วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

วิชาวินัยบัญญัติ นักธรรมชั้นเอก 2555

ปัญหาและเฉลยวิชาวินัยบัญญัติ  นักธรรมชั้นเอก

สอบในสนามหลวง

วันอาทิตย์ ที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕

๑.      สังฆกรรมมีกี่ประเภท? อะไรบ้าง? สังฆกรรมแต่ละประเภท ทรงอนุญาตให้สงฆ์พร้อมเพรียงกันทำในที่เช่นไร?

ตอบ สังฆกรรมมี ๔ ประเภท ฯ คือ อปโลกนกรรม ๑ ญัตติกรรม ๑ ญัตติทุติยกรรม ๑ ญัตติจตุตถกรรม ๑ ฯ

อปโลกนกรรม ทรงอนุญาตให้สงฆ์พร้อมเพรียงกันทำในเขตสีมา หรือนอกเขตสีมาก็ได้

ส่วนญัตติกรรม ญัตติทุติยกรรม และญัตติจตุตถกรรม ทรงอนุญาตให้สงฆ์พร้อมเพรียงกันทำในเขตสีมา จะเป็นพัทธสีมา หรืออพัทธสีมาก็ได้ ฯ

๒.     ความพรั่งพร้อมของสงฆ์ครบองค์ที่กำหนดเป็นส่วนสำคัญในการประกอบสังฆกรรมนั้นๆ เมื่อครบองค์สงฆ์ตามที่กำหนด สังฆกรรมนั้นๆ เป็นอันใช้ได้แล้ว หรือยังมีช่องทางเสียหายอื่นอีก? จงชี้แจง

ตอบ นับว่าเป็นใช้ได้เฉพาะแต่อปโลกนกรรมเท่านั้น ส่วนสังฆกรรมอื่นๆ อีก ๓ อย่าง คือ ญัตติกรรม๑ ญัตติทุติยกรรม ๑ ญัตติจตุตถกรรม ๑ ยังมีช่องทางเสียหายอื่นอีก คือ วัตถุวิบัติบ้าง สีมาวิบัติบ้าง กรรมวาจาวิบัติบ้าง ฯ

๓.     พัทธสีมา มีกี่ชนิด? อะไรบ้าง? สีมาผูกเฉพาะบริเวณอุโบสถเรียกว่าอะไร?

ตอบ มี ๓ ชนิดคือ สีมาผูกเฉพาะบริเวณโรงอุโบสถ เรียกขัณฑสีมา ๑   สีมาผูกทั่ววัด เรียกมหาสีมา ๑   สีมาผูก ๒ ชั้น ๑ ฯ

เรียกว่าขัณฑสีมา ฯ

๔.     พระทัพพมัลลบุตร มีความดำริอย่างไร พระศาสดาทรงทราบแล้วทรงสาธุการ ตรัสให้สงส์สมมติให้ท่านรับหน้าที่อะไรบ้าง?

ตอบ ท่านดำริว่า ท่านอยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ควรจะรับธุระของสงฆ์จึงกราบทูลพระศาสดาทรงสาธุการแล้ว ตรัสให้สงส์สมมติท่านให้เป็นภัตตุทเทสกะและเสนาสนคาหาปกะ ฯ

๕.     อะไรเป็น บุพพกิจ และ ปัจฉิมกิจ แห่งอุปสมบทกรรม?

ตอบ การให้บรรพชาจนถึงสมมติภิกษุรูปหนึ่งสอบถามอุปสัมปทาเปกขะถึงอันตรายิกธรรมในสงฆ์ เป็นบุพพกิจแห่งอุปสมบทกรรม ฯ

การวัดเงาแดด การบอกประมาณแห่งฤดู การบอกส่วนแห่งวัน การบอกสังคีติ การบอกนิสัย ๔ การบอกอกรณียกิจ ๔ ในลำดับเวลาสวดกรรมวาจาจบ เป็นปัจฉิมกิจแห่งอุปสมบทกรรม ฯ

๖.      อนุวาทาธิกรณ์ คืออะไร? ระงับด้วยอธิกรณสมถะเท่าไร? อะไรบ้าง?

ตอบ คือ การโจทกันด้วยอาบัตินั้น ๆ ฯ   ระงับด้วยอธิกรณสมถะ ๔ อย่าง คือ ๑.สัมมุขาวินัย ๒.สติวินัย ๓,อมูฬหวินัย ๔,ตัสสปาปิยสิกา ฯ

๗.     นาสนา คืออะไร? บุคคลเช่นไรที่ทรงอนุญาตให้นาสนา?

ตอบ    คือ การยังบุคคลผู้ไม่สมควรถือเพศภิกษุและสามเณร ให้สละเพศเสีย ฯ

บุคคลที่ทรงอนุญาตให้นาสนามี ๓ ประเภท คือ

๑. ภิกษุต้องอันเติมวัตถุแล้วยังปฏิญญาตนเป็นภิกษุ

๒. บุคคลผู้อุปสมบทไม่ขึ้น ได้รับอุปสมบทแต่สงฆ์

๓. สามเณรผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๐ ข้อใดข้อหนึ่ง เช่นเป็นผู้มักผลาญชีวิตสัตว์ เป็นต้น ฯ

๘.     จงเขียนคำขออุปสมบทมา

ตอบ    สงฺฆมฺภนฺเต อุปสมฺปทํ ยาจามิ อุลฺลุมฺปตุ มํ ภนฺเต, สงฺโฆ อนุกมฺปํ อุปาทาย

ทุติยมฺปิ ภนฺเต สงฺฆํ อุปสมฺปทํ ยาจามิ อุลฺลุมฺปตุ มํ ภนฺเต สงฺโฆ อนุกมฺปํ อุปาทาย

ตติยมฺปิ ภนฺเต สงฺฆํ อุปสมฺปทํ ยาจามิ อุลฺลุมฺปตุ มํ ภนฺเต, สงฺโฆ อนุกมฺปํ อุปาทาย ฯ

๙.     ตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ วัดมีกี่ประเภท? อะไรบ้าง? และใครเป็นผู้แทนของวัดในกิจการทั่วไป?

ตอบ มี ๒ ประเภท ฯ คือ

๑. วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา

๒. สำนักสงฆ์ ฯ เจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัดในกิจการทั่วไป ฯ

๑๐. ภิกษุผู้ล่วงละเมิดพระธรรมวินัย และได้มีคำวินิจฉัยถึงที่สุดให้ได้รับนิคหกรรมให้สึก ต้องปฏิบัติอย่างไร? ถ้าไม่ปฏิบัติตามต้องได้รับโทษอะไร?

ตอบ ต้องสึกภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ได้ทราบคำวินิจฉัย ฯ ถ้าไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น