วันเสาร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2560

หมวด ๔

หมวด ๔
กรรมกิเลส คือ กรรมเครื่องเศร้าหมอง ๔ อย่าง
๑.  ปาณาติบาต ทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง
๒.  อทินนาทาน ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยอาการแห่งขโมย
๓.  กาเมสุ มิจฉาจาร ประพฤติผิดในกาม
๔.  มุสาวาท พูดเท็จ
กรรม ๔ อย่างนี้ นักปราชญ์ไม่สรรเสริญเลย
อบายมุข คือ เหตุเครื่องฉิบหาย ๔ อย่าง
๑.   ความเป็นนักเลงหญิง
๒.   ความเป็นนักเลงสุรา
๓.   ความเป็นนักเลงเล่นการพนัน
๔.   ความคบคนชั่วเป็นมิตร
โทษ ๔ ประการนี้ไม่ควรประกอบ
ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน ๔ อย่าง
๑.  อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่นในการประกอบกิจเครื่องเลี้ยงชีวิตก็ดี ในการศึกษาเล่าเรียนก็ดี ในการทำธุระหน้าที่ของตนก็ดี
๒.  อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษา คือรักษาทรัพย์ที่แสวงหามาได้ด้วยความหมั่น ไม่ให้เป็นอันตรายก็ดี รักษาการงานของตัว ไม่ให้เสื่อมเสียไปก็ดี
๓.  กัลยาณมิตตตา ความมีเพื่อนเป็นคนดีไม่คบคนชั่ว
๔.  สมชีวิตา ความเลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หาได้ ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ไม่ให้ฟูมฟายนัก
สัมปรายิกัตถประโยชน์ คือ ประโยชน์ภายหน้า ๔ อย่าง
๑.  สัทธาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศรัทธา คือเชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ เช่นเชื่อว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วเป็นต้น
๒.  สีลสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศีล คือรักษากายวาจาเรียบร้อยดี ไม่มีโทษ
๓.  จาคสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการบริจาคทาน เป็นการเฉลี่ยสุขให้แก่ผู้อื่น
๔.  ปัญญาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยปัญญา รูจัก บาป บุญ คุณ โทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ เป็นต้น
มิตตปฏิรูป คือ คนเทียมมิตร ๔ จำพวก
๑.  คนปอกลอก
๒.  คนดีแต่พูด
๓.  คนหัวประจบ
๔.   คนชักชวนในทางฉิบหาย
คน ๔ จำพวกนี้ ไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตร ไม่ควรคบ
๑.  คนปอกลอก มีลักษณะ ๔
๑. คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว
๒. เสียให้น้อยคิดเอาให้ได้มาก
๓. เมื่อมีภัยแก่ตัว จึงรับเอากิจของเพื่อน
๔. คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ประโยชน์ของตัว
๒.   คนดีแต่พูด มีลักษณะ ๔
๑. เก็บเอาของล่วงแล้วมาปราศรัย
๒. อ้างเอาของที่ยังไม่มีมาปราศรัย
๓. สงเคราะห์ด้วยสิ่งหาประโยชน์มิได้
๔. ออกปากพึ่งมิได้
๓.   คนหัวประจบ มีลักษณะ ๔
๑. จะทำชั่วก็คล้อยตาม
๒. จะทำดีก็คล้อยตาม
๓. ต่อหน้าว่าสรรเสริญ
๔. ลับหลังตั้งนินทา
๔.  คนชักนำในทางฉิบหาย มีลักษณะ ๔
๑. ชักชวนดื่มน้ำเมา
๒. ชักชวนเที่ยวกลางคืน
๓. ชักชวนให้มัวเมาในการเล่น
๔. ชักชวนเล่นการพนัน
มิตรแท้ ๔ จำพวก
๑.  มิตรมีอุปการะ
๒.   มิตรร่วมทุกข์ร่วมสุข
๓.   มิตรแนะนำประโยชน์
๔.   มิตรมีความรักใคร่
มิตร ๔ จำพวกนี้เป็นมิตรแท้ ควรคบ
๑.   มิตรมีอุปการะ มีลักษณะ ๔
๑. ป้องกันเพื่อนผู้ประมาทแล้ว
๒. ป้องกันทรัพย์สมบัติของเพื่อนผู้ประมาทแล้ว
๓. เมื่อมีภัย เป็นที่พึ่งพำนักได้
๔. เมื่อมีธุระ ช่วยออกทรัพย์ให้เกินกว่าที่ออกปาก
๒.    มิตรร่วมทุกข์ร่วมสุข มีลักษณะ ๔
๑. ขยายความลับของตนแก่เพื่อน
๒. ปิดความลับของเพื่อนไม่ให้แพร่งพราย
๓. ไม่ละทิ้งในยามวิบัติ
๔. แม้ชีวิตก็อาจสละแทนได้
๓.    มิตรแนะนำประโยชน์ มีลักษณะ ๔
๑. ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว
๒. แนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี
๓. ให้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
๔. บอกทางสวรรค์ให้
๔.    มิตรมีความรักใคร่ มีลักษณะ ๔
๑. ทุกข์ ๆ ด้วย
๒. สุข ๆ ด้วย
๓. โต้เถียงคนอื่นที่ติเตียนเพื่อน
๔. รับรองคนที่พูดสรรเสริญเพื่อน
สังคหวัตถุ ๔ อย่าง
๑.  ทาน ให้ปันสิ่งของ ๆ ตนแก่ผู้อื่นที่ควรให้ปัน
๒.  ปิยวาจา เจรจาวาจาที่อ่อนหวาน
๓.  อัตถจริยา ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น
๔.  สมานัตตตา ความเป็นคนมีตนเสมอไม่ถือตัว
คุณทั้ง ๔ อย่างนี้ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของผู้อื่นไว้ได้
สุขของคฤหัสถ์ ๔ อย่าง
๑.   สุขเกิดแต่ความมีทรัพย์
๒.   สุขเกิดแต่การจ่ายทรัพย์บริโภค
๓.   สุขเกิดแต่ความไม่ต้องเป็นหนี้
๔.   สุขเกิดแต่ประกอบการงานที่ปราศจากโทษ
ความปรารถนาของบุคคลในโลกที่ได้สมหมายด้วยยาก ๔ อย่าง
๑.   ขอสมบัติจงเกิดแก่เราโดยทางชอบ
๒.   ขอยศจงเกิดแก่เรากับญาติพวกพ้อง
๓.   ขอเราจงรักษาอายุให้ยืนนาน
๔.   เมื่อสิ้นชีวิตแล้ว ขอเราจงไปบังเกิดในสวรรค์
ธรรมเป็นเหตุให้สมหมายมีอยู่ ๔ อย่าง
๑.  สัทธาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศรัทธา
๒.  สีลสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศีล
๓.  จาคสัมปทา ถึงพร้อมด้วยบริจาคทาน
๔.  ปัญญาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยปัญญา
ตระกูลอันมั่นคงจะตั้งอยู่นานไม่ได้เพราะสถาน ๔
๑.   ไม่แสวงหาพัสดุที่หายแล้ว
๒.   ไม่บูรณะพัสดุที่คร่ำคร่า
๓.   ไม่รู้จักประมาณในการบริโภคสมบัติ
๔.   ตั้งสตรีให้บุรุษทุศีลให้เป็นแม่เรือนพ่อเรือน
ผู้หวังจะดำรงตระกูลควรเว้นสถาน ๔ ประการนี้เสีย
ธรรมของฆราวาส ๔
๑.  สัจจะ สัตย์ซื่อแก่กัน
๒.  ทมะ รู้จักข่มจิตของตน
๓.  ขันติ อดทน

๔.  จาคะ สละให้ปันสิ่งของของตนแก่ผู้อื่นที่ควรให้ปัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น