วันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2560

เบญจศีล สิกขาบทที่ ๕

สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี
เว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
ศีลข้อนี้บัญญัติขึ้น เพื่อให้คนรู้จักรักษาสติของตนให้บริบูรณ์ เพราะสุราเป็นของที่ทำให้ผู้ดื่มมึนเมา เมื่อมึนเมาแล้วย่อมทำให้เสียสติ เป็นที่ตั้งของความประมาท จะทำอะไรก็ผิดพลาด ทั้งเป็นเหตุทอนคุณความดีที่มีอยู่ให้น้อยลง
เมื่อเสพเข้าไปแล้วทำให้สติเลื่อนลอย ขาดการควบคุมตัวเอง ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ พูดในสิ่งที่ไม่เคยพูด เป็นเหตุให้ล่วงสิกขาบทอีก ๔ ข้อข้างต้นได้ ศีลข้อ ๕ นี้ นับว่ามีความสำคัญที่สุดในเบญจศีล
น้ำเมา มี ๒ ชนิด คือ
๑.   สุรา น้ำเมาที่กลั่นแล้ว ภาษาไทยเรียกว่า เหล้า
๒. เมรัย น้ำเมาที่ไม่ได้กลั่น เป็นของหมักดอง เช่น เหล้าดิบ น้ำตาลเมา กระแช่ ของมึนเมาเสพติดต่างๆ เช่น ฝิ่น กัญชา ก็รวมเข้าในศีลข้อนี้ด้วย
ในปัจจุบันมีสิ่งเสพติดให้โทษร้ายแรงระบาดอยู่ในหมู่ของประชาชน เท่าที่ราชการพบแล้ว คือ
๑. สุรา น้ำเมาที่กลั่นแล้ว
๒. เมรัย น้ำเมาที่ยังไม่ได้กลั่น
๓. ฝิ่น เป็นยางไม้ชนิดหนึ่ง (ต้นฝิ่น)
๔. กัญชา เป็นต้นไม้ชนิดหนึ่ง (ต้นกัญชา)
๕. มอร์ฟีน เป็นผลิตภัณฑ์ทำจากฝิ่น
๖. โคเคน เป็นผลิตภัณฑ์จากมอร์ฟีน
๘. แลคเกอร์ ทินเนอร์ ทำมาจากสารเคมี
สุรา เมรัย เสพทางการดื่ม ฝิ่น กัญชา เป็นต้น เสพโดยวิธีสูบบ้าง ฉีดเข้าไปในร่างกายบ้าง
โทษแห่งการดื่มน้ำเมา
ในพระบาลีท่านแสดงโทษของการดื่มน้ำเมาไว้ ๖ อย่าง คือ
๑. เป็นเหตุให้เสียทรัพย์
๒. เป็นเหตุก่อวิวาท
๓. เป็นเหตุให้เกิดโรค
๔. เป็นเหตุให้เสียชื่อเสียง
๕. เป็นเหตุประพฤติมารยาที่น่าอดสู
๖. ทอนกำลังปัญญา
โทษของการเสพฝิ่น
การเสพฝิ่นนั้นมีโทษมาก เมื่อกล่าวแล้วแบ่งออกเป็น ๔ สถาน คือ
๑. เป็นเหตุให้เสียความสำราญของร่างกาย
๒. เป็นเหตุก่อวิวาท ให้เสียทรัพย์
๓. เป็นเหตุเสียความดี
๔. เป็นเหตุเสียชื่อเสียง
โทษเหล่านี้ ยิ่งหย่อนตามพื้นเพของเสพ
โทษของการเสพกัญชา
กัญชาเป็นสิ่งเสพติดให้โทษเหมือนกัน เพราะฤทธิ์กัญชานั้น ย่อมทำมัตถุลังค์ (มันในสมอง) และเส้นประสาทให้เสียไป ตาลาย เห็นอะไรผิดไปจากความจริง เช่น เห็นเชือกเป็นงู หูเชือน ฟังอะไรเขวไปจากความจริง เช่น ได้ยินเสียงกลองเป็นเสียงปืน หรือ เสียงฟ้าร้อง นึกจะทำอะไรก็ยั้งไม่ได้ ความคิดฟั่นเฟือน มักทำให้หวาดกลัวไปต่าง ๆ เหมือนคนบ้า ไม่ควรเสพ
หลักวินิจฉัยสุราปานะ
สุราปานะ (การดื่มสุรา) มีองค์ ๔ คือ
๑. มทนียัง น้ำเมา
๒. ปาตุกัมมยตาจิตตัง จิตคิดจะดื่มน้ำเมา
๓. ตัชโชวายาโม พยายามดื่มน้ำเมา
๔. ปีตัปปเวสนัง น้ำเมานั้นล่วงลำคอลงไป
ศีลขาด คือ ศีลของผู้ที่สมาทานศีลแล้ว แต่ไม่รักษาศีลนั้นให้ดี ล่วงละเมิดเป็นประจำ ทำให้ขาดต้นขาดปลายหาที่บริสุทธิ์จริงได้ยาก เหมือนผ้าที่ขาดชายรอบทั้งผืน หรือขาดกลางผืนเลย
ศีลทะลุ คือ ศีลของผู้ที่ชอบละเมิดสิกขาบททีเดียว ๒ หรือ ๓ ข้อ เหมือนแม่โคด่าง ที่กะดำกระด่างลายไปทั้งตัว ดำบ้าง ขาวบ้าง
ศีลพร้อย คือ ศีลของผู้ชอบล่วงละเมิดศีลคราวละสิกขาบท หรือล่วงศีลคราวละองค์สององค์ คือ มีศีลบริสุทธิ์บ้างไม่บริสุทธิ์บ้างสลับกันไป
ศีลห้าประการนี้ เป็นวินัยในพระพุทธศาสนา ด้วยประการฉะนี้
ศัพท์ที่ควรรู้
อุโบสถ
คำว่า อุโบสถ แปลว่า ดิถีวิเศษที่เข้าอยู่ ดิถีวิเศษเป็นที่เว้น มี ๓ อย่าง คือ
๑. นิคคัณฐอุโบสถ เป็นอุโบสถของนักบวชนอกพระพุทธศาสนา คือ ตั้งเจตนางดเว้นเป็นบางอย่าง เช่น เว้นการฆ่าสัตว์ในทิศเหนือ แต่ฆ่าสัตว์ทิศอื่น เป็นการรักษาตามใจชอบของตน
๒. โคปาลอุโบสถ เป็นอุโบสถในพระพุทธศาสนา เป็นอุโบสถที่อุบาสก อุบาสิกา สมาทานรักษาไว้ มีอาการเหมือนคนรับจ้างเลี้ยงโค คือ เวลาสมาทานแล้ว กลับไปพูดดิรัจฉานกถาต่างๆ เช่น พูดเรื่องการทำมาหากิน เรื่องทะเลาะกันภายในครอบครัว เป็นต้น
๓. อริยอุโบสถ เป็นอุโบสถในพระพุทธศาสนา เป็นอุโบสถที่เหมาะสม และประเสริฐสำหรับอุบาสก อุบาสิกา เมื่อสมาทานแล้ว ก็ตั้งใจรักษาศีลของตนให้มั่นคง ใจไม่ข้องแวะกับฆราวาสวิสัย

สนทนาแต่ในเรื่องของธรรมวินัย ในเรื่องการบำเพ็ญบุญอย่างเดียว อริยอุโบสถนี้ จึงเป็นอุโบสถที่นับว่าประเสริฐที่สุด

เบญจศีล สิกขาบทที่ ๔

มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากการพูดเท็จ
ศีลข้อนี้บัญญัติขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันการทำลายประโยชน์ของกันและกัน ด้วยการพูด คือ ตัดประโยชน์ทางวาจา และรักษาวาจาของตนให้เป็นที่เชื่อถือของคนอื่น เมื่อเพ่งความเจริญเป็นใหญ่ พึงทราบในสิกขาบทนี้ ท่านห้ามเป็นข้อใหญ่ ๓ ประการ คือ
๑. มุสาวาท
๒. อนุโลมุสา
๓. ปฏิสสวะ
การกระทำตามข้อ ๑ ศีลขาด กระทำตามข้อ ๒ และ ๓ ศีลด่างพร้อย
มุสาวาท
การพูดเท็จ คือ การโกหก หมายถึง การแสดงออกด้วยเจตนาบิดเบือนความจริง ให้คนหลงเชื่อแสดงออกได้ ๒ ทาง คือ
๑. ทางวาจา ได้แก่ พูดโกหกชัด ๆ
๒. ทางกาย ทำเท็จทางกาย เช่น เขียนจดหมาย โกหก ทำรายงานเท็จ ทำหลักฐานปลอม หรือ มีใครถามข้อความที่ควรรับ ก็สั่งศีรษะแสดงปฏิเสธ
เพื่อความสะดวกในการเรียน และการปฏิบัติ ท่านจำแนกกิริยาที่เป็นมุสาวาทไว้ ๗ อย่าง คือ
๑. ปด
๒. ทดสาบาน
๓. ทำเล่ห์กระเท่ห์
๔. มารยา
๕. ทำเลศ
๖. เสริมความ
๗. อำความ
๑. ปด ได้แก่ พูดมุสาชัดๆ ไม่อาศัย ไม่อาศัยมูลเหตุเลย เช่น เห็นว่าไม่เห็น รู้ว่าไม่รู้ โดยโวหารต่างกัน ตามความมุ่งหมายของผู้พูด ท่านแสดงไว้เป็นตัวอย่าง ๔ ข้อ คือ
ก. พูดเพื่อจะให้เขาแตกกัน เรียกว่า ส่อเสียด
ข. พูดเพื่อจะโกงท่าน เรียกว่า หลอก
ค. พูดเพื่อจะยกย่อง ท่านเรียกว่า ยก
ง. พูดไว้แล้วไม่รับ เรียกว่า กลับคำ
๒. ทนสาบาน ได้แก่ กิริยาที่เลี่ยงสัตย์ว่า จะพูดตามจริง แต่ใจไม่ตั้งจริงตามนั้น มีพูดปดเป็นลำดับ บริวาร เช่น เป็นพยานทนสาบานไว้ แล้วเบิกความเท็จ เป็นต้น
๓. ทำเล่ห์กระเท่ห์ ได้แก่ กิริยาที่อวดอ้างความศักดิ์สิทธิ์อันไม่มีจริง เช่น อวดรู้วิชาคงกระพัน ฟันไม่เข้ายิงไม่ออก เป็นต้น ซึ่งเป็นอุบายหาลาภ
๔. มารยา ได้แก่ กิริยาที่แสดงให้เขาเห็นผิดจากที่เป็นจริง หรือลวงให้เข้าใจผิด เช่น เป็นคนทุศีล ก็ทำท่าทางให้เขาเห็นว่ามีศีล เจ็บน้อยก็ครวญครางมาก
๕. ทำเลศ ได้แก่ พูดมุสาเล่นสำนวน เช่น เห็นคนวิ่งหนีเขามา เมื่อผู้ไล่มาถาม ไม่อยากจะให้เขาจับคนนั้นได้ แต่ไม่ต้องการให้ใครตราหน้าว่าเป็นคนพูดมุสา จึงย้ายไปยืนที่อื่น แล้วพูดว่าตั้งแต่มายืนที่นี่ ยังไม่เคยเห็นใครวิ่งมาเลย
๖. เสริมความ ได้แก่ พูดมุสาอาศัยมูลเดิม แต่ตัดความที่ไม่ประสงค์จะให้รู้ออกเสีย เรื่องมากพูดให้เหลือน้อย ปิดความบกพร่องของตน
โทษของมุสาวาท
บุคคลพูดมุสา มีโทษทั้งทางโลกและทางธรรม ทางโลกปรับโทษทางกฎหมายที่หักประโยชน์ของผู้อื่น ทางธรรมปรับโทษอย่างหนักถึงปาราชิก อย่างเบาปรับเสมอปาจิตตีย์ กล่าวโดยความเป็นกรรมมีโทษหนักเป็นชั้นกัน โดย วัตถุ เจตนา ประโยค
ก. โดยวัตถุ ถ้าข้อความนั้นเป็นเรื่องหักล้างประโยชน์ เช่น ทนสาบาน เบิกพยานเท็จ กล่าวใส่ความท่าน หลอกลวงเอาทรัพย์ท่าน มีโทษหนัก หรือกล่าวมุสาแก่ผู้มีคุณ เช่น พ่อ แม่ ครู อาจารย์ เจ้านาย และท่านผู้มีศีลธรรม มีโทษหนัก
ข. โดยเจตนา ถ้าผู้พูดคิดให้ร้ายท่าน เช่น กล่าวใส่ความท่าน มีโทษหนัก
ค. โดยประโยค ถ้าผู้พูดพยายามทำให้เขาเชื่อสำเร็จ มีโทษหนัก
อนุโลมมุสา
อนุโลมมุสา คือ เรื่องที่พูดนั้นไม่จริง แต่ผู้พูดมิได้มุ่งจะให้ผู้ฟังหลงเชื่อ แยกประเภท ๒ อย่าง คือ
๑. เสียดแทง กิริยาที่ว่าให้ผู้อื่นให้เจ็บใจ อ้างวัตถุไม่เป็นจริง กล่าวยกให้สูงกว่าพื้นเพเดิมของเขา เรียกว่า ประชด กล่าวทำให้คนเป็นคนเลวกว่าพื้นเพเดิมของเขา เรียกว่า ด่า
๒. สับปลับ ได้แก่ พูดปดด้วยคะนองวาจา
โทษของอนุโลมมุสา
อนุโลมมุสา มีโทษทั้งทางโลกและทางธรรม ทางโลกจัดว่าเป็นกิริยาที่หยาบช้าเลวทราม ไม่สมควรประพฤติ ทางธรรม จัดว่าเป็นบาป เมื่อกล่าวโดยความเป็นกรรม ก็มีโทษหนักเป็นชั้นกัน โดยวัตถุ เจตนา ประโยค
ก. โดยวัตถุ ถ้าเป็นข้อความเป็นเรื่องประทุษร้ายท่าน เช่น พูดเสียดแทง มีโทษหนัก และกว่าแก่ผู้มีคุณ ก็มีโทษหนัก
ข. โดยเจตนา ถ้าพูดใส่ร้ายผู้อื่น เช่น หวังจะให้ท่านเจ็บใจ และกล่าวเสียดแทง มีโทษหนัก
ค. โดยประโยค ถ้าผู้พูดพยายามทำความเสียหายแก่ท่านสำเร็จ เช่น ยุให้ท่านแตกกัน และเขาก็แตกกัน มีโทษหนัก

ปฏิสสวะ
ปฏิสสวะ ได้แก่ เดิมรับคำของคนอื่นด้วยเจตนาบริสุทธิ์ แต่ภายหลังกลับใจ ไม่ทำตามที่รับนั้น แม้ไม่เป็นการพูดเท็จโดยตรง แต่ก็เป็นการทำลายประโยชน์ของคนอื่นได้ มีประเภทเป็น ๓ อย่าง คือ
๑. ผิดสัญญา ได้แก่ สองฝ่ายทำสัญญากันว่าจะทำอย่างนั้นๆ แต่ภายหลังไม่ทำอย่างนั้น เช่น ทำสัญญาจ้าง เป็นต้น
๒. เสียสัตย์ ได้แก่ ให้สัตย์แก่ท่านฝ่ายเดียวว่าตนจะทำ หรือไม่ทำเช่นนั้นๆ แต่ภายหลังไม่ทำตามนั้น เช่น ข้าราชการ ผู้ถวายสัตย์สาบานแล้ว ไม่ทำตามนั้น
๓. คืนคำ ได้แก่ รับว่าจะทำสิ่งนั้นๆ แล้วภายหลังไม่ทำ เช่น รับว่าให้สิ่งนั้นๆ แล้วไม่ให้
โทษของปฏิสสวะ คือ ทำให้เสียชื่อเสียง ตามฐานที่ไม่ตั้งอยู่ในสัตย์
ถ้อยคำที่ไม่เป็นมุสา
มีคำพูดอีกประเภทหนึ่ง ที่ผู้พูดๆ ไม่จริง แต่ก็ไม่ประสงค์ให้ผู้ฟังเชื่อ เรียกว่า ยถาสัญญา คือ พูดตามความสำคัญ ผู้พูดไม่ผิดศีล แยกประเภทเป็น ๔ อย่าง คือ
๑. โวหาร
๒. นิยาย
๓. สำคัญผิด
๔. พลั้ง
๑. โวหาร ได้แก่ ถ้อยคำที่ใช้เป็นธรรมเนียม เพื่อความไพเราะทางภาษา เช่น เราเขียนจดหมายลงท้ายด้วยความนับถืออย่างสูง ทั้งที่เราไม่ได้นับถือเขาเลย
๒. นิยาย ได้แก่ เรื่องเปรียบเทียบ เพื่อได้ใจความเป็นสุภาษิต เช่น ผูกนิยายขึ้น เช่น ลิเก ละคร
๓. สำคัญผิด ได้แก่ ผู้พูดเข้าใจผิด พูดไปตามความเข้าใจของตนเอง เช่น จำวันผิด ใครถามก็ตอบตามนั้น
๔. พลั้ง ได้แก่ ผู้พูดตั้งใจว่าจะพูดอย่างหนึ่ง แต่ปากไพล่ไปพูดอย่างหนึ่ง
หลักวินิจฉัยมุสาวาท
มุสาวาทมีองค์ ๔
๑. อภูตวัตถุ   เรื่องที่พูดเป็นเรื่องไม่จริง
๒. วิวาทนจิตตัง จงใจจะพูดให้ผิด
๓. ตัชโช วายาโม พยายามพูดคำนั้นออกไป

๔. ปะรัสสะ ตะทัตถวิชานะนัง คนอื่นเข้าใจเนื้อความนั้น