วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

วิชาวินัยบัญญัติ นักธรรมชั้นโท 2547

 วิชาวินัยบัญญัติ นักธรรมชั้นโท 2547


ปัญหาและเฉลยวิชาวินัยบัญญัติ  นักธรรมชั้นโท

สอบในสนามหลวง

พ.ศ. ๒๕๔๗


   ๑.  ในพระวินัยส่วนอภิสมาจาร มีพระพุทธบัญญัติให้รักษาความสะอาดเกี่ยวกับร่างกาย

        ไว้อย่างไร ?   การเคี้ยวไม้ชำระฟันมีประโยชน์อย่างไร ?

   ๑.  มีพระพุทธบัญญัติว่าด้วยกายบริหารไว้ว่า ห้ามไว้ผมยาว ๑  ห้ามไว้หนวดเครา ๑ 

        ห้ามไว้เล็บยาว ๑  ห้ามไว้ขนจมูกยาว ๑  เมื่อถ่ายอุจจาระแล้ว น้ำมีอยู่ไม่ชำระไม่ได้ ๑  

        อนุญาตให้ใช้ไม้ชำระฟัน ๑  น้ำดื่มให้กรองก่อน ๑ ฯ

        มีประโยชน์ คือ

               ๑. ฟันไม่สกปรก             

               ๒. ปากไม่เหม็น              

               ๓. เส้นประสาทรับรสหมดจดดี

               ๔. เสมหะไม่หุ้มอาหาร       

               ๕. ฉันอาหารมีรส ฯ

   ๒.  บริขารเหล่านี้คือ ไตรจีวร ฟูกเตียง (ที่นอน) หมอนหนุนศีรษะ เตียง ผ้าปูนอน

        ผ้าเช็ดหน้า ฟูกตั่ง (เบาะ)  ผ้านิสีทนะ  อย่างไหนจัดเป็นบริขารเครื่องบริโภค อย่างไหน

        จัดเป็นบริขารเครื่องเสนาสนะ ?

   ๒.  ไตรจีวร ผ้าปูนอน ผ้าเช็ดหน้า ผ้านิสีทนะ  จัดเป็นบริขารเครื่องบริโภค

        ฟูกเตียง (ที่นอน) หมอนหนุนศีรษะ เตียง ฟูกตั่ง (เบาะ) จัดเป็นบริขารเครื่อง

        เสนาสนะ ฯ

   ๓.  ในพระวินัย ทรงอนุญาตบาตรไว้กี่ชนิด ?  อะไรบ้าง ?  และมีธรรมเนียมระวังรักษา

        บาตรอย่างกวดขันไว้อย่างไร ?

   ๓.  ทรงอนุญาตไว้ ๒ ชนิด คือ บาตรดินเผา (สุมดำสนิท) ๑  บาตรเหล็ก ๑  ฯ

        มีธรรมเนียมระวังรักษาบาตรอย่างกวดขัน คือ ห้ามไม่ให้วางบาตร เก็บบาตรไว้ในที่ๆ

        บาตรจะตกแตก และในที่จะประทุษร้ายบาตร  ห้ามคว่ำบาตรไว้ที่พื้นคมแข็งอันจะ

        ประทุษร้ายบาตร  ห้ามไม่ให้แขวนบาตร  และห้ามไม่ให้ใช้บาตรต่างกระโถน ห้ามไม่

        ให้เก็บไว้ทั้งยังเปียก  มีบาตรอยู่ในมือห้ามไม่ให้ผลักบานประตู เป็นต้น ฯ

   ๔.  จงให้ความหมายของคำดังต่อไปนี้

               ก. นิสสัย                     

               ข. วัตร

               ค. อุปัชฌายะ

               ง.  อาจารย์

               จ. สัทธิวิหาริกวัตร

   ๔.          ก. นิสสัย คือ กิริยาที่พึ่งพิง

               ข. วัตร หมายถึง ขนบคือแบบอย่าง อันภิกษุควรประพฤติในกาลนั้นๆ

                   ในที่นั้นๆ ในกิจนั้น  แก่บุคคลนั้นๆ

               ค. อุปัชฌายะ คือ ภิกษุผู้รับให้สัทธิวิหาริกพึ่งพิง

               ง.  อาจารย์ คือ ภิกษุผู้รับให้อันเตวาสิกพึ่งพิง

               จ. สัทธิวิหาริกวัตร คือ หน้าที่อันอุปัชฌายะจะพึงทำแก่สัทธิวิหาริก ฯ

   ๕.  กิจวัตรที่สัทธิวิหาริกควรกระทำแก่พระอุปัชฌายะในข้อว่า เคารพในท่าน นั้น ในบาลี

        ท่านแสดงไว้อย่างไร ?

   ๕.  ในบาลีแสดงการเดินตามท่าน ไม่ให้ชิดนัก ไม่ให้ห่างนัก และไม่พูดสอดในขณะที่

        ท่านกำลังพูด เมื่อท่านพูดผิด ไม่ทักหรือค้านอย่างจังๆ พูดอ้อมพอท่านได้สติรู้สึกตัว

        จึงจะเป็นการดี ฯ

   ๖.  การตั้งญัตติกรรม ในเวลาทำอุโบสถ มีคำว่า ปตฺตกลฺลํ แปลว่า ความพรั่งพร้อม นั้น

        หมายความว่าอย่างไร ?

   ๖.  หมายความว่า การทำอุโบสถกรรมนั้น ต้องประกอบด้วยองค์ ๔ คือ

               ๑. วันนั้น เป็นวันอุโบสถที่ ๑๔ หรือ ๑๕ หรือวันสามัคคี วันใดวันหนึ่ง

               ๒. ภิกษุประชุมครบองค์ประชุม

               ๓. พวกเธอไม่ต้องสภาคาบัติ

               ๔. บุคคลที่ควรเว้นไม่มีในที่ประชุม ฯ

   ๗.  ในอาวาสแห่งหนึ่งมีภิกษุจำพรรษาแรก ๔ รูป พรรษาหลัง ๒ รูป เมื่อถึงวันปวารณา

        แรก (เพ็ญเดือน ๑๑) และวันปวารณาหลัง (เพ็ญเดือน ๑๒) เธอทั้ง ๖ รูปนั้น

        จะปฏิบัติอย่างไร ?

   ๗.  เมื่อถึงวันปวารณาแรก พึงประชุมกันทั้ง ๖ รูปแล้ว ตั้งสังฆญัตติ ภิกษุผู้จำพรรษาแรก

        ๔ รูปพึงปวารณา  เมื่อเสร็จแล้วภิกษุอีก ๒ รูปพึงทำปาริสุทธิอุโบสถ ในสำนักภิกษุ

        ๔ รูปนั้น เมื่อถึงวันปวารณาหลัง พึงประชุมกัน ๖ รูปเช่นเดียวกันแล้ว ภิกษุผู้จำ

        พรรษาแรก ๔ รูป พึงตั้งญัตติสวดปาฏิโมกข์  เมื่อจบแล้วภิกษุ ๒ รูป พึงปวารณา

        ในสำนักภิกษุ ๔ รูปนั้น ฯ

   ๘.  ภิกษุบิณฑบาตได้สับปะรดแล้ว นำมาฉันรวมกับน้ำตาลทรายและเกลือซึ่งรับประเคน

        ไว้แล้ว ๒ วัน  จะต้องอาบัติอะไรหรือไม่ ?  เพราะเหตุไร ?

   ๘.  ต้องอาบัติปาจิตตีย์  เพราะน้ำตาลทรายเป็นสัตตาหกาลิก เกลือเป็นยาวชีวิก  เมื่อ

        นำมาฉันรวมกับสับปะรดซึ่งเป็นยาวกาลิก จึงมีคติเป็นยาวกาลิก ทำให้ต้องอาบัติ

        ปาจิตตีย์ เพราะฉันของเป็นสันนิธิ ฯ

   ๙.  ภัณฑะเช่นไรที่จัดเป็นของสงฆ์ ?  กำหนดไว้กี่ประเภท ?  อะไรบ้าง ?  บิณฑบาต กุฎี

        ที่ดิน จีวร ประคดเอว และเสนาสนะ เป็นภัณฑะประเภทไหน ?

   ๙.  ภัณฑะที่เขาถวายเป็นสาธารณะแก่หมู่ภิกษุ ไม่เฉพาะตัว หรือภัณฑะอันภิกษุรับก็ดี                    ปกครองหวงห้ามไว้ก็ดีด้วยความเป็นสาธารณะแก่หมู่ภิกษุ จัดเป็นของสงฆ์ ฯ

        กำหนดไว้ ๒ ประเภทคือ ครุภัณฑ์ ๑  ลหุภัณฑ์ ๑ ฯ

        บิณฑบาต จีวร ประคดเอว จัดเป็นลหุภัณฑ์

        กุฎี ที่ดิน และเสนาสนะ จัดเป็นครุภัณฑ์ ฯ

๑๐.  มหาปเทส คืออะไร ?  น้ำตาลสด มิได้ทรงอนุญาตไว้โดยตรงให้ภิกษุฉันได้เหมือน

        น้ำอ้อย แต่ฉันได้เพราะอะไร ?  จงตอบให้มีหลัก

๑๐.  คือ ข้อสำหรับอ้างใหญ่ ฯ

        แม้มิได้ทรงอนุญาตโดยตรงให้ภิกษุฉันได้ก็จริง  แต่เพราะน้ำตาลสดเป็นของมี

        รสหวาน สำเร็จประโยชน์เช่นเดียวกันกับรสหวานแห่งอ้อย ชื่อว่าเป็นของเข้ากันกับ

        รสหวานแห่งอ้อย ดังมีระบุไว้ในมหาปเทศ ๔  ข้อว่า สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าควร

        แต่เข้ากันกับสิ่งเป็นกัปปิยะ ขัดกันต่อสิ่งเป็นอกัปปิยะ สิ่งนั้นควร ฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น