วันเสาร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

วิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท 2547

 วิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท 2547


ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ  นักธรรมชั้นโท

สอบในสนามหลวง

พ.ศ. ๒๕๔๗


   ๑.  อนุพุทธบุคคล คือใคร ?  เป็นได้เฉพาะบรรพชิตหรือเฉพาะคฤหัสถ์ ?

   ๑.  คือ สาวกของพระพุทธเจ้า ที่ท่านได้ตรัสรู้มรรคผลตามพระพุทธเจ้า ฯ

        เป็นได้ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ฯ

   ๒.  พระวาจาว่า ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติ

        พรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด ดังนี้  คำว่า ที่สุดทุกข์ คืออะไร ?  ผู้ทำ

        ที่สุดทุกข์ได้ก่อนกว่าผู้อื่นคือใคร ?  ด้วยพระธรรมเทศนาอะไร ?

   ๒.  คือ พระอรหัตผล ฯ

        คือ พระภิกษุปัญจวัคคีย์ ฯ

        ด้วยพระธรรมเทศนาชื่อว่า อนัตตลักขณสูตร ฯ

   ๓.  พระพุทธเจ้าทรงทำอิทธาภิสังขารแก่ใครเป็นครั้งแรก ?   ทรงทำเช่นนั้นด้วยพระพุทธ

        ประสงค์อย่างไร ?

   ๓.  ทรงทำแก่ ยสกุลบุตรและบิดาของยสกุลบุตรเป็นครั้งแรก ฯ

        ด้วยพระพุทธประสงค์เพื่อให้ยสกุลบุตรพิจารณาภูมิธรรมอันตนได้เห็นแล้ว จนถึง

        ได้บรรลุพระอรหัต  และให้บิดาได้ฟังธรรมแล้วบรรลุพระโสดาปัตติผล ฯ

   ๔.  ในคราวที่เสด็จไปโปรดพระเจ้าพิมพิสาร ณ ลัฏฐิวัน มีพระสาวกตามเสด็จไปเป็น

        จำนวนมาก   ผู้ที่เป็นหัวหน้าของพระสาวกเหล่านั้นคือใคร ?  และท่านมีส่วนสำคัญ

        ในการประกาศพระศาสนาในครั้งนั้นอย่างไร ?

   ๔.  คือ พระอุรุเวลกัสสปะ ฯ

        ท่านเป็นที่เคารพนับถือของมหาชน ได้ประกาศความไม่มีแก่นสารแห่งลัทธิเก่าของตน

        และความที่ตนเป็นสาวกของพระพุทธองค์ ทำให้พระเจ้าพิมพิสารพร้อมด้วยบริวาร

        ๑๒ ส่วน  น้อมจิตลงสดับพระธรรมเทศนาเรื่องอนุปุพพีกถาและอริยสัจ ๔  พระเจ้า

        พิมพิสารพร้อมด้วยบริวาร ๑๑ ส่วน ได้ดวงตาเห็นธรรม  อีก ๑ ส่วน ตั้งอยู่

        ในไตรสรณคมน์ ฯ

   ๕.  เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เมืองเทวทหะ รับสั่งกับพระภิกษุผู้เข้าเฝ้าเพื่อทูลลาไป

        ปัจฉาภูมิชนบท ให้ไปลาพระเถระรูปใด ?  และทรงยกย่องพระเถระรูปนั้นว่าอย่างไร ?

­   ๕.  รับสั่งให้ไปลาพระสารีบุตรเถระ ฯ

        ทรงยกย่องท่านว่า เป็นผู้มีปัญญา อนุเคราะห์เพื่อนบรรพชิต ฯ

   ๖.  พระมหากัสสปะออกบวชเพราะมีความเห็นอย่างไร ? ท่านได้รับยกย่องว่าเลิศใน

        ทางไหน ?

   ๖.  เพราะมีความเห็นว่า ผู้อยู่ครองเรือนต้องคอยนั่งรับบาปเพราะการงานที่ผู้อื่นทำไม่ดี  

        และเห็นว่าฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งกิเลสธุลี  จึงมีใจเบื่อหน่ายสละสมบัติ

        ออกบวชอุทิศพระอรหันต์ในโลก ฯ

        ได้รับยกย่องว่า เป็นเลิศแห่งภิกษุผู้ทรงธุดงค์ ฯ

   ๗.  บุคคลประเภทที่ว่า ธัมมัปปมาณิกา ผู้ถือธรรมเป็นประมาณ มีอธิบายอย่างไร ? 

        ในข้อนี้มีตัวอย่างแสดงไว้อย่างไร ?

   ๗.  มีอธิบายว่า บุคคลประเภทนี้ถือธรรมเป็นสำคัญ ชอบใจเฉพาะข้อปฏิบัติ เห็นผู้ที่

        ตั้งอยู่ในสังวรมีมรรยาทเรียบร้อย และได้ฟังธรรมอันท่านแสดงมุ่งกล่าวเฉพาะ

        ข้อปฏิบัติ ย่อมเลื่อมใส ฯ

        ตัวอย่างเช่นพระสารีบุตรได้เห็นพระอัสสชิ และได้ฟังธรรมของท่านแล้ว จึงเกิดความ

        เลื่อมใส ฯ

ศาสนพิธี

   ๘.  การทำวัตร และการสวดมนต์ ต่างกันอย่างไร ?

   ๘.  การทำวัตร คือ การทำกิจวัตรที่ต้องทำประจำ วันละ ๒ เวลา คือ เช้า-เย็น จนเป็น

        วัตรปฏิบัติ มีการสวดบูชาพระรัตนตรัย และสวดพิจารณาปัจจัยที่บริโภคเป็นต้น  

        ส่วนการสวดมนต์คือ การสวดพระพุทธมนต์ต่างๆ  นอกเหนือจากบทสวดทำวัตร 

        ที่เป็นส่วนพระสูตรก็มี ที่เป็นส่วนพระปริตรก็มี ที่เป็นส่วนเฉพาะคาถาอันนิยม

        กำหนดให้นำมาสวดประกอบในการสวดมนต์เป็นประจำก็มี ฯ

   ๙.  คำต่อไปนี้หมายถึงอะไร ?

               ก. เทศน์มหาชาติ

               ข. ทำบุญอัฐิ

               ค. สามัญอนุโมทนา

               ง. วิเสสอนุโมทนา

               จ. สลากภัต

   ๙.          ก. หมายถึง เทศนาเรื่องพระเวสสันดรชาดก

               ข. หมายถึง  ทำบุญหลังจากการปลงศพปรารภผู้ล่วงลับแล้ว

               ค. หมายถึง การอนุโมทนาที่นิยมใช้ปฏิบัติกันทั่วไปเป็นปกติ

               ง. หมายถึง   การอนุโมทนาด้วยบทสวดสำหรับอนุโมทนาเป็นพิเศษ

                              เฉพาะทาน เฉพาะกาล เฉพาะเรื่อง

               จ. หมายถึง ภัตตาหารที่ทายก ทายิกาถวายตามสลาก ฯ

๑๐.  ประเพณีการเทศน์แจงและการสวดแจงอาศัยเค้ามูลมาจากเรื่องอะไร ?  นิยมเทศน์

        ในงานอะไร ?


๑๐.  อาศัยเค้ามูลมาจากเรื่องการทำปฐมสังคายนา ซึ่งเป็นการรวบรวมพระธรรมวินัย จัดไว้

        เป็นหมวดหมู่ เรียกว่า พระไตรปิฎก ดังนั้นการเทศน์แจงจึงเป็นการแสดงธรรม

        แจกแจงวัตถุและหัวข้อในพระไตรปิฎก  ในการทำปฐมสังคายนา มีการกสงฆ์จำนวน

        ๕๐๐ รูป  การสวดแจงจึงนิยมนิมนต์พระสงฆ์ ๕๐๐ รูป ให้เท่าจำนวนการกสงฆ์

        ในครั้งนั้น ฯ

        นิยมเทศน์ในงานฌาปนกิจศพ ฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น