วันเสาร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

วิชาธรรม นักธรรมชั้นโท 2547

 วิชาธรรม นักธรรมชั้นโท 2547


ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม  นักธรรมชั้นโท

สอบในสนามหลวง

พ.ศ. ๒๕๔๗


   ๑.  วิมุตติ คืออะไร ?  ตทังควิมุตติ มีอธิบายอย่างไร ?

   ๑.  คือ ความทำจิตใจให้หลุดพ้นจากกิเลสาสวะ ฯ

        มีอธิบายว่า  ความพ้นจากกิเลสได้ชั่วคราว  เช่นเกิดเหตุเป็นที่ตั้งแห่งสังเวชขึ้น

        หายกำหนัดในกาม  เกิดเมตตาขึ้น หายโกรธ  แต่ความกำหนัดและความโกรธนั้น

        ไม่หายทีเดียว ทำในใจถึงอารมณ์งาม ความกำหนัดกลับเกิดขึ้นอีก  ทำในใจถึงวัตถุ

        แห่งอาฆาต ความโกรธกลับเกิดขึ้นอีก  อย่างนี้จัดเป็นตทังควิมุตติ ฯ

   ๒.  สังขารทั้งหลายไม่เป็นอนัตตาหรือ เพราะเหตุไรในธรรมนิยามจึงใช้คำว่า ธรรมทั้งหลาย

        เป็นอนัตตา ?  จงอธิบาย

   ๒.  สังขารทั้งหลายก็เป็นอนัตตา  แต่ที่ใช้คำว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา นั้น เพราะ

        ธรรมนั้นหมายเอาธรรมคือสังขตธรรมและอสังขตธรรม สังขตธรรมได้แก่สังขารนั่นเอง

        อสังขตธรรมได้แก่วิสังขารคือพระนิพพาน ฯ

   ๓.  ความรู้ชั้นวิปัสสนาภาวนา หมายถึงความรู้อย่างไร ?

   ๓.  หมายถึง ความรู้เท่าทันสภาวธรรมตามความเป็นจริง  เห็นอาการแห่งสภาวธรรม

        โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ซึ่งเรียกว่าสามัญญลักษณะ ฯ

   ๔.  ภิกษุผู้ได้รับการสรรเสริญว่าดำรงอยู่ในอริยวงศ์ เพราะเป็นผู้ปฏิบัติอย่างไร ? เมื่อ

        ดำรงอยู่ในอริยวงศ์ถูกต้องดีแล้วจะได้รับผลอย่างไร ?

   ๔.  เพราะเป็นผู้สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะตามมีตามได้ และยินดีในการเจริญ

        กุศลและในการละอกุศล  ไม่ยกตนข่มผู้อื่น ขยัน ไม่เกียจคร้าน มีสัมปชัญญะ มีสติ ฯ

        ย่อมได้รับผลคือความสุขใจและปลอดโปร่งใจเพราะความประพฤติดีปฏิบัติชอบของตน

        และไม่ต้องเดือดร้อนใจเพราะความเดือดร้อนเนื่องด้วยการแสวงหาไม่สมควรและ

        ประพฤติเสียหายโดยประการต่างๆ ย่อมครอบงำความยินดีและความไม่ยินดีเสียได้  

        ความยินดีและความไม่ยินดีก็ไม่อาจครอบงำท่านได้ และใครๆ ก็ไม่อาจติเตียนท่านได้ ฯ

   ๕.  วิญญาณกับสัญญา ทำหน้าที่ต่างกันอย่างไร ?

   ๕.  ทำหน้าที่ต่างกันอย่างนี้คือ วิญญาณทำหน้าที่รู้แจ้งอารมณ์ที่เกิดขึ้น เมื่ออายตนะภายใน

        และอายตนะภายนอกมากระทบกัน เช่น เมื่อรูปมากระทบตา เกิดการเห็นขึ้นเป็นต้น 

        ส่วนสัญญา ทำหน้าที่จำได้หมายรู้เท่านั้น คือหมายรู้ไว้ซึ่งรูป เสียง กลิ่น รส

        โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ ว่า เขียว ขาว ดำ แดง ดัง เบาเป็นต้น ฯ

   ๖.  พระธรรมคุณบทว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส

        ดีแล้ว  ที่ว่า ดีแล้ว นั้นมีอธิบายอย่างไร ?

   ๖.  มีอธิบายอย่างนี้คือ ดีทั้งในส่วนปริยัติและดีทั้งในส่วนปฏิเวธ  ในส่วนปริยัติ ได้ชื่อว่าดี

        เพราะตรัสไม่วิปริต เพราะแสดงข้อปฏิบัติโดยลำดับกัน มีความไพเราะในเบื้องต้น

        ท่ามกลาง ที่สุด มีทั้งอรรถทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง และเพราะประกาศ

        พรหมจรรย์อย่างนั้น   ส่วนในปฏิเวธนั้น ได้ชื่อว่าดี เพราะปฏิปทากับพระนิพพาน

        ย่อมสมควรแก่กันและกัน ฯ

   ๗.  อายตนะภายใน อายตนะภายนอกเป็นต้น ได้ชื่อว่า ปิยรูป สาตรูป เพราะเหตุไร ? 

        โดยตรง เป็นที่เกิดเป็นที่ดับแห่งกิเลสอะไร ?

   ๗.  เพราะเป็นสภาวะที่รักที่ชื่นใจ ด้วยเพ่งอิฏฐารมณ์เป็นที่ตั้ง ฯ  เป็นที่เกิด เป็นที่ดับ

        แห่งตัณหา ฯ

   ๘.  อริยบุคคล ๘ ได้แก่ใครบ้าง ?  จัดเข้าในพระเสขะและพระอเสขะได้อย่างไร ?

   ๘.  ได้แก่ พระผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค ๑

               พระผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล ๑

               พระผู้ตั้งอยู่ในสกทาคามิมรรค ๑

               พระผู้ตั้งอยู่ในสกทาคามิผล ๑

               พระผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิมรรค ๑

               พระผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิผล ๑

               พระผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรค ๑

               พระผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตผล ๑  ฯ

        จัดเข้าได้อย่างนี้  อริยบุคคล ๗ ประเภทแรก เรียกว่า พระเสขะ   อริยบุคคล ๑

        ประเภทหลัง เรียกว่า พระอเสขะ ฯ

   ๙.  อัตตกิลมถานุโยค กับ การบำเพ็ญธุดงควัตร ต่างกันอย่างไร ?  เตจีวริกังคธุดงค์

        หมายความว่าอย่างไร ?

   ๙.  ต่างกันอย่างนี้  อัตตกิลมถานุโยค การทรมานตนให้ลำบากเพื่อให้บาปกรรมหมดไป

        เพราะการทรมานนั้น หรือเพื่อบูชาพระเจ้า ซึ่งเมื่อทราบแล้วจะทรงโปรดให้ประสบผล

        ที่น่าปรารถนา ส่วนการบำเพ็ญธุดงควัตร บัญญัติขึ้นเพื่อจะให้เป็นอุบายขัดเกลากิเลส

        และเป็นไปเพื่อความมักน้อยสันโดษ ฯ

        เตจีวริกังคธุดงค์ หมายถึง ธุดงค์ของภิกษุผู้ถือเตจีวริกังคะ ย่อมไม่ใช้จีวรผืนที่ ๔

        นุ่งห่มเฉพาะไตรจีวรอันเป็นผ้าอธิษฐาน ฯ

๑๐.  คำว่า ทิพพจักษุ คือ ตาทิพย์ ในนิทเทสแห่งวิชชา ๓  หมายถึงเห็นอย่างไร ?

๑๐.  หมายถึง การเห็นเหล่าสัตว์ที่กำลังจุติ กำลังเกิด เลว ดี มีผิวพรรณงาม มีผิวพรรณ

        ไม่งาม ได้ดี ตกยาก รู้ชัดว่าเหล่าสัตว์เป็นไปตามกรรม ฯ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น