วันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2560

เบญจศีล สิกขาบทที่ ๕

สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี
เว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
ศีลข้อนี้บัญญัติขึ้น เพื่อให้คนรู้จักรักษาสติของตนให้บริบูรณ์ เพราะสุราเป็นของที่ทำให้ผู้ดื่มมึนเมา เมื่อมึนเมาแล้วย่อมทำให้เสียสติ เป็นที่ตั้งของความประมาท จะทำอะไรก็ผิดพลาด ทั้งเป็นเหตุทอนคุณความดีที่มีอยู่ให้น้อยลง
เมื่อเสพเข้าไปแล้วทำให้สติเลื่อนลอย ขาดการควบคุมตัวเอง ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ พูดในสิ่งที่ไม่เคยพูด เป็นเหตุให้ล่วงสิกขาบทอีก ๔ ข้อข้างต้นได้ ศีลข้อ ๕ นี้ นับว่ามีความสำคัญที่สุดในเบญจศีล
น้ำเมา มี ๒ ชนิด คือ
๑.   สุรา น้ำเมาที่กลั่นแล้ว ภาษาไทยเรียกว่า เหล้า
๒. เมรัย น้ำเมาที่ไม่ได้กลั่น เป็นของหมักดอง เช่น เหล้าดิบ น้ำตาลเมา กระแช่ ของมึนเมาเสพติดต่างๆ เช่น ฝิ่น กัญชา ก็รวมเข้าในศีลข้อนี้ด้วย
ในปัจจุบันมีสิ่งเสพติดให้โทษร้ายแรงระบาดอยู่ในหมู่ของประชาชน เท่าที่ราชการพบแล้ว คือ
๑. สุรา น้ำเมาที่กลั่นแล้ว
๒. เมรัย น้ำเมาที่ยังไม่ได้กลั่น
๓. ฝิ่น เป็นยางไม้ชนิดหนึ่ง (ต้นฝิ่น)
๔. กัญชา เป็นต้นไม้ชนิดหนึ่ง (ต้นกัญชา)
๕. มอร์ฟีน เป็นผลิตภัณฑ์ทำจากฝิ่น
๖. โคเคน เป็นผลิตภัณฑ์จากมอร์ฟีน
๘. แลคเกอร์ ทินเนอร์ ทำมาจากสารเคมี
สุรา เมรัย เสพทางการดื่ม ฝิ่น กัญชา เป็นต้น เสพโดยวิธีสูบบ้าง ฉีดเข้าไปในร่างกายบ้าง
โทษแห่งการดื่มน้ำเมา
ในพระบาลีท่านแสดงโทษของการดื่มน้ำเมาไว้ ๖ อย่าง คือ
๑. เป็นเหตุให้เสียทรัพย์
๒. เป็นเหตุก่อวิวาท
๓. เป็นเหตุให้เกิดโรค
๔. เป็นเหตุให้เสียชื่อเสียง
๕. เป็นเหตุประพฤติมารยาที่น่าอดสู
๖. ทอนกำลังปัญญา
โทษของการเสพฝิ่น
การเสพฝิ่นนั้นมีโทษมาก เมื่อกล่าวแล้วแบ่งออกเป็น ๔ สถาน คือ
๑. เป็นเหตุให้เสียความสำราญของร่างกาย
๒. เป็นเหตุก่อวิวาท ให้เสียทรัพย์
๓. เป็นเหตุเสียความดี
๔. เป็นเหตุเสียชื่อเสียง
โทษเหล่านี้ ยิ่งหย่อนตามพื้นเพของเสพ
โทษของการเสพกัญชา
กัญชาเป็นสิ่งเสพติดให้โทษเหมือนกัน เพราะฤทธิ์กัญชานั้น ย่อมทำมัตถุลังค์ (มันในสมอง) และเส้นประสาทให้เสียไป ตาลาย เห็นอะไรผิดไปจากความจริง เช่น เห็นเชือกเป็นงู หูเชือน ฟังอะไรเขวไปจากความจริง เช่น ได้ยินเสียงกลองเป็นเสียงปืน หรือ เสียงฟ้าร้อง นึกจะทำอะไรก็ยั้งไม่ได้ ความคิดฟั่นเฟือน มักทำให้หวาดกลัวไปต่าง ๆ เหมือนคนบ้า ไม่ควรเสพ
หลักวินิจฉัยสุราปานะ
สุราปานะ (การดื่มสุรา) มีองค์ ๔ คือ
๑. มทนียัง น้ำเมา
๒. ปาตุกัมมยตาจิตตัง จิตคิดจะดื่มน้ำเมา
๓. ตัชโชวายาโม พยายามดื่มน้ำเมา
๔. ปีตัปปเวสนัง น้ำเมานั้นล่วงลำคอลงไป
ศีลขาด คือ ศีลของผู้ที่สมาทานศีลแล้ว แต่ไม่รักษาศีลนั้นให้ดี ล่วงละเมิดเป็นประจำ ทำให้ขาดต้นขาดปลายหาที่บริสุทธิ์จริงได้ยาก เหมือนผ้าที่ขาดชายรอบทั้งผืน หรือขาดกลางผืนเลย
ศีลทะลุ คือ ศีลของผู้ที่ชอบละเมิดสิกขาบททีเดียว ๒ หรือ ๓ ข้อ เหมือนแม่โคด่าง ที่กะดำกระด่างลายไปทั้งตัว ดำบ้าง ขาวบ้าง
ศีลพร้อย คือ ศีลของผู้ชอบล่วงละเมิดศีลคราวละสิกขาบท หรือล่วงศีลคราวละองค์สององค์ คือ มีศีลบริสุทธิ์บ้างไม่บริสุทธิ์บ้างสลับกันไป
ศีลห้าประการนี้ เป็นวินัยในพระพุทธศาสนา ด้วยประการฉะนี้
ศัพท์ที่ควรรู้
อุโบสถ
คำว่า อุโบสถ แปลว่า ดิถีวิเศษที่เข้าอยู่ ดิถีวิเศษเป็นที่เว้น มี ๓ อย่าง คือ
๑. นิคคัณฐอุโบสถ เป็นอุโบสถของนักบวชนอกพระพุทธศาสนา คือ ตั้งเจตนางดเว้นเป็นบางอย่าง เช่น เว้นการฆ่าสัตว์ในทิศเหนือ แต่ฆ่าสัตว์ทิศอื่น เป็นการรักษาตามใจชอบของตน
๒. โคปาลอุโบสถ เป็นอุโบสถในพระพุทธศาสนา เป็นอุโบสถที่อุบาสก อุบาสิกา สมาทานรักษาไว้ มีอาการเหมือนคนรับจ้างเลี้ยงโค คือ เวลาสมาทานแล้ว กลับไปพูดดิรัจฉานกถาต่างๆ เช่น พูดเรื่องการทำมาหากิน เรื่องทะเลาะกันภายในครอบครัว เป็นต้น
๓. อริยอุโบสถ เป็นอุโบสถในพระพุทธศาสนา เป็นอุโบสถที่เหมาะสม และประเสริฐสำหรับอุบาสก อุบาสิกา เมื่อสมาทานแล้ว ก็ตั้งใจรักษาศีลของตนให้มั่นคง ใจไม่ข้องแวะกับฆราวาสวิสัย

สนทนาแต่ในเรื่องของธรรมวินัย ในเรื่องการบำเพ็ญบุญอย่างเดียว อริยอุโบสถนี้ จึงเป็นอุโบสถที่นับว่าประเสริฐที่สุด

เบญจศีล สิกขาบทที่ ๔

มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากการพูดเท็จ
ศีลข้อนี้บัญญัติขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันการทำลายประโยชน์ของกันและกัน ด้วยการพูด คือ ตัดประโยชน์ทางวาจา และรักษาวาจาของตนให้เป็นที่เชื่อถือของคนอื่น เมื่อเพ่งความเจริญเป็นใหญ่ พึงทราบในสิกขาบทนี้ ท่านห้ามเป็นข้อใหญ่ ๓ ประการ คือ
๑. มุสาวาท
๒. อนุโลมุสา
๓. ปฏิสสวะ
การกระทำตามข้อ ๑ ศีลขาด กระทำตามข้อ ๒ และ ๓ ศีลด่างพร้อย
มุสาวาท
การพูดเท็จ คือ การโกหก หมายถึง การแสดงออกด้วยเจตนาบิดเบือนความจริง ให้คนหลงเชื่อแสดงออกได้ ๒ ทาง คือ
๑. ทางวาจา ได้แก่ พูดโกหกชัด ๆ
๒. ทางกาย ทำเท็จทางกาย เช่น เขียนจดหมาย โกหก ทำรายงานเท็จ ทำหลักฐานปลอม หรือ มีใครถามข้อความที่ควรรับ ก็สั่งศีรษะแสดงปฏิเสธ
เพื่อความสะดวกในการเรียน และการปฏิบัติ ท่านจำแนกกิริยาที่เป็นมุสาวาทไว้ ๗ อย่าง คือ
๑. ปด
๒. ทดสาบาน
๓. ทำเล่ห์กระเท่ห์
๔. มารยา
๕. ทำเลศ
๖. เสริมความ
๗. อำความ
๑. ปด ได้แก่ พูดมุสาชัดๆ ไม่อาศัย ไม่อาศัยมูลเหตุเลย เช่น เห็นว่าไม่เห็น รู้ว่าไม่รู้ โดยโวหารต่างกัน ตามความมุ่งหมายของผู้พูด ท่านแสดงไว้เป็นตัวอย่าง ๔ ข้อ คือ
ก. พูดเพื่อจะให้เขาแตกกัน เรียกว่า ส่อเสียด
ข. พูดเพื่อจะโกงท่าน เรียกว่า หลอก
ค. พูดเพื่อจะยกย่อง ท่านเรียกว่า ยก
ง. พูดไว้แล้วไม่รับ เรียกว่า กลับคำ
๒. ทนสาบาน ได้แก่ กิริยาที่เลี่ยงสัตย์ว่า จะพูดตามจริง แต่ใจไม่ตั้งจริงตามนั้น มีพูดปดเป็นลำดับ บริวาร เช่น เป็นพยานทนสาบานไว้ แล้วเบิกความเท็จ เป็นต้น
๓. ทำเล่ห์กระเท่ห์ ได้แก่ กิริยาที่อวดอ้างความศักดิ์สิทธิ์อันไม่มีจริง เช่น อวดรู้วิชาคงกระพัน ฟันไม่เข้ายิงไม่ออก เป็นต้น ซึ่งเป็นอุบายหาลาภ
๔. มารยา ได้แก่ กิริยาที่แสดงให้เขาเห็นผิดจากที่เป็นจริง หรือลวงให้เข้าใจผิด เช่น เป็นคนทุศีล ก็ทำท่าทางให้เขาเห็นว่ามีศีล เจ็บน้อยก็ครวญครางมาก
๕. ทำเลศ ได้แก่ พูดมุสาเล่นสำนวน เช่น เห็นคนวิ่งหนีเขามา เมื่อผู้ไล่มาถาม ไม่อยากจะให้เขาจับคนนั้นได้ แต่ไม่ต้องการให้ใครตราหน้าว่าเป็นคนพูดมุสา จึงย้ายไปยืนที่อื่น แล้วพูดว่าตั้งแต่มายืนที่นี่ ยังไม่เคยเห็นใครวิ่งมาเลย
๖. เสริมความ ได้แก่ พูดมุสาอาศัยมูลเดิม แต่ตัดความที่ไม่ประสงค์จะให้รู้ออกเสีย เรื่องมากพูดให้เหลือน้อย ปิดความบกพร่องของตน
โทษของมุสาวาท
บุคคลพูดมุสา มีโทษทั้งทางโลกและทางธรรม ทางโลกปรับโทษทางกฎหมายที่หักประโยชน์ของผู้อื่น ทางธรรมปรับโทษอย่างหนักถึงปาราชิก อย่างเบาปรับเสมอปาจิตตีย์ กล่าวโดยความเป็นกรรมมีโทษหนักเป็นชั้นกัน โดย วัตถุ เจตนา ประโยค
ก. โดยวัตถุ ถ้าข้อความนั้นเป็นเรื่องหักล้างประโยชน์ เช่น ทนสาบาน เบิกพยานเท็จ กล่าวใส่ความท่าน หลอกลวงเอาทรัพย์ท่าน มีโทษหนัก หรือกล่าวมุสาแก่ผู้มีคุณ เช่น พ่อ แม่ ครู อาจารย์ เจ้านาย และท่านผู้มีศีลธรรม มีโทษหนัก
ข. โดยเจตนา ถ้าผู้พูดคิดให้ร้ายท่าน เช่น กล่าวใส่ความท่าน มีโทษหนัก
ค. โดยประโยค ถ้าผู้พูดพยายามทำให้เขาเชื่อสำเร็จ มีโทษหนัก
อนุโลมมุสา
อนุโลมมุสา คือ เรื่องที่พูดนั้นไม่จริง แต่ผู้พูดมิได้มุ่งจะให้ผู้ฟังหลงเชื่อ แยกประเภท ๒ อย่าง คือ
๑. เสียดแทง กิริยาที่ว่าให้ผู้อื่นให้เจ็บใจ อ้างวัตถุไม่เป็นจริง กล่าวยกให้สูงกว่าพื้นเพเดิมของเขา เรียกว่า ประชด กล่าวทำให้คนเป็นคนเลวกว่าพื้นเพเดิมของเขา เรียกว่า ด่า
๒. สับปลับ ได้แก่ พูดปดด้วยคะนองวาจา
โทษของอนุโลมมุสา
อนุโลมมุสา มีโทษทั้งทางโลกและทางธรรม ทางโลกจัดว่าเป็นกิริยาที่หยาบช้าเลวทราม ไม่สมควรประพฤติ ทางธรรม จัดว่าเป็นบาป เมื่อกล่าวโดยความเป็นกรรม ก็มีโทษหนักเป็นชั้นกัน โดยวัตถุ เจตนา ประโยค
ก. โดยวัตถุ ถ้าเป็นข้อความเป็นเรื่องประทุษร้ายท่าน เช่น พูดเสียดแทง มีโทษหนัก และกว่าแก่ผู้มีคุณ ก็มีโทษหนัก
ข. โดยเจตนา ถ้าพูดใส่ร้ายผู้อื่น เช่น หวังจะให้ท่านเจ็บใจ และกล่าวเสียดแทง มีโทษหนัก
ค. โดยประโยค ถ้าผู้พูดพยายามทำความเสียหายแก่ท่านสำเร็จ เช่น ยุให้ท่านแตกกัน และเขาก็แตกกัน มีโทษหนัก

ปฏิสสวะ
ปฏิสสวะ ได้แก่ เดิมรับคำของคนอื่นด้วยเจตนาบริสุทธิ์ แต่ภายหลังกลับใจ ไม่ทำตามที่รับนั้น แม้ไม่เป็นการพูดเท็จโดยตรง แต่ก็เป็นการทำลายประโยชน์ของคนอื่นได้ มีประเภทเป็น ๓ อย่าง คือ
๑. ผิดสัญญา ได้แก่ สองฝ่ายทำสัญญากันว่าจะทำอย่างนั้นๆ แต่ภายหลังไม่ทำอย่างนั้น เช่น ทำสัญญาจ้าง เป็นต้น
๒. เสียสัตย์ ได้แก่ ให้สัตย์แก่ท่านฝ่ายเดียวว่าตนจะทำ หรือไม่ทำเช่นนั้นๆ แต่ภายหลังไม่ทำตามนั้น เช่น ข้าราชการ ผู้ถวายสัตย์สาบานแล้ว ไม่ทำตามนั้น
๓. คืนคำ ได้แก่ รับว่าจะทำสิ่งนั้นๆ แล้วภายหลังไม่ทำ เช่น รับว่าให้สิ่งนั้นๆ แล้วไม่ให้
โทษของปฏิสสวะ คือ ทำให้เสียชื่อเสียง ตามฐานที่ไม่ตั้งอยู่ในสัตย์
ถ้อยคำที่ไม่เป็นมุสา
มีคำพูดอีกประเภทหนึ่ง ที่ผู้พูดๆ ไม่จริง แต่ก็ไม่ประสงค์ให้ผู้ฟังเชื่อ เรียกว่า ยถาสัญญา คือ พูดตามความสำคัญ ผู้พูดไม่ผิดศีล แยกประเภทเป็น ๔ อย่าง คือ
๑. โวหาร
๒. นิยาย
๓. สำคัญผิด
๔. พลั้ง
๑. โวหาร ได้แก่ ถ้อยคำที่ใช้เป็นธรรมเนียม เพื่อความไพเราะทางภาษา เช่น เราเขียนจดหมายลงท้ายด้วยความนับถืออย่างสูง ทั้งที่เราไม่ได้นับถือเขาเลย
๒. นิยาย ได้แก่ เรื่องเปรียบเทียบ เพื่อได้ใจความเป็นสุภาษิต เช่น ผูกนิยายขึ้น เช่น ลิเก ละคร
๓. สำคัญผิด ได้แก่ ผู้พูดเข้าใจผิด พูดไปตามความเข้าใจของตนเอง เช่น จำวันผิด ใครถามก็ตอบตามนั้น
๔. พลั้ง ได้แก่ ผู้พูดตั้งใจว่าจะพูดอย่างหนึ่ง แต่ปากไพล่ไปพูดอย่างหนึ่ง
หลักวินิจฉัยมุสาวาท
มุสาวาทมีองค์ ๔
๑. อภูตวัตถุ   เรื่องที่พูดเป็นเรื่องไม่จริง
๒. วิวาทนจิตตัง จงใจจะพูดให้ผิด
๓. ตัชโช วายาโม พยายามพูดคำนั้นออกไป

๔. ปะรัสสะ ตะทัตถวิชานะนัง คนอื่นเข้าใจเนื้อความนั้น

เบญจศีล สิกขาบทที่ ๓

กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี เว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย
ศีลข้อนี้ ท่านบัญญัติขึ้น ด้วยหวังปลูกความสามัคคี สร้างความเป็นปึกแผ่น ป้องกันความแตกร้าวในหมู่มนุษย์ และทำให้วางใจกันและกัน ชายกับหญิงแม้ไม่ได้เป็นญาติกัน ก็ยังมีความรักใคร่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ด้วยอำนาจความปฏิพัทธ์ในทางกาม สิกขาบทข้อนี้ แปลว่า เว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย
คำว่า "กามทั้งหลาย" ในที่นี้ได้แก่ กิริยาที่รักใคร่กันทางประเวณี หมายถึง เมถุน คือ การส้องเสพระหว่างชายหญิง
การผิดในกาม หมายถึง การเสพเมถุนกับคนที่ต้องห้ามดังจะกล่าวต่อไป ผู้ใดเสพเมถุนกับคนที่ต้องห้าม ผู้นั้นทำผิดประเวณี ศีลข้อนี้ขาด เมื่อเพ่งความประพฤติไม่ให้ผิดเป็นใหญ่สำหรับชายและหญิง มีดังนี้...
สำหรับชาย หญิงที่ต้องห้ามสำหรับชาย มี ๓ ประเภท คือ
๑. สัสสามิกา หญิงมีสามี ที่เรียกว่า ภรรยาท่าน ได้แก่ หญิง ๔ จำพวก คือ
ก. หญิงที่แต่งงานกับชายแล้ว
ข. หญิงที่ไม่ได้แต่งงาน แต่อยู่กินกับชายอย่างเปิดเผย
ค. หญิงที่รับสิ่งของ มีทรัพย์ เป็นต้น ของชายแล้วยอมอยู่กับเขา
ง. หญิงที่ชายเลี้ยงเป็นภรรยา
๒. ญาติรักขิตา หญิงที่ญาติรักษา คือ มีผู้ปกครอง ไม่เป็นอิสระแก่ตน เรียกว่า หญิงอยู่ในพิทักษ์รักษาของท่าน คือ หญิงที่มารดาบิดารักษา หรือญาติรักษา
๓. ธรรมรักขิตา หรือ จาริตา หญิงที่จารีตรักษา ที่เรียกว่า จารีตห้าม ได้แก่ หญิงที่เป็นเทือกเถาเหล่ากอ
ก. เทือกเถา คือ ญาติผู้ใหญ่ นับย้อนขึ้นไป ๓ ชั้น มี ย่าทวด ยายทวด ๑ ย่า ยาย ๑ แม่ ๑ เหล่ากอ คือ ผู้สืบสายจากตนลงไป ๓ ชั้น มีลูก ๑ หลาน ๑ เหลน ๑
ข. หญิงที่อยู่ใต้พระบัญญัติในพระศาสนา อันห้ามสังวาสกับชาย เช่น ภิกษุณีในกาลก่อน หรือแม่ชีในบัดนี้
ค. หญิงที่บ้านเมืองห้าม เช่น แม่หม้ายงานท่าน อันมีในกฎหมาย
หญิง ๓ จำพวกนี้ จะมีฉันทะร่วมกันหรือไม่ร่วมกัน ไม่เป็นประมาณ ชายร่วมสังวาสด้วย ก็เป็นกาเมสุมิจฉาจาร
หญิงที่เป็นวัตถุต้องห้ามของชายในกาเมสุมิจฉาจาร โดยพิสดารมี ๒๐ จำพวก คือ
๑. มาตุรักขิตา หญิงที่มารดารักษา
๒. ปิตุรักขิตา หญิงที่บิดารักษา
๓. มาตาปิตุรักขิตา หญิงที่มารดาบิดารักษา
๔. หญิงที่พี่ชายน้องชายรักษา
๕. หญิงที่พี่สาวน้องสาวรักษา
๖. หญิงที่ญาติรักษา
๗. หญิงที่โคตร หรือมีแซ่รักษา
๘. หญิงมีธรรมรักษา
๙. หญิงมีสามีรักษา
๑๐. หญิงมีสินไหม คือ พระราชารักษา
๑๑. หญิงที่ชายไถ่หรือซื้อมาด้วยทรัพย์เพื่อเป็นภรรยา
๑๒. หญิงที่อยู่กับชายด้วยความรักใคร่ชอบใจกันเอง
๑๓. หญิงที่อยู่เป็นภรรยาชายด้วยโภคทรัพย์
๑๔. หญิงที่เข็ญใจ ได้สักว่าผ้านุ่งผ้าห่มแล้วอยู่เป็นภรรยา
๑๕. หญิงที่ชายขอเป็นภรรยา มีผู้ใหญ่จัดการให้
๑๖. หญิงที่ชายช่วยปลงภาระอันหนักให้แล้ว ยอมเป็นภรรยา
๑๗. หญิงที่เป็นทาสีอยู่ก่อน แล้วชายเอามาเป็นภรรยา
๑๘. หญิงที่รับจ้างแล้ว ชายเอาเป็นภรรยา
๑๙. หญิงที่ชายรบข้าศึกได้เป็นเชลยแล้ว เอาเป็นภรรยา
๒๐. หญิงที่ชายอยู่ด้วยขณะหนึ่ง และหญิงนั้นก็เข้าใจว่าชายนั้นเป็นสามีของตน
สำหรับหญิง ชายต้องห้ามสำหรับหญิง มี ๒ ประเภทคือ
๑. ชายอื่นนอกจากสามี เป็นวัตถุต้องห้ามสำหรับหญิงที่มีสามีแล้ว
๒. ชายที่จารีตห้าม เป็นวัตถุต้องห้ามสำหรับหญิงทั้งปวง
ชายที่จารีตห้ามนั้น มี ๓ จำพวก คือ
๑. ชายที่อยู่ในพิทักษ์รักษาของตระกูล เช่น ปู่ พ่อ ตา ทวด
๒. ชายที่อยู่ในพิทักษ์ของธรรมเนียม เช่น นักพรต นักบวช
๓. ชายที่กฎหมายบ้านเมืองห้าม เช่น พระภิกษุ สามเณร
หญิงที่ไม่เป็นวัตถุกาเมสุมิจฉาจารของชาย มี ๔ อย่าง คือ
๑. หญิงที่ไม่มีสามี
๒. หญิงที่ไม่อยู่ในพิทักษ์รักษาของท่าน
๓. หญิงที่จารีตไม่ห้าม
๔. หญิงที่เป็นภรรยาของตน
ชายที่ไม่เป็นวัตถุแห่งกาเมสุมิจฉาจารของหญิงมี ๔ คือ
๑. ชายที่ไม่มีภรรยา
๒. ชายที่จารีตไม่ห้าม
๓. สามีของตน
๔. ชายที่ทำโดยพลการพ้นอำนาจของหญิง (เช่นชายที่ข่มขืน)
โทษของกาเมสุมิจฉาจาร
กาเมสุมิจฉาจารนี้ เป็นความประพฤติชั่วร้าย มีโทษทั้งทางโลก และทางธรรม ฝ่ายอาณาจักรมีกฎหมายลงโทษผู้ประพฤติล่วง ฝ่ายพุทธจักรก็จัดเป็นบาปแก่ผู้ทำ
เมื่อกล่าวโดยความเป็นกรรม จัดว่ามีโทษหนักเป็นชั้นกัน โดย วัตถุ เจตนา ประโยค
ก. โดยวัตถุ ถ้าเป็นการทำชู้ หรือล่วงละเมิดในวัตถุที่มีคุณ มีโทษมาก
ข. โดยเจตนา ถ้าเป็นไปด้วยกำลังราคะกล้า มีโทษมาก
ค. โดยประโยค ถ้าเป็นไปโดยพลการ มีโทษมาก
หลักวินิจฉัยกาเมสุมิจฉาจาร
กาเมสุมิจฉาจาร มีองค์ ๔ คือ
๑. อคมนียวัตถุ วัตถุอันไม่ควรถึง (มรรคทั้ง ๓)
๒. ตัสมิง เสวนจิตตัง จิตคิดจะเสพในวัตถุอันไม่ควรถึงนั้น
๓. เสวนัปปโยโค ทำความพยายามในอันที่จะเสพ
๔. มัคเคน มัคคัปปฏิบัตติ มรรคต่อมรรคถึงกัน
ในเรื่องกาเมสุมิจฉาจารนี้ ผู้ที่เสพเท่านั้นจึงจะชื่อว่า ล่วงกาเมสุมิจฉาจาร ส่วนการใช้คนอื่นให้ทำแก่คนอื่นนั้น ไม่เป็นการผิดกาเมสุมิจฉาจาร

แต่การใช้ให้คนอื่นทำกาเมสุมิจฉาจารแก่ตนนั้น ชื่อว่า เป็นการล่วงกาเมสุมิจฉาจารแท้

เบญจศีล สิกขาบทที่ ๒

อทินนาทานา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการลักทรัพย์
ศีลข้อนี้บัญญัติขึ้น เพื่อป้องกันการทำลายกรรมสิทธิ์ ในทรัพย์สมบัติของกันและกัน โดยหวังจะให้เลี้ยงชีพในทางที่ชอบ เว้นจากการเบียดเบียนกันและกัน การประพฤติผิดเช่นนี้ ได้ชื่อว่าประพฤติผิดธรรม เป็นบาป
ข้อนี้หมายถึง การเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ คือ ถือเอาด้วยอาการเป็นโจร สิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ กำหนดดังนี้
ก. สิ่งของที่มีเจ้าของ ทั้งที่เป็นวิญญาณกทรัพย์ และอวิญญาณกทรัพย์ อันเจ้าของไม่ได้ยกให้เป็นสิทธิ์ขาด
ข. สิ่งของที่ไม่ใช่ของใคร แต่มีผู้รักษาหวงแหน ได้แก่ สิ่งของที่เขาอุทิศบูชาปูชนียวัตถุในศาสนานั้นๆ
ค. สิ่งของที่เป็นของในหมู่อันไม่พึงแบ่งกัน ได้แก่ ของสงฆ์ และของมหาชนในสโมสรสถานนั้นๆ เมื่อเพ่งถึงความประพฤติชอบธรรม ในทรัพย์สมบัติของผู้อื่นเป็นสำคัญ พึงทราบในสิกขาบทนี้ ท่านห้าม ๓ ประการ คือ
๑. โจรกรรม ประพฤติเป็นโจร
๒. ความเลี้ยงชีพอนุโลมโจรกรรม
๓. กิริยาเป็นฉายาโจรกรรม
การกระทำในข้อ ๑ ศีลขาด ในข้อ ๒ และข้อ ๓ พึงตัดสินด้วยเจตนา ถ้ามุ่งทำลายกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ของผู้อื่น ศีลขาด ถ้าไม่เจตนา ศีลด่างพร้อย
โจรกรรม
การถือเอาสิ่งของที่ไม่มีผู้ให้ด้วยการกระทำอย่างโจรทุกอย่าง จัดเป็นโจรกรรม ในทางศีลธรรม ท่านรวมไว้ ๑๔ วิธีด้วยกัน ดังนี้
๑. ลัก ได้แก่ การขโมยทรัพย์ของคนอื่นที่เจ้าของเขาไม่เห็น มีชื่อเรียกต่างกัน ดังนี้
ก. ขโมย ในเวลาเงียบเห็นเขาตากผ้าไว้ ไม่ให้เจ้าของรู้ หยิบเอาของเขาไป
ข. ย่องเบา เวลาสงัดคน แอบเข้าไปในบ้าน หยิบฉวยเอาของต่างๆ ไป
ค. ตัดช่อง งัดหรือเจาะประตูหน้าต่างที่ปิดช่องอยู่ แล้วหยิบเอาของเขาไป
๒. ฉก ได้แก่ การถือเอาของในเวลาเจ้าของเผลอ มีชื่อเรียกต่างกันตามอาการ ดังนี้
ก. วิ่งราว คนถือเอาของมากำลังเผลอ เข้าแย่งแล้ววิ่งหนีไป
ข. ตีชิง ตีเจ้าของทรัพย์ให้เจ็บตัว แล้วถือเอาของไป
๓. กรรโชก แสดงอำนาจ หรือใช้อาวุธให้เขากลัวแล้วให้ของ เรียกว่า ขู่ หรือจี้
๔. ปล้น ได้แก่ รวมพวกกันหลายคน มีศาสตราวุธเก็บเอาของผู้อื่นด้วยอำนาจ
๕. ตู่ คือ อ้างกรรมสิทธิ์ ยืนยันเอาของคนอื่นมาเป็นของตน
๖. ฉ้อ ได้แก่ กิริยาที่ถือเอาทรัพย์ของผู้อื่น เช่น รับของแล้วโกงเสีย อ้างว่าเป็นของของตน
๗. หลอก ได้แก่ กิริยาที่พูดปด เพื่อถือเอาของของผู้อื่น
๘. ลวง ได้แก่ กิริยาที่ถือเอาของผู้อื่น ด้วยแสดงของอย่างใดอย่างหนึ่งให้เข้าใจผิด เช่น ใช้เครื่องชั่งเครื่องตวงโกง
๙. ปลอม ได้แก่ กิริยาที่ทำของปลอมให้คนอื่นเห็นว่าเป็นของแท้ แล้วแลกเปลี่ยนเอาทรัพย์ไป
๑๐. ตระบัด ได้แก่ กิริยาที่ยืมของคนอื่นไปใช้แล้วเอาเสีย เช่น ยืมของแล้วไม่ส่งคืน กู้เงินเขาแล้วเบี้ยวไม่ส่งดอก
๑๑. เบียดบัง ได้แก่ กิริยาที่ถือเอาเศษ เช่น ท่านใช้ให้ไปเก็บเงินค่าเช่าบ้าน เป็นต้น ได้มากแต่ให้ท่านน้อย
๑๒. ลักลอบ ได้แก่ กิริยาที่ลักลอบเอาของที่ต้องห้ามหลบหนีภาษี เช่น สินค้าเถื่อน เป็นต้น
๑๓. สับเปลี่ยน ได้แก่ กิริยาที่ถือเอาสิ่งของของตน ที่เลวเข้าไว้แทน แล้วเอาสิ่งของที่ดีของผู้อื่น
๑๔. ยักยอก ได้แก่ กิริยาที่ยักยอกทรัพย์ของตนที่จะต้องถูกยึดเอาไว้เสียที่อื่น
โจรกรรมมีลักษณะต่างประเภทที่กล่าวมานี้ บุคคลทำเองก็ดี เป็นแต่รวมพวกไปกับเขาก็ดี เหล่านี้ชื่อว่า ประพฤติผิดเป็นโจรกรรมทั้งสิ้น เมื่อกล่าวโดยความเป็นกรรม มีโทษหนักเป็นชั้นกัน โดย วัตถุ เจตนา ประโยค
ก. โดยวัตถุ ถ้าของที่ทำการโจรกรรมมีค่ามาก ทำความฉิบหายให้แก่เจ้าของทรัพย์มาก ก็มีโทษมาก
ข. โดยเจตนา ถ้าถือเอาโดยโลภ มีเจตนากล้า ก็มีโทษมาก
ค. โดยประโยค ถ้าถือเอาโดยการฆ่า หรือทำร้ายเจ้าทรัพย์ หรือประทุษร้ายเคหสถาน และพัสดุของเขา ก็มีโทษมาก
ความเลี้ยงชีพอนุโลมโจรกรรม
ข้อนี้ ได้แก่ การแสวงหาทรัพย์พัสดุในทางไม่บริสุทธิ์ แต่ไม่นับเข้าในอาการเป็นโจร มีประเภท ดังนี้
ก. สมโจร ได้แก่ การกระทำอุดหนุนโจรกรรมโดยนับ เช่น รับซื้อของโจร ข้อนี้เป็นปัจจัยแห่งโจรกรรม
ข. ปอกลอก ได้แก่ การคบคนด้วยอาการไม่ซื่อสัตย์ ด้วยหวังทรัพย์ของเขาฝ่ายเดียว เมื่อเขาสิ้นเนื้อ ประดาตัวก็ทิ้งขว้าง ข้อนี้เป็นปัจจัยให้คนตกยาก
ค. รับสินบน ได้แก่ การถือเอาทรัพย์พัสดุที่เขาให้เพื่อช่วยทำธุระให้เขาในทางที่ผิด เช่น ข้าราชการรับสินบนจากประชาชน ข้อนี้เป็นปัจจัยให้บุคคลประพฤติผิดทางธรรม
กิริยาเป็นฉายาโจรกรรม
ข้อนี้ ได้แก่ การทำพัสดุของผู้อื่นให้สูญเสีย และเป็นสินใช้ตกอยู่แก่ตน มีประเภท ดังนี้
ก. ผลาญ ได้แก่ กิริยาที่ทำความเสียหายแก่ทรัพย์พัสดุของคนอื่น เช่น เผาบ้าน ฟันโค ฟันกระบือ เป็นต้น
ข. หยิบฉวย ได้แก่ การถือเอาทรัพย์พัสดุของผู้อื่นด้วยความมักง่าย ไม่บอกเจ้าของ คิดเอาเองว่า เจ้าของไม่ว่าอะไร
หลักวินิจฉัยอทินนาทาน
๑. ปรปริคคหิตัง ของนั้นมีเจ้าของหวงแหน
๒. ปรปริคคหิตสัญญิตา ตนก็รู้ว่าของนั้นมีเจ้าของหวงแหน
๓. เถยยจิตตัง จิตคิดจะลัก
๔. อุปักกโม พยายามจะลัก
๕. เตน หรณัง นำของนั้นมาด้วยความพยายามนั้น
ศีลข้อนี้จะขาด ต่อเมื่อกระทำครบองค์ทั้ง ๕ ข้างต้นนี้
ศัพท์ที่ควรรู้
สวิญญาณกทรัพย์ ได้แก่ ทรัพย์พัสดุที่มีวิญญาณครอง ได้แก่ สัตว์ต่างๆ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย เป็นต้น
อวิญญาณกทรัพย์ ได้แก่ ทรัพย์พัสดุที่ไม่มีวิญญาณครอง เช่น บ้าน เรือน เงิน ทอง เป็นต้น
สังหาริมทรัพย์ ได้แก่ ทรัพย์พัสดุที่เคลื่อนที่ได้ เช่น สัตว์เลี้ยง เตียง ตั่ง ถ้วย ชาม รถยนต์ เป็นต้น บางอย่างก็มีชีวิต บางอย่างก็ไม่มีชีวิต

อสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ไม่ได้ ได้แก่ ที่ดิน และทรัพย์ซึ่งติดอยู่กับที่ดิน เช่น ตึก บ้าน โรงรถ เป็นต้น