วันเสาร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

อนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท 2543

 อนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท 2543


ปัญหาและเฉลยอนุพุทธประวัติ  นักธรรมชั้นโท

สอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๕๔๓

วันศุกร์ ที่  ๑๗  พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๓

------------------------------

๑.

๑.๑

อนุพุทธบุคคลคือบุคคลพวกไหน ?  ได้ชื่อว่าอย่างนั้นเพราะเหตุไร ?


๑.๒

อนุพุทธบุคคล เป็นนักบวชหรือบุคคลทั่วไป ?

๑.

๑.๑

คือบุคคลผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ได้ชื่ออย่างนั้นเพราะเป็นผู้รู้ตาม

พระพุทธเจ้า


๑.๒

เป็นนักบวชก็มี เป็นบุคคลทั่วไปก็มี

๒.

๒.๑

การศึกษาอนุพุทธประวัติให้ประโยชน์อย่างไรต่อเจ้าของประวัติ ?


๒.๒

การศึกษาอนุพุทธประวัติให้คุณค่าอย่างไรต่อผู้ศึกษา ?

๒.

๒.๑

เป็นการประกาศเกียรติคุณพระสาวกผู้เป็นอุปการะแก่พระศาสนา               ได้เชิดชูพระคุณท่าน นำเพื่อนร่วมศาสนาให้เกิดปสาทะและนับถือ  ความดีของพระสาวกปรากฏแล้วจักเชิดชูพระเกียรติคุณของพระศาสดายิ่งขึ้น


๒.๒

ให้คุณค่าในด้านกำหนดและจดจำวัตรปฏิบัติอันงดงามของท่านมาเป็นปฏิปทาเครื่องดำเนินชีวิตของตน

๓.

๓.๑

พระโกณฑัญญะได้เกิดความรู้เห็นอย่างไรก่อน จึงนับว่าเป็นปฐมอริยสาวก ?


๓.๒

ท่านได้รับเกียรติยศเป็นพิเศษเพราะเหตุนี้อย่างไรบ้าง ?

๓.

๓.๑

ได้เกิดความรู้เห็นว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้น        ทั้งมวลมีความดับไปเป็นธรรมดา คือได้ดวงตาเห็นธรรม (ธรรมจักษุ) แล้วทูลขอบวชกับพระพุทธองค์ จึงนับได้ว่าเป็นปฐมอริยสาวกใน       พระศาสนา


๓.๒

เมื่อท่านเกิดความรู้เห็นดังนี้  พระบรมศาสดาจึงทรงเปล่งอุทาน ว่า "อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ” แปลว่า โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอๆ แต่นั้นมา ท่านมีนามว่า อัญญาโกณฑัญญะ ข้อนี้เป็นเกียรติยศพิเศษสำหรับท่านผู้เป็นปฐมอริยสาวก ฯ


๔.

๔.๑

พระสาวกรูปใดได้รับการบวชด้วยญัตติจตุตถกรรมเป็นรูปแรก ?


๔.๒

พระสาวกรูปนั้นได้รับยกย่องเป็นเลิศในทางไหน ?

๔.

๔.๑

พระราธะ


๔.๒

ในทางมีปฏิภาณ คือญาณแจ่มแจ้งในพระธรรมเทศนา

๕.

๕.๑

พระพุทธองค์ทรงยกย่องพระสารีบุตรคู่กับพระโมคคัลลานะโดยอุปมาไว้ อย่างไร ?


๕.๒

ที่ตรัสอุปมาไว้อย่างนั้นเพราะเหตุไร ?

๕.

๕.๑

พระพุทธองค์ตรัสอุปมาว่า พระสารีบุตรเปรียบเหมือนมารดาผู้ให้ทารกเกิด   พระโมคคัลลานะเปรียบเหมือนนางนมผู้เลี้ยงทารกที่เกิดแล้วนั้น


๕.๒

ที่ตรัสอุปมาไว้อย่างนั้นเพราะพระสารีบุตรย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ใน   โสดาปัตติผล พระโมคคัลลานะย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในคุณเบื้องบนที่   สูงกว่านั้น

๖.

๖.๑

การพบกันของพระอัสสชิและอุปติสสปริพาชกมีผลต่อพระพุทธศาสนา    อย่างไร ?


๖.๒

พระสารีบุตรมีปัญญาเลิศกว่าพระสาวกทั้งหลายนั้น มีอะไรเป็นเครื่อง     ยืนยัน ?

๖.

๖.๑

มีผลเกิดขึ้นดังนี้คือ

     ๑) อุปติสสปริพาชกได้ความเลื่อมใสในวัตรของพระอัสสชิ

     ๒) อุปติสสปริพาชกได้ฟังธรรมแล้วได้ดวงตาเห็นธรรม

     ๓) อุปติสสปริพาชกได้ชักชวนเพื่อนไปบวช ฟังธรรมแล้วได้บรรลุ

          ธรรม

     ๔) พระพุทธองค์ได้อัครสาวกเบื้องซ้ายเบื้องขวา


๖.๒

มีพระพุทธดำรัสตรัสยกย่องพระสารีบุตรว่า เป็นยอดแห่งพระสาวกผู้มีปัญญาและตรัสสรรเสริญว่า พระสารีบุตรสามารถแสดงธรรมจักร    และจตุราริยสัจ ได้กว้างขวางพิสดารแม้นกับพระองค์ ประกอบกับพระธรรมเทศนาที่ท่าน    ได้แสดงไว้ในโอกาสนั้น ๆ ส่องให้เห็นถึงอัจฉริยภาพอย่างแท้จริงของท่าน     ในด้านนี้

๗.

๗.๑

ธรรมุทเทศคืออะไรบ้าง ?    ๗.๒  ใครแสดงแก่ใคร ?

๗.

๗.๑

ธรรมุทเทศ คือ


     ๑) โลกคือหมู่สัตว์อันชรานำเข้าไปใกล้ ไม่ยั่งยืน

     ๒) โลกคือหมู่สัตว์ไม่มีผู้ป้องกัน ไม่เป็นใหญ่จำเพาะตน

     ๓) โลกคือหมู่สัตว์ไม่มีอะไรเป็นของ ๆ ตน จำต้องละสิ่งทั้งปวงไป

     ๔) โลกคือหมู่สัตว์พร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา


๗.๒

พระรัฐบาลแสดงถวายพระเจ้าโกรัพยะ



                                   ศาสนพิธี

๘.

๘.๑

คำว่า สวดมาติกาหรือสดับปกรณ์ หมายถึงอะไร ?


๘.๒

คำทั้งสองนั้นใช้ต่างกันอย่างไร ?

๘.

๘.๑

หมายถึงการสวดบทมาติกาของพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ หรือที่เรียกว่า  สัตตัปปกรณาภิธรรม ซึ่งมีการบังสุกุลเป็นที่สุด เป็นประเพณีนิยมจัดให้พระสงฆ์สวดในงานทำบุญหน้าศพอย่างหนึ่ง


๘.๒

คำว่าสวดมาติกา ใช้ในงานศพราษฎรสามัญทั่วไป ส่วนคำว่า สดับปกรณ์ ใช้เรียกโดยโวหารทางราชการในงานหลวง (ศพหรืออัฐิของเจ้านายตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป)

๙.

๙.๑

ผ้าวัสสิกสาฎกคือผ้าเช่นไร ?


๙.๒

ผ้าจำนำพรรษาคือผ้าเช่นไร ?

๙.

๙.๑

คือ ผ้าสำหรับภิกษุใช้นุ่งในเวลาอาบน้ำฝนหรืออาบน้ำทั่วไป เรียกกันว่า ผ้าอาบน้ำฝนบ้าง ผ้าอาบบ้าง ผ้านี้เกิดขึ้นเฉพาะฤดูกาลที่ทรงอนุญาตเป็นบริขารพิเศษชั่วคราว อธิษฐานไว้ใช้ได้ตลอด ๔ เดือนฤดูฝน พ้นจากเขตนั้นเป็นธรรมเนียมให้วิกัป


๙.๒

คือ ผ้าที่ทายกถวายแก่ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือน   เว้นผ้ากฐิน

๑๐.

๑๐.๑

ศาสนพิธีเล่ม ๒ แสดงอุโบสถกรรมไว้กี่ประเภท ?  อะไรบ้าง ?


๑๐.๒

แต่ละประเภทมีความแตกต่างกันอย่างไร ?

๑๐.

๑๐.๑

มี ๓ ประเภท คือ สังฆอุโบสถ ๑  ปาริสุทธิอุโบสถ ๑  อธิษฐานอุโบสถ ๑


๑๐.๒

มีความแตกต่างกันดังนี้


๑)

สังฆอุโบสถ คือ อุโบสถกรรมที่พระภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ประชุมสวด   พระปาฏิโมกข์


๒)

ปาริสุทธิอุโบสถ คือ อุโบสถกรรมที่พระภิกษุน้อยกว่า ๔ รูป มีเพียง ๓ รูป หรือ ๒ รูป ร่วมกันทำเป็นการคณะ ให้แต่ละรูปบอกความบริสุทธิ์ของตน ๆ


๓)

อธิษฐานอุโบสถ คืออุโบสถกรรมที่พระภิกษุรูปเดียวทำเป็นการบุคคลด้วยการอธิษฐานความบริสุทธิ์ใจของตนเอง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น