วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2561

หมวด ๘ ธรรมศึกษา วิชา ธรรม ระดับอุดมศึกษา (ธศ 312) ชั้นตรี

โลกธรรม ๘
ธรรมที่ครอบงำสัตว์โลกอยู่ และสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามธรรมนั้น เรียกว่าโลกธรรม. โลกธรรมนั้น ๘ อย่าง คือ มีลาภ ๑ ไม่มีลาภ ๑ มียศ ๑ ไม่มียศ ๑ นินทา ๑ สรรเสริญ ๑ สุข ๑ ทุกข์ ๑.
ในโลกธรรม ๘ ประการนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ควรพิจารณาว่า สิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรรู้ตามที่เป็นจริง อย่าให้มันครอบงำจิตได้ คืออย่ายินดีในส่วนที่ปรารถนา อย่ายินร้ายในส่วนที่ไม่ปรารถนา.
องฺ. สฏฺก. ๒๓/๑๕๘.
มรรคมีองค์ ๘
๑. สัมมาทิฏฐิ ปัญญาอันเห็นชอบ คือเห็นอริยสัจ ๔.
๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ ดำริจะออกจากกาม ๑ ดำริในอันไม่พยาบาท ๑ ดำริในอันไม่เบียดเบียน ๑.
๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือเว้นจากวจีทุจริต ๔.
๔. สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ คือเว้นจากกายทุจริต ๓.
๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ คือเว้นจากความเลี้ยงชีวิตโดยทางที่ผิด.
๖. สัมมาวายามะ เพียรชอบ คือเพียรในที่ ๔ สถาน.
๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือระลึกในสติปัฏฐานทั้ง ๔.
๘. สัมมาสมาธิ ตั้งใจไว้ชอบ คือเจริญฌานทั้ง ๔.
ในองค์มรรคทั้ง ๘ นั้น เห็นชอบ ดำริชอบ สงเคราะห์เข้าในปัญญาสิกขา. วาจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ สงเคราะห์เข้าในสีลสิกขา. เพียรชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจไว้ชอบ สงเคราะห์เข้าในจิตตสิกขา.
ม. มู. ๑๒/๒๖. อภิ. วิภงฺค. ๓๕/๓๑๗.

หมวด ๗ ธรรมศึกษา วิชา ธรรม ระดับอุดมศึกษา (ธศ 312) ชั้นตรี

อริยทรัพย์ ๗
ทรัพย์ คือ คุณความดีที่มีในสันดานอย่างประเสริฐ เรียก อริยทรัพย์ มี ๗ อย่าง คือ :-
๑. สัทธา เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ.
๒. สีล รักษา กาย วาจา ให้เรียบร้อย.
๓. หิริ ความละอายต่อบาปทุจริต.
๔. โอตตัปปะ สะดุ้งกลัวต่อบาป.
๕. พาหุสัจจะ ความเป็นคนเคยได้ยินได้ฟังมามาก คือจำทรงธรรมและรู้ศิลปวิทยามาก.
๖. จาคะ สละให้ปันสิ่งของของตนแก่คนที่ควรให้ปัน.
๗. ปัญญา รอบรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์.
อริยทรัพย์ ๗ ประการนี้ ดีกว่าทรัพย์ภายนอก มีเงินทองเป็นต้น ควรแสวงหาไว้มีในสันดาน.
องฺ. สตฺตก. ๒๓/๕.
สัปปุริสธรรม ๗ อย่าง
ธรรมของสัตบุรุษ เรียกว่า สัปปุริสธรรม มี ๗ อย่าง คือ :-
๑. ธัมมัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเหตุ เช่นรู้จักว่า สิ่งนี้เป็นเหตุแห่งสุข สิ่งนี้เป็นเหตุแห่งทุกข์.
๒. อัตถัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักผล เช่นรู้จักว่า สุขเป็นผลแห่งเหตุอันนี้ ทุกข์เป็นผลแห่งเหตุอันนี้.
๓. อัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักตนว่า เราว่าโดยชาติ ตระกูล ยศ ศักดิ์ สมบัติ บริวาร ความรู้ และคุณธรรมเพียงเท่านี้ ๆ แล้วประพฤติ ตนให้สมควรแก่ที่เป็นอยู่อย่างไร.
๔. มัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้ประมาณ ในการแสวงหาเครื่องเลี้ยงชีวิตแต่โดยทางที่ชอบ และรู้จักประมาณในการบริโภคแต่พอควร.
๕. กาลัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักกาลเวลาอันสมควรในอันประกอบกิจนั้น ๆ.
๖. ปริสัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักประชุมชน และกิริยาที่จะต้องประพฤติต่อประชุมชนนั้น ๆ ว่า หมู่นี้เมื่อเข้าไปหา จะต้องทำกิริยาอย่างนี้ จะต้องพูดอย่างนี้ เป็นต้น.
๗. ปุคคลปโรปรัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเลือกบุคคลว่า ผู้นี้เป็นคนดีควรคบ ผู้นี้เป็นคนไม่ดี ไม่ควรคบ เป็นต้น.
องฺ. สตฺตก. ๒๓/๑๑๓.

หมวด ๖ ธรรมศึกษา วิชา ธรรม ระดับอุดมศึกษา (ธศ 312) ชั้นตรี

คารวะ ๖ อย่าง
ความเอื้อเฟื้อ ในพระพุทธเจ้า ๑ ในพระธรรม ๑ ในพระสงฆ์ ๑ ในความศึกษา ๑ ในความไม่ประมาท ๑ ในปฏิสันถารคือต้อนรับปราศรัย ๑. ภิกษุควรทำคารวะ ๖ ประการนี้.
องฺ. ฉกฺก. ๒๒/๓๖๙.
สาราณิยธรรม ๖ อย่าง
ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความให้ระลึกถึง เรียกสาราณิยธรรม มี ๖ อย่าง คือ :-
๑. เข้าไปตั้งกายกรรมประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนภิกษุสามเณร ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ ช่วยขวนขวายในกิจธุระของเพื่อนกันด้วยกาย มีพยาบาลภิกษุไข้เป็นต้น ด้วยจิตเมตตา.
๒. เข้าไปตั้งวจีกรรมประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนภิกษุสามเณร ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ ช่วยขวนขวายในกิจธุระของเพื่อนกันด้วยวาจา เช่นกล่าวสั่งสอนเป็นต้น ด้วยจิตเมตตา.
๓. เข้าไปตั้งมโนกรรมประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนภิกษุสามเณร ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ คิดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เพื่อนกัน.
๔. แบ่งปันลาภที่ตนได้มาแล้วโดยชอบธรรม ให้แก่เพื่อนภิกษุสามเณร ไม่หวงไว้บริโภคจำเพาะผู้เดียว.
๕. รักษาศีลบริสุทธิ์เสมอกันกับเพื่อนภิกษุสามเณรอื่น ๆ ไม่ทำตนให้เป็นที่รังเกียจของผู้อื่น.
๖. มีความเห็นร่วมกันกับภิกษุสามเณรอื่น ๆ ไม่วิวาทกับใคร ๆ เพราะมีความเห็นผิดกัน.
ธรรม ๖ อย่างนี้ ทำผู้ประพฤติให้เป็นที่รักที่เคารพของผู้อื่น เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กันและกัน เป็นไปเพื่อความไม่วิวาทกันและกัน เป็นไปเพื่อความพร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน.
องฺ. ฉกฺก. ๒๒/๓๒๒.