วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

วิชาพุทธานุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นเอก 2547

ปัญหาและเฉลยวิชาพุทธานุพุทธประวัติ  นักธรรมชั้นเอก

สอบในสนามหลวง

พ.ศ. ๒๕๔๗

   ๑.  ปัญจมหาวิโลกนะ คืออะไร ?  มีความเป็นมาอย่างไร ?

   ๑.  คือ การพิจารณาถึงความเหมาะสมใหญ่ ๕ ประการ ฯ

        มีความเป็นมาอย่างนี้ คือเมื่อพระมหาสัตว์เป็นสันตุสิตเทวราชอยู่ในดุสิตเทวโลก หมู่

        เทวดามาทูลอาราธนาให้จุติลงไปบังเกิดในครรภ์พระมารดา ในลำดับนั้น พระมหาสัตว์

        ยังมิได้ทรงให้ปฏิญญาแก่หมู่เทวดาผู้มาทูลอาราธนา ต่อเมื่อทรงพิจารณาปัญจมหา-

        วิโลกนะแลัว จึงทรงให้ปฏิญญา ฯ

   ๒.  พระอรหันตสาวกรุ่นแรกที่พระศาสดาทรงส่งไปประกาศพระศาสนา มีจำนวนเท่าไร ? 

        พระองค์ทรงประทานโอวาทแก่ท่านเหล่านั้นโดยย่อว่าอย่างไร ?

   ๒.  มีจำนวนทั้งสิ้น ๖๐ รูป ฯ

        ทรงประทานโอวาทว่า ท่านทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไปในชนบท เพื่อประโยชน์และ

        ความสุขแก่ชนเป็นอันมาก แต่อย่าไปทางเดียวกัน ๒ รูป  จงแสดงธรรมมีคุณ

        ในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง

        พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ ฯ

   ๓.  พระกาฬุทายี และ กาฬเทวิลดาบส เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าอย่างไร ?

   ๓.  พระกาฬุทายี เป็นสหชาติของพระพุทธเจ้า  ก่อนบวชท่านเป็นอำมาตย์อยู่ในกรุง

        กบิลพัสดุ์ พระเจ้าสุทโธทนะทรงส่งไปทูลนิมนต์พระพุทธเจ้าให้เสด็จกลับกรุงกบิลพัสดุ์ 

        เมื่อได้อุปสมบทแล้วจึงทูลนิมนต์พระพุทธเจ้าให้เสด็จกลับได้สำเร็จตามพระราชประสงค์ ฯ

        กาฬเทวิลดาบสคืออสิตดาบสนั่นเอง  เมื่อพระมหาบุรุษประสูติใหม่ๆ  ท่านทราบข่าว

        จึงเข้าไปเยี่ยม ได้เห็นลักษณะของพระราชโอรสต้องด้วยตำรับมหาบุรุษลักษณะ

        มีความเคารพในพระโอรสอย่างมาก จึงลุกขึ้นกราบลงที่พระบาททั้งสองด้วยศีรษะ

        ของตนแล้วกล่าวทำนายพระลักษณะตามมหาบุรุษลักษณะพยากรณศาสตร์ ฯ

   ๔.  พระอานนท์ได้ดวงตาเห็นธรรมเพราะฟังโอวาทจากใคร ? ท่านผู้ให้โอวาทนั้นเลิศทางไหน ?

   ๔.  เพราะฟังโอวาทจากพระปุณณมันตานีบุตรเถระ ฯ

        เลิศในทางเป็นพระธรรมกถึก ฯ

   ๕.  ข้อความว่า “ เราจักไม่พูดคำซึ่งเป็นเหตุเถียงกัน ถือผิดต่อกัน ”  พระศาสดาทรง

        แนะนำใคร ?  เพราะทรงเห็นโทษอย่างไร ?

   ๕.  ทรงแนะนำพระมหาโมคคัลลานะ ฯ

        เพราะว่า เมื่อคำซึ่งเป็นเหตุเถียงกันถือผิดต่อกันมีขึ้น ก็จำต้องหวังความพูดมาก 

        เมื่อความพูดมากมีขึ้นก็จะเกิดความคิดฟุ้งซ่าน  ครั้นคิดฟุ้งซ่านแล้วก็จะเกิดความ

        ไม่สำรวม  ครั้นไม่สำรวมแล้วจิตก็จะห่างจากสมาธิ ฯ

   ๖.  พระพุทธพจน์ว่า “ ทักษิณาอันบริจาคในสงฆ์ย่อมสำเร็จแก่ผู้ตายโดยฐานะ ” นั้น ท่าน

        อธิบายไว้อย่างไร ? การที่ทักษิณาจะสำเร็จประโยชน์แก่ผู้ตายโดยฐานะนั้น ต้องพร้อม

        ด้วยสมบัติ อะไรบ้าง ?

   ๖.  ท่านอธิบายไว้ว่า เปตชนผู้ไปเกิดในกำเนิดอื่น ทั้งที่เป็นทุคติ ทั้งที่เป็นสุคติ ย่อม

        เป็นอยู่ด้วยอาหารในคติที่เขาเกิด หาได้รับผลแห่งทานที่ทายกอุทิศถึงไม่  ต่อไปเกิด

        ในปิตติวิสัย จึงได้รับผลแห่งทานที่อุทิศถึงนั้น ฯ

        ต้องพร้อมด้วยสมบัติ ๓ ประการคือ การบริจาคไทยธรรมแล้วอุทิศถึงของทายก ๑

        ปฏิคาหกผู้รับไทยธรรมนั้นเป็นทักขิเณยยะ คือผู้ควรรับทักษิณา ๑ เปตชนนั้น

        ได้อนุโมทนา ๑ ฯ

   ๗.  อจลเจดีย์คืออะไร ?  ตั้งอยู่ที่เมืองอะไร ?  เกิดขึ้นเมื่อใด ?

   ๗.  คือสถานที่เป็นที่ประดิษฐานแห่งบันไดแก้ว บันไดทอง บันไดเงิน ซึ่งทอดลงมา

        จากดาวดึงสเทวโลก ฯ

        ตั้งอยู่ที่เมืองสังกัสสนคร ฯ

        เกิดขึ้นในวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงสู่มนุษยโลกหลังจากเสด็จประทับจำพรรษาใน

        ดาวดึงสเทวโลกแล้ว ฯ

   ๘.  พระพุทธองค์ทรงรับสั่งกะพระอานนท์ถึงประโยชน์ของการสร้างสถูปแล้วอัญเชิญ

        พระอัฐิธาตุ บรรจุไว้ ณ ท่ามกลางหนทาง ๔ แพร่งแห่งถนนใหญ่ไว้อย่างไร ?

   ๘.  ทรงรับสั่งไว้อย่างนี้คือ เพื่อเป็นปูชนียสถานให้มนุษย์ผู้สัญจรไปมา เกิดความเลื่อมใส

        ศรัทธา ได้สักการะบูชาด้วยระเบียบดอกไม้ของหอม อภิวาทกราบไหว้ทำจิตให้

        เลื่อมใสในพระพุทธคุณ อันจักเป็นเหตุให้เกิดประโยชน์และความสุขตลอดกาลนาน ฯ

   ๙.  พระเจ้าสุทโธทนะทรงบรรลุพระโสดาปัตติผลด้วยพระธรรมเทศนามีใจความว่าอย่างไร ? 

        ทรงบรรลุอริยผลสูงสุดชั้นไหน ?

   ๙.  มีใจความว่า ไม่พึงประมาทในบิณฑบาต พึงประพฤติธรรมให้เป็นสุจริต ผู้ประพฤติ

        ธรรมย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้ทั้งในโลกอื่น ฯ

        ชั้นพระอรหัตผล ฯ

๑๐.  พระบารมี ๑๐ ย่อมอบรมพระอัธยาศัยทำพระหฤทัยให้หนักแน่นจนสามารถพิชิตมารได้ 

        พระบารมี ๑๐ นั้น มีอะไรบ้าง ?

๑๐.  มี  ๑. ทาน  ๒. ศีล  ๓. เนกขัมมะ  ๔. ปัญญา  ๕. วิริยะ  ๖. ขันติ  ๗. สัจจะ 

        ๘. อธิษฐาน  ๙. เมตตา  ๑๐. อุเบกขา ฯ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น