วันเสาร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

วิชาธรรม นักธรรมชั้นโท 2549

 วิชาธรรม นักธรรมชั้นโท 2549


ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม  นักธรรมชั้นโท

สอบในสนามหลวง

วันศุกร์ ที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๙

   ๑.  มูลกัมมัฏฐาน คืออะไร ?  เจริญอย่างไรเป็นอารมณ์ของสมถะ ?

        เจริญอย่างไรเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา ?

   ๑.  คือ กัมมัฏฐานเดิม ได้แก่ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ที่พระอุปัชฌาย์

        สอนก่อนบรรพชา ฯ

        ถ้าเพ่งกำหนดให้จิตสงบด้วยภาวนา จัดเป็นอารมณ์ของสมถะ ถ้ายกขึ้น

        พิจารณาแยกออกเป็นส่วนๆ ให้เห็นตามความเป็นจริงโดยสามัญลักษณะ

        จัดเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา ฯ

  ๒.  ปฏิสันถาร คืออะไร ?  จงแสดงวิธีปฏิสันถารตามความรู้ที่ได้ศึกษามา ?

  ๒.  คือ การต้อนรับผู้มาเยือนด้วยการพูดจาปราศรัย หรือด้วยการรับรอง

        ด้วยของ  ต้อนรับตามสมควรด้วยไมตรีจิต ฯ

        ปฏิสันถารที่ได้ศึกษามามี ๒ อย่าง คือ

               ๑.   อามิสปฏิสันถาร ปฏิสันถารด้วยสิ่งของ ได้แก่การจัดหาวัตถุ

                     สิ่งของต้อนรับ เช่น ข้าว น้ำ หรือที่พัก เป็นต้น

               ๒.  ธัมมปฏิสันถาร ปฏิสันถารด้วยธรรม ได้แก่การแสดงการ

                     ต้อนรับตามความเหมาะสมแก่ผู้มาเยือน หรือการให้คำแนะนำ

                     ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นต้น ฯ

  ๓.  อกุศลวิตก ๓  มีโทษอย่างไร ?  แก้ด้วยวิธีอย่างไร ?

  ๓.  กามวิตก         ทำใจให้เศร้าหมอง เป็นเหตุให้มัวเมาติดอยู่ในกามสมบัติ

        พยาบาทวิตก ทำให้เดือดร้อนกระวนกระวายใจ คิดทำร้ายผู้อื่น

        วิหิงสาวิตก     ย่อมครอบงำจิต ให้คิดเบียดเบียนผู้อื่นโดยเห็นแก่

                            ประโยชน์สุขส่วนตัว ฯ

        กามวิตก         แก้ด้วยการเจริญกายคตาสติและอสุภกัมมัฏฐาน

        พยาบาทวิตก แก้ด้วยการเจริญเมตตาพรหมวิหาร

        วิหิงสาวิตก     แก้ด้วยการเจริญกรุณาพรหมวิหารและโยนิโสมนสิการ ฯ

   ๔.  พรหมวิหารกับอัปปมัญญา ต่างกันอย่างไร ?  อย่างไหนเป็นปฏิปทา

        โดยตรงของภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ?

   ๔.  ต่างกันโดยวิธีแผ่ คือ แผ่โดยเจาะจงตัวก็ดี โดยไม่เจาะจงตัวก็ดี แต่

        ยังจำกัดหมู่นั้นหมู่นี้จัดเป็นพรหมวิหาร ถ้าแผ่โดยไม่เจาะจงไม่จำกัด

        จัดเป็นอัปปมัญญา ฯ

        อัปปมัญญาเป็นปฏิปทาของภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ฯ

   ๕.  ทักขิณา คืออะไร ?  ทักขิณานั้น จะบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์  มีอะไร

        เป็นเครื่องหมาย ?

   ๕.  คือ ของทำบุญ ฯ

        มีกัลยาณธรรมของทายก หรือปฏิคาหกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เป็นเครื่องหมาย

        ให้รู้ว่า บริสุทธิ์ และมีความเป็นผู้ทุศีลและอธรรม ของทายกหรือ

        ปฏิคาหกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นเครื่องหมายให้รู้ว่า ไม่บริสุทธิ์ ฯ


   ๖.  มาร คืออะไร ?  เฉพาะอภิสังขารมาร หมายถึงอะไร ?

   ๖. คือ สิ่งที่ล้างผลาญทำลายความดี ชักนำให้ทำบาปกรรม ปิดกั้นไม่ให้ทำ

        ความดี จนถึงปิดกั้นไม่ให้เข้าใจสรรพสิ่งตามความเป็นจริง ฯ

        หมายถึง อกุศลกรรม ฯ

  ๗.  พระธรรมคุณบทใด  มีความหมายตรงกับคำว่า “ท้าให้มาพิสูจน์ได้” ?                

        พระธรรมคุณบทนั้น  มีอธิบายว่าอย่างไร ?

  ๗.  บทว่า เอหิปัสสิโก ฯ

        มีอธิบายว่า พระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสามารถที่จะให้พิสูจน์

        ได้ทุกเวลาและสามารถนำไปประพฤติในชีวิตประจำวันเพื่อประโยชน์

        สุขได้ ฯ

  ๘.  บารมี คืออะไร ?  อธิษฐานบารมี คือการทำอย่างไร ?

  ๘.  ปฏิปทาอันยิ่งยวด หรือคุณธรรมที่ประพฤติอย่างยิ่งยวด ได้แก่ ความดี

        ที่บำเพ็ญอย่างพิเศษ เพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุด ฯ

        คือความตั้งใจมั่นตัดสินใจเด็ดเดี่ยว วางจุดหมายแห่งการกระทำของตน

        ไว้แน่นอนและดำเนินตามนั้นอย่างแน่วแน่ ฯ

  ๙.  คำต่อไปนี้มีความหมายอย่างไร ?

               ก. ชนกกรรม    

               ข. อุปัตถัมภกกรรม    

               ค. ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม

               ง.  อุปปัชชเวทนียกรรม    

               จ. กตัตตากรรม

๙.           ก. กรรมแต่งให้เกิด                

               ข. กรรมสนับสนุน                 

               ค. กรรมให้ผลในภพนี้

               ง. กรรมให้ผลในภพหน้า                  

               จ. กรรมสักว่าทำ คือกรรมที่ทำด้วยไม่จงใจ ฯ

๑๐.  ธุดงค์ ท่านบัญญัติไว้เพื่อประโยชน์อะไร ?  อารัญญิกังคธุดงค์ คือการ

        ถือปฏิบัติอย่างไร ?

๑๐.  เพื่อเป็นอุบายขัดเกลากิเลส และเป็นไปเพื่อความมักน้อยสันโดษ ฯ

        คือ การถืออยู่ป่าเป็นวัตร หมายถึงการพักอาศัยปฏิบัติธรรมอยู่ในป่า

        หรือ บริเวณป่าและจะต้องห่างจากบ้านคนอย่างน้อย ๒๕ เส้น หรือ

        ๕๐๐ ชั่วธนู ฯ


*********

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น