วันเสาร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2560

หมวด ๘

หมวด ๘
โลกธรรม ๘
ธรรมที่ครอบงำสัตว์โลกอยู่ และสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามธรรมนั้น เรียกว่าโลกธรรม โลกธรรมนั้นมี ๘ อย่าง คือ มีลาภ ๑ ไม่มีลาภ ๑ มียศ ๑ ไม่มียศ ๑ นินทา ๑ สรรเสริญ ๑ สุข ๑ ทุกข์ ๑
        ในโลกธรรม ๘ ประการนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ควรพิจารณาว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรรู้ตามที่เป็นจริง อย่าให้มันครอบงำจิตได้ คืออย่ายินดีในส่วนที่ปรารถนา อย่ายินร้ายในส่วนที่ไม่ปรารถนา
ลักษณะตัดสินธรรมวินัย ๘ ประการ
ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความกำหนัดย้อมใจ ๑
เป็นไปเพื่อความประกอบทุกข์ ๑
เป็นไปเพื่อความสละกองกิเลส ๑
เป็นไปเพื่อความอยากใหญ่ ๑
เป็นไปเพื่อความไม่สันโดษยินดีด้วยของมีอยู่ คือ มีนี่แล้วอยากได้นั่น ๑
เป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ๑
เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน ๑
เป็นไปเพื่อความเลี้ยงยาก ๑
ธรรมเหล่านี้พึงรู้ว่า ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่คำสั่งสอนของพระศาสดา
ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด ๑
เป็นไปเพื่อความปราศจากทุกข์ ๑
เป็นไปเพื่อความไม่สะสมกองกิเลส ๑
เป็นไปเพื่อความอยากอันน้อย ๑
เป็นไปเพื่อความสันโดษยินดีด้วยของมีอยู่ ๑
เป็นไปเพื่อความสงัดจากหมู่ ๑
เป็นไปเพื่อความเพียร ๑
เป็นไปเพื่อความเลี้ยงง่าย ๑
ธรรมเหล่านี้พึงรู้ว่า เป็นธรรม เป็นวินัย เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา

มรรคมีองค์ ๘
๑.  สัมมาทิฏฐิ ปัญญาอันเห็นชอบ คือเห็น อริยสัจ ๔
๒.  สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ ดำริจะออกจากกาม ๑ ดำริในอันไม่พยาบาท ๑ ดำริในอันไม่เบียดเบียน ๑
๓.  สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือเว้นจากวจีทุจริต ๔
๔.  สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ คือเว้นจากกายทุจริต ๓
๕.  สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ คือเว้นจากความเลี้ยงชีวิตโดยทางที่ผิด
๖.  สัมมาวายามะ เพียรชอบ คือเพียรในที่ ๔ สถาน
๗.  สัมมาสติ ระลึกชอบ คือระลึกในสติปัฏฐานทั้ง ๔
๘.  สัมมาสมาธิ ตั้งใจไว้ชอบ คือเจริญฌานทั้ง ๔
ในองค์มรรคทั้ง ๘ นั้น เห็นชอบ ดำริชอบ สงเคราะห์เข้าในปัญญาสิกขา
วาจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ สงเคราะห์เข้าในสีลสิกขา
เพียรชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจไว้ชอบ สงเคราะห์เข้าในจิตตสิกขา

หมวด ๗

หมวด ๗
อปริหานิยธรรม ๗ อย่าง
ธรรมไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม เป็นไปเพื่อความเจริญฝ่ายเดียว ชื่อว่า อปรหานิยธรรม มี ๗ อย่าง
๑.   หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์
๒.    เมื่อประชุมก็พร้อมเพรียงกันประชุม เมื่อเลิกประชุมก็พร้อมเพรียงกันเลิก และพร้อมเพรียงกันทำกิจที่สงฆ์จะต้องทำ
๓.    ไม่บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่บัญญัติขึ้น ไม่ถอนสิ่งที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้แล้ว สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบทตามที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้
๔.    ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้ใหญ่เป็นประธานในสงฆ์ เคารพนับถือภิกษุเหล่านั้น เชื่อฟังถ้อยคำของท่าน
๕.    ไม่ลุอำนาจแก่ความอยากที่เกิดขึ้น
๖.   ยินดีในเสนาสนะป่า
๗.  ตั้งใจอยู่ว่า เพื่อนภิกษุสามเณรซึ่งเป็นผู้มีศีล ซึ่งยังไม่มาสู่อาวาส ขอให้มา ที่มาแล้วขอให้อยู่เป็นสุข
       ธรรม ๗ อย่างนี้ ตั้งอยู่ในผู้ใด ผู้นั้นไม่มีความเสื่อมเลย มีแต่ความเจริญฝ่ายเดียว
อริยทรัพย์ ๗
ทรัพย์ คือคุณความดีที่มีอยู่ในสันดานอย่างประเสริฐ เรียกอริยทรัพย์ มี ๗ อย่าง คือ
๑.  สัทธา เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ
๒.  สีล รักษา กาย วาจา ให้เรียบร้อย
๓.  หิริ ความละอายต่อบาปทุจริต
๔.  โอตตัปปะ สะดุ้งกลัวต่อบาป
๕.  พาหุสัจจะ ความเป็นคนเคยได้ยินได้ฟังมาก คือ จำทรงธรรมและรู้ศิลปวิทยามาก
๖.  จาคะ สละให้ปันสิ่งของของตนให้แก่คนที่ควรให้ปัน
๗.  ปัญญา รอบรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ และไม่เป็นประโยชน์
สัปปุริสธรรม ๗ อย่าง
ธรรมของสัตบุรุษ เรียกว่า สัปปุริสธรรม มี ๗ อย่าง
๑.  ธัมมัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเหตุ เช่น รู้จักว่า สิ่งนี้เป็นเหตุแห่งสุข สิ่งนี้เป็นเหตุแห่งทุกข์
๒.  อัตถัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักผล เช่นรู้จักว่า สุขเป็นผลแห่งเหตุอันใด ทุกข์เป็นผลแห่งเหตุอันใด
๓.  อัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักตนว่า เราว่าโดยชาติตระกูล ยศศักดิ์สมบัติบริวารความรู้และคุณธรรมเพียงเท่านี้ๆ แล้วประพฤติตนให้สมควรแก่ที่เป็นอยู่อย่างไร
๔.  มัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้ประมาณ ในการแสวงหาเครื่องเลี้ยงชีวิต แต่โดยทางที่ชอบ และรู้จักประมาณในการบริโภคแต่พอควร
๕.  กาลัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักกาลเวลาอันสมควรในอันประกอบกิจนั้นๆ
๖.  ปริสัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักประชุมชนและกริยาที่ต้องประพฤติต่อชุมชนนั้นๆ ว่าหมู่นี้เมื่อเข้าไปหา จะต้องทำกริยาอย่างนี้ จะต้องพูดแบบนี้ เป็นต้น
๗.  ปุคคลปโรปรัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเลือกบุคคลว่า ผู้นี้เป็นผู้ดี ควรคบ ผู้นี้เป็นคนไม่ดี ไม่ควรคบ เป็นต้น
สัปปุริสธรรมอีก ๗ อย่าง
๑.   สัตบุรุษประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ คือ มีศรัทธา มีความละอายต่อบาป มีความกลัวบาป เป็นคนได้ยินได้ฟังมาก เป็นคนมีความเพียร เป็นคนมีสติมั่นคง เป็นคนมีปัญญา
๒.   จะปรึกษาสิ่งใดกับใครๆ ก็ไม่ปรึกษาเพื่อจะเบียดเบียนตนและผู้อื่น
๓.   จะคิดสิ่งใดก็ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น
๔.   จะพูดสิ่งใดก็พูดเพื่อไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น
๕.   จะทำสิ่งใดก็ไม่ทำเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น
๖.  มีความเห็นชอบ มีเห็นว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น
๗.  ให้ทานโดยเคารพ คือเอื้อเฟื้อแก่ของที่ตัวเองให้ และผู้รับทานนั้น ไม่ทำอาการดุจทิ้งเสีย

โพชฌงค์ ๗
๑.  สติ ความระลึกได้
๒.  ธัมมวิจยะ ความสอดส่องธรรม
๓.  วิริยะ ความเพียร
๔.  ปีติ ความอิ่มใจ
๕.  ปัสสัทธิ ความสงบใจและอารมณ์
๖.  สมาธิ ความตั้งใจมั่น
๗.  อุเปกขา ความวางเฉย
เรียกตามประเภทว่า สติสัมโพชฌงค์ไปโดยลำดับจนถึงอุเปกขาสัมโพชฌงค์

หมวด ๖

หมวด ๖
คารวะ ๖ อย่าง
ความเอื้อเฟื้อ ในพระพุทธเจ้า ๑ ในพระธรรม ๑ ในพระสงฆ์ ๑ ในความศึกษา ๑ ในความไม่ประมาท ๑ ในปฏิสันถาร คือต้อนรับปราศรัย ๑ ภิกษุควรทำคารวะ ๖ ประการนี้
สาราณิยธรรม ๖ อย่าง
ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึง เรียกสาราณิยธรรม มี ๖ อย่าง คือ
๑.   เข้าไปตั้งกายกรรมประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนภิกษุสามเณรทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ ช่วยขวนขวายกิจธุระของเพื่อนกันด้วยกาย มีพยาบาลภิกษุไข้เป็นต้น ด้วยจิตเมตตา
๒.   เข้าไปตั้งวจีกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนภิกษุสามเณรทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ ช่วยขวนขวายในกิจธุระของเพื่อนกันด้วยวาจา เข่นกล่าวคำสั่งสอนเป็นต้น ด้วยจิตเมตตา
๓.   เข้าไปตั้งมโนกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนภิกษุสามเณรทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือคิดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เพื่อนกัน
๔.   แบ่งปันลาภที่ตนได้มาแล้วโดยชอบธรรมให้แก่เพื่อนภิกษุสามเณร ไม่หวงไว้บริโภคจำเพาะผู้เดียว
๕.   รักษาศีลบริสุทธิ์เสมอกันกับเพื่อนภิกษุสามเณรอื่นๆ ไม่ทำตนให้เป็นที่รังเกียจของผู้อื่น
๖.   มีความเห็นร่วมกันกับภิกษุสามเณรอื่นๆ ไม่วิวาทกับใครๆ เพราะมีความเห็นผิดกัน
        ธรรม ๖ อย่างนี้ ทำผู้ประพฤติให้เป็นที่รักที่เคารพของผู้อื่น เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กันและกัน เป็นไปเพื่อความไม่วิวาทกันและกัน เป็นไปเพื่อความพร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
อายตนะภายใน ๖
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อินทรีย์ ๖ ก็เรียก อายตนะภายนอก ๖
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ คือ อารมณ์ที่มาถูกต้องกาย ธรรม คืออารมณ์เกิดกับใจ อารมณ์ ๖ ก็เรียก
วิญญาณ ๖
อาศัยรูปกระทบตา เกิดความรู้ขึ้น เรียก จักขุวิญญาณ
อาศัยเสียงกระทบหู เกิดความรู้ขึ้น เรียก โสตวิญญาณ
อาศัยกลิ่นกระทบจมูก เกิดความรู้ขึ้น เรียก ฆานวิญญาณ
อาศัยรสกระทบลิ้น เกิดความรู้ขึ้น เรียก ชิวหาวิญญาณ
อาศัยโผฏฐัพพะกระทบกาย เกิดความรู้ขึ้น เรียก กายวิญญาณ
อาศัยธรรมเกิดกับใจ เกิดความรู้ขึ้น เรียก มโนวิญญาณ
สัมผัส ๖
อายตนะภายในมีตาเป็นต้น อายตนะภายนอกมีรูปเป็นต้น วิญญาณมีจักขุวิญญาณเป็นต้น กระทบกันเรียกสัมผัส มีชื่อตามอายตนะภายใน เป็น ๖ คือ จักขุ โสต  ฆาน  ชิวหา กาย   มโน
เวทนา ๖
สัมผัสนั้นเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา เป็นสุขบ้างทุกข์บ้าง ไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง มีชื่อตามอายตนะภายในเป็น ๖ คือ
จักขุ โสต ฆาน ชิวหา กาย  มโน

ธาตุ ๖
๑.  ปฐวีธาตุ คือ ธาตุดิน
๒.  อาโปธาตุ คือ ธาตุน้ำ
๓.  เตโชธาตุ คือ ธาตุไฟ
๔.  วาโยธาตุ คือ ธาตุลม
๕.  อากาสธาตุ คือ ช่องว่างมีในกาย
๖.  วิญญาณธาตุ คือ ความรู้อะไรก็ได้