วันอังคารที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2561

หมวด ๒ ธรรมศึกษา วิชา ธรรม ระดับอุดมศึกษา (ธศ 322) ชั้นโท

กัมมัฏฐาน 2
กัมมัฏฐาน แปลว่า การงานที่ควรทำในด้านจิตใจ เป็นที่ตั้งแห่งการปฏิบัติธรรม แบ่งเป็น 2 คือ
สมถกัมมัฏฐาน เป็นวิธีการปฏิบัติให้จิตใจสงบจากนิวรณ์ 5 ด้วยการบริกรรม
วิปัสสนากัมมัฏฐาน เป็นวิธีการปฏิบัติโดยการใช้ปัญญาพิจารณาดูธรรม
กาม 2
กาม หมายถึง ความรัก ความใคร ความพึงพอใจ ความต้องการ  กามมีสอง ได้แก่
กิเลสกาม  เป็นกิเลสที่อยู่ในจิตใจทำให้เกิดความอยากได้ เช่น ราคะ โลภะ อิจฉา อิสสา  อรติ
วัตถุกาม คือวัตถุอันน่าใคร่ อันได้แก่ กามคุณ 5 รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
เกี่ยวเนื่องกันคือกิเลสกามเป็นตัวใคร่ วัตถุกามเป็นตัวที่ถูกใคร่
บูชา 2
บูชา คือ การเคารพนับถือบุคคลที่ควรยกย่อง แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
อามิสบูชา คือ การบูชาสักการะด้วยวัตถุสิ่งของ
ปฏิปัตติบูชา คือ การบูชาด้วยการปฏิบัติตามคำสอน
ปฏิสันถาร 2
ปฏิสันถาร หมายถึง การต้อนรับกันฉันมิตร การรับแขกด้วยความเต็มใจ วิธีปฏิบัติรับแขกมี 2 วิธี คือ
อามิสปฏิสันถาร การรับแขกด้วยสิ่งของเครื่องบริโภคด้วยอัธยาศัยไมตรีที่งดงามให้สมกับเจ้าของบ้านหรือเจ้าถิ่น
ธัมมปฏิสันถาร  การรับแขกด้วยธรรม ด้วยกิริยาท่าทางที่แช่มชื่น ด้วยถ้อยคำทักทายที่เหมาะสมกับฐานะของแขก เช่น ลุกขึ้นยืนต้อนรับ เชิญให้นั่ง แสดงความเป็นกันเอง แนะนำให้รู้จักกันเพื่อความคุ้นเคย
สุข 2
สุข คือ ความสะดวกสบาย อารมณ์ที่ปรารถนา  ในที่นี้หมายถึงส่วนที่เป็นผลของความสุขอย่างเดียว ได้รับผล 2 ทาง คือ
กายิกสุข   คือ สุขทางกาย หมายถึง การมีสภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่พิกลพิการ การทำงานหาเลี้ยงชีพได้อย่างเป็นปกติสุข
เจตสิกสุข  คือ สุขทางใจ หมายถึง ใจที่เป็นปกติสุขเพราะไม่ทุกข์ทางกาย  เป็นใจที่เบิกบานด้วยอำนาจแห่งปีติสุขและโสมนัส อันเป็นผลจากการระงับกิเลส
สุข ในแง่ของเหตุที่ทำให้เกิดสุข มี 2 อย่างเช่นกัน คือ
สามิสสุข  คือ สุขอิงอามิส หมายถึง สุขที่เกิดขึ้นได้เพราะมีเหยื่อล่อ โดยอาศัยผลประโยชน์หรือความต้องการของตนเป็นตัวก่อ เป็นความสุขเพราะการยึดถือซึ่งสิ่งที่ตนชอบใจ มักมีทุกข์ก่อนเกิดสุข คือเป็นทุกข์ในตอนอยาก เมื่อได้มาจึงจะสุข ในทางธรรมเรียกว่ากามคุณ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส โผฏฐัพพะ

นิรามิสสุข  สุขไม่อิงอามิส หมายถึง สุขที่เกิดได้เพระาอาศัยความหลุดพ้นจากเหยื่อล่อ  สุขด้วยใจที่ปลอดโปร่ง ไม่ยึดติดกับสิ่งที่เป็นสุขหรือทุกข์ที่ประสบ เพราะรู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นโลกธรรม  ทางธรรมเรียกว่าสุขที่เกิดขึ้นด้วยอาศัยเนกขัมมะ คือ ห้ามจิตไม่ให้เกี่ยวกับกามคุณและอาสวกิเลส

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น