วันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2560

หลักสำคัญในการรักษาศีล

หลักสำคัญในการรักษาศีล
ผู้ที่จะรักษาศีล พึงทราบหลักในทางวิชาการ และทางปฏิบัติ โดยย่อ คือ
๑. ความมุ่งหมายในการรักษาศีลห้า
๒. ข้อห้ามของผู้รักษาศีลห้า
๑. ความมุ่งหมายในการรักษาศีลห้า
ดังได้กล่าวมาแล้วว่า การรักษาศีลห้ามีความมุ่งหมายในการป้องกันตนไม่ให้เสียหาย ของทุกสิ่งทุกอย่าง มันจะดีหรือจะเสีย จะคงทนถาวรหรือชำรุดหักพังโดยง่าย สำคัญอยู่ที่พื้นฐานของสิ่งนั้น ฉะนั้น ช่างก่อสร้างที่เขาจะสร้างตึก จึงต้องตอกเสาเข็มลงรากตรงจุดที่จะรับน้ำหนักไว้แข็งแรง
ชีวิตของคฤหัสถ์ก็เช่นเดียวกัน ต้องแบกน้ำหนัก เพราะเรื่องครอบครัว เรื่องหน้าที่การงาน เรื่องยากดีมีจน ความสุขความทุกข์ร้อยแปด จำจะต้องสร้างพื้นฐานของชีวิตให้มั่นคง จึงจะรับน้ำหนักไว้อย่างปลอดภัย
เราคงจะเคยเห็นคนที่มีพื้นฐานชีวิตไม่ดีพอ พอตนจะต้องรับภาระหรือกระทบกระแทกเข้า เลยต้องกระทำความผิดถึงติดคุกติดตะรางก็มี นั่นแสดงความที่ชีวิตพังทลายไป น่าเสียดายมาก
ทางศาสนาชี้จุดสำคัญที่จะต้องสร้างพื้นฐานไว้ให้มั่นคงเป็นพิเศษ ๕ จุด เป็นการปิดช่องทางที่ตัวเองจะเสีย ๕ ทางด้วยกัน และวิธีที่ว่าก็คือ การรักษาศีล ๕ ข้อ
ศีลข้อที่ ๑ ป้องกันทางที่ตนจะเสียหาย เพราะความโหดร้าย
ศีลข้อที่ ๒ ป้องกันทางที่ตนจะเสียหาย เพราะความมือไว
ศีลข้อที่ ๓ ป้องกันทางที่ตนจะเสียหาย เพราะความใจเร็ว
ศีลข้อที่ ๔ ป้องกันทางที่ตนจะเสียหาย เพราะความขี้ปด
ศีลข้อที่ ๕ ป้องกันทางที่ตนจะเสียหาย เพราะความขาดสติ
หมายความว่า ชีวิตของคฤหัสถ์ทั้งหลาย มักจะพังทลายใน ๕ อย่างนี้ คือ
๑. ความโหดร้ายในสันดาน
๒. ความอยากได้ทรัพย์ของคนอื่นในทางที่ผิด ๆ
๓. ความร่านในทางกามเกี่ยวกับเพศตรงข้าม
๔. ความไม่มีสัจจะประจำใจ
๕. ความประมาทขาดสติ สัมปชัญญะ
วิธีแก้ก็คือ การหันเข้ามาปรับพื้นฐานสันดานของตนเอง โดยรักษาด้วยเบญจศีล

๒. ข้อห้ามของผู้รักษาศีล ๕
ความเบียดเบียนกันทางโลก ซึ่งเป็นไปโดยกายทวาร ย่อเป็น ๓ ประการ คือ
๑. เบียดเบียนชีวิตร่างกาย
๒. เบียดเบียนทรัพย์สมบัติ
๓. เบียดเบียนประเพณี คือ ทำเชื้อสายของผู้อื่นให้สับสน
ความประพฤติเสียด้วยวาจา อันมีมุสาวาท คือ กล่าวคำเท็จเป็นที่ตั้ง คนจะประพฤติก็เพราะความประมาท และความประมาทนั้น ไม่มีมูลอื่นที่ยิ่งกว่า น้ำเมา เมื่อดื่มเข้าไปแล้ว ย่อมทำให้ความคิดวิปริตทันที เหตุนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้า เป็นต้น เล็งเห็นการณ์นี้จึงบัญญัติศีลมีองค์ ๕ ไว้ดังกล่าวแล้ว
คำอาราธนาศีล หมายความว่า การนิมนต์ หรือ เชิญพระภิกษุ หรือผู้ใดผู้หนึ่งให้เป็นผู้ให้ศีล
คำสมาทานศีล หมายความว่า การว่าตามผู้ที่เราอาราธนามาเพื่อให้ศีล ตั้งแต่ นโม ตสฺส ภควโต เป็นต้นไป
องค์แห่งศีลอย่างหนึ่งๆ เรียกว่า "สิกขาบท" ศีลมีองค์ ๕ จึงเป็นสิกขาบท ๕ ประการ รวมเรียกว่า เบญจศีล
การรักษาศีล คือ การตั้งเจตนางดเว้น จากการทำความผิดดังท่านบัญญัติไว้ เป็นเรื่องที่ตั้งใจงด ตั้งใจเว้น ตั้งใจไม่ทำอีก ต้องมี "ความตั้งใจ" กำกับไว้เสมอ
ไม่ใช่เพราะมีเหตุอื่นบังคับตน จึงไม่ทำความผิด แต่ไม่ทำเพราะตนเองได้ ตั้งใจไว้ว่าจะงดเว้น ความตั้งใจดังว่ามานี้ ทางศาสนา เรียกว่า "วิรัติ" คือ เจตนาที่งดเว้นจากความชั่ว
วิรัติ
ผู้ปฏิบัติตามสิกขาบท ๕ ประการนั้น ย่อมมีวิรัติด้วย วิรัติมี ๓ ประการ คือ
๑. สัมปัตตวิรัติ เว้นจากวัตถุที่จะพึงล่วงได้อันมาถึงเฉพาะหน้า ได้แก่ วิรัติของคนทั่วไป
๒. สมาทานวิรัติ เว้นด้วยอำนาจการถือเป็นกิจวัตร ได้แก่ พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา
๓. สมุจเฉทวิรัติ เว้นด้วยตัดขาด มีอันไม่ทำอย่างนั้นเป็นปกติ ได้แก่ พระอริยเจ้า (พระอรหันต์)
ศัพท์ที่ควรรู้
คำว่า รูปธรรมนามธรรม

คนที่เกิดมาอาศัยเหตุแต่ขึ้น คุมธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ขึ้นเป็นร่างกาย เรียกว่า รูปธรรม แต่เพราะอาศัยความพร้อมเพรียงแห่งธาตุ ๔ จึงมีใจ รู้จักคิดตริตรอง และรู้สึกกำหนดหมายต่างๆ จึงเรียกว่า นามธรรม ถ้ารวมรูปธรรม และนามธรรม เข้าด้วยกันเรียกว่า สังขาร ซึ่งแปลว่า สิ่งที่เหตุแต่งขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น