วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

วิชาพุทธานุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นเอก 2549

ปัญหาและเฉลยวิชาพุทธานุพุทธประวัติ  นักธรรมชั้นเอก

สอบในสนามหลวง

วันเสาร์ ที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๙

   ๑.  บุพพนิมิต ๕ ประการที่เกิดแก่พระโพธิสัตว์ ก่อนจะจุติลงปฏิสนธิ

        ในครรภ์พระมารดาคืออะไรบ้าง ?

   ๑. คือ

               ๑. ดอกไม้ทิพย์ประดับกายเหี่ยวแห้ง

               ๒. ผ้าภูษาทรงมีสีเศร้าหมอง

               ๓. เหงื่อไหลออกจากรักแร้

               ๔. ร่างกายปรากฏชรา

               ๕. พระทัยกระสันเป็นทุกข์ เหนื่อยหน่ายจากเทวโลก ฯ

  ๒.  สัมปทาคุณ ๓ ประการของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คืออะไรบ้าง ? เกิดผลดี

        อย่างไร ?

  ๒.  คือ

               ๑.   เหตุสัมปทา คือการบำเพ็ญบารมีมาอย่างครบถ้วน

               ๒.  ผลสัมปทา คือการที่ทรงได้รับผลของบารมี ทำให้มีรูปกาย

                     ประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ อานุภาพ การละกิเลสและ

                     พระญาณหยั่งรู้ เป็นต้น

               ๓.  สัตตูปการสัมปทา คือการที่ทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่ชาวโลก

                     ด้วยพระทัยที่บริสุทธิ์ ฯ

        ทำให้พระองค์ทรงเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาและความเลื่อมใสของบัณฑิตชน              ทั้งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจะพึงปรารภเป็นอารมณ์แล้วก่อสร้าง

        สั่งสมบุญกุศลให้ไพบูลย์ ฯ

  ๓.  เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูติ มีปาฏิหาริย์อะไรเกิดขึ้นบ้าง ?

  ๓.  มีปาฏิหาริย์ ๗ อย่าง คือ

               ๑. พระมารดาทรงประทับยืน

               ๒. ประสูติไม่เปรอะเปื้อนด้วยครรภมลทิน

               ๓. มีเทวดามาคอยรับก่อน

               ๔. มีธารน้ำร้อนน้ำเย็นตกลงมาจากอากาศสนานพระกาย

               ๕. เมื่อประสูติออกมาทรงเดินได้ ๗ ก้าว

               ๖. ทรงเปล่งวาจาเป็นบุพพนิมิตแห่งพระสัมมาสัมโพธิญาณ

               ๗. แผ่นดินไหว ฯ

   ๔.  ในการบำเพ็ญเพียรเพื่อบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณของพระโพธิสัตว์

        อยากทราบว่าการบำเพ็ญทุกรกิริยาและอุปมา ๓ ข้อ อย่างไหนเกิดก่อน ?

        ทรงมีเหตุผลอย่างไร ?

   ๔.  อุปมา ๓ ข้อเกิดก่อน การบำเพ็ญทุกรกิริยาเกิดภายหลัง ฯ

        เพราะเมื่ออุปมา ๓ ข้อ มาปรากฏแก่พระองค์แล้ว ทรงคิดจะบำเพ็ญเพียร

        เพื่อป้องกันจิตไม่ให้น้อมไปในกามารมณ์ได้ จึงทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา ฯ

   ๕.  อปาณกฌาน ได้แก่อะไร ? พระพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญครั้งไหน ? และ

        ได้รับผลอย่างไร ?

   ๕.  ได้แก่ความเพ่งไม่มีปราณ คือไม่มีลมอัสสาสะปัสสาสะ โดยเนื้อความ

        ก็คือกลั้นลมหายใจไม่ให้ดำเนินทางจมูกและทางปาก ฯ

        ได้ทรงบำเพ็ญในคราวทรงทำทุกรกิริยา ฯ

        ไม่ได้รับผลที่ทรงมุ่งหวังกลับเป็นการทรมานร่างกายให้ลำบากเปล่า ฯ

   ๖.  “สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่ข้าพเจ้าๆ ไม่ชอบใจหมด” เป็นคำพูดของใคร ?

        พระพุทธองค์ ตรัสตอบว่าอย่างไร ?

   ๖.  เป็นคำพูดของทีฆนขะ อัคคิเวสสนโคตร ฯ

        ตรัสตอบว่า ถ้าอย่างนั้น ความเห็นอย่างนั้น ก็ต้องไม่ควรแก่ท่าน ท่าน

        ก็ต้องไม่ชอบความเห็นอย่างนั้น ฯ

  ๗.  พระศาสดารับสั่งให้ท่านพระมหากัสสปะทรงจีวรที่คฤหบดีถวายเป็นต้น              แต่ท่านมิได้ทำตาม เพราะเห็นอำนาจประโยชน์อะไร ?

  ๗.  เห็นประโยชน์ ๒ อย่าง คือ

               ๑.   การอยู่เป็นสุขในบัดนี้ของตน

               ๒.  การอนุเคราะห์ประชุมชนในภายหลัง ประชุมชนในภายหลัง

                     ทราบว่าสาวกของพระพุทธเจ้าไม่ประพฤติตนอย่างนั้น จักถึง

                     ทิฏฐานุคติ ปฏิบัติตามที่ตนได้เห็นได้ยิน ความปฏิบัตินั้น จัก

                     เป็นไปเพื่อประโยชน์และสุขแก่เขาสิ้นกาลนาน ฯ

  ๘.  ก่อนที่ท่านพระโมฆราชจะมาเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา ท่านเคยเป็น

        ศิษย์ของใคร ?  ผู้นั้นตั้งสำนักสอนอยู่ที่ไหน ?

  ๘.  เป็นศิษย์ของพาวรีพราหมณ์ ฯ

        อยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวรี ที่พรมแดนแห่งเมืองอัสสกะและเมืองอาฬกะ ฯ

  ๙.  ท่านพระอานนท์ทูลขอพรพระบรมศาสดาก่อนจะรับเป็นพุทธุปัฏฐากไว้

        ๘ ข้อ  ท่านมีเหตุผลที่ทูลขอพร ๔ ข้อหลังว่าอย่างไร ?

  ๙.  ใน ๔ ข้อหลังนี้ ๓ ข้อแรก เพื่อจะป้องกันคนพูดว่า พระอานนท์บำรุง

        พระศาสดาทำอะไร เพราะพระองค์ไม่ทรงอนุเคราะห์แม้ด้วยกิจเท่านี้                  ส่วนข้อสุดท้าย เมื่อมีคนถามในที่ลับหลัง พระพุทธองค์ว่า ธรรมนี้

        พระองค์ทรงแสดงในที่ไหน ถ้าท่านบอกไม่ได้ เขาก็จะพูดได้ว่า ท่าน

        ไม่รู้แม้แต่เรื่องเท่านี้ ไม่ละพระศาสดาเที่ยวตามเสด็จอยู่ ดุจเงาตามตัว

        สิ้นกาลนาน เพราะเหตุอะไร ฯ

๑๐.  บุคคลต่อไปนี้ได้รับเอตทัคคะในทางใด ?

               ก. พระอนุรุทธเถระ     

               ข. พระโสณโกฬิวิสเถระ  

               ค. พระรัฐปาลเถระ                

               ง. นางปฏาจาราเถรี     

                จ. นางกีสาโคตมีเถรี

๑๐.        ก. พระอนุรุทธเถระ        ได้ทิพยจักษุญาณ

               ข. พระโสณโกฬิวิสเถระ   มีความเพียรปรารภแล้ว

               ค. พระรัฐปาลเถระ         บวชด้วยศรัทธา

               ง. นางปฏาจาราเถรี        ทรงไว้ซึ่งวินัย

               จ. นางกีสาโคตมีเถรี       ทรงไว้ซึ่งจีวรอันเศร้าหมอง ฯ


*********

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น