วันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2560

เบญจธรรม คือ ธรรม ๕ ข้อ

เบญจธรรม คือ ธรรม ๕ ข้อ
๑. เมตตา กรุณาคู่กับ ศีลข้อที่ ๑
๒. สัมมาอาชีวะ คู่กับ ศีลข้อที่ ๒
๓. ความสำรวมในกาม คู่กับ ศีลข้อที่ ๓
๔. ความมีสัตย์ คู่กับ ศีลข้อที่ ๔
๕. ความมีสติรอบคอบ คู่กับ ศีลข้อที่ ๕
ศัพท์ที่ควรรู้
คำว่า "ธรรม" ได้แก่ สภาพที่ทรงไว้ หมายความว่า ทรงสัตว์ผู้ปฏิบัติธรรมไว้ไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว
"กัลยาณชน" ได้แก่ คนที่ตั้งอยู่ในกัลยาณธรรม เป็นคนมีความประพฤติงาม เป็นที่นิยมนับถือของคนทั่วไป
ข้อความเบื้องต้น
มนุษย์ที่เกิดมาในโลกนี้ ย่อมมีรูปพรรณสัณฐานเป็นต่างๆ กัน บางคนก็มีรูปงาม บางคนก็มีรูปทราม ทั้งนี้ย่อมแล้วแต่เหตุจะตกแต่งให้ เหตุดีก็ตกแต่งให้มีรูปงาม เหตุชั่วก็ตกแต่งให้มีรูปทราม เพราะเลือกเอาตามใจหวังไม่ได้ คนมีรูปงามก็เป็นที่นิยมชมชอบของผู้พบเห็น ถ้ามีรูปเลวทรามก็ตรงกันข้าม เหมือนดอกไม้ที่งามและไม่งาม ถ้าเป็นดอกไม้งามและมีกลิ่นหอม ก็ย่อมเป็นที่ชอบใจของคนทั่วไป ถ้าเป็นดอกไม้ไม่งามทั้งไร้กลิ่นหอมด้วยแล้ว ยิ่งไม่มีคนปรารถนาเลย
คนเราก็เช่นเดียวกัน ถ้ารูปงามน้ำใจดี ย่อมเป็นที่รักใคร่นิยมชมชอบของผู้พบเห็น ถ้ารูปงามหากไร้คุณธรรมประจำใจ ก็สู้คนรูปชั่วเลวทราม แต่มีคุณธรรมประจำใจไม่ได้ รูปพรรณสัณฐานได้มาอย่างไร ย่อมเป็นอยู่อย่างนั้น ดัดแปลงแก้ไขไม่ได้ แต่ใจนั้นก็มักเป็นไปตามพื้นเดิม ถึงอย่างนั้นก็ยังมีทางแก้ไขได้ ด้วยความตั้งใจอันดีเหมือนของที่ไม่หอมมาแต่เดิม เขายังอบให้หอมได้ แต่ธรรมดาใจนั้นมักผันแปรไม่แน่นอนมั่นคงลงได้ นักปราชญ์มีพระพุทธเจ้า เป็นต้น จึงได้กำหนดวางแบบแผนความประพฤติไว้เป็นหลักฐาน
การตั้งใจประพฤติตามบัญญัตินั้น ชื่อว่า "ศีล" ศีลนี้เป็นแนวทางสำหรับให้คนประพฤติความดี คนเราแรกจะประพฤติความดี ถ้าไม่ถืออะไรเป็นหลัก ใจย่อมไม่มั่นคง อาจเอนเอียงไปหาทุจริตอีกได้ เพราะโมหะครอบงำเมื่อบำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์เป็นปกติมารยาทได้แล้ว ถึงจะประพฤติคุณธรรมอย่างอื่น ก็มักยั่งยืน ไม่ผันแปร นี้แลเป็นประโยชน์แห่งการบัญญัติศีลขึ้น
ความมุ่งหมายอันดับแรกพึงรู้ว่า การรักษาศีล หรือที่เรียกว่า "เบญจศีล" นี้ เป็นการรักษาตนเอง เป็นการป้องกันตนเอง ไม่ให้เสียคน หรือที่เรียกว่า เสียตัว เพราะตัวเราแต่ละคนนั้น เป็นของหายากและมีจำกัด คือ มีตัวเดียวเท่านั้น ไม่มีตัวแทน อยู่ก็อยู่หมด เสียก็เสียหมด เป็นพระก็เป็นหมด เป็นโจรก็เป็นหมด หรือเข้าคุกก็เข้าหมด เช่นเดียวกัน

การรักษาศีลห้านั้น มีความมุ่งหมายก็คือ ให้รักษาตนเองไว้ไม่ให้เสียหาย และยังมีผลพลอยได้อีกมากทั้งครอบครัว ทางสังคม ประเทศชาติ และเป็นพื้นฐานให้ตนเองบำเพ็ญ สมาธิ-ปัญญา จนได้มรรคผล นิพพาน พึงทราบว่าคนไม่มีศีล ย่อมไม่อาจบำเพ็ญสมาธิ ปัญญา ให้ได้ผลเต็มที่ได้ฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น