกิจนั้นๆ ฯ
คิหิปฏิบัติ
๘. อบายมุข คืออะไร? ความเป็นนักเลงสุราจัดเป็นอบายมุขเพราะเหตุไร?
เฉลย คือเหตุเครื่องฉิบหาย ฯ เพราะเป็นเหตุให้เสียทรัพย์ ก่อการทะเลาะวิวาท
เกิดโรค ต้องติเตียน ไม่รู้จักอาย ทอนกำลังปัญญา ฯ
๙. อุบาสกอุบสิกาควรตั้งอยู่ในคุณสมบัติอะไรบ้าง?
เฉลย ในคุณสมบัติ ๕ อย่างคือ
๑. ประกอบด้วยศรัทธา
๒. มีศีลบริสุทธิ์
๓. ไม่ถือมงคลตื่นข่าว คือเชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล
๔. ไม่แสวงหาเขตบุญนอกพุทธศาสนา
๕. บำเพ็ญบุญแต่ในพุทธศาสนา ฯ
๑๐. ในทิศ ๖ ทิศเหล่านี้หมายถึงใคร?
ก. ทิศเบื้องหน้า ข. ทิศเบื้องขวา
ค. ทิศเบื้องหลัง ง. ทิศเบื้องซ้าย จ. ทิศเบื้องบน
เฉลย ก. มารดาบิดา ข. ครูอาจารย์
ค. บุตรภรรยา ง. มิตร จ. สมณพราหมณ์ ฯ