วันเสาร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

วิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท 2549

 วิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท 2549


ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ  นักธรรมชั้นโท

สอบในสนามหลวง

วันเสาร์ ที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๙


   ๑.  อนุพุทธบุคคล คือใคร ? ท่านเหล่านั้นมีความสำคัญต่อพระศาสดา

        อย่างไร ?

   ๑.  คือ สาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า ฯ

        มีความสำคัญอย่างนี้ แม้พระศาสดาได้ตรัสรู้และทรงแสดงธรรม แต่เมื่อ

        ขาดผู้รู้ธรรมและรับปฏิบัติ ความตรัสรู้ของพระองค์ก็ไม่สำเร็จประโยชน์ ฯ

  ๒.  พระอัญญาโกณฑัญญะ  ใคร่ครวญดูตามประวัติ ความเชื่อถือของท่าน

        หนักไปทางไหน ในตำราทายลักษณะหรือในอัตตกิลมถานุโยคปฏิบัติ ?

        ขอฟังเหตุผล

  ๒.  เห็นว่าหนักไปในอัตตกิลมถานุโยคปฏิบัติ เหตุผลคือ เดิมท่านเชื่อตำรา

        แน่ใจ จึงบวชตามและเฝ้าอุปัฏฐาก ครั้นเห็นทรงเลิกทุกรกิริยา ก็สิ้นหวัง

        นี่ก็เพราะเชื่อมั่นในอัตตกิลมถานุโยคปฏิบัติว่า เลิกเสียเป็นอันไม่สำเร็จ

        เมื่อพระองค์ตรัสบอกว่า สำเร็จแล้ว ก็คัดค้านไม่เชื่อถือ อาการที่คัดค้าน

        และพูดถ้อยคำที่แสดงอคารวะนั้น เป็นเครื่องยืนยันความเห็นดังกล่าว ฯ

  ๓.  พระยสะมีมารดาบิดาตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่ไหน ?  ออกบวชเพราะเหตุไร ?

  ๓.  อยู่ที่เมืองพาราณสี ใกล้ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ฯ

        เพราะมีความเบื่อหน่ายในการครองฆราวาส เนื่องจากได้เห็นอาการของ

        พวกชนบริวารอันวิปริตไปโดยอาการต่างๆ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งการยังจิตให้


        เพลิดเพลิน จึงได้เดินออกจากเรือนไปพบพระพุทธองค์ได้ฟังพระธรรมเทศนา

        จนบรรลุเป็นพระอรหันต์ จึงได้ออกบวช ฯ

   ๔.  ความเป็นผู้มีบริวารมาก  เป็นผลมาจากอะไร ?  และดีอย่างไร ? 

        พระสาวกองค์ใดได้รับการยกย่องว่าเลิศในทางนี้ ?

   ๔.  เป็นผลมาจากความรู้จักเอาใจบริษัท รู้จักสงเคราะห์ด้วยอามิสบ้าง

        ด้วยธรรมบ้าง ฯ

        ดีอย่างนี้คือ ภิกษุผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติเห็นปานนี้ ย่อมเป็นผู้อัน

        บริษัทรักใคร่นับถือ สามารถควบคุมบริษัทไว้อยู่ เป็นผู้อันจะพึงปรารถนา

        ในสาวกมณฑล ฯ

        พระอุรุเวลกัสสปะ ฯ

   ๕.  เมื่อเอ่ยถึง  พระสารีบุตร ทำให้นึกถึงพระสาวกอีกองค์หนึ่ง คือใคร ?

        ท่านได้บรรลุพระอรหัตและนิพพานที่ไหน ? ก่อนหรือหลังพระสารีบุตร

        กี่วัน ?

   ๕. คือพระโมคคัลลานะ ฯ

        ท่านได้บรรลุพระอรหัตที่บ้านกัลลวาลมุตตคาม แขวงมคธ ก่อนพระ       

        สารีบุตร ๘ วัน และนิพพานที่ตำบลกาฬศิลา แขวงมคธ หลังพระสารีบุตร

        ๑๕ วัน ฯ

   ๖.  พระสาวกผู้ปรารภเหตุว่า “ผู้อยู่ครองเรือนต้องคอยนั่งรับบาป เพราะ

        การงานที่ผู้อื่นทำไม่ดี” แล้วมีใจเบื่อหน่ายสละทรัพย์สมบัติออกบวช

        คือใคร ?  ท่านได้รับยกย่องจากพระศาสดาว่า  เป็นผู้เลิศในทางไหน ?

        เพราะเหตุใด ?

   ๖. คือ พระมหากัสสปะ ฯ

        ท่านได้รับยกย่องจากพระศาสดาว่า เป็นผู้เลิศในทางถือธุดงค์ เพราะ

        ท่านถือธุดงค์ ๓ อย่างเป็นประจำ คือ ทรงผ้าบังสุกุลจีวรเป็นวัตร ๑

        เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ๑ อยู่ป่าเป็นวัตร ๑ ฯ

  ๗.  พระสาวก ผู้อธิบายภัทเทกรัตตสูตรที่ทรงแสดงโดยย่อให้พิสดาร คือ

        ใคร ?  ท่านได้รับการสรรเสริญจากพระศาสดาว่าอย่างไร ?

  ๗.  คือ พระมหากัจจายนะ ฯ  

        ท่านได้รับสรรเสริญจากพระศาสดาว่า เป็นผู้ฉลาดในการอธิบายคำที่ย่อ

        ให้พิสดาร ฯ

ศาสนพิธี

  ๘.  ศาสนพิธี คืออะไร ?  การศึกษาศาสนพิธีให้เข้าใจ มีประโยชน์อย่างไร ?

  ๘.  คือ พิธีทางศาสนา ฯ

        มีประโยชน์คือ

             ๑. ทำให้เข้าใจเรื่องของศาสนพิธีได้โดยถูกต้อง

             ๒. ให้เห็นเป็นเรื่องสำคัญไม่ไร้สาระ

             ๓. ทำให้ปฏิบัติได้ถูกต้อง ไม่ผิดเพี้ยนจากขนบธรรมเนียมประเพณี ฯ

  ๙.  การทำวัตร  คืออะไร ?  ทำวัตรสวดมนต์  เพื่อความมุ่งหมายใด ?

  ๙.  คือ การทำกิจวัตรของภิกษุสามเณรและอุบาสกอุบาสิกา เป็นการทำกิจ                ที่ต้องทำประจำจนเป็นวัตร-ปฏิบัติ เรียกสั้นๆ ว่า ทำวัตร ฯ

        ความมุ่งหมายของการทำวัตรสวดมนต์นี้ บัณฑิตถือว่าเป็นอุบายสงบจิต

        ไม่ให้คิดวุ่นวายตามอารมณ์ได้ชั่วขณะที่ทำ เมื่อทำประจำวันละ ๒ เวลา

        ทั้งเช้าเย็นครั้งละครึ่งชั่วโมง หรือ ๑ ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย ก็เท่ากับได้

        ใช้เวลาสงบจิตได้วันละไม่ต่ำกว่า ๑ ใน ๒๔ ชั่วโมง ฯ

๑๐.  ในวันอุโบสถ พระธรรมกถึกให้ศีล ๘ เป็นอุโบสถศีล แต่มีผู้ศรัทธาจะ

        รักษาเพียงศีล ๕ เท่านั้น  พึงปฏิบัติอย่างไร ?

๑๐.  พึงปฏิบัติอย่างนี้ สมาทานเพียง ๕ ข้อ ในระหว่างข้อที่ ๓ ซึ่ง

        พระธรรมกถึกให้ด้วยบทว่า อพฺรหฺมจริยา ... พึงรับสมาทานว่า กาเมสุ

        มิจฺฉาจารา... และรับต่อไปจนครบ ๕ ข้อเมื่อครบแล้วก็กราบ ๓ ครั้ง

        ลดลงนั่งราบไม่ต้องรับต่อไป ฯ


*********

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น